11 ก.พ. เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก

งานอนุรักษ์แร้ง ในประเทศกัมพูชา มีเพิ่มมีลดสลับกันไป เป็นงานอนุรักษ์ที่ยังไม่มีวันเสร็จ

กัมพูชาเป็นบ้านของแร้ง 3 ชนิด
ประกอบด้วย แร้งสีน้ำตาล แร้งเทาหลังขาว และพญาแร้ง เป็นแร้งประจำถิ่นเหมือนกับประเทศไทย
เมื่อปลายปีที่ผ่านมา Cambodia Vulture Working Group (CVWG) กลุ่มงานแร้งกัมพูชา สามารถนับจำนวนแร้งได้มากถึง 127 ตัว ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเสียมปังเพียงแห่งเดียว
ถือว่ามากที่สุดในรอบทศวรรษ
หรือเกือบๆ เท่าจำนวนแร้งที่เคยนับได้ทั่วประเทศในปีก่อนหน้า ประมาณ 130 ตัว
เป็นพญาแร้งราวๆ 20 ตัว แร้งสีน้ำตาล ประมาณ 40 ตัว และแร้งเทาหลังขาว ประมาณ 70 ตัว
สำหรับ ป่าเสียมปัง หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเสียงปัง เดิมดูแลโดยกระทรวงกสิกรรม การป่าไม้ และการประมง
ภายหลังย้ายมาอยู่ในการดูแลของกระทรวงสิ่งแวดล้อม พร้อมยกระดับเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด
โดยเฉพาะนกที่มีทั้งแร้ง และ นกช้อนหอยใหญ่ ที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
เป็นป่าที่มีแร้งอาศัยอยู่มากที่สุดในปัจจุบัน
ตามความเห็นของ CVWG บอกว่าจำนวนแร้งในปีที่ผ่านมาค่อนข้างคงที่
แม้ยังไม่สามารถหยุดความตายจากการกินซากสัตว์ที่ปนเปื้อนยาอันตรายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็พบสัญญาณที่ดี จากการขยายพันธุ์ได้เองในธรรมชาติ
โดยสำรวจพบการทำรังวางไข่จำนวน 30 รัง ทั่วประเทศ รวมถึงแถบชายแดนประเทศลาว และฟักสำเร็จ 26 ตัว
โครงการอนุรักษ์แร้งในกัมพูชา เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เวลานั้นมีแร้งอยู่ประมาณ 160 ตัว (รวมทั้ง 3 ชนิด)
ผ่านวันเคยมีมากๆ ราว 296 ตัว (พ.ศ. 2533) บางปีนับได้เพียง 119 ตัว (พ.ศ. 2563)
เพิ่มขึ้นและลดลงอย่างไม่คงที่มาโดยตลอด
ชะตากรรมแร้งในกัมพูชาไม่ต่างจากแร้งในประเทศอื่นๆ ประชากรลดลงเพราะกินซากสัตว์ที่มีสารอันตรายเจือปน
บ้างเกิดจากโจรวางยาเบื่อสุนัขเพื่อขโมยสิ่งของตามบ้านเรือน การวางยากำจัดสุนัขจรจัด การกินซากปศุสัตว์ที่ตายเพราะยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนตามแหล่งน้ำและทุ่งหญ้าที่สัตว์เลี้ยงใช้ประโยชน์
เรื่องนี้มีปัจจัยเกี่ยวเนื่องจากซากสัตว์ในป่าที่มีน้อย เพราะความหนาแน่นของสัตว์กีบในพื้นที่อนุรักษ์ของกัมพูชามีไม่มากเท่าที่ควร
จนอาจกล่าวได้ว่า อาหารหลักของแร้งในกัมพูชาคือ ซากสัตว์ที่มนุษย์เลี้ยงไว้
แต่ไม่การันตีความปลอดภัยใดๆ ทั้งสิ้น
โดยในโครงการอนุรักษ์ได้พยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการซื้อวัวจากชาวบ้านมาเป็นอาหารให้กับแร้งเป็นการทดแทน
หรือที่เรียกว่า ‘Restaurant sites’ / ‘Vulture Restaurant’ ตั้งกระจายอยู่ตามพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ
ข้อดี นอกจากแร้งมีอาหารกินอิ่มแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงการออกไปหาอาหาร (อันตราย) นอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเสริมความรู้ สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของแร้งแก่ชุมชน
ชุมชนมีรายได้ และเข้ามาเป็นแนวร่วมในการอนุรักษ์
อย่างน้อยๆ ที่สุด คือ ช่วยเป็นหูเป็นตา คอยสอดส่องความเป็นอยู่ของแร้งให้กับโครงการอนุรักษ์ มีตัวอย่าง เช่น การแจ้งข่าวเมื่อพบแร้งเจ็บ แร้งป่วย หรือแร้งตาย
ซึ่งบางกรณีสามารถช่วยชีวิตแร้งได้ทัน ก็มาจากความร่วมมือของประชาชนช่วยแจ้งข่าวนั่นเอง
รวมถึงยังมีงานจ้างชุมชนช่วยเฝ้ารัง เฝ้าไข่แร้งไม่ให้ถูกรบกวน
นอกจากเรื่องอาหารและสารพิษ ยังพบปัญหาการทำร้ายแร้งโดยตรง (อาจมาจากทัศนคติ)
การค้าสัตว์ป่า มีการอ้างถึงการขายแร้งให้กับผู้ซื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน
และความเชื่อของคนกัมพูชาในอดีตที่มองแร้งเป็นยาบำรุงรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
เหล่านี้ส่งผลต่อจำนวนประชากรแร้งให้ขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอดเวลา
ในส่วนงานอนุรักษ์ ยังมีการติดแท็ก GPS-GSM บนแร้งเพื่อติดตามตำแหน่ง และทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับนิสัยการทำรังเพื่อให้แน่ใจถึงความปลอดภัยในการสืบพันธุ์-ขยายพันธุ์
งานสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของแร้งก็เป็นอีกภารกิจที่สำคัญ
จากบทสัมภาษณ์หนึ่งในปี พ.ศ. 2567 นักเรียนคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “ก่อนจะเข้าร่วมงานสัมมนาเรื่องแร้ง ฉันไม่ชอบแร้ง เพราะมันดูน่าเกลียดและกินซากสัตว์”
“ตอนนี้ ฉันรู้แล้วว่านกแร้งมีบทบาทสำคัญในการทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม และป้องกันการแพร่กระจายของโรค เราควรปกป้องแร้ง”
ตราบใดที่เรายังมองสัตว์ป่าในแง่ลบ การอนุรักษ์ก็ยากจะสำเร็จ
ที่เล่ามาเป็นภารกิจไม่กี่อย่าง จากการทำงานมากว่า 2 ทศวรรษ
ทั้งเคยผ่านวันแห่งความหวังและนาทีโศกาอาดูร
เหมือนที่คำกล่าวว่า งานอนุรักษ์เป็นงานที่ไม่มีวันทำเสร็จ ต้องทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
เมื่อไหร่ที่หยุด หายนะมีโอกาสมาเยือนได้เสมอ
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีโครงการอนุรักษ์แร้งเช่นกัน โดยมุ่งเป้าไปที่การเพิ่มจำนวน ‘พญาแร้ง’ ในกรงเลี้ยง
โดยหวังว่าในอนาคต พญาแร้ง จะสามารถกลับมาโบยบินเหนือผืนป่า อย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้อีกครั้งหนึ่ง
ศึกษา ติดตาม และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พญาแร้งได้ผ่าน https://www.facebook.com/ThailandredheadedVultureproject
[ข้อมูลจำนวนแร้งในกัมพูชาล่าสุด เป็นจำนวนนับปี พ.ศ. 2566 รายงานปี พ.ศ. 2567 ของกัมพูชาจะเผยแพร่ในปีนี้]
อ้างอิง
Khmer Times : Vulture numbers break new record in wildlife sanctuary
EAC News : Positive trends in vulture conservation highlighted in Cambodia vulture working group’s 2023 annual report
The Phnom Penh Post : Vulture population soars amid conservation hopes
Researchgate : Vultures in Cambodia: Population, threats and conservation
WCS Cambodia : Vulture numbers on the increase
Gov KH : More than 100 vultures recorded in Cambodia this year
WWF : Death of 16 vultures in Mondulkiri will impact Cambodia's globally significant population
โฆษณา