11 ก.พ. เวลา 05:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Global Minimum Tax โอกาสอัดฉีดขีดความสามารถประเทศ

KKP วิเคราะห์ผลกระทบ Global Minimum Tax แนะรัฐคว้าเป็นโอกาสอัดฉีดขีดความสามารถประเทศ
หลายคนอาจได้ยินผ่านหูเกี่ยวกับตัวเลข 15% ของ Global Minimum Tax (GMT) หรือมาตรการภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกมาบ้าง สำหรับไทย KKP Research คาดว่าผลกระทบมีไม่มาก เพราะยังมีปัจจัยอื่นนอกจากภาษีดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน รวมทั้งอัตราภาษีนิติบุคคลและสิทธิประโยชน์ทางภาษีของไทยไม่ต่างจากประเทศคู่แข่งมากนัก แม้ผลกระทบจะจำกัดแต่ไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายโดยเฉพาะส่งออก จึงควรเร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แบ่งรายได้ภาษีที่รัฐจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นมาลงทุนกับนโยบายระยะยาว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
Global Minimum Tax โอกาสอัดฉีดขีดความสามารถประเทศ
ทำไมต้องปฏิรูประบบภาษีโลก
แนวคิดเรื่อง GMT ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เพื่อบรรเทาปัญหาการแข่งขันลดอัตราภาษีนิติบุคคล ที่หลายประเทศต่างพยายามจูงใจดึงเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ (FDI) ผ่านอัตราภาษีที่ต่ำ นำไปสู่การหลบเลี่ยงภาษีของธุรกิจที่มักโยกย้ายกำไรไปบันทึกในดินแดนภาษีต่ำ (tax haven) แทน ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จำนวนมาก
หลักการและกรอบความคิดของกฎเกณฑ์ภาษีรูปแบบใหม่
GMT จะบังคับใช้กับกลุ่มบริษัทข้ามชาติ (MNEs) ที่มีรายได้รวมทั่วโลกมากกว่า 750 ล้านยูโรต่อปีอย่างน้อย 2 ใน 4 รอบปีบัญชี หาก MNEs เสียภาษีในประเทศใดต่ำกว่า 15% ต้องถูกเก็บภาษีส่วนเพิ่มเพื่อให้ถึงระดับ 15% ทั้งนี้ GMT ประกอบไปด้วย 3 หลักการ ได้แก่
หลักการข้อแรก กฎการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มภายในประเทศ (Qualified Domestic Minimum Top-Up Tax : QDMTT) ที่ให้สิทธิกับประเทศที่ MNEs ไปดำเนินธุรกิจและเสียภาษีไม่ถึง 15% ในการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มก่อน เช่น บริษัทสัญชาติสหรัฐอเมริกาที่มาจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อดำเนินธุรกิจในไทยและบริษัทลูกในไทยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจนทำให้เสียภาษีเพียง 5% ในกรณีนี้ หากประเทศไทยบังคับใช้กฎ QDMTT ก็จะทำให้สรรพากรของไทยมีสิทธิเป็นลำดับแรกที่จะจัดเก็บภาษีส่วนต่างอีก 10% นำรายได้เข้าประเทศเพิ่มเติม
หลักการข้อสอง กฎการรวมรายได้ (Income Inclusion Rule : IIR) จะถูกนำมาใช้ในกรณีที่ประเทศที่บริษัทลูกหรือบริษัทในเครือของ MNEs ดำเนินธุรกิจและจัดเก็บภาษีต่ำกว่า 15% ไม่ได้มีการนำกฎเกณฑ์ QDMTT มาใช้ ทำให้สิทธิในการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มจะตกเป็นของประเทศที่บริษัทแม่หรือนิติบุคคลลำดับสูงสุดอาศัยอยู่แทน และหากประเทศที่บริษัทแม่อาศัยอยู่ไม่ได้มีการนำกฎ IIR มาใช้ สิทธิในการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มก็จะถูกส่งต่อมายังประเทศของบริษัทแม่ลำดับกลางไล่ลงมาตามลำดับความเป็นเจ้าของ (Chain of Ownership)
หลักการข้อสาม กฎการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มคงเหลือ (Undertaxed Payment Rule : UTPR) ถูกนำมาใช้เป็นมาตรการรองรับ (backstop) ในกรณีที่ประเทศของบริษัทในเครือหรือบริษัทแม่ลำดับสูงสุดและลำดับกลางไม่ได้มีการนำกฎเกณฑ์ QDMTT และ IIR มาใช้เลย โดยกฎ UTPR จะแบ่งสิทธิในการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มให้กับทุกประเทศที่บังคับใช้กฎนี้และมีบริษัทในเครือของ MNEs ไปจัดตั้งอยู่ในประเทศนั้น ๆ โดยภาษีส่วนเพิ่มที่ต้องเก็บเพิ่มจะถูกแบ่งสรรปันส่วนให้กับประเทศเหล่านั้นตามสัดส่วนของมูลค่าสินทรัพย์ที่มีตัวตนและจำนวนลูกจ้าง
ไทยได้รับผลกระทบอย่างไรจากมาตรการ GMT
ประเทศไทยบังคับใช้พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 ตั้งแต่ต้นปี 2568 โดยผลกระทบต่อไทยอาจแบ่งได้เป็น 2 ระดับด้วยกัน คือ ระดับ micro กลุ่มบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ของไทยที่มีการไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากประเทศต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งในไทยเอง อาจต้องเผชิญกับต้นทุนการทำธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ในระดับ macro นั้น
เนื่องจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับ MNEs ของต่างประเทศที่มาลงทุนในไทย ทำให้ MNEs เหล่านั้นต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ความน่าสนใจของการมาลงทุนในไทยนั้นลดทอนลงบ้าง
อย่างไรก็ตาม KKP Research คาดว่าผลกระทบของการบังคับใช้กฎเกณฑ์ GMT ต่อแนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของไทยจะมีไม่มาก เนื่องจากเหตุผล 3 ประการด้วยกัน
ประการแรก อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลและนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศของไทยและประเทศคู่แข่งมีความใกล้เคียงและไม่ได้แตกต่างกันมาก อัตราภาษีในไทยที่ 20% ถือว่าใกล้เคียงกับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ที่ 17-25% นอกจากนี้ นโยบายต่าง ๆ ที่แต่ละประเทศนำมาใช้เพื่อดึงดูด FDI ก็มีความคล้ายคลึงกัน
ประการที่สอง ปัจจัยที่ดึงดูด FDI ของไทยไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพียงอย่างเดียว แต่มีอีกหลายปัจจัยที่ล้วนแล้วมีบทบาทที่สำคัญยิ่งกว่า อาทิ โครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ทันสมัย ระบบสาธารณูปโภคที่ดี ห่วงโซ่อุปทานที่ครบครัน ทักษะของแรงงานและค่าจ้างที่สมเหตุสมผล เสถียรภาพทางการเมือง และนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ
ประการสุดท้าย รัฐบาลจะมีการออกนโยบายมาลดทอนผลกระทบเพิ่มเติม ซึ่งประกอบไปด้วยการขยายระยะเวลาสิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% นานขึ้น 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10 ปี และการนำเงินรายได้ภาษีที่รัฐจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นประมาณ 50-70% ไปสมทบกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ BOI สามารถนำไปใช้ดำเนินมาตรการอื่นเพิ่มเติมเพื่อลดทอนค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทข้ามชาติได้
แม้ว่าการปฏิรูปกฎเกณฑ์ทางภาษีระดับโลกอาจกระทบต่อไทยไม่มาก แต่ปัจจุบันภาคการผลิตของไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายรุนแรง โดยเฉพาะความสามารถในการแข่งขันที่สินค้าส่งออกหลักของไทยในอดีตเริ่มไม่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ด้วยกระแสเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว สอดคล้องกับตัวเลข FDI ของไทยที่เสียส่วนแบ่งให้กับประเทศคู่แข่งมากขึ้น
แม้การออกมาตรการมาลดทอนผลกระทบให้กับบริษัทข้ามชาติที่มาลงทุนในไทยอาจมีความสำคัญในระยะสั้น แต่การแบ่งสรรทรัพยากรและรายได้ภาษีที่จัดเก็บได้เพิ่มมาลงทุนกับนโยบายระยะยาวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจะยิ่งมีความสำคัญ โดยเฉพาะการปรับทักษะแรงงานให้เท่าทันกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และตรงกับความต้องการของโลกยุคปัจจุบัน จะช่วยให้การลงทุนจากต่างประเทศสร้างมูลค่าและประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจไทยได้มากขึ้น
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/242543
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา