Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Introverted reader
•
ติดตาม
11 ก.พ. เวลา 06:21 • หนังสือ
🪩“แสงเงาสลัว คราบคล้ำเก่าแก่ และบรรยากาศเงียบสงัด”
สิ่งเหล่านี้คือสุนทรียภาพความงามซึ่งสะท้อนอยู่ในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาเนิ่นนาน อาจน้อยลงไปบ้างในปัจจุบัน แต่เรายังคงพอที่จะสังเกตเห็นได้ไม่ยากเย็นนัก
🖋️ตามทัศนะผู้เขียน ‘จุนอิชิโร ทานิซากิ’ นั้น หากเราได้พินิจพิจารณาทุกตัวอักษรจรดหน้ากระดาษสุดท้ายภายในหนังสือเล่มนี้ อาจมีบางห้วงความรู้สึกที่สัมผัสได้ถึงกลิ่นอายอนุรักษ์นิยม หรือชาตินิยมอยู่เนืองๆ อากัปกิริยาของทานิซากิล้วนแฝงไปด้วยอารมณ์ปฏิเสธไปจนถึงต่อต้านแนวคิดแบบตะวันตกที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง และหากย้อนเวลากลับไปยังอดีตได้ เขายินดีที่จะให้ประเทศญี่ปุ่นเจริญเติบโตอย่างเชื่องช้ากว่าที่เป็นอยู่นี้
ซึ่งเขาเชื่อมั่นอย่างสุดหัวใจว่าการเติบโตอย่างเชื่องช้าแต่ก้าวเดินด้วยขาของตนเองจะสามารถทำให้ญี่ปุ่นมีพัฒนาการในทุกๆด้านที่เหมาะสมกับครรลองชีวิตของตนเอง อีกทั้งยังสามารถดำรงรักษาบางสิ่งอันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตนของชาวตะวันออกไว้ได้อย่างเหนียวแน่น หนึ่งในบางสิ่งที่ว่านั้นก็คือ “สุนทรียภาพแบบญี่ปุ่น” นั่นเอง
เราอาจแปลความหมายของคำว่า ‘สุนทรียภาพ’ แบบสั้นกระชับได้ว่า “ความงาม” การรับรู้ความงามแบบญี่ปุ่นเป็นอย่างไร? คงต้องสารภาพแต่โดยดีว่าผมมีความเห็นที่ขัดแย้งกับข้อพรรณนาของทานิซากิอยู่บ้าง โดยเฉพาะประเด็นการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย หรือ “ความงาม และความไม่งาม” ระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ภายในหนังสือเล่มนี้เป็นสิ่งที่ผมปรารถณาให้ดำรงอยู่ภายในชีวิตและจิตวิญญาณของผม
อาจเพราะอคติและความลำเอียงที่ผมมีความชอบพอกับดินแดนอาทิตย์อุทัย รวมถึงถูกชะตาจนถึงขั้นหลงใหลต่อแนวคิดไปจนถึงหลักปรัชญาทางสังคมแห่งโลกตะวันออกแห่งนี้อย่างสุดลิ่ม ‘สุนทรียภาพแบบญี่ปุ่น’ คือสิ่งที่ผมโหยหาเป็นทุนเดิม จึงไม่แปลกใจที่ตนเองจะมองข้ามความขัดแย้งบางอย่างและหลงใหลหมกมุ่นไปกับข้อเขียนของทานิซากิอย่างไม่จำเป็นต้องหักห้ามใจแต่อย่างใด
🔹วัตถุสิ่งของที่ผ่านการใช้สอยมาอย่างยาวนาน ความงดงามแห่งวันเวลาช่วยให้วัตถุเหล่านั้นมีคุณค่าและความหมายมากยิ่งขึ้น เมื่อวัตถุคล้ำหมองลง ความงามจึงสมบูรณ์ ทรงค่า สง่างามลึกซึ้ง
🔹“ความเรืองรองอันล้ำลึก สง่างามกว่าความเจิดจ้าเพียงผิวเผิน” ความงามแบบญี่ปุ่นมักพึงพอใจต่อแสงขมุกขมัว ความสุกใสจากความเก่าแก่ เครื่องมือเครื่องใช้ที่มีร่องรอยแห่งคราบเขม่าและอายุใช้สอยเป็นที่มาแห่งจิตใจอันสงบเงียบ ชาวญี่ปุ่นมองเห็นว่าเป็นสิ่งดีเลิศ
🔹ความงามแท้จริงปรากฏชัดในที่ที่มีแสงสลัว ความมืดสลัวเป็นองค์ประกอบที่ขาดเสียมิได้สำหรับความงาม เฉกเช่นถ้วยชาอยู่ในที่มืดโดยให้บางส่วนปรากฏขึ้นในแสงสลัว สร้างรัศมีแห่งความลึกล้ำ ในขณะที่บางส่วนถูกกลืนหายไปกับความมืด สร้างห้วงเวลาคิดคำนึงเป็นลำนำอันเงียบสงบที่เกิดจาก “ความงามในความมืด” แสงสว่างอาจช่วยอำนวยความสะดวก แต่คุณลักษณะที่เราเรียกว่าความงามนั้นย่อมงอกเงยจาก “ความเป็นจริงของชีวิต”ห้องหับงดงามขึ้นได้เมื่อเงาทึบกระทบซ้อนบนเงาที่อ่อนจางกว่าโดยมิต้องอาศัยสิ่งจรรโลงใจอื่นใดอีก
🔹ความลึกล้ำของเงาสลัวและกลวิธีการปรับใช้แสงเงาอย่างชาญนั้นช่วยผลักเน้นความงามจากพื้นที่ว่างด้วยความธรรมดาสามัญ “หากเงาสลัวถูกขจัดออกไป พื้นที่ตรงนั้นก็จะกลายเป็นความว่างเปล่าไร้ความหมาย” แม้ความมืดจะสร้างความไม่แน่นอน ไม่ชัดเจน กระทั่งความหวาดกลัว แต่ความคิดของชาวตะวันออกจะไม่โลดแล่นไปสู่สิ่งที่เรามองไม่เห็น สิ่งที่มองไม่เห็นนั้นไม่มีอยู่สำหรับเรา
🔹ชาวตะวันออกมักแสวงหาความพึงพอใจจากสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ ไม่ว่าสภาพแวดล้อมเช่นนั้นจะเป็นอย่างไร เรารู้จักพอใจกับสิ่งต่างๆตามที่เป็นอยู่ “เราสามารถค้นพบความงามตามแบบอย่างของมัน อย่างที่มันเป็น”
🔹หรืออาจเป็นเพียงกลอุบายแยบยลของแสงและเงา อาจเป็นเพียงสิ่งปรากฏเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น แต่ก็มีความสมบูรณ์ในตัวเอง “เราไม่อาจเรียกร้องอะไรได้มากไปกว่านี้” ทานิซากิกล่าวว่าหากเป็นไปได้ (อย่างน้อยก็ในงานวรรณกรรม) เขาจะผลักไสสิ่งที่ปรากฏออกมาชัดเจนเกินไป ให้กลับไปอยู่ในดินแดนแห่งเงาสลัว และปลดเปลื้องสิ่งเร้าเติมแต่งอันไร้ประโยชน์ทิ้งเสีย
☀️ดั่งที่ ‘สุวรรณา วงศ์ไวศยวรรณ’ ผู้แปล กล่าวไว้ ณ ช่วงท้ายของหนังสือประมาณว่า ‘จุนอิชิโร ทานิซากิ’ อาจเป็นภาพแทนสุนทรียภาพของคนเศร้าสร้อย ผู้มองสิ่งต่างๆผันเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เรียกร้องผัสสะความงามตามประเพณีนิยม และ “เงาสลัวเป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ หากคุณอยากเข้าถึงความงามแบบญี่ปุ่น” สิ่งนี้ผมเห็นด้วยว่าคงจริงเช่นนั้น
📌ในบริบทวัฒนธรรมญี่ปุ่นมีแนวคิดและปรัชญาอันเชื่อมโยงสู่การมองเห็นแง่งามตามวิถีการดำรงชีวิตอยู่มากพอสมควร ดั่งเช่นที่ ‘ชัยยศ อิษฎ์วรพันธุ์’ กล่าวไว้ภายในหนังสือ ‘หิมะ พระจันทร์ ดอกไม้ : สวนญี่ปุ่น’ หยิบยกมาบางส่วนดังนี้
🪨 物の哀れ (mono no aware) : แปลความได้ว่า ‘สุนทรียภาพแห่งความเศร้าของสรรพสิ่ง’ ตระหนักรู้ถึงความไม่แน่นอนของธรรมชาติ และชีวิตก็ดำรงอยู่บนความไม่แน่นอนนั่นเอง เมื่อชีวิตโอบคลุมด้วยความไม่แน่นอน คาดการณ์ได้ยาก ก็รู้สึก “เศร้าอยู่ลึกๆ” หวั่นไหวไปกับความเปลี่ยนแปลงของชีวิตและบริบทรอบกาย สังเกต ใส่ใจกับสิ่งต่างๆรอบตัว วัฒนธรรมญี่ปุ่นมักตระหนักถึงความรู้สึกของสรรพสิ่ง กระทั่งก้อนหิน ต้นไม้ ถ้วยชาม ก็ถูกพิจารณาว่ามีชีวิตและความรู้สึก
‘โมะโนะ โนะ อะวะเระ’ สัมพันธ์กับความงามแบบ ‘มุโจ’
🪨 無常 (Mujō) : อนิจจัง ความไม่เที่ยงแท้ ทุกสรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง ไม่ดำรงอยู่อย่างชัดเจน เฉกเช่นหยดน้ำค้างที่เกาะบนใบไม้ในสวน แสงแดดที่ลอดหน้าต่างมากระทบผนัง สภาวะอันกำลังแปรเปลี่ยนมากกว่าหยุดนิ่ง วัตถุหรือรูปทรงย่อมเสื่อมสลายอย่างแน่นอนตามกาลเวลา
“การที่เรายอมรับความเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความงดงามขึ้นภายในจิตใจ” ดั่งน้ำค้างระเหย ไม่คงรูป ไม่ยั่งยืน ไม่จีรัง เกิดขึ้นและตั้งอยู่เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ความสุขและความทุกข์ก็เช่นกัน วัฒนธรรมญี่ปุ่นมีมุมมองต่อสิ่งเหล่านี้ผูกโยงกับความงดงาม การมองเห็นความงามจากความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง “ช่วงเวลา ณ ขณะหนึ่ง” คือเหตุปัจจัยสำคัญของความงดงามแบบมุโจ
‘มุโจ’ สัมพันธ์กับความงามแบบ ‘วะบิ สะบิ’ ที่เราเคยได้ยินกันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดยชนชั้นต่ำสุดของสังคม นั่นคือพ่อค้า มีลักษณะต่อต้านสังคมชั้นสูงและการจัดลำดับชนชั้น
🪨 間 (ma) : “มะ” หมายความว่า “พื้นที่” อักษรคันจิเกิดจากการผสมตัวอักษรหว่าง ‘門 : ประตู’ กับ “日 : ดวงอาทิตย์’ นัยความหมายก็คือ “แสงแดดที่ส่องลอดผ่านประตู” แฝงเร้นความรู้สึกว่า “พื้นที่จะมีความหมายก็ต่อเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในเวลา” เสมือนการได้หยิบใช้จินตนาการของตนเองเพื่อเติมเต็มความงามนั้นย่อมเหนือกว่าความเป็นจริง ความรู้สึกอันสื่อสารผ่านความเงียบสงบนั้นคือองค์ประกอบสำคัญของงานศิลปะญี่ปุ่น เป็นสุนทรียภาพแบบญี่ปุ่น
🪨 一期一会 (ichigo ichi-e) : ‘อิจิโกะ อิจิเอะ’ หรือ “หนึ่งช่วงเวลา หนึ่งการประสบ” เป็นความรู้สึกที่สัมพันธ์กับพื้นที่และเวลา ณ ขณะหนึ่ง การก่อเกิดประสบการณ์ของมนุษย์กับมนุษย์ หรือมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพียงครั้งเดียว โดยมีแนวคิดว่า “ทุกเหตุการณ์จะไม่สามารถเกิดสภาวะที่เหมือนกันทุกประการเช่นนั้นอีกแล้ว” สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ขณะปัจจุบันบนพื้นที่หนึ่งจึงสำคัญที่สุด ควรรับรู้และปฏิบัติให้ดีที่สุด เนื่องจากมันจะไม่มีวันหวนผ่านกลับมาอีกแล้ว
🌿แนวคิดเชิงปรัชญาเหล่านี้อาจพอจะช่วยให้นักอ่านอย่างเราๆ ได้สัมผัสห้วงคำนึงของ ‘จุนอิชิโร ทานิซากิ’ อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ไม่มากก็น้อย เฉกเช่นที่เขาเคยกล่าวไว้ว่า “เงาสลัวเป็นเพียงสิ่งปรากฏเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น แต่ก็มีความสมบูรณ์ในตัวเอง เราไม่อาจเรียกร้องอะไรได้มากไปกว่านี้”
.
🌿เป็นอย่างที่เป็น ฉะนั้นเอง
.
ขอให้มีความสุขกับการอ่าน ในทุกๆวันนะครับ 😊
📖เยิรเงาสลัว : In Praise of Shadows
.
ผู้เขียน : Junichiro Tanizaki (จุนอิชิโร ทานิซากิ)
ผู้แปล : สุวรรณา วงศ์ไวศยวรรณ
สำนักพิมพ์ : โอเพ้นบุ๊คส์, 2018 (พิมพ์ครั้งที่ 3)
หนังสือ
ปรัชญา
ญี่ปุ่น
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย