Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Thai PBS - ไทยพีบีเอส
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
12 ก.พ. เวลา 00:00 • ปรัชญา
“พุทธในเยอรมนี” พุทธศาสนาที่ไปไกลกว่าการท่องจำ
📌 อ่านฉบับเว็บที่:
https://www.thaipbs.or.th/now/content/2312
เมื่อพูดถึงพุทธศาสนา คนไทยส่วนใหญ่อาจนึกถึงวัด การทำบุญขอพร บทสวดมนต์ รวมถึงวันสำคัญกับพุทธประวัติ และอาจคิดถึงอิทธิพลของพุทธนิกายเถรวาทและนิกายมหายานในเอเชียเป็นหลัก แต่ในประเทศอีกซีกโลกหนึ่งอย่าง “เยอรมนี” นั้น พุทธศาสนาก็ “บูม” ไม่แพ้กัน
จากข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ พบว่ามีวัดไทยจำนวน 68 แห่งกระจายอยู่ทั่วทั้งเยอรมนี ทั้งในกรุงเบอร์ลิน นครแฟรงก์เฟิร์ต นครฮัมบูร์ก ฯลฯ และในกรุงเบอร์ลินก็มีวัดพุทธที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรปชื่อ Das Buddhistische Haus (“บ้านพุทธ”) ตั้งอยู่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1924 (พ.ศ. 2467) นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรเกี่ยวกับพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยเยอรมันหลายแห่งอีกด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า เยอรมนีเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาในยุโรปไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ดี พุทธในเยอรมนีไม่ได้มีแค่การท่องจำหลักคำสอนและการทำบุญในวัดวาอารามเพียงเท่านั้น
1
คณะสงฆ์สอนศาสนากลุ่มแรกในเยอรมนี ปี ค.ศ. 1957 ด้านขวาสุดของภาพคือ Asoka Weeraratna ชาวศรีลังกาผู้ที่ซื้อ Das Buddhistische Haus ในเวลาต่อมา (ภาพจาก: Das Buddhistische Haus)
“พุทธในเยอรมนี” ที่เปรียบได้กับ “มะเขือเทศ” ?
พุทธศาสนาเริ่มเป็นที่รู้จักในเยอรมนีในศตวรรษที่ 19 โดยนิกายเถรวาทนั้นเป็นพุทธนิกายแรกที่มีการเผยแพร่ และเริ่มมีการพิมพ์บทหลักธรรมคำสอนต่าง ๆ ในช่วงปลายศตวรรษเดียวกัน ที่สำคัญคือ ผู้นับถือศาสนาพุทธกลุ่มแรกในเยอรมนีนั้นไม่ใช่ชาวต่างชาติ แต่เป็น “คนเยอรมัน” เสียเอง จุดนี้สอดคล้องกับคำปาฐกถาช่วงหนึ่งของ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีไทยและผู้ร่วมก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่า “ในกระบวนชาติยุโรปด้วยกันแล้ว ชาวเยอรมันเป็นชาติแรกที่ได้รู้จักพระพุทธศาสนา”
1
ครั้นที่ได้ไปเยี่ยมชมพุทธในเยอรมนีตามคำเชิญของคณะทูตเยอรมันในปี พ.ศ. 2506 ศ.สัญญา ยังเล่าถึงความจริงจังของชาวเยอรมันในการศึกษาพุทธไว้ด้วยว่า “คนเยอรมันที่มานับถือพุทธนี่ เขาไม่มีละครับที่จะนับถือโดยสืบมาจากบรรพบุรุษเหมือนอย่างเรา ซึ่งถือเป็นธรรมดาไป แต่ทว่า เขานับถือเพราะเหตุที่เขาไปรู้จักเข้าพระพุทธศาสนานี่ใครรู้จักเข้าไม่ได้ ! ถ้ารู้จักเข้าแล้ว นับถือตายเลย ! [เพราะ] เมื่อเขาได้เป็น [พุทธศาสนิกชน] แล้ว เขาจึงมีการประพฤติปฏิบัติ คือจับแน่นเข้าไปในชีวิต เข้าใจว่าจะเป็นพุทธไปหมดทั้งชีวิตจิตใจ”
ส่วนหนึ่งจากปาฐกถาของศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ (ภาพจาก: กรมศิลปากร)
แม้พุทธในเยอรมนีจะมีศาสนสถานและพระสงฆ์เหมือนพุทธในประเทศอื่น ๆ แต่มาร์ติน บาวมานน์ (Martin Baumann) นักวิชาการด้านศาสนาจากมหาวิทยาลัยลูเซิร์นชี้ว่า ความชอบด้วยเหตุผล (rationality) เหตุผล (reason) และความเป็นไปได้ในการวิเคราะห์หลักธรรมคำสอน (possibility of analytical examination of the teachings) คือลักษณะเด่นของการรับพุทธศาสนาในเยอรมนี ขณะที่พิธีกรรมทางศาสนา อภินิหาร และพุทธจักรวาลวิทยา เช่น ความเชื่อเรื่องภพภูมินั้น ถูกลดความสำคัญลงไป
3
บาวมานน์ให้ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ธรรมเนียมพุทธในเยอรมนีนั้น “ยืดหยุ่น (flexible)” และปรับให้เข้ากับความคิด ค่านิยมและสังคมของประเทศปลายทาง ชาวเยอรมันและชาวยุโรปที่เป็นพุทธจึง “จงใจ” หาจุดเปรียบเทียบ รวมถึงตีความแนวคิดต่าง ๆ ในพุทธศาสนาขึ้นใหม่เพื่อช่วยให้พวกเขาเองและคนทั่วไปเข้าใจ “ศาสนาใหม่” ที่ไม่คุ้นเคยได้มากขึ้น
ตัวอย่างเช่น มนุษย์ “เกิดใหม่” ในตอนเช้าที่ตื่นมาและ “การกระทำจากวันก่อน” ก็ติดตัวคนคนนั้นตามมาด้วย พอถึงพลบค่ำ มนุษย์คนนั้นก็หลับใหลไป สุดท้าย เขาต้องพบกับวังวนนี้ซ้ำ ๆ ทุกวัน นี่เป็นการอธิบายแนวคิดการเกิดใหม่ (reincarnation) กรรม (karma) และสังสารวัฏ (samsara) ตามลำดับให้เป็นเรื่องเดียวกัน
ยิ่งไปกว่านั้น บทความวิชาการที่ชื่อ “Is Buddhism like a tomato?” ในวารสาร Method & Theory in the Study of Religion เมื่อปี ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) ได้ต่อยอดประเด็นที่บาวมานน์เสนอไว้ว่า แท้จริงแล้ว พุทธศาสนาที่เข้ามาในเยอรมนีผ่าน “การกรอง” จากกระแสปฏิฐานนิยม (positivism – ความเชื่อที่ว่าสมมติฐานและทฤษฎีใด ๆ จะเป็นจริงได้ต่อเมื่อผ่านการพิสูจน์มาแล้ว) และการตื่นรู้ทางปัญญาในทวีปยุโรป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พุทธในเยอรมนีคือ “ศาสนาพุทธที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมแล้ว” ก่อนที่จะฝังรากในวัฒนธรรมใหม่
ดร.ทิพพาพันธุ์ เชื้อสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นด้วยกับข้อความที่ว่าพุทธศาสนาอาจผ่าน “การกรอง” มาก่อนที่จะเริ่มแพร่หลายออกไปในยุโรป
“มันเป็นไปได้สูงที่จะเป็นแบบนั้น ปกติเวลาที่เรารับมโนทัศน์บางอย่างที่มาจากคนละภาษา คนละวัฒนธรรม เราต้องคิดผ่านกรอบของโลกที่เรารู้จักอยู่แล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปโอบรับการมองโลกของคนอื่นอย่างที่มันเป็นจริง ๆ” ดร.ทิพพาพันธุ์ ให้สัมภาษณ์กับ Thai PBS NOW “[และ] ศตวรรษที่ 19 เป็นยุคที่กระแสปฏิฐานนิยมและการเคลื่อนไหวทางปัญญาพุ่งสูงสุด ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการคัดกรองแบบนั้นด้วย”
1
โปสการ์ด Das Buddhistische Haus ในช่วงทศวรรษ 1970 (ภาพจาก: Das Buddhistische Haus)
พุทธซึ่ง (เคย) ถูกมองว่าเป็น “ความเชื่อที่ไม่เชื่ออะไรเลย”
การผสานวัฒนธรรมใหม่สู่สังคมแห่งใหม่ถือเป็นการบรรจบกันของ “ความเป็นอื่น (Otherness)” ทั้ง 2 ทาง เมื่อมีการแบ่งรับแบ่งสู้จากคนกลุ่มหนึ่ง ก็ย่อมมีความไม่เข้าใจจากคนอีกกลุ่มเกิดขึ้นตามมา พุทธในเยอรมนีเองก็เช่นกัน แม้พุทธศาสนาจะได้รับความสนใจประมาณหนึ่งจากชาวเยอรมัน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เคยมีประเด็นขัดแย้งใด ๆ กับชุดความเชื่อและค่านิยมเดิมเลย
ในช่วงศตวรรษที่ 19 ชาวเยอรมันกลุ่มแรกที่หันมานับถือพุทธบางคนได้โจมตีคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนต์อย่างเปิดเผย อีกทั้งยังคิดว่าศาสนาคริสต์คือสาเหตุหลักที่ทำให้ค่านิยมและศีลธรรมของคนในยุโรปเสื่อมถอยลง จึงมีนักเทววิทยาศาสนาคริสต์เชื่อมโยงพุทธเข้ากับสุญนิยม (nihilism – ปรัชญาที่ปฏิเสธคุณค่าพื้นฐานของชีวิตและสรรพสิ่ง) การมองโลกในแง่ร้าย (pessimism) และอเทวนิยม (atheism)
การตีความคลาดเคลื่อนจึงเป็นปัญหาอย่างหนึ่งของพุทธในเยอรมนี ก่อนที่พุทธศาสนาจะเริ่มแพร่หลายในเยอรมนี ไลบ์นิซ (Gottfried Wilhelm Leibniz – ค.ศ. 1646-1716) นักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ผู้คิดค้นแคลคูลัสและเลขฐานสอง เคยตีความไว้ว่า พุทธศาสนาเป็น “คำสอนเกี่ยวกับความว่างเปล่าอันมีความเจ็บปวดเป็นศูนย์กลาง” การตีความนี้ยิ่งทำให้ความเข้าใจพุทธในเยอรมนีคลาดเคลื่อนยิ่งขึ้นไปอีกในช่วงศตวรรษที่ 18-19 ดร.ทิพพาพันธุ์ให้ความเห็นว่า นี่เป็นความเข้าใจผิดทั่วไปที่เกิดขึ้นในผู้ที่เพิ่งเริ่มศึกษาพุทธในยุโรปในตอนนั้น
รูปปั้นอนุสาวรีย์ของไลบ์นิซหน้ามหาวิทยาลัยไลพ์ซิก (ภาพจาก: Adobe Stock)
แม้แต่ในปัจจุบัน นิสิตนักศึกษาชาวไทยที่เข้ามาเรียนพุทธปรัชญาในระดับอุดมศึกษาก็อาจคิดแบบไลบ์นิซได้เหมือนกัน “การพูดถึงเรื่องความว่างเปล่า (emptiness) หรือการไม่มีสิ่งใดอยู่ (nothingness) ในพุทธ มันชวนให้ผู้ที่ยังไม่ได้ศึกษา [พุทธ] มากพอเข้าใจผิดได้ในยุโรปยุคนั้น [ทุกวันนี้] เจอนิสิตจำนวนมากที่เวลาอ่าน [พุทธในห้องเรียน] แล้ว [คิดว่า] ‘อ้าว สองคำนี้ย่อมแปลว่า พุทธเชื่อว่าโลกไม่มีอะไรเลยและทุกอย่างว่างเปล่า’” ดร.ทิพพาพันธุ์ เล่า
“แต่คำว่า ‘nothingness’ หรือ ‘emptiness’ ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า ‘ไม่มีสิ่งใดที่มีอยู่’ สิ่งที่พุทธต้องการเสนอคือ การปฏิเสธการมีอยู่ของสิ่งที่คงทนถาวร อันนี้ตรงกับแนวคิดของคำว่า ‘อนัตตา’”
อนัตตาถือเป็นแนวคิดหนึ่งที่สะท้อนถึงหลักธรรมเกี่ยวกับ “ทางสายกลาง” ในพุทธศาสนาด้วย “พระพุทธเจ้าเองก็ยืนยันไว้ชัดเจนว่า สิ่งที่ท่านเสนอนั้นคือทางสายกลางระหว่างแนวความคิดสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งมองว่า โลกนี้มีอะไรบางอย่างที่จีรัง ยั่งยืน ไม่เปลี่ยนแปลง กับอีกฝั่งหนึ่งที่บอกว่า โลกนี้ไม่มีอะไรเลย ไม่มีคุณค่าหรือความจริงใด ๆ ทั้งสิ้น มันเป็นความสุดโต่งของทั้งสองฝั่ง พุทธไม่เข้ากับความสุดโต่งของฝั่งใดฝั่งหนึ่ง พุทธบอกว่า มันเป็นไปได้ที่สิ่งต่าง ๆ จะมีอยู่ แต่ไม่จีรังยั่งยืน” ดร.ทิพพาพันธุ์ อธิบายเสริม
การส่งเสริมความหลากหลายและทักษะคิดวิเคราะห์ผ่าน “พุทธศาสนา”
แม้จะผ่านประวัติศาสตร์อันบอบช้ำจากสงครามโลกถึง 2 ครั้ง แต่เยอรมนีก็พยายามที่จะรักษาและกอบกู้มรดกทางวัฒนธรรมเอาไว้ และพุทธศาสนาเองก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติเยอรมันขึ้นมาใหม่ในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 ตามที่ศ.สัญญาได้ให้ความเห็น “[เยอรมนี] ต้องการจะให้เราไปเห็นอะไรสักอย่าง เห็นว่าเขานี่ถึงแม้แพ้สงครามอย่างยับเยินถึง ๒ ครั้ง ในระยะเวลาอันใกล้ชิดกันตามประวัติศาสตร์ […] แต่กระนั้นเขาก็สามารถที่จะรักษาชีวิตในทางวัฒนธรรมไว้ได้ดีเพียงใด” ศ.สัญญา กล่าวปาฐกถาไว้เมื่อปี พ.ศ. 2506
ปัจจุบันนี้ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมยังคงปรากฎอยู่ในสังคมเยอรมัน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นผ่านการอยู่ร่วมกันของศาสนาต่าง ๆ เช่น ในกรุงเบอร์ลิน มีสถานที่ทางศาสนากว่า 250 แห่งทั่วทั้งเมือง และผู้นับถือศาสนาคริสต์ อิสลาม และยิวกำลังดำเนินโครงการก่อสร้าง “House of One” ซึ่งจะเป็นศาสนสถานร่วมของคนทั้ง 3 ศาสนาดังกล่าว นอกจากนี้ วัดพุทธนิกายมหายาน ฝอกวงซัน (Fo Guang Shan Community Temple) แห่งใหม่ได้เปิดตัวไปเมื่อปีที่ผ่านมา ณ ใจกลางเมืองหลวงของเยอรมนี
พิธีเปิดวัดฝอกวงซันแห่งใหม่ในกรุงเบอร์ลิน (ภาพจาก Facebook: Fo-Guang-Shan Berlin)
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ กระแสขวาจัดในเยอรมนีและยุโรปนั้นขยายใหญ่ขึ้น อีกทั้งพรรคการเมืองเยอรมันหลายพรรคก็มีนโยบาย “เกลียดกลัวชาวต่างชาติ (xenophobic)” จนคริสตจักรในเยอรมนีได้ออกมาแสดงความกังวลก่อนการเลือกตั้งสภายุโรปเมื่อปีที่แล้ว ทั้งนี้ ตราบใดที่สังคมแห่งหนึ่งมีขันติธรรมมากพอต่อความเป็นอื่น สังคมนั้นจะสร้างบรรยากาศที่ผู้คนต่างความเชื่อสามารถถกเถียงและอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่นำพาไปสู่ความรุนแรงและการต่อต้านคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กับความหลากหลายและขันติธรรม
การตระหนักถึงประเด็นปัญหาที่ปรากฏอยู่ในศาสนาใดศาสนาหนึ่ง อย่างเช่นพุทธในเยอรมนีและพุทธในประเทศอื่น ๆ นั้นมีปัญหาร่วมกันคือ แนวทางคำสอนและการทำสมาธิที่ยังคงยึดผู้ชายเป็นศูนย์กลาง (androcentric) อีกทั้งในยุโรป เคยมีการถกเถียงในวงกว้างเกี่ยวกับพระภิกษุณี รวมถึงสิทธิและหน้าที่ของแม่ชีพุทธอีกด้วย บาวมานน์จึงกล่าวว่า ความตระหนักเกี่ยวกับความแตกต่างทางเพศควรจุดประกายให้ทั้งโลกตะวันออกและโลกตะวันตกหันมาศึกษาหลักคำสอนของพุทธศาสนาในเชิงวิพากษ์มากขึ้น
แม้จะนับถือหรือคุ้นเคยกับวัฒนธรรมพุทธอยู่แล้ว แต่คนไทยเองก็สามารถศึกษาพุทธในเชิงวิพากษ์และใช้ประโยชน์จาก ‘พุทธปรัชญา’ ได้เช่นกัน “ต่อให้พระพุทธเจ้าบอกว่า ความจริงสูงสุดคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คำถาม [ที่ตามมา] คือ แล้วเราเข้าใจคำสอนนั้นว่าอย่างไร มันเวิร์กอย่างไรกับประสบการณ์ของเรา
"เราหลีกเลี่ยงการตีความคำสอนไม่ได้ ไม่อย่างนั้น ประวัติศาสตร์ความคิดของพุทธคงไม่ผ่านการถกเถียงของพุทธสำนักต่าง ๆ มาสองพันกว่าปี ดังนั้น ก่อนที่จะเอา [หลักธรรมพุทธ] ไปปฏิบัติ เราต้องศึกษาหรือทำความเข้าใจในแบบที่เวิร์กกับเราที่สุด การศึกษาทางวิชาการจึงมีประโยชน์ในแง่นี้ มันช่วยให้เราหาวิธีการที่พูดกับประสบการณ์เราได้ดีที่สุด เพื่อที่จะช่วยนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง” อ.ทิพพาพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย
งานบุญเนื่องในวันปิยมหาราชที่วัดพุทธาราม กรุงเบอร์ลิน ปี พ.ศ. 2566 (ภาพจาก: กระทรวงการต่างประเทศ)
ติดตามบทความและเรื่องราวทันทุกกระแสที่ Thai PBS NOW:
www.thaipbs.or.th/now
2 บันทึก
9
3
2
9
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย