Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วินทร์ เลียววาริณ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
12 ก.พ. เวลา 11:34 • หนังสือ
ท่านติช นัท ฮันท์ สอนเรื่องอานาปานัสสติ เป็นบทเรียน 8 บทดังนี้
1 ให้รับรู้ลมหายใจเข้าออก (Awareness of inner & outer breath)
เมื่อหายใจเข้า ให้โฟกัสที่จุดหายใจเข้า สลัดทิ้งทุกอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป เช่น เรื่องในอดีต ความกังวลเกี่ยวกับอนาคต ความคิดเรื่องงาน ความกลัว ความโกรธ ความอิจฉา ฯลฯ
จุดหมายเดียวของเรา ณ จุดนี้คือหายใจเข้า เราจะเป็นอิสระตอนนี้เอง
ท่านติช นัท ฮันท์ บอกว่า “แค่หายใจเข้าก็เป็นอิสระ”
ย้ำอีกครั้ง ขั้นตอนที่ 1 คือให้รับรู้ตามทันการหายใจเข้าและหายใจออก
2 ตามลมหายใจเข้าออก (Follow inner and outer breath)
ไม่ใช่ตามธรรมดา แต่ติดตามลมหายใจเข้าและออกตั้งแต่ต้นจนจบ
สมมุติว่าความยาวของหนึ่งลมหายใจเข้าคือความยาวของปากกาหนึ่งแท่ง ตอนหายใจเข้าก็ให้จิตจับที่ปลายปากกาหนึ่ง ขณะหายใจเข้า ก็ตามมันไปตามแท่งปากกานั้น ไม่มีจุดสะดุด ต่อเนื่องไปตลอดทั้งด้ามปากกา โฟกัสจิตตรงจุดของการหายใจเข้าไปจนสุดทาง
การหายใจออกก็เช่นกัน ติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ
3 รับรู้ร่างกาย (Awareness of body)
หายใจเข้ารับรู้การดำรงอยู่ของร่างกาย อยู่กับปัจจุบัน และรับรู้ว่ามีชีวิต
ท่านว่าหลายคนใช้เวลาสองชั่วโมงหน้าจอคอมพิวเตอร์ เวลาผ่านไปสองชั่วโมงโดยที่เขาไม่รู้ตัว แปลว่าเขาจะ ‘ไม่มีชีวิต’ ในช่วงนั้น
เราจะมีชีวิตก็ต่อเมื่อจิตอยู่กับกาย รับรู้การดำรงอยู่ของร่างกาย ณ ขณะจิตปัจจุบัน
การรับรู้กายทำให้เราเอนจอยร่างกาย
4 ทำให้กายสงบ (Calm your body)
หายใจเข้า เราทำให้กายสงบ
ตอนหายใจออก ปล่อยให้ความเครียดความเกร็ง (tension) ไหลออกมา
ร่างกายสัมพันธ์แนบแน่นกับจิตใจ เมื่อร่างกายเครียดเกร็ง มันจะส่งผลลบต่อจิตใจ
การฝึกจิตก็คือการฝึกกายด้วย เพราะกายกับจิตเชื่อมกัน
5 สร้างความรู้สึกยินดีเริงร่า (Generating joy)
เมื่อหายใจอย่างรับรู้ มันก็เปิดโอกาสให้เรายินดีเริงร่าได้ง่าย เราบอกตัวเองได้ว่าเราโชคดีที่สามารถมีความสุขที่นี่ ณ ขณะจิตนี้ ไม่ต้องวิ่งไปในอนาคตเพื่อหาความสุข มันอยู่ตรงนี้แล้ว
มีความสุขในชั่วยามปัจจุบัน ที่นี่ เดี๋ยวนี้
ท่านติช นัท ฮันท์ บอกว่า แค่อยู่กับปัจจุบันขณะ มันก็ทำให้เป็นเหตุให้มีความสุขได้แล้ว
นี่ก็คือคำสอนของพระพุทธองค์โดยตรง
6 สร้างความสุข (Generating happiness)
ยามหายใจเข้าออก ให้ผ่อนคลาย มองโลกด้านสุข มองด้านดี มองความสวยงามของโลก มองด้านดีของคนอื่น มองว่าโลกที่เราอยู่มีความสุข มีคุณค่าที่เราควรอยู่
7 รับรู้ความรู้สึกเจ็บปวด (Awareness of pain)
หายใจเข้า เรารับรู้ความรู้สึกเจ็บปวดที่กำลังเกิดขึ้นในตัวเรา
ไม่หนีความรู้สึกเจ็บปวดนั้น หรือซ่อน หรือกดทับ แต่ให้รับรู้
ท่านติช นัท ฮันท์ สอนว่า เมื่อจิตตื่นรู้ ก็รับรู้ว่ามีความรู้สึกเจ็บปวดนั้นเกิดขึ้น และโอบรับความเจ็บปวดนั้นอย่างอ่อนโยน ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความกลัว ความอิจฉา ความสิ้นหวัง
เราอาจเอ่ยว่า “สวัสดีจ้ะ ความเจ็บปวด ฉันรู้ว่าเธออยู่ตรงนี้นะ ฉันจะดูแลเธออย่างดี”
ไม่ต้องสู้กับความเจ็บปวด ยอมรับมัน ดูแลมันอย่างดีเหมือนแม่ที่ปลอบโยนทารกที่ร้องไห้ ความทุกข์ก็คือทารกที่ร้องไห้อยู่ จิตที่ตื่นรู้คือแม่ที่มีความรัก โอบกอดลูกอย่างอ่อนโยน
ก็คือใช้พลังงานของการเจริญสติมาช่วย
8 สงบความเจ็บปวดลง (Calm down the pain)
รับรู้ความเจ็บปวด แต่สงบมันลงประหนึ่งแม่โอบกอดลูกอย่างอ่อนโยน ทำให้ลูกมีความทุกข์ลดลง
ท่านติช นัท ฮันท์ กล่าวว่า ข้อ 5-6 คือศิลปะของความสุข ส่วนข้อ 7-8 คือศิลปะของความทุกข์
เราต้องรับรู้ทั้งสองอย่าง ไม่ใช่รับแต่สุข ไม่รับทุกข์ แต่เราจะเปลี่ยนด้านลบเป็นบวกได้ เสมือนใช้ดินโคลนปลูกดอกบัว
อย่ากลัวความทุกข์ ความเจ็บปวด อย่าหนีมัน แต่จงอยู่กับมัน
ขอให้ทุกท่านมีความสุขสงบสงัดใจในวันมาฆบูชา 2568 นี้เทอญ
ย่อความจาก ตัวสุขอยู่ในหัวใจ / วินทร์ เลียววาริณ
(ภาพประกอบโดยท่านติช นัท ฮันท์)
15 บันทึก
48
1
14
15
48
1
14
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย