17 ก.พ. เวลา 10:00 • ธุรกิจ

อีลอน มัสก์ พิสูจน์แล้ว งานออฟฟิศ 80% ไม่จำเป็น ทีมเล็กก็สำเร็จได้

หนึ่งในประเด็นร้อนแรงของโลกการทำงานช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นกรณีที่ ‘อีลอน มัสก์’ มหาเศรษฐีคนดังระดับโลก มีบทบาทหน้าที่ใหม่ในฐานะผู้นำกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (DOGE) ในรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกำลังดำเนินการปลดพนักงานรัฐบาลกลางครั้งใหญ่ ส่งผลกระทบต่อพนักงานจำนวนมากที่ต้องตกงาน และเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
3
โดยแคมเปญดังกล่าวของมัสก์ มีเป้าหมายที่จะเลิกจ้างพนักงานรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาจำนวน 10% จากทั้งหมด 2.3 ล้านคน รวมถึงพนักงานทั้งหมด 10,000 คนในสำนักงานเพื่อการพัฒนาการระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งสถานการณ์แบบนี้แทบไม่ค่อยเกิดขึ้นให้เห็นมากนัก
1
แต่มีเคสหนึ่งที่ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์คล้ายๆ กันนั่นคือ ตอนที่มัสก์เข้าซื้อบริษัทโซเชียลมีเดียอย่าง Twitter ในปี 2022 ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ X หากลองสังเกตดีๆ จะพบว่าในครั้งนั้นเขาก็ได้รื้อโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่และปลดพนักงานออกมากถึง 80% เพราะพบว่าตำแหน่งงานส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต่อการเติบโตของบริษัท แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในตอนแรก ถึงขั้นวอลล์สตรีทเองก็แสดงความกังวล แต่ปัจจุบันพบว่าแพลตฟอร์ม X กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง
📌 อีลอน มัสก์ รื้อองค์กรขนานใหญ่ เฉือนพนักงาน 80% เพื่อความอยู่รอดของ X
ย้อนกลับไปในปี 2022 รายงานจาก BBC ระบุว่า มัสก์ได้ปรับลดพนักงานของบริษัท Twitter จาก 7,500 คน ลงเหลือ 1,500 คน ซึ่งลดลงประมาณ 80% ตามที่ระบุไว้ในรายงานประจำปีฉบับล่าสุดของบริษัทในฐานะบริษัทมหาชน อีกทั้ง มัสก์ ได้ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า การปลดพนักงานออกจำนวนมากนั้น “มันไม่สนุกเลย” และบางครั้งอาจ “เจ็บปวด”
2
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จำเป็นต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาด เพราะหลังจากมัสก์เข้ามาบริหารทวิตเตอร์ก็พบว่าบริษัทกำลังเผชิญกับ “สถานการณ์กระแสเงินสดติดลบ 3 พันล้านดอลลาร์” ซึ่งหากไม่ทำอะไรสักอย่าง บริษัทจะเหลือเวลาดำเนินกิจการได้เพียง “สี่เดือนเท่านั้น” ตามที่เขาประเมินไว้
“นี่ไม่ใช่สถานการณ์ของการที่ต้องมาบอกว่าใจร้ายหรือไม่สนใจผู้คนอะไรทั้งนั้น มันเหมือนกับว่าถ้าปล่อยไว้แบบนี้ต่อไป เรือทั้งลำล่มแน่ๆ และก็ไม่มีใครมีงานทำเลย” มัสก์กล่าวเอาไว้เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2023
ล่าสุด ฮีธ อาห์เรนส์ (Heath Ahrens) ซีอีโอของบริษัท voice ai ผู้ซึ่งคร่ำหวอดในธุรกิจสายเทคโนโลยีมายาวนานกว่า 15 ปี ได้วิเคราะห์ถึงวิธีการบริหารงานที่ออกจะสุดโต่งของ อีลอน มัสก์ ผ่านข้อเขียนใน LinkedIn ไว้ว่า แม้วิธีการจะดูรุนแรง แต่ก็ต้องยอมรับว่านี่ถือเป็นหนึ่งกลยุทธ์การบริหารที่ทำให้บริษัทอยู่รอดได้ในยุค AI ดิสรัปต์
อาห์เรนส์บอกว่า ย้อนกลับไปในช่วงที่มัสก์เข้าซื้อ Twitter ในราคา 44,000 ล้านดอลลาร์ เขาทำสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยการเลิกจ้างพนักงานถึง 80% สื่อหลายสำนักคาดการณ์ว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวจะไปไม่รอด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นบทเรียนชั้นยอดในการทำให้บริษัทพร้อมรับมือกับโลกทำงานในอนาคต
1
📌 ยิ่งทีมใหญ่-ขั้นตอนซ้ำซ้อน งานยิ่งสำเร็จช้า แต่ทีมเล็กๆ ขับเคลื่อนได้เร็วกว่า
2
ขั้นตอนแรกของแผนการรื้อโครงสร้างบริษัทและจัดระเบียบองค์กรใหม่ของอีลอน มัสก์ คือ “การคัดกรองอย่างแม่นยำ” โดยเจ้าตัวได้นำบุคลากรที่เขาไว้วางใจและเชี่ยวชาญระบบ LEAN องค์กร (ลดต้นทุน ลดจำนวนพนักงาน ลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น) เข้ามาคัดกรองเพื่อระบุพนักงานใน Twitter ที่มีศักยภาพสูง แยกออกจากพนักงานที่มีศักยภาพต่ำหรือทำงานซ้ำซ้อน ซึ่งแน่นอนว่าคนกลุ่มหลังจะต้องโบกมือลาออกไปกันเป็นส่วนใหญ่
ทั้งนี้ ในประบวนการดังกล่าว พนักงานทุกคนต้องอธิบายว่าบทบาทของตัวเองสำคัญอย่างไรและแนะนำเพื่อนร่วมงานที่ควรเก็บไว้ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการก็พบผลลัพธ์ที่น่าตกใจ นั่นคือ ทีมงานส่วนใหญ่มีความซ้ำซ้อนในบทบาทหน้าที่และเนื้องานที่ทำ รวมถึงพบว่ากระบวนการทำงานส่วนใหญ่ก็ซับซ้อนและมีหลายขั้นตอนเกินความจำเป็น
1
ผลลัพธ์ที่เปิดเผยความจริงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า องค์กรยุคเก่าเต็มไปด้วยลำดับชั้นบริหารและงานที่ต้องใช้แรงมนุษย์มากเกินไป แต่องค์กรยุคใหม่ต้องสร้างระบบโครงสร้างและขับเคลื่อนด้วยวิธีใหม่ๆ ดังนั้น มัสก์จึงตัดสินใจรื้อระบบเก่าแล้วสร้างใหม่ทั้งหมด เขากำจัด “มนุษย์ตัวกลาง” ซึ่งทำหน้าที่เป็นคนกลางรับนโยบายจากผู้บริหาร (จากบน) ส่งต่อไปยังระดับปฏิบัติการ (ลงล่าง) ออกไป
1
แทนที่จะให้ 20 คนตัดสินใจเรื่องเดียวกัน เขาเปลี่ยนมาเป็นการสร้างทีมเล็กๆ ที่มีประสิทธิภาพและให้อำนาจเต็มที่ในการทำงาน แล้วใช้เครื่องมือ AI ที่ทรงพลังเข้ามาช่วยทำงานในหลายๆ ส่วนแทน วิธีนี้จะเข้าไปแก้ไขและเปลี่ยนแปลงการทำงานเดิมๆ ที่เคยใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะสรุปหรือเคาะเรื่องได้จนเสร็จ แต่ตอนนี้สามารถทำได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง
1
ไม่เพียงเท่านั้น มัสก์ยังพัฒนาองค์​กรไปอีกขั้น ปรับจากองค์กรยุคเก่าเข้าสู่องค์กร “ยุคปฏิวัติระบบอัตโนมัติ” ยกตัวอย่าง “กลุ่มงานกลั่นกรองเนื้อหา” จากเดิมเคยต้องใช้ทีมงานขนาดใหญ่ในการทำงาน แต่ตอนนี้ทีมนั้นถูกแทนที่ด้วย AI เป็นศูนย์กลาง ด้วยระบบใหม่นี้ช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น ลดข้อผิดพลาด และขยายขนาดได้อย่างไร้ขีดจำกัดด้วยต้นทุนต่ำ
2
📌 ใช้ XAI ปัญญาประดิษฐ์ที่มีศักยภาพสูงมาทำงาน สร้างผลลัพธ์ได้เหนือกว่า
สำหรับการนำ AI มาใช้ทำงานนั้น ปัจจุบันนี้พบว่าปัญญาประดิษฐ์แบบเดิมอาจไม่ตอบโจทย์ในแง่ของความน่าเชื่อถือ มัสก์แนะนำให้ใช้ XAI (Explainable AI) ซึ่งทำให้การตัดสินใจของ AI โปร่งใสและเชื่อถือได้มากขึ้น (XAI คือ ปัญญาประดิษฐ์ที่มีศักยภาพสูงยิ่งขึ้นกว่าเดิม สามารถอธิบาย ชี้แจง และไขข้อสงสัยได้ว่าทำไมสมองกลจึงตัดสินใจแนะนำและให้คำตอบแบบนี้แก่มนุษย์ที่เป็นผู้ใช้งาน) ซึ่งทำให้ผลลัพธ์ที่ดีในการทำงานหลายประกาย เช่น
- ตรวจจับเนื้อหาอย่างแม่นยำและสม่ำเสมอ
- ตอบสนองต่อภัยคุกคามได้อย่างรวดเร็ว
- ผสานความคิดเห็นจากผู้ใช้แบบเรียลไทม์
ในภาพรวมพบว่าปัจจุบัน แพลตฟอร์ม X ทำงานได้คล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เคย โดยสรุปคือ การ LEAN องค์กรครั้งนั้นของมัสก์ไม่ใช่แค่การลดต้นทุน แต่มันคือ “พิมพ์เขียวการบริหารองค์กรสำหรับยุค AI” กล่าวคือ เป็นการมุ่งสร้างทีมงานขนาดเล็กที่มีการใช้เครื่องมือ AI อันทรงพลัง ส่งผลให้สามารถทำงานได้เหนือกว่าสิ่งที่องค์กรแบบดั้งเดิมทำได้
ยืนยันความสำเร็จได้จากรายงานของ NextBigFuture ที่ระบุว่า กำไรของ X ในปี 2024 อยู่ที่ 1.25 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับปี 2021 และคาดการณ์ว่า X จะยังเติบโตต่อเนื่องและทำกำไรแตะ 2.5 พันล้านดอลลาร์ได้ในสิ้นปี 2025
ท้ายที่สุด ฮีธ อาห์เรนส์ สรุปให้เห็นภาพชัดเจนว่า ต่อไปอนาคตข้างหน้าบริษัทที่จะอยู่รอดอย่างแข็งแกร่งนั้น ไม่ใช่บริษัทที่ยึดติดกับโครงสร้างองค์กรขนาดใหญ่ แต่เป็นบริษัทที่ผู้นำสามารถยกระดับมนุษย์ให้อยู่ในบทบาทเชิงกลยุทธ์ได้, ทำให้การตัดสินใจของ AI โปร่งใส, สร้างทีมขนาดเล็กแต่ทรงพลัง, ใช้ระบบอัตโนมัติให้มากที่สุด ..บทเรียนการปรับโครงสร้างองค์กร X ของอีลอน มัสก์ ได้ตอกย้ำดังๆ อีกครั้งว่า “บริษัทที่ปรับตัวจะอยู่รอด ส่วนบริษัทที่ไม่ปรับตัวไปพร้อมเทคโนโลยียุคใหม่ก็จะล่มสลายในที่สุด”
1
โฆษณา