13 ก.พ. เวลา 00:36 • ธุรกิจ

เจาะกลยุทธ์ อีลอนมัสก์ ซื้อOpenAIทำไมแพงลิบลิ่ว

เพราะเหตุใด ข้อเสนอเข้าซื้อกิจการ OpenAI มูลค่า 97,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.3 ล้านล้านบาท) จาก “อีลอน มัสก์” (Elon Musk) หนึ่งในมนุษย์ที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งของโลก ซึ่งปัจจุบันจากการประเมินแบบ Real Time ของ Forbes ระบุความมั่งคั่งเอาไว้สูงถึง 378,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (12.9ล้านล้านบาท) จึงได้รับคำตอบกลับมาแบบสุดพีค ที่ว่า….
“ไม่ล่ะ ขอบคุณมากนะ แต่เราจะซื้อ Twitter ในมูลค่า 97,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากคุณต้องการ” จาก “แซม อัลต์แมน” (Sam Altman) CEO OpenAI  บริษัทซึ่งปัจจุบัน ถูกประเมินมูลค่าเอาไว้สูงถึง 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.7ล้านล้านบาท)
1
ผู้ชายสองคนนี้ เขามีอะไรกันอยู่ในใจ จึงทำให้ต้องมีการตอบโต้ ด้วยถ้อยคำที่สุดเผ็ดร้อนเช่นนี้ วันนี้ “เราและคุณ” ลองย้อนกลับไปสำรวจรอยปริแยก ที่นำไปความขัดแย้งจาก “คนเคยรัก” ทั้งสองคนนี้ รวมถึง อะไรกันนะที่อยู่เบื้องหลัง “สงครามน้ำลายที่นำไปการยื่นข้อเสนอเข้าซื้อกิจการที่แพงลิบลิ่ว” ในครั้งนี้ ด้วยกันดีกว่า!
ความสัมพันธ์ระหว่าง อีลอน มัสก์ และ แซม อัลต์แมน :
ปี 2010 :
อีลอน มัสก์ และ แซม อัลต์แมน เริ่มต้นความสัมพันธ์กันตั้งแต่ปี 2010 โดยในเวลานั้น “ความหวังใหม่แห่งซิลิคอนวัลเลย์” อย่าง แซม อัลต์แมน ได้พบกับ อีลอน มัสก์ เป็นครั้งแรกขณะเข้าเยี่ยมชมบริษัท SpaceX โดยหลังจากที่ได้พบปะหารือกันในครั้งนั้น แซม อัลต์แมน มักกล่าวชื่นชมเจ้าพ่อเทสลาในทำนองเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้อยู่เสมอๆ โดยครั้งหนึ่งเขาได้โพสต์บอกเล่าบนบล็อกของตัวเอง เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า…
“อีลอน มัสก์ บอกเล่าได้อย่างละเอียดละออเกี่ยวกับการผลิตจรวดในทุกขั้นตอนการผลิต แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ในความทรงจำเสมอ คือ สีหน้าอันมั่นคงและแน่วแน่ เมื่อเขาพูดถึงการส่งจรวดไปยังดาวอังคาร”
ปี 2015 :
หลังจากส่งอีเมล์เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI และความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนา AI มาตั้งแต่ปี 2014
ในปี 2015 อีลอน มัสก์ ตัดสินใจร่วมลงทุนกับ แซม อัลต์แมน ก่อตั้ง OpenAI  ไม่เพียงเท่านั้นมหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทเทสลา ยังได้แสดงเจตจำนงอันแน่วแน่ ด้วยการประกาศอย่างเสียงดังฟังชัดว่า จะระดมทุนให้ได้ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (34,163ล้านบาท) ซึ่งสูงกว่าที่ แซม อัลต์แมน ตั้งใจไว้ที่เพียง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3,416ล้านบาท)
นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังคว้าตัว “อิลยา ซุตสเคเวอร์” (IIya Sutskever) นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI เข้ามาเป็นกำลังสำคัญให้กับ OpenAI ได้สำเร็จ พร้อมกับวางตำแหน่งของ OpenAI เอาไว้อย่างสวยหรูว่าจะเป็น “องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร” (non-profit) และจะป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า  AI Apocalypse หรือ การที่เทคโนโลยี AI นำไปสู่การทำลายล้างอารยธรรมของมนุษย์ชาติ รวมถึงจะมีการเผยแพร่เทคโนโลยีออกไปในวงกว้าง
1
ด้วยเหตุนี้ การวางโครงสร้างองค์กรจึงแตกต่าง ไปจากบริษัทเอกชนที่มุ่งแสวงหาผลกำไรเป็นลำดับแรกอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ คณะกรรมการบริษัทมีสิทธิอย่างเต็มที่ในการตัดสินในเรื่องการดำเนินนโยบายใดๆ ในขณะที่บรรดานักลงทุน จะไม่มีอำนาจในระดับคณะกรรมการบริษัททั้งสิ้น
ชนวนความขัดแย้ง :
อีลอน มัสก์ เริ่มต่อสู้แย่งชิงอำนาจภายใน OpenAI กับ แซม อัลต์แมน โดยมักมีการกล่าวอ้างอยู่เนืองๆ ในเรื่องการพัฒนาโปรเจคที่ล่าช้า เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่าง “กูเกิ้ล” (Google) พร้อมกับพยายามกดดันให้ OpenAI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ บริษัทเทสลา (Tesla)
ไม่เพียงเท่านั้น มหาเศรษฐีหนุ่มผู้นี้ ยังมักแอบดึงตัวนักวิจัยด้าน AI ระดับท็อปของ OpenAI เข้าไปทำงานที่บริษัทเทสลาอีกด้วย!
และเมื่อความขัดแย้งเดินทางไปถึง “ขีดจำกัด” อีลอน มัสก์ จึงได้ประกาศถอนตัวจากตำแหน่งคณะกรรมการบริษัท ด้วยการส่งอีเมล์ถึงบรรดาผู้ก่อตั้ง OpenAI ในปี 2018
เป็นเหตุให้ แซม อัลต์แมน ประกาศตอบโต้อย่างแข็งกร้าวออกมาทันทีว่า การเดินออกจาก OpenAI ของ “อดีตผู้สนับสนุนคนนี้” จะทำให้ความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ระหว่าง OpenAI และ เทสลา สิ้นสุดลงเช่นกัน! จากนั้นเป็นต้นมา ทั้งคู่ก็มักจะสาดสงครามน้ำลายเข้าใส่กันอยู่เสมอๆ
การตามตอแยของ อีลอน มัสก์ :
เมื่อถอนตัวในปี 2018 ประเด็นที่ อีลอน มัสก์ มักจะวิพากวิจารณ์ OpenAI โดยเฉพาะ “แซม อัลต์แมน” อยู่เนืองๆว่า “อดีตหุ้นส่วนผู้นี้” กำลังนำพาองค์กร ออกห่างจากวัตถุประสงค์ดั้งเดิมในการก่อตั้งมากขึ้นทุกที และการดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ อาจนำไปสู่การทำให้เทคโนโลยี AI กลายเป็นอันตรายต่อชาวโลก
และยิ่งเมื่อ ChatGPT ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จนกระทั่งสามารถเรียกร้องความสนใจจากบรรดานักลงทุน และบริษัท Big Tech โดยเฉพาะ “ไมโครซอฟท์” (Microsoft) ที่ยอมหอบเงินมากกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (443,124ล้านบาท) มาร่วมลงทุนในปี 2023 ได้เป็นผลสำเร็จ
นั่นแหล่ะ... อีลอน มัสก์ จึงได้เริ่มเล่นเกมที่แข็งกร้าวกับ OpenAI และ แซม อัลต์แมน มากขึ้น!
มิถุนายนปี 2024 :
อีลอน มัสก์ เปิดฉากฟ้องร้อง OpenAI รวมถึงผู้ร่วมก่อตั้ง คือ “แซม อัลต์แมน” และ “เกร็ก บล็อกแทน” (Greg Brockman) เป็นครั้งแรกต่อศาลรัฐแคลิฟอร์เนีย ในข้อหาละเลยคำมั่นสัญญาที่จะพัฒนา AI เพื่อประโยชน์ของมนุษย์ชาติ และเริ่มมุ่งหน้าไปสู่การแสวงหาผลกำไร หลังลงนามในข้อตกลงการลงทุนจาก ไมโครซอฟท์ อย่างไรก็ดีvอีกเพียงไม่กี่วันถัดมา จู่ๆ อีลอน มัสก์ ก็ตัดสินใจถอนฟ้อง โดยไม่มีการให้เหตุผลใดๆต่อสาธารณชน
หลังฝ่าย OpenAI เปิดปฏิบัติการ Strikes Back ด้วยการนำอีเมล์ของเจ้าตัวหลายฉบับ ที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า อีลอน มัสก์ เคยรับทราบถึงความจำเป็นในการหาเงินทุนก้อนโต เพื่อสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นในการขับเคลื่อนการพัฒนา AI ก่อนที่จะโบกมือลาบริษัท ในปี 2018 และไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการแฉอีกด้วยว่า อีลอน มัสก์ เคยพยายามที่จะรวม OpenAI มาอยู่ภายใต้ร่มธงของ Tesla ด้วย
ก่อนจะทิ้งท้ายการจิกกัดกลับในทำนองที่ว่า “เจ้าพ่อเทสลา” ซึ่งเพิ่งเปิดบริษัท About xAI ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยี AI ในเดือนมีนาคม ปี 2023 กำลัง “ริษยา” ความก้าวหน้าของ OpenAI อีกต่างหาก!
สิงหาคม ปี 2024 :
อีลอน มัสก์ ตามตอแย OpenAI อีกครั้ง ด้วยการยื่นฟ้องต่อศาลรัฐเดลาแวร์ ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่า บริษัทคู่รักคู่แค้นแห่งนี้ กำลังลงไปแข่งขันเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่เรียกว่า “Artificial General Intelligence” (AGI) หรือ ระบบ AI ที่จะมีความสามารถเทียบเท่ากับมนุษย์ ทั้งการคิดและวิเคราะห์ เพื่อมุ่งแสวงหาผลกำไรสูงสุด! ซึ่งขัดต่อวัตถุประสงค์แรกเริ่มในการก่อตั้งบริษัท
OpenAI กับประเด็นปัญหาเรื่องเงินทุน :
ปัจจุบัน OpenAI ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นบริษัทที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีวิธีการสำหรับการจัดหาเงินทุนก้อนมหาศาล สำหรับการนำมาใช้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี  AI ด้วยการตั้งบริษัทลูกที่มีชื่อว่า OpenAI LP (Limited Partners) ซึ่งเป็น “บริษัทที่แสวงหาผลกำไรแบบจำกัดเพดาน”
ด้วยเหตุเพราะ “แซม อัลต์แมน” รู้ดีแก่ใจว่า การพัฒนาเทคโนโลยี AI นั้น มีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล ที่ไม่ต่างอะไรกับการเอาธนบัตรมาเผาเล่น ดังนั้น หากยังคงยืนกรานที่จะรักษาเป้าประสงค์เดิมในเรื่องไม่มุ่งแสวงหาผลกำไร ในไม่ช้าบริษัทก็จะขาดแคลนเงินทุนสำหรับการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย และจะไม่เป็นที่น่าสนใจของบรรดานักลงทุนอีกต่อไป
อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนองค์กรด้วยวิธีการดังกล่าว นอกจากจะกลายเป็นเป้าให้ “คู่อริ” หาช่องในการโจมตีได้แล้ว มันยังทำให้ OpenAI ต้องแบกรับความกดดันเอาไว้บนบ่ามากมาย จากบรรดานักลงทุน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า “นอกจากจะมีความอดทนต่ำแล้ว ยังปราถนาที่จะเห็นผลกำไรก้อนโตกลับคืนมาอย่างคุ้มค่าโดยเร็วที่สุดเสียด้วย”
และประเด็นนี้ ถูกบรรดานักวิเคราะห์มองว่า อาจกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่บีบให้ OpenAI จำเป็นต้องนำวัตกรรมออกสู่ตลาดเร็วขึ้น เพื่อหวังเอาใจบรรดานักลงทุน จนอาจละเลยเรื่องความปลอดภัยเทคโนโลยี AI ซึ่งเป็นเป้าประสงค์หลักขององค์กรก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อล่าสุดบริษัทต้องเผชิญกับ “ภัยคุกคามใหม่” ที่มีชื่อว่า  “Deepseek”
ทำไม อีลอน มัสก์ จึงมุ่งเป้าตามตอแย OpenAI ไม่เลิกรา :
กดคลิ๊ก ด้านล่าง เพื่อติดตามอ่านบทความฉบับเต็ม
#OpenAI #ChatGPT #อีลอนมัสก์ #ElonMusk #แซมอัลต์แมน #SamAltman #ซื้อกิจการ #AI #ปัญญาประดิษฐ์ #OpenAILP #Deepseek #อิลยาซุตสเคเวอร์ #IIyaSutskever #CEOOpenAI #SpaceX #เทสลา #Tesla #AIApocalypse #ไมโครซอฟท์ #Microsoft #AboutxAI #Google #สำนักข่าวทรัสต์นิวส์ #Trustnews #OUTFIELDMAN
โฆษณา