Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขียนไว้ให้เธอ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
13 ก.พ. เวลา 03:50 • ความคิดเห็น
ความโง่เขลาทางอารมณ์ (emotional stupidity) ของผม
ด้วยข่าวสารบ้านเมืองเรื่องหนึ่งที่กระทบใจมากๆเมื่อหลายวันก่อน ทำให้ผมเขียนบทความไม่ออก อารมณ์หดหู่นั้นถึงกับทำให้ผมมาโพสต์ระบายในเพจด้วย (ภายหลังลบออกเพราะมีเกรียนมาเม้นอารมณ์เลยยิ่งขุ่น) ในใจก็คิดพาลพาโลว่าไม่เขียนไม่เขินบทความมันละจนกว่าจะหายหงุดหงิด
จนเมื่อเช้าผมบังเอิญได้ฟัง ดร แดเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) นักจิตวิทยาชื่อดัง นักเขียนและเป็นบิดาแห่งเรื่อง emotional intelligence พูดถึงหนึ่งในหัวใจหลักของการมีความฉลาดทางอารมณ์ว่าต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการอารมณ์ตัวเอง (self management) ที่ไม่ว่าจะรู้สึกเคียดแค้น หดหู่ ตื่นเต้นใดๆก็ตามก็ควรจะต้องสามารถควบคุมตัวเองให้โฟกัสและทำงานให้สำเร็จลุล่วงให้ได้ ไม่ใช่เอาอารมณ์มาครอบงำจนเสียงานเสียการ เสียความตั้งใจดั้งเดิมไป
2
ซึ่งผมเลยตระหนักว่าผมนี่ช่างโง่เขลาทางอารมณ์ในช่วงนี้เสียจริง...
ดร แดเนียล บอกว่าในอนาคต คนเราจะต้องมีความสามารถหลายด้านประกอบกันตั้งแต่ cognitive ability หรือความเก่งด้านทักษะต่างๆ หรือมี IQ ที่สูงก็จำเป็น การรู้เรื่อง AI ก็เช่นกัน แต่ความสามารถที่สำคัญของเราอีกด้านที่ต้องมีต้องฝึกก็คือความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญของมนุษย์มาตั้งแต่โบราณกาลและอารมณ์ของมนุษย์ก็จะยังไม่เปลี่ยนแน่ๆในอนาคตอันใกล้
ดร. อธิบายว่าความฉลาดแบบ IQ เรียนเก่งด้านใดด้านหนึ่งสามารถพอจะบอกได้ถึงตำแหน่งงานที่จะได้ทำ เงินเดือนที่จะได้รับ แต่หลังจากเริ่มงานแล้ว คนรอบข้างที่ทำงานคล้ายเราก็เก่งพอๆกับเราหมด คนที่ก้าวหน้ากว่าคนอื่น เป็นผู้นำองค์กรที่ดีนั้นจะต้องมีความฉลาดทางอารมณ์มากกว่าคนอื่นเป็นหลัก
1
ดร แดเนียลบอกว่า Emotional Intelligence หรือความฉลาดทางอารมณ์นั้นเป็นส่วนผสมระหว่าง การรู้ตัวเอง (self awareness) ความสามารถในการจัดการอารมณ์ตัวเอง (self management) ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น (empathy) และการรู้จักบริหารความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น (relationship management)
2
การรู้จักอารมณ์ตัวเองว่าตัวเองรู้สึกยังไง รู้ว่าอารมณ์นี้ทำให้เรามองปัญหา มองโลกต่างไปยังไงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมากๆต่อการพัฒนาส่วนผสมอื่น และเมื่อเราโมโห โกรธ เสียใจ หดหู่ หรือกระวนกระวาย เราจะยังสามารถจัดการอารมณ์และทำงานที่ต้องทำให้สำเร็จจนลุล่วงได้หรือไม่ (self management) และคุมไม่ให้อารมณ์โกรธหลุดออกมาจนไปทำร้ายคนอื่นหรือทำกริยาที่เราต้องเสียใจภายหลังได้หรือไม่ เช่นไปเขียนด่าคนตาม FB เป็นต้น
ข้อสามก็คือความสามารถในการเข้าใจผู้อื่นและแคร์ผู้อื่น (empathy) เป็นสิ่งที่เราอยากได้จากคนที่เรารัก พ่อแม่ ครอบครัว เพื่อนฝูง หรือแม้แต่จากหมอ ครูหรือเจ้านายของเรา คนที่มี empathy สูงก็จะเป็นที่ต้องการของสังคมทั้งวงเล็กจนถึงวงใหญ่ในระดับองค์กร
ส่วนสุดท้ายก็คือการรู้จักบริหารความสัมพันธ์กับผู้อื่น (relationship management) เวลามีข้อขัดแย้ง เห็นไม่ตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นกับคู่ชีวิตหรือในหน้าที่การงาน เราสามารถระงับอารมณ์ ใจเย็น ใช้เหตุใช้ผล รู้จักฟังคนอื่นหรือไม่ และสามารถสื่อสารได้ดีแค่ไหน เพราะจะเป็นการสร้าง trust ระหว่างกันได้นั่นเอง
ทั้งสี่ส่วนนั้น แต่ละคนมีไม่เท่ากัน บางคนมีจุดแข็งบางด้านและจุดอ่อนบางด้าน ดร แดเนียลบอกว่าถ้าเรารู้ว่าเราอ่อนด้านไหน เราก็จะสามารถปรับปรุงความฉลาดทางอารมณ์ทางด้านนั้นได้ ถ้าเทียบเหมือนกับการไปตรวจร่างกาย อาการป่วยเบาๆ หรือความโง่เขลาทางอารมณ์อย่างแรกๆก็คือการเป็นผู้ฟังที่แย่ (poor listener) คนที่ชอบพูดฝ่ายเดียว ไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นพูด ชอบตัดบท ก็จะมี empathy ที่ต่ำ ถ้าอยากเพิ่มตรงนี้ก็ต้องบังคับตัวเองให้ฟังมากขึ้น อดทนให้มากขึ้นในการพูดน้อยลงและให้คนอื่นพูดแล้วเราตั้งใจฟังให้มากที่สุด
ดร แดเนียลเล่าว่า เขาเดินทางไปทั่วโลกและชอบถามคนทำงานที่เจอหน้าว่าให้ช่วยบอกถึงผู้นำในดวงใจกับผู้นำที่เลวร้ายจนไม่อยากทำงานด้วยว่าต่างกันตรงไหน ก็พบคำตอบที่เบสิคมากๆ ว่าผู้นำเฮงซวยจะไม่มี emotional intelligence เลย ไม่ว่าจะเป็นคนเก่งแค่ไหน หัวหน้าที่ไม่ฟัง ใช้อารมณ์ ชอบด่า ไม่แคร์ความรู้สึกใดๆ เป็นหัวหน้าที่ไม่มีใครอยากทำงานให้
1
แต่หัวหน้าที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูงนั้น ไม่ใช่แค่คนอยากทำงานด้วยแต่ลูกน้องจะรู้สึกมีแรงขับ inspire รู้สึกว่ามีโค้ชช่วยสอน ช่วยนำทาง ชัดเจนจนเราอยากจะทุ่มเทถวายชีวิตทำงานให้ดีที่สุด
1
ดร แดเนียลเล่าด้วยว่า มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเยล บ่งชี้ชัดว่าอารมณ์ของผู้นำ ไม่ว่าจะฉลาดหรือแย่นั้นติดต่อ (contagious) และแพร่อารมณ์นั้นสู่กลุ่มใหญ่ได้ ผู้นำที่อารมณ์ร้าย สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว ทั้งทีมก็จะอึมครึม ผลงานก็จะตก แต่ถ้าผู้นำที่มีพลัง ทุกคนก็จะฮึกเหิมและผลงานก็จะดีขึ้นตาม สถานะทางอารมณ์ของผู้นำจึงสำคัญมากๆที่จะทำให้ลูกน้องมีผลงานดีหรือไม่ดีในระยะยาว
ฟังถึงตรงนี้ ภาพของคุณซิกเว่ เบรกเก้ เจ้านายเก่าผมผู้ซึ่งน่าจะฉลาดทางอารมณ์มากๆปรากฏขึ้นมาในหัวทันที เพราะเขาเป็นคนที่ทำให้ทีมงานทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในระดับชั้นไหนอยากตื่นมาทำงานทุกเช้า อยากทำให้เขาภูมิใจ และทำให้ทุกคนยังพูดถึงช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการทำงานจนถึงทุกวันนี้แม้ว่าจะผ่านมาเป็นสิบปีแล้วก็ตาม ก็เป็นที่น่าสนใจ น่าจับตามองและน่าดีใจแทนทรูที่คุณซิกเว่กำลังจะมาเป็นเบอร์หนึ่งที่ทรูในเดือนมีนาคมนี้ด้วยนะครับ
ก่อนจบคลิป ดร แดเนียลเล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งเมื่อสมัยเขาหนุ่มๆว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยขึ้นรถบัสในวันที่อากาศร้อนมากๆในนิวยอร์ค อากาศที่ร้อนอบอ้าวทำให้อารมณ์ขุ่นมัวแถมจะต้องขึ้นไปเบียดเสียดกับคนบนรถอีก แต่พอเดินขึ้น เขาแปลกใจมากเพราะคนขับรถบัสนั้นยิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายอย่างเป็นมิตร และก็ไม่ใช่เฉพาะเขาและไม่ใช่แค่ทักทายตอนขึ้น คนขับผ่านตรงไหนก็ชวนคนบนรถคุย ตรงโน้นมีร้านลดราคา ตรงนี้ร้านนี้อร่อย ตรงนี้มีโชว์พิพิธภัณฑ์ ทำให้บรรยากาศบนบัสเปลี่ยนไป ทุกคนเพลิดเพลิน พอลงจากรถบัสไปอารมณ์กลับดีขึ้นกว่าเดิม
ดร แดเนียลบอกว่าหลายปีต่อมาเขาอ่านข่าวเจอในหนังสือพิมพ์ถึงคนขับรถบัสคนนี้ที่ชื่อ Govan Brown ที่กำลังจะเกษียณ การเกษียณของคนขับรถบัสถึงกับเป็นข่าวเพราะคุณบราวน์มี FC เยอะมาก หลายคนยอมรอเพื่อได้ขึ้นรถบัสที่เขาขับ เขาได้จดหมายชื่นชมหลายพันฉบับ
2
ซึ่งภายหลัง ดร แดเนียลถึงรู้ว่าคนขับรถบัสเคยเป็นนักเทศน์ที่โบสถ์มาก่อน และเวลาเขาเห็นผู้โดยสาร เขาไม่ได้ทำแค่ KPI ที่พาคนเยอะๆ เดินทางถึงจุดหมายแค่นั้น แต่เขามีเป้าประสงค์ (purpose) ที่ใหญ่กว่านั้นมาก เขาต้องการทำให้คนมีความสุข มีอารมณ์ที่ดีขึ้นกว่าตอนขึ้นบัส และลงจากรถบัสด้วยรอยยิ้ม คนที่มี emotional intelligence สูง ไม่ว่าทำงานอะไรก็จะทำงานได้ดีและมี impact ต่อคนรอบข้างได้เสมอ
1
พอฟังเรื่องนี้ที่ ดร แดเนียลสอน ทำให้เตือนตัวเองว่าเรานี่ช่างโง่เขลาเสียนี่กระไรที่ไม่สามารถจัดการทางอารมณ์ตัวเองจนเสียงานเสียการไปได้ ก็เลยทำให้รีบกลับมาเขียนบทความต่อในวันนี้ในทันทีเลยครับ…
1
12 บันทึก
27
1
11
12
27
1
11
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย