25 ก.พ. เวลา 03:00 • ไลฟ์สไตล์

สร้างเงินบำนาญผ่าน กอช. และ ประกันสังคม

การวางแผนเกษียณอย่างมั่นคงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน โดยเฉพาะในยุคที่ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในวิธีการที่น่าสนใจคือการสร้างเงินบำนาญด้วย กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และ ประกันสังคม ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยให้มีรายได้หลังเกษียณอย่างยั่งยืน
  • ​กองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.)
กอช. เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการออมสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น เกษตรกร พ่อค้าแม่ค้า ฟรีแลนซ์ หรือผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 หรือ 39 สามารถออมได้ขั้นต่ำ 50 บาท สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี โดยรัฐสมทบเงินออมให้ตามช่วงอายุ ดังนี้:
- อายุ 15-30 ปี: สมทบ 50% ของเงินออม*
- อายุ 31-50 ปี: สมทบ 80% ของเงินออม*
- อายุ 51-60 ปี: สมทบ 100% ของเงินออม*
*ไม่เกิน 1,800 บาท/ปี
ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับคือ
-เงินบำนาญรายเดือน: เมื่ออายุครบ 60 ปี จะได้รับเงินบำนาญรายเดือน เริ่มต้น 600บาท/เดือน และเพิ่มขึ้นตามจำนวนเงินที่ออม โดยมีเงื่อนไข หากเงินออมเกิน 150,000 บาท สามารถได้รับบำนาญจนเสียชีวิต แต่หากเงินออมไม่ถึง 150,000 บาทจะได้รับเงินดำรงชีพ 600บาท/เดือน จนกว่าจะครบตามจำนวนเงินออมทั้งหมดที่มีอยู่
-สิทธิลดหย่อนภาษี: เงินที่ออมกับ กอช. สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
-สวัสดิการเพิ่มเติม: เช่น เงินทดแทนในกรณีเสียชีวิต สิทธิการซื้อสลาก กอช.
  • ​ประกันสังคม
ประกันสังคมเป็นระบบสวัสดิการที่ช่วยคุ้มครองและสร้างเงินบำนาญให้กับผู้ประกันตน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 มาตราดังนี้:
  • ​มาตรา 33
ทั้งนายจ้างและลูกจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฝ่ายละ 5% ของค่าจ้าง (สูงสุดไม่เกิน750 บาท)
โดยสิทธิเงินบำนาญชราภาพ จะได้เมื่ออายุครบ 55 ปี และส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือน (15 ปี) ได้รับเงินบำนาญรายเดือน คิดจาก 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และหากจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน (15ปี) จะได้รับเพิ่มอีกปีล่ะ 1.5%
ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนอายุ 55ปี จ่ายเงินสมทบมา 30ปี หากค่าจ้างเฉลี่ยเกิน 15,000 บาท จะได้รับเงินบำนาญประมาณ 6375 บาท/เดือน **
** [15000 × (20+(1.5×15))/100]
นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น
-ค่ารักษาพยาบาล ค่าห้อง และค่าอาหารในโรงพยาบาลตามสิทธิ
-คลอดบุตร: ค่าทำคลอด และเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร (50% ของค่าจ้าง นาน 90 วัน)
-ทุพพลภาพ: ค่ารักษาพยาบาล และเงินทดแทนการขาดรายได้
-เสียชีวิต: เงินค่าทำศพและเงินสงเคราะห์แก่ทายาท
-สงเคราะห์บุตร: บุตรละ 800 บาท/เดือน (ไม่เกิน 2 คน อายุไม่เกิน 6 ปี)
-ว่างงาน: เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออก
-ลดหย่อนภาษี: สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท
  • ​มาตรา 39
สำหรับผู้ที่เคยทำงานและเคยอยู่ในมาตรา 33 แต่ลาออกและยังต้องการรักษาสถานะผู้ประกันตนอยู่ โดยผู้ที่เคยเป็นลูกจ้างได้ส่งประกันสังคมมาตรา 33 มาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และลาออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน จะยังได้สิทธิเหมือน มาตรา 33 ยกเว้น ไม่มีสิทธิในกรณีว่างงาน และสิทธิเงินบำนาญชราภาพ จะคำนวนจากฐานเงินเดือน เฉลี่ยที่ส่งจ่ายจริงจากทั้งช่วงที่ยังอยู่ในมาตรา 33 และ 39 แต่ให้ฐานเงินเดือนช่วงมาตรา 39 เพียง 4,800 บาทเท่านั้น
ดังนั้น หากผู้ที่เคยอยู่ในมาตรา 33 และจ่ายเงินสมทบมาครบ 15 ปีแล้ว ควรพิจารณาข้อดีข้อเสียของการเข้ามาตรา 39ให้ดีก่อนตัดสินใจ
  • ​มาตรา 40
สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ สามารถเลือกส่งสมทบได้ 3 แผน (70, 100 หรือ 300 บาท/เดือน) แต่มีเฉพาะแผน100 และ 300 บาท/เดือน เท่านั้นที่ได้รับเงินกรณีชราภาพเมื่ออายุครบ 60 ปี โดยจ่ายเป็นเงินบำเหน็จครั้งเดียว จำนวนเงินขึ้นอยู่กับแผนและระยะเวลาการออม
#แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
เนื่องจากภาวะสังคมสูงวัยที่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคต ทำให้กองทุนประกันสังคมต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเบี้ยชราภาพที่สูงขึ้นตามไปด้วยและอาจสูงกว่ารายรับที่สมาชิกจ่ายเงินสมทบเข้ามาในแต่ล่ะปี สำนักงานประกันสังคมจึงมีแนวคิดเพื่อลดผลกระทบดังนี้
-ปรับเพิ่มเพดานจ่ายเงินสมทบ โดยในปี 2569 อาจปรับเพิ่มเพดานรายได้เป็น 17,500บาท และต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มเป็น 875บาท
-การขยายอายุเกษียณจาก 55ปี เป็น 60ปี หรือ 65ปี ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและอาจเริ่มใช้ในอนาคต
#กลยุทธ์การสร้างเงินบำนาญที่ยั่งยืน
1. ออมกับ กอช. และประกันสังคมพร้อมกัน: สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ สามารถออมกับ กอช. เพื่อรับสมทบจากรัฐ และสมัครประกันสังคมมาตรา 40 เพื่อสร้างเงินบำเหน็จบำนาญหลายช่องทาง
2. วางแผนออมตั้งแต่อายุยังน้อย: ยิ่งเริ่มออมเร็วเท่าไร เงินบำนาญยิ่งมากขึ้นจากผลตอบแทนทบต้น
3. ปรับเพิ่มจำนวนเงินออมเมื่อมีรายได้มากขึ้น: เพื่อให้ได้บำนาญรายเดือนที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตหลังเกษียณ
4. พิจารณาลงทุนเพิ่มเติม: นอกจาก กอช. และประกันสังคมแล้ว การลงทุนในกองทุนรวม หุ้น หรืออสังหาริมทรัพย์ก็เป็นทางเลือกที่ดีในการสร้างรายได้ระยะยาว
โฆษณา