13 ก.พ. เวลา 11:20

นกเงือก สัญลักษณ์แห่งรักแท้ ต่อให้คู่ตายก็ไม่หาคู่ใหม่

ทราบหรือไม่ว่าวันแห่งความรักไม่ได้มีเพียง 14 กุมภาพันธ์เท่านั้น ก่อนวันวาเลนไทน์ 1 วัน คือ 13 กุมภาพันธ์ ยังถูกยกให้เป็นวันแห่งรักแท้ เป็นวันที่มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกของไทยได้กำหนดให้เป็น “วันรักนกเงือกในประเทศไทย”...ว่าแต่นกเงือกเกี่ยวอะไรกับรักแท้ และวันแห่งความรัก มาฟังคำตอบกัน
ที่มาของการจัดวันรักนกเงือกใกล้วาเลนไทน์ มาจากพฤติกรรมการจับคู่ของนกเงือก ที่เมื่อจับคู่กันแล้วจะอยู่กับคู่ของมันไปตลอดชีวิต พ่อนก แม่นกจะช่วยกันเลี้ยงลูก ตัวผู้ทำหน้าที่ดูแลตัวเมีย และลูกน้อยในโพรงรังบนต้นไม้ใหญ่ ตลอดจนหาอาหารมาป้อนลูกจนลูกนกโตพอจะออกจากรังอย่างปลอดภัย
จึงนับว่านกเงือกเหมาะกับการเป็นตัวแทนแห่งความรักอันยั่งยืนและการให้ที่เสียสละอย่างแท้จริง โดยมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกของไทยได้มีการริเริ่มให้ 13 กุมภาพันธ์ เป็นวันรักนกเงือกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 พร้อม “ชักชวนผู้คนร่วมมอบความรักให้แก่นกเงือกร่วมกัน ก่อนที่จะมอบความรักให้แก่กันในวันวาเลนไทน์” เพราะในช่วงนั้นปริมาณนกเงือกไทยอยู่ในสถานะที่น่าเป็นห่วง
สำหรับ นกเงือก ไม่เพียงเป็นสัตว์ที่ถูกเลือกมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักและความซื่อสัตย์ แต่ด้วยความสวยงามของมันที่เป็นนกที่มีรูปร่างหน้าตาโบราณและมีขนาดใหญ่ ถือกำเนิดขึ้นมาไม่น้อยกว่า 45 ล้านปีและมีพฤติกรรมการเลือกกินผลไม้สุกและนำเมล็ดทิ้งไว้ในพื้นที่ต่างๆ นกเงือกจึงมีบทบาทสำคัญในการระบบนิเวศป่า
จากการวิจัยพบว่า นกเงือกกินผลไม้ได้มากกว่า 300 ชนิด โดยเฉพาะผลไม้ที่มีขนาดผลใหญ่กว่า 1.5 เซนติเมตร ที่นกขนาดเล็กไม่สามารถช่วยกระจายเมล็ดได้ นอกจากนี้นกเงือกยังเป็นผู้ล่าสำคัญของระบบนิเวศป่า จึงช่วยควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็ก อย่างแมลงและหนูได้และด้วยความสัมพันธ์ของนกเงือกกับระบบนิเวศป่าสมบูรณ์ ในแง่มุมต่างๆ ทำให้นกเงือกมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่า หากนกเงือกมีจำนวนลดลงหรือสูญพันธุ์ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ อาจสูญพันธุ์ตามไปด้วย
ตามข้อมูล มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกของไทย (Hornbill Research Foundation) ในโลกมี “นกเงือก” หรือ “Hornbills” อยู่หลากหลายพันธุ์ถึง 52 ชนิด บวกกับ Ground Hornbills อีก 2 ชนิดเป็น 54 ชนิด ส่วนใหญ่พบอาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าและป่าดิบเขตร้อนของทวีปแอฟริกาและเอเชีย เขตร้อนของทวีปเอเชียมีนกเงือกหลากหลายถึง 31 ชนิด ในประเทศไทยเรามีนกเงือกให้จดจำกันถึง 13 ชนิด
นกเงือก มีลักษณะที่สำคัญ คือ มีปากขนาดใหญ่โค้ง มี โหนก (Casque) ประดับเหนือปากยกเว้นนกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill) ที่ไม่มีโหนก โหนกของนกเงือกมีขนาดและรูปร่างหลากหลาย บ้างก็มีรูปทรงกระบอก ทอดนอนตามความยาวของจงอยปาก มีปลายงอนดูคล้ายกับนอของแรด ดังโหนกของนกเงือกหัวแรด อันเป็นที่มาของชื่อ Hornbill
การดำรงอยู่ของนกเงือก สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ในป่า เพราะนกเงือกจะอยู่ในผืนป่าขนาดใหญ่ สร้างรังในโพรงต้นไม้ใหญ่ ปัจจุบันจากข้อมูลของมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ปี 2560 พบว่ามีนกเงือกในไทย 13 สายพันธุ์ และมีพื้นที่อยู่อาศัย 8 เปอร์เซนต์ของผืนป่าที่มีอยู่ โดยกระจายตัวอยู่มากในพื้นที่อนุรักษ์สำคัญๆ 3 แห่งได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาส
โฆษณา