15 ก.พ. เวลา 11:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“ทรัมป์” เปิดแผน “ภาษีศุลกากรตอบโต้” ประเทศใดเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐฯ โดนหมด

ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศแผนเรียกเก็บ “ภาษีศุลกากรตอบโต้” จากทุกประเทศที่เก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ คาดมีผลภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยแผนงานการจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) “ต่อทุกประเทศที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ”
แผนเก็บภาษีล่าสุดของทรัมป์มุ่งเป้าไปยังทั้งมิตรและศัตรูของสหรัฐฯ โดยทำเนียบขาวระบุว่า จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและชาติ ขณะที่ทรัมป์โพสต์ก่อนการประกาศแผนว่า “วันนี้เป็นวันสำคัญ: ภาษีศุลกากรแบบตอบโต้”
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ภาษีศุลกากรตอบโต้จะเริ่มบังคับใช้ภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยทีมการค้าและเศรษฐกิจของทรัมป์กำลังศึกษาการจัดเก็บภาษีศุลกากรและความสัมพันธ์ทางการค้าของแต่ละประเทศอยู่
ฝ่ายบริหารจะตรวจสอบ “ประเทศที่เลวร้ายที่สุด” ก่อน นั่นคือประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลมากที่สุดและเก็บภาษีศุลกากรสหรัฐฯ สูงที่สุด
โฮเวิร์ด ลุตนิก ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของทรัมป์ กล่าวว่า เขาคาดว่าการตรวจสอบจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 เม.ย. จากนั้นในวันที่ 2 เม.ย. ทรัมป์จะตัดสินใจว่าจะบังคับใช้ภาษีศุลกากรใหม่เมื่อใด
ทรัมป์กล่าวว่า “พวกเขาเรียกเก็บภาษีจากเรา แต่เราเรียกเก็บจากพวกเขาในอัตราเดียวกัน” ก่อนจะลงนามในบันทึกข้อตกลงที่เรียกว่า “แผนตอบโต้อันยุติธรรม”
ทรัมป์กล่าวว่า สหรัฐฯ ต้องการนโยบายการค้าที่เป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สินค้าของสหรัฐฯ น่าดึงดูดใจในตลาดมากขึ้น “สหรัฐฯ เป็นเศรษฐกิจที่เปิดกว้างที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่คู่ค้าของเรายังคงปิดตลาดของพวกเขาต่อการส่งออกของเรา สิ่งนี้ไม่เป็นธรรม และส่งผลต่อการขาดดุลการค้าประจำปีของเราอย่างมากและต่อเนื่อง”
ด้านเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวรายหนึ่งกล่าวว่า ภาษีศุลกากรตอบโต้ของทรัมป์จะเท่ากับอัตราภาษีศุลกากรที่ประเทศอื่น ๆ เรียกเก็บ กล่าวคือ หากประเทศใดเก็บภาษีสหรัฐฯ สูง ก็จะเจอภาษีตอบโต้ที่สูงตามเช่นกัน
นอกจากนี้ พวกเขายังตั้งเป้าที่จะต่อต้านอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร เช่น กฎระเบียบที่ยุ่งยาก ภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินอุดหนุนจากรัฐบาล และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่สามารถสร้างอุปสรรคต่อการไหลเวียนของผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯ สู่ตลาดต่างประเทศได้
คาดว่าความพยายามดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อบีบให้เกิดการเจรจากับบางประเทศเพื่อลดอุปสรรคเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ทำเนียบกล่าวว่า ทรัมป์ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะลดภาษีศุลกากร หากประเทศอื่น ๆ ลดภาษีศุลกากรของตนลง
“ประธานาธิบดียินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะลดภาษีศุลกากรหากประเทศต่าง ๆ ต้องการลดภาษีศุลกากร แต่เราต้องตระหนักด้วยว่าภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นนั้นไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่สุดในหลาย ๆ กรณี” เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวกล่าว
เขาเสริมว่า เป้าหมายยังรวมถึง จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป โดยจะหลีกเลี่ยง “การขึ้นภาษีแบบเหมาเข่ง” แต่ยังไม่ตัดโอกาสที่จะขึ้นภาษีศุลกากรทั่วโลกแบบคงที่
เจ้าหน้าที่รายนี้กล่าวว่า การที่สหรัฐฯ ไม่ได้เรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ ส่งผลให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าเป็นจำนวนมากและต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แผนการเรียกเก็บภาษีศุลกากรรอบล่าสุดของประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้เกิดความกังวลว่าสงครามการค้าโลกจะขยายวงกว้างขึ้น และอาจเร่งให้เงินเฟ้อของสหรัฐฯ สูงขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ทรัมป์อาจใช้กฎหมายหลายฉบับ รวมถึงมาตรา 122 ของพระราชบัญญัติการค้าปี 1974 ซึ่งจะอนุญาตให้เรียกเก็บภาษีในอัตราคงที่สูงสุด 15% เป็นเวลา 6 เดือนเท่านั้น หรือมาตรา 338 ของพระราชบัญญัติภาษีศุลกากรปี 1930 ซึ่งให้สิทธิในการดำเนินการต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางการค้าที่เสียเปรียบต่อการค้าของสหรัฐฯ แต่ไม่เคยถูกนำมาใช้
เรียบเรียงจาก CNN / Reuters
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/economic/242794
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา