Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Health Story - เฮ้วนี้มีเรื่อง
•
ติดตาม
14 ก.พ. เวลา 08:49 • ข่าว
สรุปสิ่งที่ต้องเดินหน้าต่อหลังมี กม. "สมรสเท่าเทียม" ท่ามกลางอคติต่อกลุ่ม LGBTQ+
ยอมรับให้ปรากฏตัวแบบมีเงื่อนไข
พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 คู่รักหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQ+ สามารถสมรสกันได้ตามสิทธิและเสรีภาพตามที่มนุษย์พึงมีอย่างเท่าเทียม
ล่าสุดภายในเวทีสาธารณะสมรสเท่าเทียมกับมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อรับฟังเสียงจากทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2568 จัดโดย สสส.ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (ThaiTGA) และภาคีเครือข่าย ได้สะท้อนถึงเรื่องนี้ว่า สมรสเท่าเทียมไม่ได้จบแค่การมีกฎหมาย แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องขับเคลื่อน และสังคมทุกเพศทุกวัยควรรับรู้และร่วมกันสร้างสังคมที่เท่าเทียมและขจัดการเลือกปฏิบัติให้ได้มากที่สุด
4 ข้อเสนอหนุนบังคับใช้ กม.
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ระบุว่า ข้อมูลการคาดประมาณขนาดประชากรหลากหลายทางเพศ และสถานการณ์ชีวิตและสุขภาพของ LGBTIQN+ ที่ สสส. ร่วมกับ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจพบว่า
1.กลุ่มเยาวชนมีแนวโน้มที่จะระบุว่าตนเองเป็น LGBTIQN+ มากกว่ากลุ่มประชากรทั่วไป
2.คนส่วนใหญ่มองว่ากลุ่ม LGBTIQN+ เป็นบุคคลทั่วไป แต่ยังมีประมาณ 6% ที่มองว่าเป็นความผิดปกติ
3.LGBTIQN+ มีความกังวลสูงกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งมีความรู้สึกไม่สบายใจและท้อแท้ รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง และมีความคิดทำร้ายตนเอง ก่อนบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม กลุ่มหลากหลายทางเพศต้องเผชิญกับปัญหาหลายด้าน อาทิ ไม่มีสิทธิในทรัพย์สินและมรดก
ภรณี ภู่ประเสริฐ
สสส.จึงร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพด้วยการผลักดัน 4 ข้อเสนอ คือ
1.สร้างความเข้าใจกับประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางทั้งด้านวัฒนธรรมและศาสนา รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้าใจแนวคิดความหลากหลายทางเพศ
2.พัฒนาบริการให้คำนึงถึงความละเอียดอ่อน และ สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ การเงิน และกฎหมายได้ง่ายขึ้น
3.ออกกฎหมายรองรับเพิ่มเติม อาทิ คำนำหน้า และ
4.ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา ให้ครอบคลุมเรื่องเพศศึกษาและความเท่าเทียมทางเพศ
สมรสเท่าเทียมเปลี่ยนแปลงสังคม 4 เรื่อง
ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า หลังมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม วันนี้มีการสร้างการเปลี่ยนแปลง 4 เรื่อง คือ
1.การเปลี่ยนแปลงระดับกฎหมายระเบียบภาครัฐ โดยกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องที่มีคำว่าสามีภรรยาต้องตีเป็นคู่สมรสแล้ว ตรงนี้จับต้องได้ ไม่ใช่แค่อารมณ์ความรู้สึกดีใจ ความคาดหวัง ขณะนี้เห็นหลายกระทรวงออกกฎระเบียบให้ใช้คู่สมรสตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เปลี่ยนแล้ว ทำให้คนในภาครัฐต้องปรับโดยอัตโนมัติ การให้บริการกลุ่มหลากหลายทางเพศก็จะมีความระมัดระวังขึ้น เพราะมีกฎหมายคุ้มครองและห้ามไม่ให้กระทำ
ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์
2.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและรูปแบบของครอบครัว จริงๆ โครงสร้างประชากรและครอบครัวไทยเปลี่ยนไปนานแล้ว แต่ไม่ได้ถูกบันทึก ที่ผ่านจะเก็บเพียงครอบครัวชายหญิงแต่งงานหย่าเท่าไร เป้นครอบครัวเลี้ยงเดียวเท่าไร ซึ่งเมื่อ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมบังคับใช้ นักประชากรศาสตร์ก็มองว่าเป็นใบเบิกทางในการเก็บข้อมูลประชากรมากขึ้นและละเอียดมากขึ้น
3.การยอมรับและบรรยากาศทางสังคม ซึ่งมีหลายมุมไม่ใช่แค่มุมบวก เช่น มีการยอมรับสมรสเท่าเทียมแบบมีเงื่อนไข อย่างไปสมรสเท่าเทียมได้แต่อย่าใส่ชุดตำรวจ อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะเป็นหลังอิงในการคุ้มครองทำให้สิ่งที่เป็นเงื่อนไขเหล่านี้ลดลง
4.การจับต้องได้ของความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งไม่ว่าคนเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็จับต้องได้ คือ แบบอย่างความเท่าเทียม
มอง 4 เรื่องที่ต้องทำหลังมีกฎหมาย
ผศ.รณภูมิกล่าวอีกว่า สิ่งที่ควรทำต่อหลังจากมีกฎหมายฉบับนี้ คือ
1.การเลือกปฏิบัติจากการใช้กฎหมายที่มี ดังนั้น ควรตั้งศูนย์เฝ้าระวังในช่วงเริ่มบังคับใช้กฎหมาย เพราะอาจยังมีกรณีที่มีการมองความเป้นมนุษย์ไม่เท่ากันหรือเลือกปฏิบัติ ซึ่งพบเจอในเจ้าหน้าที่รัฐมาก โดยเฉพาะภาคสุขภาพ
2.อคติหรือความเกลียดกลัวที่เพิ่มขึ้นมา โดยสมรสเท่าเทียมไปปลุกอคติอะไรบางอย่าง เช่น มีการขู่ฆ่าบนโลกออนไลน์ หรือกรณีทรัมป์ที่ยังคิดว่า มนุษย์ยังมีเพียงสองเพศ อาจต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในสังคมและมีการให้ข้อมูลเพื่อช่วยลดอคติ
ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์
3.การทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน
4.การขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องภายใต้พลังของความเท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะงานด้านกฎหมาย เช่น
- กฎหมายรับรองเพศสภาพ คือ ร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. ... ที่จะช่วยรับรองเพศสภาพ การเปลี่ยนคำนำหน้านาม กฎหมายนี้ต้องทำ เพราะมีล็อกเกิดขึ้นในสมรสเท่าเทียม อย่างบิดามารดาลำดับชั้นที่ 1 หรือกฎหมายช่วยการเจริญพันธุ์ที่จะมีการเรียกว่าใครคือบิดามารดา ซึ่งมีคำนำหน้านามที่ยึดกับสรีระ ซึ่งเรื่องนี้ทุกคนจะรู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับตัวเองมากกว่าสมรสเท่าเทียม อาจเกิดอคิตมากกว่าสมรสเท่าเทียม
- ร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. ... ที่ปักหมุดว่าการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบไม่ควรมี
- การยกเลิกการปราบปรามการค้าประเวณี
เปิดมุมมองที่แตกต่างของความหลากหลายทางเพศ
ภายในงาน ผศ.ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล และ ผศ.ดร.อัครา เมธาสุข คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอมุมมองที่แตกต่างหลากหลายจากงานวิจัยสู่การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งมีหลายเรื่องที่กลุ่มหลากหลายทางเพศ รวมถึงทุกเพศทุกวัยในสังคมควรรับรู้ ร่วมกันระมัดระวังและหาแนวทางรับมือแก้ปัญหา คือ
1.การขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศด้วยอารมณ์
ภาคประชาสังคมที่เป็น NGO บางครั้งขับเคลื่อนด้วยความรู้สึก มีความเกรี้ยวกราดในนั้น ซึ่งคนที่ไม่มีพื้นฐานความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ จะเข้าใจยากหรือเข้าใจไม่ถูก การอธิบายเรื่องนี้หากใช้วิธีการปะทะต่อว่าด่าทอ อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบางเคส แต่การทำให้คนเข้าใจอาจจะไม่ได้มีประสิทธิภาพมากนัก
เพราะเมื่อผู้ขับเคลื่อนประเด็นนี้เดินเข้าไปด้วยท่าทีเป็นฝั่งตรงข้าม คนก็จะปิดหูไม่รับฟังและโจมตีกลับ และไม่ส่งผลดีในท้ายที่สุด เพราะการทำให้เห็นด้วยต้องบีบบังคับทำให้รู้สึกต้องเสียอะไรบางอย่าง ระยะยาวอาจจะเดินได้ยากหรือถูกเกลียดว่าเป็นกลุ่มที่เข้าใจยากและก้าวร้าว
อาจต้องขับเคลื่อนด้วยมุมมองที่แตกต่างออกไป สื่อสารตรงไปตรงมา อะไรที่ควรพูดพูดด้วยหลักการ โดย NGO อาจต้องมีอีกพาร์ทที่นุ่มนวล การสร้างความร่วมมือที่อาจจะไม่ใช่การลดเพดานตัวเองลงแต่เป็นวิธีการสื่อสารให้อีกฝั่งฟังเรามากขึ้น ซึ่งหลายองค์กรพยายามทำมากขึ้นในบทต่างๆ ได้ดี
2.LGBTQ+ ต่างเจนต่างมุมมอง
แม้จะเป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศเหมือนกัน แต่ช่วงวัยที่แตกต่างกันก็ทำให้มีความคิด มีทีท่าที่แตกต่างกันไป อย่างให้กลุ่มหลากหลายทางเพศช่วง 10 กว่าถึง 20 ต้นๆ มานั่งพูดคุยกับอายุ 50-60 ปี ก็พบว่า ไม่สามารถคุยกันได้อย่างสนิทใจจริงๆ
คนรุ่นเก่าอาจมีท่าทีไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศมากกว่า เพราะยึดติดกับความเชื่อบางอย่าง เช่น เป็นกรรมเก่า ส่วนหนึ่งมีความกดทับยาวนาน กดดันในตัวเองสูงกว่าเด็กปัจจุบัน ขณะที่เด็กรุ่นใหม่ก็มองว่าคนสูงวัยไม่ค่อยแชร์ ไม่ค่อยพูดสิ่งที่ต้องการ และเรียกร้องให้สื่อสารมากขึ้น หรือทำอะไรมากขึ้น การทำงานเรื่องความหลากหลายทางเพศจึงต้องมีความระมัดระวังในเรื่องของแต่ละช่วงวัยด้วย
ผศ.ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล
3.LGBTQ+ ยังไม่ได้รับการยอมรับในบางพื้นที่
แม้คนรุ่นใหม่จะมีมุมมองเปิดยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ยังเห็นอคติอยู่บ้าง เช่น กลุ่มนี้เป็นสีสันความบันเทิง สะท้อนให้เห้นว่า แม้สังคมไทยจะเป็นพื้นที่ให้โอกาสกลุ่มหลากหลายทางเพศปรากฏในพื้นที่สาธารณะ
ทางวิชาการเรียกว่า มีการยอมทนต่อความหลากหลายทางเพศ ถ้ามองเป็นการยอมรับไหม ก็ยังไม่ได้ยอมรับในหลายพื้นที่ แต่ยอมรับให้ปรากฏตัวในบางพื้นที่หรือบางโอกาส อย่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่บังคับใช้ เห็นเครื่องแต่งกายบางอาชีพ บอกว่ากลุ่มสมรสเท่าเทียมไม่ควรใส่ ก็เป็นการยอมรับบางพื้นที่ แต่บางพื้นที่ไม่ให้โอกาส เป็นเงื่อนไขในการปรากฏตัวในสังคมไทย
4.ปัญหาสุขภาพจิตและการเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ
สุขภาพจิตที่พบในผู้สูงอายุหลากหลายทางเพศ คือ ความเหงา ความโดดเดี่ยว การอยู่คนเดียว ไม่มีคู่ครอง คนที่มักยืนด้วยตนเองได้ คือ คนที่มีกลุ่มหลากหลายทางเพศรอบตัว เช่น ทำงานในองค์กรที่ดูแลหลากหลายทางเพศ ก็จะมีเพื่อนๆ คนทำงานซัพพอร์ต
ส่วนที่ไม่ได้ทำงานองค์กรเหล่านี้ อาจจะเป็นแม่ค้า ขายของรับจ้าง โดยเฉพาะบางคนอยู่คนเดียวไม่มีคู่ สังคมรอบตัวไม่เคยยอมรับตัวตน ครอบครัวก็กลับไปหาไม่ได้ ความโดดเดี่ยวเป็นสิ่งที่น่าเห็นใจ และกระทบเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพมากกว่าคนทั่วไปด้วย เช่น ไม่มีลูกเปลี่ยนผ้าอ้อม ไม่มีหลานพาไปโรงพยาบาล
ผศ.ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล
รวมถึงยังมีสิ่งที่ตีตราในตัวเองจากการไปโรงพยาบาล เช่น สายตาหรือการสื่อสารของบุคลากร เพราะกฎหมายไม่ได้เปลี่ยนทัศนคติที่คนอื่นมองเขา เช่น พยาบาลจะเรียกเขาอย่างไร ถ้าเขาเป็นหญิงข้ามเพศต้องนอนวอร์ดชายหรือวอร์ดหญิง จะเข้าห้องน้ำตรงไหน ใครจะดูแล หมอหญิงหรือหมอชาย หมอจะเข้าใจการข้ามเพศหรือไม่ จะดูแลให้เกียรติร่างกายของเราอย่างไร
หลายคนถูกถอดความเป็นมนุษย์ลง เป็นร่างสาธารณะที่พยาบาลเข้ามาทำอะไรก็ได้ ถอดกางเกงแก้ผ้าตอนไหนก็ได้ เป็นปัญหาที่สถานพยาบาลอาจต้องมีมาตรฐานช่วยดูแล เพื่อให้คนหลากหลายทางเพศสบายใจในการเข้าถึงบริการ
5.มีครอบครัวหลากหลายทางเพศมากขึ้น
อนาคตจะมีครอบครัวจำนวนมากที่มาจากกลุ่มหลากหลายทางเพศ หรือนักเรียนมาจากครอบครัวหลากหลายทางเพศ กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานในสังกัดต้องสร้างความเข้าใจให้ยอมรับมากขึ้น และสร้างวัฒนธรรมการยอมรับความหลากหลายทางเพศภายในโรงเรียน ขณะที่สื่อมีบทบาทหน้าที่สำคัญมากในการช่วยทำให้คนเข้าใจความหลากหลายมากขึ้น ถ้าสื่อลดอคติการนำเสนอกลุ่มหลากหลายทางเพศ สร้างความเข้าใจที่ดีได้ สร้างภาพแทนในพื้นที่ความสัมพันธ์ของครอบครัวหลากหลายทางเพศก็จะช่วยได้มาก
6.พื้นที่ปลอดภัยของบุตรหลานหลากหลายทางเพศ
ปัทมาภา วีระชัยณรงค์ กระบวนกรและนักเขียนเควียร์อิสระ กล่าวว่า จริงๆ เด็กอยากสื่อสารเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่ไม่รู้จะเรียบเรียงให้ผู้ปกครองฟังอย่างไร รู้สึกมีกำแพงกั้นที่ไม่สามารถสร้างบทสนทนานั้นได้ เขาต้องการให้ครอบครัวหรือผู้ใหญ่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขา คือ อยากรู้สึกว่าคุยได้โดยไม่ตัดสินและไม่ตัดบทสนทนา แต่ก่อนที่จะไปคุยกับที่บ้าน สิ่งที่เด็กๆ ต้องการคือ การฝึกสื่อสารอธิบาย LGBT คืออะไรกับเพื่อนและครูก่อน เพราะเมื่อบรรยากาศในโรงเรียนปลอดภัยก็กลับไปคุยกับที่บ้านอย่างสบายใจขึ้น
สำหรับผู้ปกครองแนะนำว่า ให้รอบุตรหลานเข้ามาพูดคุยเมื่อเขาพร้อม เพราะเด็กหลายคนยังไม่สามารถนิยามตนเองได้ อยากรู้จักตัวเองสำรวจตัวเองก่อน แต่ที่บ้านกลับแยากพุ่งเข้ามาจี้ถามว่าเป็นอะไร และเมื่อบุตรหลานเข้ามาคุยขอให้คุยแบบรับฟังและถามเพื่อให้รู้ว่าเข้าใจตรงกันหรือไม่ รวมถึงสามารถไปพูดคุยหารือกับผู้ปกครองบ้านอื่นๆ เพราะสิ่งที่ผู้ปกครองต้องการก็คือ การมีเครือข่ายความสัมพันธ์ให้รู้สึกว่ามีคนซัพพอร์ตเขาทั้งเด็กและเยาวชนและครอบครัว
ผู้ปกครองข้ามเพศหรือเป็นเพศเดียวกัน น่าจะมีภูมิต้านทานในการรับมอื ไม่ได้มีอุปสรรคหรือกำแพง ส่วนใหญ่เจอครอบครัวหลากหลายจะรู้ว่าชาเลนจ์เจอคืออไร เขามีประสบการณ์จะรุ้ว่าจะจัดการอย่างไ รวางตัวอย่างไร กว่าจะไปถึงจึดนั้นคิดว่ามีความพร้อมนาจะจัดการตัวเองได้ สิ่งที่ต้องการคือการมีเครือข่ายครอบครัวช่วยสนับสนุนเขา
7.ช่องโหว่ของกฎหมาย
รศ.ดร.อานนท์ มาเม้า อาจาย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การบังคับใช้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยอัตโนมัติ คือ ตรงไหนที่กล่าวถึงสามีภรรยา คู่สมรสให้หมายถึงคู่สมรสตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมด้วย แต่มีข้อยกเว้นตรงมาตรา 67 วรรค 2 คือ
ถ้าสถานะสามีภรรยา สิทธิและหน้าที่หรือใดๆ ตามกฎหมายที่มีความแตกต่างกันอยู่ ความอัตโนมัติตรงนั้นจะไม่เอามาใช้ เช่น กฎหมายสัญชาติ อย่างชายต่างด้าวจะแปลงสัญชาติโดยจดทะเบียนกับหญิงไทย มีสิทธิดีกว่า หญิงต่างด้าวแปลงสัญชาติโดยจะทดเบียนสมรสหญิงไทย เพราะไม่ต้องรู้ภาษาไทย แต่หญิงต่างด้าวต้องรู้ภาษาไทย นี่คือความไม่เท่าเทียมแต่เดิม
หรือเรื่องภาษีของผู้เยาว์ ประมวลรัษฎากร กล่าวถึงเรื่องเงินปันผลของเด็ก เด็กมีรายได้ได้ ถ้าถึงเกณฑ์ก็ต้องเสียภาษี โดยคนเป็นพ่อจะมีหน้าที่ในเรื่องนี้ เพราะถือว่าเป็นเงินได้ของบิดา คนซวยคือคนเป็นพ่อ จะถูกนำไปคำนวณภาษี แต่แม่ไม่เกี่ยว จะเห็นว่าระหว่างหญิงชายไม่เท่ากัน กติกาเรื่องนี้ใช้กับกรณีบุตรบุญธรรมด้วย เรื่องนี้จึงเป็นช่องว่างของกลุ่ม LGBT ซึ่งอาจเป็นข้อดี เพราะว่าไม่ถูกดึงเป็นเงินได้ของคู่รัก LGBT แต่เป็นช่องโหว่ที่เกิดขึ้นจริง
หรือกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก ที่บังคับใช้ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล เป็นเรื่องของความเชื่อศาสนา เป็นสิทธิมนุษยชนเช่นกัน ก็ต้องคิดเสรีภาพ LGBT กับเสรีภาพทางศาสนาจะอยู่ร่วมกันอย่างไรในสังคมที่เป็นเสรีภาพพื้นฐานทั้งคู่ ซึ่งมุสลิมนอก 4 จังหวัดไม่ได้ใช้กฎหมายอิสลามบังคับ สถานะคู่สมรสก็ทำตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์หรือพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมได้ตามปกติ แล้วใน 4 จังหวัดใต้ตรงนี้จะเป็นอย่างไรก็ถือเป็นโจทย์ใหญ่อีกเรื่อง
"รัฐไทยจะต้องสนใจอย่างจริงจังและมีเอกภาพ ตระหนักไปข้างหน้า เพราะมีหลายตัวต้องขยับไปข้างหน้า เช่น การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ และต้องตระหนักภาพข้างหลัง เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องในอดีตและกฎหมายบางฉบับต้องทบทวน" รศ.ดร.อานนท์กล่าว
ข่าว
ครอบครัวและเด็ก
lgbtq
บันทึก
2
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย