14 ก.พ. เวลา 12:26 • ปรัชญา

เมื่อ Søren Kierkegaard เล่น It takes two*

Book of love หนังสือที่เขียนโดย Dr. Hakim ผู้อ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความรักและเป็นกาวใจในทุกความสัมพันธ์ที่ร้างลา ในเกมเขาทำหน้าที่บำบัดเมย์และโคดี้ให้กลับมารักกัน หนังสือที่ดูน่าเชื่อถือนี้แนะนำให้ทั้งสองเริ่มซ่อมความสัมพันธ์แล้วสร้างความร่วมมือกันและกัน และทำให้ทั้งคู่กลับไปในวันวานที่ต่างมีกันและกัน​ดี
แต่ถ้าโรสลูกสาวของทั้งสอง ไม่เคยเจอหนังสือเล่มนั้น ดันไปเจอเล่มอื่นที่ชื่อว่า Work of love ปี 1847 ที่เขียนโดย Søren Kierkegaard นักปรัชญาชาวเดนมาร์กและอธิษฐานต่อเล่มนี้แทน เขาจะไกด์สองคนนี้ให้กลับมารักกันอย่างไร?
"ท่านจงรักเถิด" คำที่ปรากฏบ่อยของหนังสือเล่มนี้ อาจเป็นคำที่เมย์และโคดี้พบเจอจนไม่ลืมระหว่างบำบัด ถึงจะเห็นบ่อยจนไปสะกดจิตได้แต่มิน่าช่วยสนับสนุนให้สองคืนดีกันเท่าไหร่ในวันที่จะร้างลาหรอกนะ แต่ความยากยิ่งทวี เพราะก่อนทั้งคู่จะกลายเป็นตุ๊กตาจากคำอธิษฐานของลูกสาวต่อหนังสือ Work of love พวกเขาได้กล่าวกับลูกว่าจะหย่ากัน ฟังดูแทบไม่มีตัวสมานได้ไม่ว่ามองจากที่ใดก็ตาม
บางทีจากจุดนี้ Kierkegaard​ อาจให้ทั้งสองวาปไปยังจุดเริ่มต้นแห่งความรัก จุดที่ความรักก่อตัวขึ้น ซึ่งต่างกันเล็กน้อยกับ Dr. Hakim
Winter Village(หรือด่าน The Snow Globe)​ ที่ซึ่งก่อความรักขึ้นมา ที่นี่เคยเป็นที่ที่โคดี้รวบรวมความกล้าขอเมย์แต่งงาน และเมย์ก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเลใจ มันเป็นก้าวแรกที่ความรักถูกยืนยันจากอำนาจสูงสุดที่มีเหนือพวกเขา เป็นวันที่ความรักมิใช่เพียงเรื่องโหยหาทางอารมณ์ชั่วครั้งชั่วคราว วันที่ความรักเป็นพันธกิจของทั้งคู่ และเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วไซร้ ความรักจึงผูกพันทางจิตวิญญาณจนมิอาจเสื่อมคลายลง ความรักค้ำจุนให้คงอยู่ชั่วนิรันดร์กาล
ด่านนี้อาจเป็นบททดสอบที่เร่งรัดไปหน่อยหากจะเปลี่ยนใจทั้งคู่กะทันหัน แต่หากกลับไป ณ วินาทีแรกที่ทั้งคู่รักกัน Kierkegaard ไม่เพียงพยายามให้เขาทั้งสองระลึกถึงความรักที่บริสุทธิ์​ที่ลบล้างความสิ้นหวังแต่ถ่ายเดียว​ เขานำพาความรักที่อาศัยศรัทธาของทั้งสองกลับมาในเวลาเดียวกัน
ฟังดูแล้วเขาเหมือนกามเทพในบทบาทนี้ แต่ชีวิตจริง Kierkegaard มิใช่ผู้สมหวังในความรัก อาจนิยามได้ว่าความรักของเขาคือความรักโรแมนติกแบบคลาสสิก ทั้งหวานอมและขมกลืน เขาขอแต่งงานกับสาวเจ้านามว่า Regine Olsen แต่เขาหวั่นเกรงว่า ด้วยความศรัทธาในพระคริสต์ที่เขาใช้ยึดเหนี่ยวหลังสูญเสียบิดาไปจะทำให้อิสตรีไม่พบกับความสุขได้
เขาเลยเลือกขอถอนหมั้นนาง เพราะเขาคิดว่าหากจะต้องแต่ง พวกเขาทั้งสองก็จะกลายเป็นสิ่งที่เลือก และสิ่งที่เลือกอาจนำพาให้ชีวิตคู่ไร้ความสุข(ซึ่งอาจเป็นการตัดสินใจที่มีนางเป็นที่ตั้งเลยก็ได้ เพราะคงไม่อยากให้นางไม่มีความสุขภายหลัง)​
แน่ละว่าการตัดสินใจนี้ย่อมทำให้ความโศกเศร้าเข้าย่างกายทั้งคู่โดยไม่อาจเลี่ยง เธอโหยหาเขาอย่างสุดหัวใจ แต่เขายังคงยืนกรานตามเดิม ไม่ใช่เยื่อใยที่มีให้เธอขาดลง เขายังคงรักเธอเสมือนน้ำที่เต็มแก้วเสมอ ไม่นานเท่าชั่วชีวิตคน Olsen แต่งงานใหม่กับหนุ่มข้าราชการคนหนึ่งและทั้งคู่ก็มีความสุขดี ส่วน Kierkegaard ชั่วชีวิตของเขาไม่เคยแต่งงาน ไม่เคยรักใครอีกเลย และเธอเป็นรักเดียวของเขาเสมอมาและตลอดไป
จะว่าไปแล้ว นี่เป็นเรื่องตลกร้าย งานเขียนของเขาที่เป็นคุณูปการจวบจนปัจจุบันมาจากความบอบช้ำของความรักคานั้นก็ว่าได้ ในหนังสือ Either/Or ของเขาพัวพันกับเรื่องของการที่ปัจเจกบุคคลต้องตัดสินใจเลือก ระหว่างความสำราญทางจิตใจหรือความมั่นคงทางศีลธรรม เหตุผลหรือประสบการณ์ กระนั้น Kierkegaard ก็มิใคร่ว่ามนุษย์จะเลือกจากสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะมันอลมานสับสนและอาจปะทะจนยากเกินตัดสิน เขาแนะว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ศรัทธาเท่านั้นจะชี้ทางให้ปัจเจกเลือกอย่างเป็นอัตวิสัยเองได้
ใน Work of love แม้ไม่พูดโจ่งแจ้งว่าให้ปัจเจกเลือกรักเพราะศรัทธาก็ตาม แต่ความรักก็มาจากพระเจ้า พระองค์คือศูนย์กลางแห่งรัก และการจะเข้าถึงความรักได้มิผ่านอารมณ์อันเป็นเรื่องทางโลกที่บิดพลิ้วง่าย แต่อาศัยศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า เมื่อเป็นการนั้นแล้ว ความรักจึงถือได้ว่าเป็นรักแท้อันดำรงอยู่อย่างไร้ขีดจำกัด
บางทีนี่อาจไม่เพียงพอให้คนที่จะหย่าร้างเปลี่ยนใจ(แม้จะติดอยู่ในร่างตุ๊กตาก็เถอะ!) แต่คงกระตุกจิตสำนึกทั้งสองได้บ้าง อย่างน้อยในแง่ที่ว่าพวกเขาต่างก็เคยรักกัน พวกเขาอาจมีเยื่อใยบาง ๆ อยู่ก็ได้ และนั้นเป็นการบำบัดต่อไปของ Kierkegaard
คนเคยรักกันอาจหลงลืมความรักว่าอยู่หนใด แต่ที่ไหนก็ยังไม่สำคัญเท่ากับว่าทั้งสองเคยรักกันอย่างไร(และมันพาลให้คู่รักหลงลืมความรักว่าอยู่ที่ใด)​
ข้อบำบัดต่อไป Kierkegaard ไม่ใช้ท่ายากเหมือน Dr. Hakim ที่เน้นการผจญภัยร่วมกัน เขาเพียงเผยแสดงให้ทั้งสองเห็นแฟลชแบ็คว่าหน้าที่ของพวกเขาทำให้ทุกอย่างแปรเปลี่ยนไปขนาดไหน
เมย์คือสาวเวิร์คกิ้งวูแมนมากกว่าโคดี้ แต่โคดี้ก็มีความเป็นแม่บ้านมากกว่าเมย์ ทั้งสองจัดวางหน้าที่ที่คนนึงหนักไปทางซ้ายเกินขณะที่อีกคนไปทางขวาเกินพอดี ผลคือพวกเขาจูนความสัมพันธ์นี้ไม่ได้ และหน้าที่เช่นว่าพาเมย์กับโคดี้ยึดเหนี่ยวความรักไว้ที่ตัวเองมากขึ้น มากขึ้น และมากขึ้น มากเสียจนพร่าเลือนไปแล้วว่าเขาทั้งสองเคยยึดเหนี่ยวความรักเอาไว้ในกันและกัน
เรื่องเหล่านี้น่าจะชัดเพียงพอให้เมย์และโคดี้รับรู้ได้ว่า การหย่าร้างไม่ใช่หนทางแก้ไข รั้งแต่จะเกิดช่องว่างในความสัมพันธ์ที่ขยายออกไป เพราะชั่ววูบหนึ่งพวกเขาทิ้งเศษเสี้ยวในรักนี้ลง แต่เมื่อพวกเขาสำนึกและตระหนักได้ว่า "รักคงอยู่" มาตลอดเวลา มันอยู่ในความสัมพันธ์ของพวกเขาในลึก ๆ เพียงแต่ว่าพวกเขาจะต้องรักแบบที่พวกเขาเคยรักซึ่งกันและกันเช่นวันวาน
การไม่เหลือช่องว่างใด ๆ แทรกกลางเพราะ เมย์ โคดี้ ลบมันให้สูญสิ้นไปในอดีตผ่านการหยัดยืนในรักที่เขาและเธอเติมเต็มให้กัน ทางนึงพาพวกเขามาตั้งต้นใหม่ ขณะที่มันก็เคลื่อนพวกเขาไปข้างหน้าอันเป็นอนาคตและเพราะอนาคต​เองก็เป็นนิรันดร์กาลเช่นกัน
ในความคิด Kierkegaard ความรักนั้นนิรันดร์กาลและเขาก็สอนให้เมย์กับโคดี้เข้าใจมันว่า หากต้องการให้ความรักที่ฟื้นคืนนี้คงอยู่ ก็ขอให้ดูแลความรักให้ตรงธาตุของมัน หากจะเปรย ให้นึกถึงปลาต้องการน้ำจึงมีชีวิตได้ เนื่องเพราะมันอยู่ในธาตุของมัน ความรักก็ไม่ต่างนัก ธาตุของความรักเป็นอนันต์ ไม่สิ้นสุดและตลอดกาลเสมือนหนี้แห่งความรักที่ไม่ว่าเขาหรือเธอจะชดใช้ให้กันอย่างไรก็ไม่หมด จนกว่าจะหมดลมหายใจ
คำอธิษฐานของโรสสัมฤทธิ์ผลแล้ว พ่อแม่ของเธอกำลังคืนสู่ร่างเดิม แต่ก่อนนั้นเขาส่งท้ายแก่ทั้งคู่ว่า ความรักประกอบไปด้วยความสัมพันธ์มากกว่าสองคน มีขึ้นจากสามสิ่ง สิ่งแรกคือ "ผู้รัก" สิ่งที่สองคือ "ผู้ที่เป็นเป้าหมายของความรัก" และสิ่งที่สามคือ "ตัวความรักเอง" แต่ทว่าเพราะเหตุใดกันเล่าถึงเป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่าถ้าความรักเป็นเรื่องของ "สาม" สิ่ง จะไม่มีใครสามารถทำลายมันได้เพียงลำพัง บุคคลที่สามที่ว่าก็คือ "ความรัก" นั่นเอง​
"ความรัก" ของเมย์กับโคดี้ต่อแต่นี้ไปคงเป็นสิ่งที่เดาได้แล้วว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งใด
*สำหรับชื่อ หากผู้อ่านอ่านจนจบจะรู้สึก​ว่านักปรัชญาไม่ได้เล่นเกมเหมือนในชื่อ ความจริงทีแรกผู้เขียนต้องการตั้งชื่อว่า 'หาก Book of love ไม่ได้เกิดแต่ถูกแทนที่เป็น Work of love จะไกด์เมย์และโคดี้ยังไง?'​ ซึ่งตรงกับเนื้อหามากกว่า แต่สำหรับชื่อที่ใช้ปัจจุบันก็เพราะ ผู้เขียนต้องการให้ตรงกับงานเขียนชุด 'เมื่อนักปรัชญาเล่นเกม' ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
อ้างอิง
ผู้เขียนอ้างอิงบท VI: Love Abides เสียส่วนใหญ่ แม้จะมีบทอื่น ๆ อยู่บ้างตามที
นอกจากนี้ส่วนของประวัติย่อของ Søren Kierkegaard ผู้เขียนนำย่อหน้าจากในหนังสือ A Little History of Philosophy ฉบับแปลไทย มาปรับใช้และแก้ไขบางส่วนให้กระชับขึ้น
กราฟิก: confleckz
เขียน: เบอร์ตองไรท์เตอร์
#เมื่อนักปรัชญาเล่นเกม
โฆษณา