15 ก.พ. เวลา 01:30 • ประวัติศาสตร์

รู้จัก “มรณกรรมของมาสคอต” ประวัติศาสตร์การสร้างไวรัลด้วยความตายของมาสคอต

เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาอาจจะมีข่าวใหญ่ที่ทำเอากลุ่มผู้รักในการเรียนภาษาใหม่อาจจะรู้สึกงุนงง ขบขัน และตกใจอยู่บ้าง เมื่อแอปพลิเคชั่นสอนภาษาเจ้าดังอย่าง Duolingo ได้ออกมาประกาศผ่านทาง X ถึงการจากไปของเจ้านกฮูกสีเขียวซึ่งถูกใช้เป็นมาสคอตของแบรนด์จนเป็นทั้งภาพจำและมีมบนโลกอินเทอร์เน็ตมาเป็นเวลานานหลายปี
ซึ่งแน่นอนว่ามันอาจจะทำให้ใครหลายคนสงสัยว่ามันคืออะไร หมายถึงนกฮูกที่เป็นตัวต้นแบบของมาสคอตนั้นจากโลกนี้ไปแล้ว หรือเป็นมุกอะไรแผลง ๆ ที่ Duolingo เล่นขึ้นมากันแน่?
มรณกรรมของมาสคอตไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เพราะในอดีตเองก็มีประวัติการสังหารมาสคอตประจำแบรนด์อยู่เรื่อย ๆ เพื่อเหตุผลในการสร้างกระแสทางการตลาดและการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของแบรนด์
ในวันนี้ All About History จึงจะขอพาสำรวจมรณกรรมของมาสคอตที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้า Duolingo กันว่ามีแบรนด์ไหนบ้างที่เคยทำ แล้วพวกเขาใช้วิธีไหนในการสังหารมาสคอต ตลอดจนพวกเขาได้ผลลัพธ์อะไรบ้างจากการทำอย่างนั้น?
⭐ อะไรคือ “มรณกรรมของมาสคอต” ?
การสังหารมาสคอตนับว่าเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีมาอาจจะไม่ได้เก่าแก่มากมายนัก โดยวัตถุประสงค์หลักของการสังหารมาสคอตในหลาย ๆ ครั้งจะเกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์เพื่อลบภาพจำเดิม ๆ ออก แล้วกลายเป็นภาพจำใหม่
โดยอาจจะเป็นการเปลี่ยนมาสคอตจากหน้าตาอย่างหนึ่ง ไปเป็นหน้าตาอีกอย่างหนึ่ง ทั้งนี้มันก็มีทั้งการสังหารแบบเงียบ ๆ แล้วเปลี่ยนไปเลย กับการประกาศก้องถึงมรณกรรมของมาสคอตให้ทุกคนได้รับทราบเพื่อผลประโยชน์ทางการตลาดในการเรียกร้องความสนใจจากผู้คน
ปกติแล้ว ในแบรนด์หรือธุรกิจขนาดเล็กที่มีมาสคอต การเปลี่ยนมาสคอตอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องอะไรที่ใหญ่โต ธุรกิจที่เปิดใหม่อาจจะยังไม่ได้ทำให้ตัวมาสคอตของแบรนด์เป็นภาพจำมากนัก โดยในอดีตก็มีหลากหลายแบรนด์ที่เคยทำการสังหารมาสคอตด้วยหลากหลายวิธีการ และทำไปเพื่อวัตถุประสงค์หลายอย่าง
หนึ่งในตัวอย่างที่อาจจะมีวัตถุประสงค์ต่างออกไปจากเพื่อนก็ยกตัวอย่างเช่นบริษัทประกันภัยของนิวซีแลนด์อย่าง Lifedirect ซึ่งได้ทำการสังหารมาสคอตที่เป็นสลอธนามไซมอน ที่เป็นมาสคอตให้กับบริษัทมานานถึง 10 ปี โดยการให้เกิดอุบัติเหตุเดินตกหน้าผา โดยเป็นการสร้างกระแสประมาณว่า “อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาอย่างไม่คาดคิด ดังนั้นจึงควรทำประกันกับ Lifedirect” อะไรแบบนั้นไป
ซึ่งทำให้ในปี 2019 ที่ปล่อยตัวโฆษณานี้ออกไป ทำให้มีการเยี่ยมชมเว็บไซต์ของแบรนด์มากขึ้น 32% และเพิ่มอัตราความชื่นชอบในตัวแบรนด์อีกถึง 44% เลยทีเดียว
⭐ การสังหาร “มิสเตอร์พีนัท” มรณกรรมของมาสคอตแบรนด์ประวัติศาสตร์
ในกรณีของสลอธไซมอน อาจจะเป็นแบรนด์เฉพาะที่อยู่คู่กับชาวนิวซีแลนด์มา 10 ปี แต่ถ้าจะถามว่ามีแบรนด์ใหญ่อายุเยอะแบรนด์ไหนอีกที่การสังหารมาสคอตแบบนี้ ก็มีเหมือนกัน ซึ่งสำหรับแบรนด์ดังกล่าวนี้นับว่าเป็นแบรนด์ใหญ่ที่มีอายุหลัก 100 ปีเลยทีเดียวกับ “มิสเตอร์พีนัท”
มิสเตอร์พีนัทถูกใช้เป็นมาสคอตของบริษัท Planter ซึ่งเป็นบริษัทผลิตขนมขบเคี้ยวประเภทถั่วหรือช็อกโกแลต ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1906 หรือเมื่อ 119 ปีที่แล้ว ซึ่งตัวมาสคอตนี้ก็ถูกนำมาใช้ราวปี 1916 ทำให้ตัวมาสคอตนี้มีอายุมากถึง 109 ปีเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ามันจะเป็นภาพจำของแบรนด์มายาวนานนับ 100 ปี แต่เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์ การสังหารมิสเตอร์พีนัทก็เกิดขึ้นมาอย่างง่ายดาย
ปฏิบัติการสังหารมิสเตอร์พีนัทเริ่มขึ้นราวปี 2020 ในโฆษณาของงานซุปเปอร์โบวล์ ประจำฤดูกาล 2019 โดยออกแบบมาเป็นมิสเตอร์พีนัทขับรถถั่วลิสงของเขาแหกโค้งตกหน้าผา โดยเกาะกิ่งไม้เอาไว้ แต่แล้วมิสเตอร์พีนัทก็ได้ปล่อยมือจากกิ่งไม้และตกลงไปก่อนที่จะระเบิดแล้วเสียชีวิต ทำให้โซเซียลมีเดียของ Planter ได้โพสต์รำลึกและแสดงความเสียใจต่อการจากไปของมิสเตอร์พีนัท
ก่อนที่จะมีโฆษณาตัวใหม่เป็นมาสคอตคูลอิดแมน (Kool-Aid man) ที่น้ำตาไหลออกมา แล้วเกิดมาสคอตใหม่งอกออกมาจากดินเป็น “เบบี้นัท” ซึ่งเป็นมาสคอตใหม่ของแบรนด์ Planter นี่เอง
แน่นอนว่ามันเป็นเหมือนกับการเปลี่ยนมาสคอตใหม่ของแบรนด์โดยการใช้มรณกรรมของมาสคอตเก่าเป็นตัวดำเนินเรื่อง แต่อย่างไรก็ดี ด้วยความผูกพันของผู้ชมและผู้ที่ชื่นชอบในแบรนด์ก็ได้ทำให้มรณกรรมของมาสคอตเก่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และชวนให้คิดถึง
ซึ่งโฆษกของ Planter ได้เคยออกมาเล่าถึงการโฆษณานี้ว่าพวกเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากการสังหารตัวละครเอกในหมู่ภาพยนตร์มาร์เวลนี่เอง ซึ่งความซาบซึ้งและความผูกพันถูกใช้เป็นตัวขับเคลื่อนในการดึงความสนใจ ทั้งเป็นการประนีประนอมกับลูกค้าเก่าเพื่อที่จะเปลี่ยนภาพจำของแบรนด์ และเป็นการดึงดูดลูกค้าใหม่ในอีกทางหนึ่ง
โดยผลลัพธ์ของการสังหารมิสเตอร์พีนัท ทำให้มีผู้ติดตามแอคเคาน์ X ของแบรนด์เพิ่มขึ้นกว่า 45% เลยทีเดียว
⭐ เพราะความผูกพันกับตัวละครนั้นมีจริง
เรื่องการสังหารตัวละคร เป็นอะไรที่เรามักจะพบได้ในวรรณกรรมหรือในนวนิยาย ที่ซึ่งมีการสังหารตัวเอกเพื่อดึงอารมณ์ของผู้อ่าน การดำเนินเรื่องด้วยตัวละครหลักจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกผูกพัน ติดตาม และเติบโตไปกับตัวละครนั้น ๆ แต่แล้วพอมาถึงจุดหนึ่งที่มีการสังหารตัวละครนั้น ก็จะทำให้ความรู้สึกและความผูกพันของผู้อ่านกับตัวละครนั้นสิ้นสุดลง ซึ่งก็จะทำให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ที่หลากหลาย ทั้งเสียใจ ไปจนถึงโกรธจนเลิกอ่านนิยายไปเลย
แน่นอนว่าการสังหารตัวละครเป็นอะไรที่เสี่ยง เพราะเราไม่มีทางรับรู้ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือจะได้รับกระแสตอบรับมาอย่างไร ทำให้จำเป็นต้องมีการประนีประนอมในภายหลังจากการสังหารไปแล้ว เช่นดังที่ Planter ทำอย่างการสร้างมาสคอตใหม่เป็นเบบี้นัทที่เป็นเหมือนกับทายาทหรือการกลับชาติมาเกิดใหม่ของมิสเตอร์พีนัทที่เอง
จุดหนึ่งที่ตัวละครในนิยายกับมาสคอตประจำแบรนด์ต่างออกไปก็คือ ผู้คนมีความผูกพันกับตัวละครในนิยายผ่านการที่ได้อ่านและเป็นพยานต่อการเติบโตของตัวละคร แต่กับมาสคอตประจำแบรนด์นั้นผู้คนผูกพันจากการที่เห็นมานาน โดยในยุคอินเตอร์เน็ตหลังปี 2000 เป็นต้นมา ผู้คนอาจจะผูกพันกับมาสคอตผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์
ยกตัวอย่างก็เช่นในกรณีของ Duolingo นี่เอง ที่ผู้คนผูกพันผ่านการใช้งาน ผ่านการที่ตัวนกฮูกเขียวนี้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนอย่างการเด้งขึ้นมาในการแจ้งเตือนของโทรศัพท์เพื่อทวงตามให้ไปเข้าเรียนภาษาประจำวัน รวมไปถึงมีมต่าง ๆ ที่พบเห็นได้บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งทั้งกลุ่มผู้ใช้งานและแอคเคาน์ทางการของแบรนด์ได้ใช้ในการสื่อสารกัน
⭐ ปรากฎการณ์ไวรัลมรณกรรมของ Duolingo
Duolingo เป็นแอพลิเคชั่นสอนภาษาที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงบนโลกอินเทอร์เน็ตอยู่บ้าง โดยในแอพลิเคชั่นนั้นสอนภาษาที่หลากหลาย ทั้งภาษาที่คนใช้เยอะ ไปจนถึงภาษาที่คนใช้น้อย มีระบบการเรียนรู้ภาษาที่ให้ผู้ใช้งานได้เล่นเป็นเกมเล็ก ๆ ง่าย ๆ เป็นแอปพลิเคชั่นฟรีที่มีโฆษณา แต่ทั้งนี้ผู้ใช้งานก็สามารถสมัครบริการแบบ Subscription เพื่อปิดโฆษณาเหล่านั้นได้ด้วย
นกฮูกเขียว Duolingo ได้เริ่มเป็นที่สนใจของอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ปี 2019 ที่ซึ่งมีมีมเป็นนกฮูกเขียวโกรธที่ผู้ใช้งานลืมล็อกอินเข้ามาเรียนภาษา ก่อนที่จะโด่งดังบน TikTok ราวปี 2021 โดยมรณกรรมของ Duolingo นับว่าเป็นกลยุทธ์อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ได้มีการสังหารมาสคอตเพื่อสร้างความสนใจ สำหรับเนื้อเรื่องนี้เป็นการสังหารนกฮูกเขียวด้วยอุบัติเหตุโดนรถไซเบอร์ทรัคชน
นกฮูกเขียวจากไปแล้ว แล้วทิศทางในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป? อย่างที่เราเห็นกันว่ามรณกรรมของมาสคอต Duolingo กลายเป็นกระแสไวรัลในหมู่ผู้ใช้งานได้อย่างง่ายดาย แม้แต่แอคเคาน์ทางการของแบรนด์บริษัทหรือองค์กรอื่น ๆ อย่างเช่น องค์การ WHO ไปจนถึง Netflix เองก็ยังมาร่วมไว้อาลัย(แบบขำขัน) ทำให้เราเห็นถึงความสำเร็จในการสร้างกระแสการรับรู้ถึงตัวแบรนด์ ที่อาจจะไม่ได้ส่งไปถึงผู้ใช้งานเก่าแต่เพียงอย่างเดียว แต่อาจจะสื่อสารและเชิญชวนไปยังผู้ใช้งานใหม่ให้เข้ามาได้ด้วย
มรณกรรมของนกฮูก Duolingo จึงเป็นเหมือนกับหนึ่งการแสดงหรือมหรสพเล็ก ๆ ที่สามารถสร้างปรากฎการณ์ทางการตลาดได้ แต่ทั้งนี้อีกหนึ่งกุญแจสำคัญก็คงจะเป็นในส่วนของการที่ Duolingo นั้นมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งาน ทำให้เกิดความผูกพันและเป็นที่รู้จักได้อย่างง่ายดาย และสามารถเป็นกระแสได้ง่าย โดยตัวเลขผลลัพธ์ที่ Duolingo ได้รับจากกระแสในครั้งนี้ยังไม่ปรากฎชัดเจนนัก แต่เชื่อว่าเป็นกระแสที่น่าจะดีแน่ ๆ แต่ทั้งนี้ในเมื่อนกฮูกจากไปแล้ว ใครจะมาเป็นมาสคอตหลักต่อ ก็ต้องรอลุ้นกันต่อไป
โฆษณา