16 ก.พ. เวลา 08:24 • ประวัติศาสตร์

เหตุใดญี่ปุ่นจึงเป็นที่รักของไต้หวัน แต่เป็นความรู้สึกลบสำหรับเกาหลี?

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้น ดินแดนหลายแห่งต้องตกเป็นดินแดนอาณานิคมใต้อำนาจของยุโรป
ตั้งแต่อเมริกาไปจนถึงแอฟริกา ตั้งแต่อินเดียไปจนถึงตะวันออกกลาง ดินแดนส่วนใหญ่ล้วนถูกยึดครองมาก่อนแทบทั้งสิ้น และเจ้าอาณานิคมก็มักจะเป็นชาติในยุโรป
1
แต่สำหรับ “ญี่ปุ่น” อาจจะเป็นข้อยกเว้น เป็นความแตกต่างจากดินแดนอื่นๆ
ญี่ปุ่นนั้นเร่งปรับตัวสู่ชาติอุตสาหกรรมและประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ทำให้นอกจากจะไม่ถูกยึดเป็นอาณานิคมแล้ว ญี่ปุ่นยังสามารถสร้างอาณานิคมของตนเองได้อีกด้วย เริ่มจากไต้หวันและเกาหลี
2
ถึงแม้ว่าอาณานิคมของญี่ปุ่นจะกินเวลาเพียงช่วงสั้นๆ แต่ก็ส่งผลต่อประวัติศาสตร์ของทั้งไต้หวันและเกาหลี หากแต่ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ความรู้สึกของไต้หวันและเกาหลีที่มีต่อญี่ปุ่นนั้นกลับต่างกันโดยสิ้นเชิง
เกาหลีนั้นค่อนข้างจะรู้สึกเป็นลบกับญี่ปุ่น แม้แต่ในปัจจุบัน หลายคนก็ยังพูดถึงความโหดร้ายป่าเถื่อนของญี่ปุ่น
ส่วนไต้หวัน กลับค่อนข้างมองญี่ปุ่นในทางบวก มองว่าการเข้ามาของญี่ปุ่น นำพาประโยชน์เข้ามาให้ประเทศ
เรื่องราวนี้เป็นอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟังครับ
ญี่ปุ่นนั้นเริ่มปฏิรูปประเทศสู่ความทันสมัยในปีค.ศ.1868 (พ.ศ.2411) โดยเริ่มจาก “การปฏิรูปเมจิ (Meiji Restoration)” ซึ่งเป็นช่วงที่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมในญี่ปุ่น ทำให้ภายในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติอุตสาหกรรมที่ทรงอำนาจ
1
ญี่ปุ่นได้ไต้หวันมาเป็นอาณานิคมแรกในปีค.ศ.1895 (พ.ศ.2438) ด้วยการเอาชนะจีนในสงคราม และเรียกร้องให้จีนมอบไต้หวันให้ญี่ปุ่น แลกกับการได้สันติภาพ
ต่อมาในปีค.ศ.1905 (พ.ศ.2448) ญี่ปุ่นก็ได้เกาหลีเป็นรัฐในอารักขา ก่อนจะประกาศให้เกาหลีเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นในปีค.ศ.1910 (พ.ศ.2453)
เหตุผลหลักที่ญี่ปุ่นต้องการจะสร้างอาณานิคมของตนเอง หลักๆ ก็เพื่อต้องการให้ญี่ปุ่นเป็นชาติชั้นนำเคียงคู่ไปกับชาติในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เป็นที่ยอมรับในฐานะของชาติที่ยิ่งใหญ่ ชาติที่พัฒนาแล้ว
1
และการมีอาณานิคมของตนเองก็คือความยิ่งใหญ่หนึ่งที่ชาติที่ทรงอำนาจเท่านั้นจะมีได้
การมีดินแดนอาณานิคมของตนยังทำให้เจ้าอาณานิคมได้ประโยชน์ในเรื่องของทรัพยากรต่างๆ ที่จะเอามาใช้สนับสนุนชาติตนและประชาชนของตน โดยเฉพาะกับญี่ปุ่นที่เปลี่ยนผ่านจากชาติเกษตรกรรมสู่ชาติอุตสาหกรรม เสบียงและพลังงานคือสิ่งที่ญี่ปุ่นจะขาดไม่ได้
อันที่จริง ญี่ปุ่นนั้นมุ่งหวังที่จะสร้างอาณานิคมของตนเองมานานมากแล้ว โดยมีการศึกษาต้นแบบจากอาณานิคมอื่น และมองหาต้นแบบที่คิดว่าจะได้ผล
กลุ่มชนชั้นปกครองของญี่ปุ่นมองว่าไต้หวันนั้นเป็นเหมือน “มหาวิทยาลัยอาณานิคม” คือเป็นที่ซึ่งทางการญี่ปุ่นจะได้ทดลองการบริหารดินแดนอื่น และเมื่ออำนาจของญี่ปุ่นแผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ บางครั้งขั้วอำนาจก็ถูกแบ่งออกเป็นสอง
1.ไต้หวัน เกาหลี และคาราฟูโตะ
กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ในยุคแรกๆ เป็นเป้าที่ญี่ปุ่นมุ่งหวังจะรวมกันให้ กลมกลืนกัน เป็นที่ซึ่งวันหนึ่งอาจจะกลายเป็นอาณาเขตภายในของญี่ปุ่น
2.สถานที่อื่น เช่น แมนจูเรีย อินโดนีเซีย และหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลใต้
สถานที่เหล่านี้มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ หากแต่ญี่ปุ่นก็มองว่าดินแดนแถบนี้นั้นอ่อนด้อย ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะรวมเข้ากับแผ่นดินใหญ่ญี่ปุ่น ให้เป็นเพียงอาณาเขตภายนอก
ข้อควรรู้อีกข้อก็คือ ในเวลานั้น ญี่ปุ่นได้ขยายอำนาจเข้าไปในเกาะต่างๆ เป็นเวลานับสิบปีแล้ว โดยฮอกไกโดตกเป็นของญี่ปุ่นในปีค.ศ.1869 (พ.ศ.2412) ส่วนโอกินาว่าตกเป็นของญี่ปุ่นในปีค.ศ.1879 (พ.ศ.2422)
และจากประสบการณ์การเข้ายึดครองเกาะและดินแดนเล็กๆ ต่างๆ ญี่ปุ่นก็หวังว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาจะทำให้การเข้าครอบครองไต้หวันและเกาหลีเป็นไปโดยสะดวก
แต่นั่นคือในทางทฤษฎี แล้วในความเป็นจริงแล้วเป็นอย่างไร?
เริ่มจากไต้หวัน แผนการเข้ายึดครองไต้หวันนั้นเป็นไปตามแผนทุกประการ อันที่จริง หากญี่ปุ่นไม่ได้พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนี้ไต้หวันก็อาจจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่นก็เป็นได้
2
ก่อนอื่น เรามาดูเรื่องราวของไต้หวันกันแบบคร่าวๆ ก่อน
ย้อนกลับไปก่อนศตวรรษที่ 17 ไต้หวันนั้นเป็นเกาะที่เป็นแหล่งอาศัยของชาวเกาะพื้นเมือง ซึ่งมีวัฒนธรรมแบบชนออสโตรนีเซียน
1
นักประวัติศาสตร์หลายคนคิดว่าไต้หวันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายตัวของชนออสโตรนีเซียนในแถบแปซิฟิกเมื่อสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยชนออสโตรนีเซียนนี้เป็นบรรพบุรุษยุคโบราณของกลุ่มชาวฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ซามัว ฟิจิ ฮาวาย และเมารี ซึ่งนักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่าสามารถย้อนสายไปยังไต้หวัน
3
เนเธอร์แลนด์ คือชนจากโลกภายนอกกลุ่มแรกที่เข้ามายึดครองไต้หวันในสมัยศตวรรษที่ 17 ก่อนที่จีนจะตามเข้ามาในเวลาต่อมา ทำการครอบครองเกาะไต้หวัน และเนื่องจากสงครามกลางเมืองในจีน ก็ทำให้ขุนศึกหลายคนต้องลี้ภัยไปยังไต้หวัน
1
ในช่วงสองศตวรรษต่อมา ชาวจีนจากมณฑลฝูเจี้ยนย้ายไปยังไต้หวัน หากแต่จีนยังแทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับไต้หวันเลย และความแข็งข้อ ขบถของไต้หวันนั้นก็โด่งดังไปทั่ว ถึงกับมีคำกล่าวว่า
1
“จลาจลทุก 3 ปี ก่อกบฎทุก 5 ปี“
และไต้หวันก็ยังไม่ได้ถูกนับเป็นมณฑลอย่างเป็นทางการ กว่าจะได้รับการยอมรับก็คือช่วงกลางศตวรรษที่ 19 แล้ว
ดังนั้นเมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดครองไต้หวันในปีค.ศ.1895 (พ.ศ.2438) ไต้หวันนั้นยังแทบจะไม่มีอัตลักษณ์ถิ่นเลย แต่เป็นดินแดนที่ถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ เป็นเวลานับศตวรรษ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวนั้นมีน้อยมาก
2
พื้นที่ของไต้หวันที่ถูกนำมาใช้เป็นพื้นที่ทางการเกษตรก็ยังน้อยมาก อีกทั้งไต้หวันยังผ่านช่วงเวลาที่ตกอยู่ใต้อำนาจของทั้งจีนและตะวันตก ทำให้กลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นนั้นมีน้อย
กลุ่มชนในไต้หวันที่ต่อต้านญี่ปุ่นก็คือกลุ่มชนชั้นสูงชาวจีน ซึ่งก็มีอยู่เพียงหยิบมือเท่านั้น และญี่ปุ่นก็ให้โอกาสด้วยการเสนอว่าภายในสองปี หากใครไม่ยินดีที่ญี่ปุ่นเข้าปกครองไต้หวัน ก็สามารถเก็บของและออกไปได้เลย
ผลปรากฎว่ามีคนย้ายออกจากไต้หวันแค่เพียง 1 ใน 4 หรือประมาณ 25% เท่านั้น
1
เมื่อญี่ปุ่นเข้ามาปกครองไต้หวัน ญี่ปุ่นก็ได้สร้างคุณประโยชน์แก่ไต้หวันในหลายๆ ด้าน
มีการกำจัดมาลาเรียออกไปจนหมดประเทศ มีการสร้างระบบทางระบายน้ำที่ทันสมัย มีการสำรวจสำมะโนประชากรและสำรวจที่ดิน
ส่วนทางด้านเกษตรกรรม ก็มีการปรับปรุงระบบการเกษตรจนทำให้ความอดอยากหมดไป ฐานะของเกษตรกรก็ดีขึ้นกว่าเดิมมาก
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ญี่ปุ่นยังเปิดธนาคารแห่งแรกของไต้หวัน ตั้งโรงเรียนแพทย์และมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังสร้างทางรถไฟที่ยาวนับพันกิโลเมตร สร้างถนนสำหรับรถยนต์สัญจรแห่งแรก รวมทั้งสร้างท่าเรืออีกหลายแห่ง
1
นอกจากนั้น ยังมีการสร้างระบบไปรษณีย์ โทรเลขและโทรศัพท์ รวมทั้งก่อตั้งโรงเรียนรัฐบาลสำหรับประชาชนทั่วไป อีกทั้งยังออกกฎให้ฝิ่นเป็นสิ่งต้องห้าม ทำให้จำนวนผู้ติดฝิ่นในไต้หวันเมื่อปีค.ศ.1900 (พ.ศ.2443) ที่มีจำนวนอยู่ที่ 165,000 คน ลดลงเหลือเพียง 8,000 คนในปีค.ศ.1941 (พ.ศ.2484)
ภายในปีค.ศ.1905 (พ.ศ.2448) ไต้หวันได้รับการยอมรับว่าเป็นชาติที่สามารถพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิรูปครั้งใหญ่ที่ญี่ปุ่นกระทำต่อไต้หวัน
แต่ถ้าเล่าแค่นี้ก็จะดูเป็นการอวยเกินไป บอกแต่ข้อดี ไม่มีข้อเสีย ซึ่งก็ไม่ใช่ ต้องบอกว่าความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็ต้องแลกมาด้วยความโหดร้ายเช่นกัน มีการสังหารชนพื้นเมืองที่ต่อต้านนับพัน และยังกดขี่กลุ่มชนพื้นเมืองสารพัด
นอกจากนั้น ประชาชนที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่นก็ถูกมองว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง และญี่ปุ่นก็กอบโกยกำไรและผลประโยชน์จากไต้หวันไปจนพุงกาง ทั้งเสบียงและภาษีต่างๆ ญี่ปุ่นก็โกยไปเต็มๆ
แต่ถึงอย่างนั้น โดยรวมแล้วความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและไต้หวันก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีทีเดียว ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากก็ย้ายไปตั้งรกรากยังไต้หวัน
ญี่ปุ่นยังก่อตั้งอุทยานแห่งชาติแห่งแรกในไต้หวัน และเผยแพร่วัฒนธรรมการอาบน้ำพุร้อนอีกด้วย อีกทั้งก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะปฏิรูประบบการศึกษาในไต้หวัน มีคนไต้หวันเพียงหยิบมือเท่านั้นที่อ่านออกเขียนได้ แต่ญี่ปุ่นก็นำภาษาญี่ปุ่นเข้ามาเผยแพร่ และทำให้ภาษาญี่ปุ่นนั้นเป็นที่นิยมในไต้หวัน
ด้วยความสำเร็จในไต้หวัน ทำให้ญี่ปุ่นคิดว่าการจัดการกับเกาหลีก็คงจะไม่ยากและประสบความสำเร็จไม่ต่างกัน หากแต่ในความเป็นจริงนั้น บริบทของไต้หวันกับเกาหลีนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เกาหลีนั้นต่างจากไต้หวัน มีประวัติศาสตร์ของตนเองในฐานะชาติอิสระมานานแล้ว และยังมีอัตลักษณ์ ความเป็นชาติพันธุ์ที่เข้มแข็ง
1
เกาหลีนั้นมีภาษาของตนเอง อีกทั้งยังนับถือลัทธิขงจื๊ออย่างเคร่งครัด นิกายชินโตหรือแม้แต่พวกมองโกลก็ยังเข้ามาแทรกแซงไม่ได้
ด้วยความที่เกาหลีนั้นไม่ใช่เป้าหมายโดยตรงของญี่ปุ่นตั้งแต่ทีแรก และชาวเกาหลีจำนวนมากก็รู้หนังสืออยู่แล้ว เป็นกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองเสียส่วนมาก ทำให้ฝ่ายบริหารของญี่ปุ่นที่เข้ามาในเกาหลี ก็เพียงแค่ทำหน้าที่บริหารส่วนท้องถิ่นทั่วๆ ไปเท่านั้น และไม่สามารถโน้มน้าวให้ชาวเกาหลีนิยมญี่ปุ่นได้โดยง่าย
เกาหลีนั้นยังมีประชากรมากกว่าไต้หวัน นั่นหมายความว่าพื้นที่ว่างที่ยังไม่ถูกใช้ประโยชน์ก็เหลือน้อย และญี่ปุ่นก็ไม่สามารถเก็บภาษีอาหารจากเกาหลีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย อีกทั้งยังถูกต่อต้านอีกด้วย
ชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นฝ่ายบริหารที่เข้าไปในเกาหลี รวมทั้งคนญี่ปุ่นที่ไปตั้งรกรากยังเกาหลีก็เป็นคนกลุ่มเล็กๆ เทียบไม่ได้กับที่ไต้หวันเลยที่คนญี่ปุ่นเป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่
เรียกได้ว่าจำนวนก็มีน้อยกว่า ความนิยม การยอมรับในเกาหลีก็แทบไม่มี ทำให้งบประมาณของญี่ปุ่นที่ถูกนำมาใช้ในเกาหลีนั้น หลักๆ จะไปลงกับการทหารและนโยบายต่างๆ ไม่ค่อยมีงบประมาณสำหรับการพัฒนาประเทศ เช่น การสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ หรือสวัสดิการสำหรับประชาชน
ที่เกาหลีแตกต่างจากไต้หวันอีกข้อก็คือ กลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นในเกาหลีนั้นเข้มแข็งและมีจำนวนมาก ทำให้เกิดความรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง เกิดการต่อต้านและลุกฮือจนแทบจะเป็นเรื่องปกติ
1
ดังนั้น จากสถานการณ์ต่างๆ ข้างต้น จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นไม่ค่อยจะได้ประโยชน์อะไรจากเกาหลีซักเท่าไร แม้แต่ในปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์ก็ยังถกเถียงกันอยู่ว่าการที่ญี่ปุ่นเข้าครอบครองเกาหลีนั้น เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหรือว่าเสียเปล่ากันแน่
1
ในปัจจุบัน ญี่ปุ่นก็ยังเป็นชาติที่ถือว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไต้หวัน มีการแลกเปลี่ยนทางด้านการท่องเที่ยวและการศึกษา อีกทั้งยังมีความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรมและการทหารอีกด้วย
ส่วนทางด้านเกาหลี ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นขั้วตรงข้าม
ถึงแม้ว่าทางการญี่ปุ่นจะออกมาขอโทษถึงความโหดร้ายของญี่ปุ่นที่เคยกระทำต่อเกาหลี แต่ก็เป็นการยอมรับเพียงบางส่วน แต่ยังปฏิเสธอีกหลายเรื่อง ทำให้ชาวเกาหลีไม่พอใจ
นอกจากนั้น ยังมีนักการเมืองชาตินิยมญี่ปุ่นบางคน ก็เคยออกมาแสดงความเห็นทำนองว่าข้อเสียที่ญี่ปุ่นเข้ามาในเกาหลีนั้นมีน้อย แต่ที่เกาหลีได้ประโยชน์นั้นมีมากกว่า และญี่ปุ่นก็ได้ประโยชน์จากเกาหลีเพียงนิดเดียวเท่านั้น
คงพอจะเดาออกว่าเมื่อชาวเกาหลีได้ฟังความคิดเห็นทำนองนี้จะรู้สึกอย่างไรและมีปฏิกิริยาอย่างไร
ดังนั้น ถึงแม้ว่าในทุกวันนี้เกาหลีใต้เองก็ระแวดระวังการขยายอำนาจของจีน เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในแถบแปซิฟิก แต่หากจะให้ไปร่วมมือหรืออยู่ข้างญี่ปุ่น ก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่าย
และนี่ก็คือเรื่องราวการขยายอำนาจของญี่ปุ่นต่อไต้หวันและเกาหลี และทำไมทั้งสองชาติจึงมีมุมมองต่อญี่ปุ่นต่างกันโดยสิ้นเชิง
โฆษณา