Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
S
Story Decoder
•
ติดตาม
16 ก.พ. เวลา 13:17 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
[รีวิว] แฟลตเกิร์ล - ความทุกข์ของนกน้อยในกรงทองกับช่วงวัยเปลี่ยนผ่านที่เต็มไปด้วยชายแทร่
(1) ไม่มีทางปฏิเสธได้เลยว่าจากตัวอย่างของ “แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา” บอกเราอย่างโจ่งแจ้งว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะมาในแนว Girls Love หรือที่ก่อนหน้านี้นิยมเรียกกันว่าแนวยูริ (Yuri) โดยจะนำเสนอมุมมองความรักและความสัมพันธ์ของตัวละครนำ(ญ)ทั้งสอง แน่นอนว่าเรื่องราวที่ดีย่อมต้องมาพร้อมกับอุปสรรคและขวากหนาม เพื่อนำไปสู่บทพิสูจน์ความรักของพวกเธอทั้งคู่ ซึ่งหนังเรื่องล่าสุดจาก GDH เรื่องนี้ก็เข้าสูตรที่ว่ามาแบบไม่ต้องตั้งคำถามใดๆ ให้เปลืองเซลล์สมอง
แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา (2025)
(2) ซึ่งนั่นก็เป็นดาบสองคมไม่น้อย เพราะในทางกลับกันมันจะเป็นการกีดกันผู้ชมที่ไม่มักจี่กับความสัมพันธ์ระหว่างหญิงสาวให้เบือนหน้าหนีโดยไม่ทันได้ลิ้มรสใดๆ ก่อน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เมื่อค้นพบความจริงว่าความ Girls Love ของ “แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา” เป็นเพียงประตูน้อยๆ บานแรกก่อนจะพาไปสู่การเล่าเรื่องและประเด็นที่เรียกได้ว่า “น้ำดี” ตามประสาภาพยนตร์จากผู้กำกับรุ่นใหม่ของ GDH ที่สามารถไว้ใจในเรื่องของคุณภาพได้เสมอมา
แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา (2025)
(3) สำหรับผู้ที่ทะลุปราการแรกของความโรแมนติกหวานปานจะกลืนกินของทั้ง “แอน” (เอินเอิน-ฟาติมา เดชะวลีกุล) และ “เจน” (แฟร์รี่-กิรณา พิพิธยากร) มาได้ เราก็จะพบกับเรื่องราวชีวิตประจำวันของพวกเธอทั้งสองที่อาศัยอยู่ในแฟลตตำรวจแห่งหนึ่งที่ดำเนินไปอย่างเรียบง่ายและสดใสตามประสาวัยรุ่นทั่วไป พร้อมด้วยเพื่อนสาว? อีกหนึ่งคนอย่าง “ไนซ์” (อาโป-วชิรากร รักษาสุวรรณ) ที่สร้างสีสันให้กับกลุ่มมาตลอด
จนกระทั่งการเข้ามาของ “อาตอง” (บอย-ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์) ตำรวจหนุ่มที่เพิ่งย้ายจากต่างจังหวัดมาอยู่ที่แฟลตแห่งนี้ เขาเป็นตัวแปรสำคัญที่เปลี่ยนแปลง “ทุกอย่าง” ไปแบบไม่มีวันเหมือนเดิม
แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา (2025)
(4) ความดีงามในช่วงแรกของ “แฟลตเกิร์ล” ตอกย้ำถึงคุณภาพของภาพยนตร์ในลักษณะ “หนังล่ารางวัล” ที่มักจะเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่หวือหวา ทั้งการเล่าเรื่องและการถ่ายภาพ โดยการพยายามบอกเล่ามิติตัวละครและสภาพความเป็นอยู่อย่างลึกซึ้ง ซึ่งตรงนี้เราจะได้รู้ว่าแม้จะอยู่ในแฟลตเหมือนกัน แต่แอนและเจนกลับมีฐานะที่ต่างกัน โดยฝั่งแอนเป็นเด็กสาวที่ผู้เป็นพ่อ(ตำรวจ)เสียชีวิตในหน้าที่ ทำให้แม่และน้องอีก 3 คน มีความเป็นอยู่ที่ลำบาก
หนำซ้ำยังจวนเจียนจะถูกไล่ออกจากแฟลต ในขณะที่เจนนั้นมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีจากพ่อที่คาดว่าน่าจะอยู่ในราชการมานานและแม่ที่ปล่อยเงินกู้ประจำแฟลต แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญนักสำหรับความสนิทสนมของพวกเธอที่เกิดและโตด้วยกันมาที่แฟลตแห่งนี้
แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา (2025)
(5) แน่นอนว่าการเข้ามาของ “อาตอง” ย่อมสร้างแรงกระเพื่อมบางอย่างให้กับแอนและเจน แต่ด้วยความดีงามอย่างที่บอก ตัวละครนี้จึงค่อยๆ แทรกซึมเข้ามามีบทบาทในเรื่องอย่างเป็นธรรมชาติ เหมือนน้ำที่ค่อยๆ ซึมลงหิน ยอมรับว่าเราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าเขาผู้นี้จะมาดีหรือมาร้าย แต่ที่แน่ๆ นี่คือ “คุณอาผู้แสนดี” ในอุดมคติ กลายเป็นว่าฝั่งเจนต่างหากที่เริ่ม “หวั่นไหว” กับคุณอาผู้นี้และผู้ชมอย่างเราๆ ก็เริ่มจะสนุกไปกับการคาดเดาว่า ตกลงแล้วความสัมพันธ์นี้จะพบกับปลายทางแบบไหนกันแน่
แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา (2025)
(6) แต่กลายเป็นว่าเมื่อตัวภาพยนตร์ผ่าน “จุดพลิกผัน” (turning point) ช่วงประมาณกลางๆ การเล่าเรื่องที่เป็นธรรมชาติเหมือนกำลังเดินเที่ยวสวนสัตว์เปิดเขาเขียวตอนที่หมูเด้งยังไม่เกิดแบบช่วงแรกก็หายไป แทนที่ด้วยโครงสร้างการเล่าเรื่องที่ถูกจัดวางมาอย่างจงใจ ประเด็นต่างๆ ที่ทิ้งเชื้อไว้ในช่วงแรกเริ่มแสดงอาการดั่งมรสุม ตัวละครทั้งหมดต้องดำเนินไปตามพล็อตที่เขียนไว้ในแบบที่ขัดขืนไม่ได้ ทั้งๆ พวกเธอมีทางเลือกมากมาย
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและบทสรุปที่ได้ มันดูพยายามเหลือเกินให้เดินตกลงมาในร่องนี้ แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแต่มันดูแตกต่างกับช่วงแรกมากไปหน่อย พูดง่ายๆ เลยว่า ช่วงหลังของแฟลตเกิร์ลแทบจะกลายเป็นละครน้ำเน่าดีๆ นี่เอง
แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา (2025)
(7) “ศูนย์รวมความบัดซบของชายแทร่” น่าจะเป็นวลีที่ดีในการพูดถึงหนังเรื่องนี้ และเมื่อคุณพ่วงคำว่า “ตำรวจ” เข้าไปด้วยก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเป็นสิบเป็นร้อยเท่า เห็นได้ชัดว่ามีความอคติต่อเพศชายเป็นจำนวนมาก ความชั่วร้ายเกือบทั้งหมดในเรื่องถูกยัดเยียดให้อาตองในแบบที่จะไม่สามารถเชื่อใจผู้ชายในโลกได้อีกแล้ว หรือมีประโยคที่ออกจากปากของแอนว่า “พี่ไม่เอาตำรวจหรอก ตำรวจดีๆ จนๆ ทั้งนั้น” เป็นการค่อนคอดอาชีพนี้แบบทื่อๆ
ซ้ำเติมด้วยชีวิตตัวละครที่ต้องวนเวียนอยู่ที่แฟลตตั้งแต่เกิดจนสาว ขนาดจะออกกำลังกายก็ต้องมาเล่นในคอร์ดเน่าๆ กลางแฟลต ความชายแทร่และแฟลตตำรวจจึงเป็นเหมือนคุกนรกที่กักขังตัวละครหลักอย่างแอนและเจนเอาไว้ทั้งร่างกายและจิตใจ
แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา (2025)
(8) ด้วยสภาพที่เต็มไปด้วยมลภาวะของชายแทร่ ตัวละครอย่างแอนจึงต้องทุกข์ระทมตมใจอย่างหาที่สุดมิได้ และมันคงจะทำให้ผู้ชมเห็นพ้องต้องกันได้อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง หากว่า “แฟลตเกิร์ล” เป็นภาพยนตร์ที่มีเซ็ตติ้งอยู่ในช่วงเวลาประมาณยุค 90 ถึงต้นปีสองพัน เพื่อใช้ความ “อนาล็อค” ของช่วงเวลานั้นเป็นการบีบหนทางรอดให้กับตัวละครนี้อีกต่อหนึ่ง แต่กลายเป็นว่าแม้ตัวเรื่องจะไม่ระบุปี พ.ศ. ชัดเจนว่าอยู่ในปีไหน ก็เห็นได้ชัดเจนว่ามันคือช่วงเวลาในปัจจุบันบวกลบนิดหน่อย
จุดนี้ส่งผลเสียอย่างมากต่อการเอาใจช่วยตัวละครและทำให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือในการส่งสารน้อยลงไปมากพอดู
แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา (2025)
(9) เพราะเมื่อพิจารณาดีๆ แล้ว จะพบว่าแอนมีหน้าตาในระดับที่เรียกได้ว่าสวยได้เต็มปาก เมื่อคุณสวย(หล่อ)โลกนี้จะใจดีกับคุณ(ตามคำบอกเล่าในโซเชียล) ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริงๆ หากคุณไม่ทำตัว หัว…จนเกินไป ความสวย(หล่อ)สามารถใช้หากินในโลก “ปัจจุบัน” ได้อย่างไม่ยากเย็น อาจจะเป็นเรื่องแคสติ้งที่มองข้ามเรื่องนี้ไป เปรียบกับการนำ “ซันนี่-สุวรรณ เมธานนท์” หรือ “ณเดชน์ คูกิมิยะ” มารับบทเป็นตัวละครนำที่ประสบปัญหาเรื่องความรัก จีบสาวไม่ติดและถูกหักอกบ่อยครั้งจนต้องสาปแช่งโชคชะตาที่กลั่นแกล้งเขา
ซึ่งมันก็คงไม่สามารถทำให้ผู้ชมเชื่อได้เหมือนกัน
แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา (2025)
(10) หรือต่อให้ไม่วัดที่หน้าตา โลกปัจจุบันก็เต็มไปด้วยโอกาสและทางเลือก วิชาความรู้ต่างๆ อยู่ในสมาร์ทโฟนที่แอนเล่นอยู่ตลอดทั้งเรื่องนั่นแหละ หนำซ้ำตัวหนังยังพยายามบอกเล่าอยู่ตลอดถึงความสามารถด้านภาษาของตัวละครนี้ รวมถึงคำพูดคำจา ลักษณะท่าทีที่น่าจะเป็นคนที่มีความสามารถและสติปัญญาดี ไม่น่าจะมานั่งช่วยแม่นั่งรีดผ้าไปวันๆ แบบนี้ กระทั่งต้องใช้ความเป็น “หญิงแทร่” ในการหาเงิน แล้วก็มานั่งพร่ำบ่นน้อยใจโชคชะตาและทุกข์ใจใน "คุกเด็ก" ที่อยู่ในร่างของแฟลตแห่งนี้
ทำให้อยากจะยกประโยคในโซเชียลมาว่า “ก่อนจะโทษตัวเอง โทษคนอื่นก่อนรึยัง” เอ้ย “ก่อนจะโทษคนอื่น โทษตัวเองก่อนรึยัง” น่าจะเห็นภาพที่สุด ซึ่งจุดนี้ก็พลอยทำให้ประเด็นเรื่องความต่างของฐานะดูเป็นเรื่องเหลวไหลไปอีกต่างหาก
แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา (2025)
(11) ตอกย้ำด้านความเชยของการสร้างตัวละครที่ “ทะเยอทยาน” ด้วยการมอบความฝันว่าอยากเป็น “แอร์” เพื่อจะได้เที่ยวรอบโลก แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดหากใครสักคนฝันอยากจะทำหน้าที่เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แต่ด้วยเงื่อนไขต่างๆ ในเรื่อง การฝันอยากเป็นแอร์ของแอนมันแปรผันตรงกับสภาพแวดล้อมที่ถูกเซตไว้ของเรื่องแบบทื่อๆ(อีกแล้ว) เหมือนนกโดนขังในกรงก็อยากจะโผบิน เหมือนในวัยเด็กพ่อแม่ป่วยตายก็อยากโตมาเป็นหมอทำนองนั้น มันจึงขัดแย้งกับความพยายามจะเป็นธรรมชาติในแบบหนังรางวัลต้องการจะเป็น
แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา (2025)
(12) จากข้อมูลบอกว่าแทบทั้งหมดเป็นเรื่องราวและความรู้สึกที่กลั่นกรองมาจากชีวิตของผู้กำกับหญิงอย่าง แคลร์-จิรัศยา วงษ์สุทิน และเปิดเผยอย่างชัดเจนว่าแฟลตที่ใช้ถ่ายทำก็เป็นแฟลตที่เธอเคยอยู่มาก่อนด้วยซ้ำไป แน่นอนว่าทั้งหมดในเรื่องอาจจะเป็นสิ่งที่เธอได้รับหรือได้เจอมา (อาจจะร้ายแรงกว่านี้ด้วยซ้ำ) แต่ในเมื่อภาพยนตร์ถูกจัดให้เป็น “สื่อมวลชน” แขนงหนึ่ง คุณจึงจำเป็นที่จะต้องเล่าให้ “ครอบคลุม” กว่าการมุ่งใส่อคติบางอย่างจนเกิดความขาวและดำชัดเจนขนาดนี้
(ในขณะที่มีบางคนบอกว่าตัวละครทั้งหมดอยู่ในเฉดสีเทาก็ตาม) น่าคิดด้วยซ้ำว่าหากเปลี่ยนการเล่าเรื่องที่เอา GL นำ เป็นชูประเด็นเรื่องสวัสดิการการดูแลครอบครัวตำรวจที่เสียชีวิตในหน้าที่ก็อาจจะทำให้ตัวเรื่องทรงพลังมากกว่านี้ก็ได้
แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา (2025)
(13) อย่างไรก็ตาม “แฟลตเกิร์ล” ก็ยังคงเป็นภาพยนตร์คุณภาพในระดับที่น่าพอใจของ GDH อยู่เช่นเคย การถ่ายภาพของผู้กำกับภาพหญิง “บุณยนุช ไกรทอง” ที่สามารถถ่ายทอดพื้นที่แสนจำกัดและเต็มไปด้วยสิ่งของรายละเอียดได้อย่างงดงามและมีชีวิตชีวา คล้ายกับที่เคยทำใน หลานม่า(2024) และเรดไลฟ์(2023) ซึ่งก็ส่งผลให้ภาพยนตร์ที่ว่ามารวมทั้งแฟลตเกิร์ลมีความลุ่มลึกทางศิลปะ
ส่งเสริมการเล่าเรื่องให้มีพลังและไม่แห้งแล้ง และก็ต้องยกความดีความชอบให้กับงานสร้างด้วย ถึงความละเมียดละไม เก็บรายละเอียดได้ดี จนถ่ายทอดภาพในความคิดของผู้กำกับออกมาเป็นภาพได้อย่างสมบูรณ์
แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา (2025)
(14) และที่ต้องชมในเลยหนีไม่พ้นคุณภาพทางการแสดงของนักแสดงนำทั้งสาม ความสดใหม่ทางการแสดงของทั้งเอินเอิน-ฟาติมา ในบทแอน และแฟร์รี่-กิรณา ในบทเจน ทำให้เราเชื่อได้สนิทใจเลยว่าทั้งคู่เป็นเด็กที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อของชีวิต และต้องรับมือกับปัญหาที่ถาโถมเข้ามาตามวุฒิภาวะเท่าที่พวกเธอทำได้ ในขณะที่ บอย-ปกรณ์ ใช้ลูกเก๋าประคับประคองตัวละครที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งแต่ไม่ฉูดฉาด ค่อยๆ ปลดปล่อยอะไรบางอย่างออกมาอย่างมีเลศนัย กลายเป็นตัวละครที่เราเดาทางเขาไม่ถูกเลยจริงๆ
แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา (2025)
(15) เนื้อแท้ของ “แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา” ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากภาพยนตร์แนว Coming of Age ทั้งหลายที่ว่าด้วยการก้าวผ่านช่วงวัยของมนุษย์ตัวเล็กๆ มันจึงเต็มไปด้วยหลากประเด็นที่แวดล้อมตัวละครอยู่ ทั้งเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ฐานะชนชั้น การค้นหาตัวเอง ความรัก ความฝัน รวมถึงอุปสรรคที่มักจะมาในรูปแบบที่คาดคิดและไม่คาดคิดโดยนำเสนอผ่านตัวละครนำทั้งสาม ซึ่งมันก็เต็มไปด้วยรายละเอียดในแต่ละประเด็นที่หนังเลือกจะเล่าลึกบ้างตื้นบ้างตามแต่การตัดสินใจของผู้กำกับนั่นแล
ส่วนฝั่งผู้ชมจะเก็บเกี่ยวตรงไหนมาคิดต่อ จะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรก็เป็นสิทธิ์ของผู้ชมเช่นกัน
แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา (2025)
Story Decoder
บันเทิง
ศิลปะ
ภาพยนตร์
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย