Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Health Story - เฮ้วนี้มีเรื่อง
•
ติดตาม
17 ก.พ. เวลา 07:05 • ครอบครัว & เด็ก
LGBTQ+ ทำ "อุ้มบุญ" ได้บางเคส หลังใช้ "สมรสเท่าเทียม" ไม่ต้องรอ พ.ร.บ.อุ้มบุญฉบับใหม่
แต่ยังต้องแก้ให้ตอบโจทย์ ชง ครม.ใน 180 วัน
รศ.ดร.อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงการบังคับใช้ พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ว่า ตามมาตรา 67 วรรค 1 ของพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอัตโนมัติของกฎหมายฉบับอื่นๆ คือ
ตรงไหนที่กล่าวถึงสามีภรรยา คู่สมรส ให้หมายถึงคู่สมรสตาม พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมด้วย ถือเป็นจุดใหญ่ที่เปลี่ยนปลงเชิงโครงสร้างภาพรวมทั้งหมด ทำให้การจดทะเบียนสมรสของคู่รักหลากหลายทางเพศได้สิทธิหน้าที่ต่างๆ เหมือนกับคู่สมรสสามีภรรยาเดิม เกิดความเท่าเทียมของสิทธิเสรีภาพในทางครอบครัว
"ตรงนี้เป็นการปรับเปลี่ยนโดยอัตโนมัติของตัวกฎหมาย ไม่ต้องไปแก้กฎหมายไหนเลย ข้อสังเกตคือบางหน่วยงานพยายามแสดงให้เห็นความตั้งใจว่า หน่วยงานมีความชัดเจน เช่น กรมสรรพากร มีการออกประกาศมาว่า คำว่าสามีภรรยาที่ปรากฏขึ้นในกฎหมายของกรมสรรพากร ให้หมายถึงคู่รักชาย-ชาย หญิง-หญิงด้วย เป็นการแสดงท่าที แต่ถ้าไม่มีการประกาศออกมา ก็ต้องเข้าใจว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยอัตโนมัติ" รศ.ดร.อานนท์กล่าว
รศ.ดร.อานนท์ มาเม้า
รศ.ดร.อานนท์กล่าวว่า อย่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ หรือ พ.ร.บ.อุ้มบุญ เดิมใช้ว่าคู่สามีภรรยา จริงๆ พอ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมบังคับใช้ ก็ถือว่าปรับเปลี่ยนโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่ยังมีจุดอื่นต้องไปจัดการ เช่น ความคิดเรื่องอุ้มบุญของกฎหมายไทย คือ ต้องมีแม่อุ้มบุญคนที่สาม
แต่คู่รัก LGBTQ+ อย่างหญิง-หญิง จริงๆ ฝ่ายหนึ่งสามารถตั้งครรภ์ได้โดยไม่ต้องมีคนที่สาม เพียงแค่รับสเปิร์มจากชายอื่นเข้ามา อย่างนี้ก็ต้องแก้ไข ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้เป็นความชัดเจนที่ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องไปคิดต่อ
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อยกเว้นจากมาตรา 67 วรรค 2 ที่ไม่ให้ใช้บังคับกฎหมายที่สิทธิ หน้าที่และสถานะทางกฎหมายหรืออื่นใดที่เกี่ยวข้องของสามีภรรยาที่แตกต่างกันอยู่แล้ว หรือสิ่งที่ไม่เท่าเทียมอยู่แล้ว มี 2 เรื่องใหญ่เป็นตัวอย่าง คือ
- กฎหมายสัญชาติ เพราะชายต่างด้าวที่จดทะเบียนสมรสกับหญิงไทยมีสิทธิแปลงสัญชาติ มีสิทธิเหนือกว่าหญิงต่างด้าวที่จะจดทะเบียนสมรสกับชายไทยเพื่อแปลงสัญชาติ เพราะชายต่างด้าวไม่ต้องรู้ภาษาไทย แต่หญิงต่างด้าวต้องรู้ภาษาไทย ดังนั้น ก็จะเกิดสภาวะ Blank ขึ้นมา กรณีคู่รัก LGBTQ+ ต่างชาติที่จะมาจดทะเบียนสมรสก็จะเกิดช่องว่างตรงนี้ เพราะกฎหมายเดิมระบุชายหญิง
- เรื่องภาษีของผู้เยาว์ ตามประมวลรัษฎากรกล่าวถึงเรื่องเงินปันผลของเด็กว่ามีรายได้ได้ ถ้าถึงเกณฑ์ก็ต้องเสียภาษีโดยคนเป็นพ่อจะมีหน้าที่เสียภาษี เพราะถือว่าเป็นเงินได้ของบิดา แต่ไม่เกี่ยวกับแม่ จะเห็นว่าระหว่างหญิงชายไม่เท่ากัน ก็จะเป็นช่องโหว่ของคู่รัก LGBTQ+ ด้วย
เมื่อถามว่าขณะนี้คู่รักหลากหลายทางเพศที่จดทะเบียนสมรสแล้ว สามารถทำอุ้มบุญด้วยการใช้ พ.ร.บ.อุ้มบุญฉบับเก่าได้โดยไม่ต้องรอ พ.ร.บ.อุ้มบุญฉบับใหม่ที่จะมีการแก้ไขนิยามใช่หรือไม่ รศ.ดร.อานนท์กล่าวว่า ความเห็นของตนคือ เมื่อ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้แล้ว ตัว พ.ร.บ.อุ้มบุญยังสามารถใช้ได้ แต่อาจมีการปรับปรุงเพื่อให้ครอบคลุมกับสภาพของคู่รัก LGBTQ+ ด้วย เช่น
กรณีคู่สมรสชาย-ชาย เป็นคู่สมรสตามกฎหมาย สิทธิในการมีบุตรโดยการใช้วิธีการอุ้มบุญตามกฎหมายมีอยู่เดิมเป็นไปได้ คือให้มีแม่อุ้มบุญเป็นบุคคลที่สามเข้ามา แบบนี้คิดว่าเป็นไปได้
รศ.ดร.อานนท์ มาเม้า
รศ.ดร.อานนท์กล่าวว่า ในแง่การตีความเข้าใจว่า สธ.เองอยากไปดูเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ คิดว่าอาจจะต้อง 2 พอยต์คือ สภาพการณ์ที่เป็นอยู่สามารถใช้บังคับได้อยู่แล้วบางส่วนหรือบางสถานการณ์ หรือจะไปดูกันใหม่ก็เป็นอีกประเด็น แต่ตัวกรอบกฎหมายสมรสเท่าเทียมบอกว่า ภายใน 180 วัน ต้องมีการทบทวนและเสนอไปที่ ครม.
ความชัดเจนอาจจะต้องเร่งทำให้เห็นภาพภายในเร็ววัน ให้เคลียร์คัทว่าความเป็นไปได้ในการอุ้มบุญของคู่สมรสเท่าเทียมหรือเพศเดียวกันจะเป็นอย่างไร ซึ่งสถานการณ์ข้างหน้าอาจจะมีการใช้เทคโนโลยีเจริญพันธุ์โดยไม่ต้องมีแม่อุ้มบุญเป็นบุคคลที่ 3 ก็ได้ เพราะในทางวิทยาศาสตร์สามารถทำได้ การใช้สเปิร์มมาผสมเซลล์ไข่ของหญิงที่เป็นคู่สมรสหญิง-หญิง และหนึ่งในนั้นอุ้มบุญเองก็เป็นไปได้อยู่แล้ว ซึ่งกฎหมายอุ้มบุญเดิมไม่ได้เปิดช่องตรงนี้ที่ให้คู่สมรสเอาสเปิร์มคนอื่นมาอุ้มใส่ท้องตนเอง คิดว่า สธ.ก็ต้องไปทบทวน
"ต้องคิดในภาพรวมว่า กฎหมายในปัจจุบันจะต้องมีแม่อุ้มบุญเป็นบุคคลที่สาม อาจไม่สามารถตอบโจทย์คู่รักเพศเดียวกันได้ เรื่องนี้ต้องเร่งทำให้เสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคมความชัดเจนเรื่องนี้ต้องมีแล้ว" รศ.ดร.อานนท์กล่าว
lgbtq
ข่าว
ครอบครัวและเด็ก
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย