17 ก.พ. เวลา 16:12 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สภาพัฒน์ ผ่านโยบาย ทรัมป์ 2.0 เสี่ยงทุบเศรษฐกิจไทยหนัก 4 ทิศ

สภาพัฒน์ ประเมินผลกระทบนโยบาย ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ 2.0 สงครามการค้า สหรัฐ-จีน เสี่ยงกระทบเศรษฐกิจไทยหนัก โดยถูกส่งผ่านมายังเศรษฐกิจไทยใน 4 ช่องทางสำคัญ เช็คข้อมูลเชิงลึกได้ที่นี่
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานสถานการณ์ข้อมูลเศรษฐกิจในปี 2568 โดยเฉพาะผลกระทบเกี่ยวกับความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ โดยประเมินว่า
ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ากับประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ประกาศขึ้นอัตราภาษีนำเข้าเหล็ก อลูมิเนียม 25% รวมทั้งออกภาษีศุลกากรแบบตอบโต้กับทุกประเทศ จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
พร้อมทั้งกำหนดมาตรการเจรจาการค้าอย่างเร่งด่วน เพราะปัจจุบันประเทศไทยก็ถือเป็นหนึ่งในประเทศเสี่ยง เพราะในปี 2567 ที่ผ่านมาดุลการค้าของไทย เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ กว่า 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 11 เมื่อเทียบกับคู่ค้าสำคัญ
ทั้งนี้ สศช. ประเมินว่า การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร ที่ 14195 เรื่อง “การกำหนดอากรเพิ่มเติมสำหรับสินค้านำเข้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน (Imposing Duties to Address the Synthetic Opioid Supply Chain in the People's Republic of China)" ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568
โดยมีเนื้อหาสำคัญว่า “สหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกชนิด ที่เป็นผลิตภัณฑ์ของจีนเพิ่มเติมร้อยละ 10 ของมูลค่าสินค้า (ad valorem duty) โดยมีผลตั้งแต่ เวลา 12:01 น. ของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568”
ทั้งนี้หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศการเก็บภาษีจากจีนเพิ่มเติมดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 จีนก็ได้ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ หลายประเภท เพื่อตอบโต้มาตรการของสหรัฐฯ ในหลายรายการ ได้แก่ กลุ่มถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้น 15% และน้ำมันดิบ เครื่องจักรทาง การเกษตร และสินค้ารถยนต์บางประเภทเพิ่มขึ้น 10% โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 นี้เป็นต้นไป
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทิศทางการดำเนินมาตรการในระยะต่อไปยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่สูง จึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินผลกระทบและเตรียมการในการรับมือผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ จากการประเมินช่องทางการส่งผ่านของผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในเบื้องต้น คาดว่า ผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะถูกส่งผ่านมายังเศรษฐกิจไทยใน 4 ช่องทางสำคัญ ได้แก่
  • 1.
    ผลกระทบผ่านการส่งออกสินค้าของไทยผ่านห่วงโซ่การผลิต
  • 2.
    ผลกระทบผ่านการระบายสินค้าส่งออกของจีนมายังไทย
  • 3.
    ผลกระทบจากการที่ไทยอาจจะเสียส่วนแบ่งตลาดจากตลาด ASEAN
  • 4.
    ผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าโดยตรงจากไทย
โดยมีรายละเอียดแต่ละช่องทาง ดังนี้
ผลกระทบผ่านการส่งออกของไทยผ่านห่วงโซ่การผลิต
เมื่อสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้า กับจีน จะส่งผลให้จีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดลง ซึ่งจะทำให้ความต้องการสินค้าของไทย โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นสินค้าขั้นกลางในห่วงโซ่การผลิตของจีนมีโอกาสที่จะลดลงด้วย โดยสินค้าสำคัญที่ไทยเป็นหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตของจีน ได้แก่ รถยนต์นั่งและ คอมพิวเตอร์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 พบว่า ภายหลังจากที่จีนส่งออกยานยนต์ไป สหรัฐฯ ลดลง 8.7% พบว่า ไทยส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปยังจีนลดลง 19.5%
โดยที่ชิ้นส่วนยานยนต์สำคัญ ๆ ที่ไทยส่งออกไปจีนลดลง เช่น ยางรถยนต์ (ลดลง 12.8%) Airbag (ลดลง 14.4%) แผงหน้าปัด (ลดลง 30%) ตัวถัง (ลดลง 14.5%) เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบว่า จีนส่งออกคอมพิวเตอร์ไปสหรัฐฯ ลดลง 22.2% ส่วนไทยก็ส่งออกสินค้าที่เป็นส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ไปจีนลดลง 9.1% เช่นกัน โดยส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ที่ไทยส่งออกไปจีนลดลง เช่น Hard Disk Drive (ลดลง 14.4%) เครื่องแปลงไฟฟ้า (ลดลง 34%) และพัดลม สำหรับคอมพิวเตอร์ (ลดลง 2.3%) เป็นต้น
ผลกระทบจากการที่จีนระบายสินค้าส่งออกมายังไทย
เมื่อจีนส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลง ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ส่งผลให้มีแนวโน้ม ที่จีนจะระบายสินค้าที่ผลิตไว้ไปยังประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทย โดยอาศัยความได้เปรียบของการแข่งขันด้านราคาที่ต่ำ สะท้อนจากราคานำเข้าของไทยที่ลดลง
ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าสูงขึ้น สินค้าที่คาดว่าจีนจะมีการระบายออกมายังไทย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
  • 1.
    กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้าย เช่น ลำโพง โทรทัศน์ พัดลม กระเป๋า เป็นต้น
  • 2.
    สินค้าส่วนประกอบขั้นกลาง เช่น ชิ้นส่วนพลาสติก ชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ พวงมาลัยรถยนต์ ส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ เป็นต้น
  • 3.
    วัตถุดิบ เช่น เหล็กม้วนกลม เหล็กโครงสร้าง อะลูมิเนียม ท่อเหล็ก เป็นต้น
ผลกระทบจากการที่ไทยอาจจะเสียส่วนแบ่งตลาดจากตลาด ASEAN
เมื่อจีน ส่งออกไปยังสหรัฐฯ น้อยลง จึงมีแนวโน้มที่จีนจะส่งออกสินค้าไปยังตลาด ASEAN ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกหลักของไทย โดยสินค้าที่คาดว่าจะเข้าข่ายที่ไทยอาจจะต้อง เสียส่วนแบ่งตลาด ASEAN ให้จีน เช่น รถยนต์นั่งและชิ้นส่วน รถกระบะและชิ้นส่วน แผงวงจรรวม เป็นต้น
ผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าโดยตรงจากไทย
เนื่องจากในระยะถัดไป มีแนวโน้มที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ในอัตราที่ประเทศต่าง ๆ เรียกเก็บต่อสหรัฐ (reciprocal tariffs) ซึ่งหากดำเนินการเช่นนั้นจริง คาดว่าสินค้าไทยน่าจะมีแนวโน้มถูกเก็บภาษีเพิ่มหลายรายการ ที่สำคัญ อาทิ
  • กลุ่มอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • กลุ่มเครื่องจักรเครื่องมือ
  • สินค้าในกลุ่มยานยนต์
  • กลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์พลาสติก
  • กลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์จากเหล็ก
โดยสัดส่วนมูลค่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ของสินค้าทั้ง 5 กลุ่มนี้ รวมอยู่ที่ 65.5% ของมูลค่าการส่งออก ไทยไปสหรัฐฯ ทั้งหมด
สรุป สศช.ประเมินว่า ภายใต้ทิศทางการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าสำคัญ ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่สูงและอาจ ยกระดับความรุนแรงมากขึ้นจากในปัจจุบันที่เริ่มมีการดำเนินการบังคับใช้มาตรการบางส่วนแล้วผ่านการขึ้นภาษีนำเข้า จึงจำเป็นต้องติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบและเตรียมการในการรับมือผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยได้อย่างทันท่วงที
โฆษณา