Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Health Story - เฮ้วนี้มีเรื่อง
•
ติดตาม
17 ก.พ. เวลา 09:07 • ครอบครัว & เด็ก
เด็กไทยเครียดพุ่ง 51% มาจากการเรียน ถูกบูลลี่รูปร่างหน้าตาอีกเกือบ 10%
บุหรี่ไฟฟ้า-น้ำเมาคุกคามสึขภาพกาย-ใจ
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2568 ที่ศูนย์ประชุมวายุภักดิ์ โรงแรมเซนทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการฯ กทม. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ จัดเวทีนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะ เปิดพื้นที่ถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการทำงานสร้างสุขภาวะในเด็กและเยาวชน ระหว่างเครือข่ายโรงเรียน 23 แห่งทั่วประเทศ
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่สำคัญในกลุ่มเด็กและเยาวชนไทย ยังคงเป็นเรื่องบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และภัยออนไลน์ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพใจ
ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบเยาวชนอายุ 15-24 ปี
- สูบบุหรี่ 12.7%
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 20.9% หรือ 1.9 ล้านคน
- ดื่มแล้วขับ 33.06% ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนน โดย 25.09% ทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารบาดเจ็บและเสียชีวิต
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี
ขณะที่ปัญหาสุขภาพจิตและผลกระทบจากการใช้สื่อออนไลน์ของเด็กและเยาวชนยังคงน่ากังวล สอดคล้องกับรายงานผลสำรวจสุขภาพจิตเด็กไทย 3,516 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 16-30 ก.ย. 2567 โดยร็อกเกต มีเดีย แล็บ และมูลนิธิแพธทูเฮลท์ พบ
เด็กและเยาวชนเผชิญความเครียด สาเหตุจากการเรียน 51.45% ถูกเปรียบเทียบรูปร่างหน้าตา 9.93% แบกความกดดันจากครอบครัว 9.78% กังวลเรื่องการเงิน 9.76%
สสส. จึงร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ตั้งแต่ปี 2563 พัฒนาโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะแนวใหม่ ใช้หลักการพัฒนาทั้งระบบ (Whole School Approach) ซึ่งพิสูจน์ผลทั่วโลกว่าได้ผลดีและองค์การอนามัยโลกก็ให้การรับรอง มุ่งเน้นให้โรงเรียนมีกลไกการทำงานลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพของนักเรียนอย่างเป็นระบบ เช่น
สร้างความตระหนักรู้ภัยบุหรี่และสารเสพติด รณรงค์ลดการบริโภคแอลกอฮอล์ สร้างทักษะการจัดการอารมณ์ ทักษะใช้สื่อเทคโนโลยี และเสริมองค์ความรู้ด้านภาวะโภชนาการ มีกระบวนการขับเคลื่อนจากภายในโรงเรียน ทั้งด้านระบบบริหารการจัดการเรียนรู้ ระบบช่วยเหลือนักเรียน การพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของนักเรียน บูรณาการทำงานร่วมกับครอบครัวและชุมชนในพื้นที่
ขณะนี้มีโรงเรียนต้นแบบสุขภาวะดี 23 แห่งทั่วประเทศ นักเรียนได้รับประโยชน์มากกว่า 48,500 คน เกิดความตระหนักรู้ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ 80% สุขภาพจิตดีและมีความสุขในการเรียน 72.2% มีเครื่องมือ และนวัตกรรมกระบวนขับเคลื่อนงานสุขภาวะอย่างเป็นระบบ พร้อมขยายผลบทเรียนสู่โรงเรียนอื่นๆ เพื่อร่วมมือกันในการดูแลเด็กและเยาวชนให้มีสุขภาวะดี
น.ส.ภาวนา เหวียนระวี ผู้อำนวยการมูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะฯ ขับเคลื่อนผ่านแนวทางการดำเนินงานสำคัญ 5 ด้าน คือ
1.พัฒนากลไกการทำงานของโรงเรียนให้เข้มแข็ง เน้นการพัฒนาศักยภาพครูให้มีองค์ความรู้ด้านสุขภาวะ พร้อมหนุนเสริมให้ผู้บริหารมีกำหนดนโยบายด้านสุขภาวะที่ชัดเจน นำไปสู่การลงมือปฏิบัติ
2.สร้างกลไกสนับสนุนด้านวิชาการ ร่วมสรรหาผู้เชี่ยวชาญออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ เน้นทักษะขั้นพื้นฐานในการสร้างเสริมสุขภาวะของนักเรียน
น.ส.ภาวนา เหวียนระวี
3.สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ผ่านการสื่อสารสร้างความเข้าใจแนวทางการสร้างเสริมสุขภาวะในโรงเรียน
4.ถอดบทเรียนการทำงาน เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ของกรมอนามัย และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
5.ขยายผลการสร้างเสริมสุขภาวะ ตามแนวทางการพัฒนาทั้งระบบ สู่โรงเรียนอื่นๆ ในพื้นที่ เพื่อร่วมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีของเด็กและเยาวชนทุกคน
ดร.ตฤณ ก้านดอกไม้ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า การส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะการใช้ชีวิต มี ทักษะการจัดการอารมณ์สังคม (social emotional learning) จะช่วยให้นักเรียนรอดพ้นจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย
ดร.ตฤณ ก้านดอกไม้
ขณะที่หน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบในการดูแลเด็กและเยาวชนก็ต้องร่วมมือกันลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของนักเรียน ควบคู่ไปกับการสร้างเสริมทักษะวิชาการ โรงเรียนต้องดำเนินงานสุขภาวะนักเรียนให้ครอบคลุมทั้งด้านกาย ใจ ปัญญา และสังคม เพื่อให้นักเรียนปลอดภัยและเรียนหนังสืออย่างมีความสุข
นางวัชรินทร์ สิงหะ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดจันทร์ตะวันออก จ.พิษณุโลก กล่าวว่า โรงเรียนขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะแบบทั้งระบบในประเด็นโภชนาการ ออกแบบการทำงานทั้งระบบ โดยนำประเด็นเรื่องการบริโภคไปบูรณาการเข้ากับรายวิชาทั้ง 8 กลุ่มสาระ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องการบริโภคอาหารอย่างรอบด้าน มีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องโภชนาการนอกห้องเรียน เช่น
การจัดงานขายอาหารปลอดภัย และทำงานร่วมกับผู้ปกครอง โดยครูประจำชั้นจะจัดส่งชุดความรู้เรื่องการกินที่ถูกต้องไปให้ที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ ในกลุ่มเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐาน มีระบบติดตามโดยครูประจำชั้นคอยกระตุ้นให้เข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มการเคลื่อนไหวทางกาย
นางวัชรินทร์ สิงหะ
บูรณาการความร่วมมือกับสถานพยาบาลในพื้นที่ จัดให้มีนักโภชนาการคอยให้คำแนะนำเรื่องการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้นักเรียนมีความรู้ด้านโภชนาการและมีพฤติกรรมการเลือกกินอาหารที่ถูกต้อง
สำหรับผู้สนใจโมเดลสร้างเสริมสุขภาวะในโรงเรียนแบบพัฒนาทั้งระบบ สามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์
www.childimpact.co
ข่าว
ครอบครัวและเด็ก
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย