18 ก.พ. เวลา 05:35 • ข่าวรอบโลก

โลกบีบจีนไร้ทางเลือก ? สี จิ้นผิง เรียกพบแจ็ค หม่า และผู้บริหารบิ๊กเทค ระดมกำลังฟื้นเศรษฐกิจ

หลังมีรายงานว่าทางการจีนส่งคำเชิญถึงผู้ประกอบการภาคเอกชนเบอร์ต้นของประเทศเพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับสูงที่จะมี ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เป็นเจ้าภาพในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ทั่วโลกจับตาการประชุมนัดพิเศษในครั้งนี้ว่า จีนกำลังผ่อนปรนมาตรการเข้มงวดที่ใช้ปราบปรามบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในประเทศในช่วงปลายปี 2020 เป็นต้นมา
การปรากฏตัวของ สี จิ้นผิง ที่นั่งหารือร่วมกับบรรดาผู้ประกอบการในครั้งนี้กลายเป็นการประชุมนัดพิเศษที่มีความสำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ยังคงพยายามฟื้นตัวหลังการระบาดใหญ่ในช่วงปลายปี 2022 จากผลกระทบรุนแรงต่อภาคอสังหาริมทรัพย์และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดต่ำลงจนถึงปัจจุบัน กอปรกับความกังวลต่อภาคเทคโนโลยีจีนที่อาจถูกจำกัดความก้าวหน้าของการพัฒนานวัตกรรม
งานประชุมดังกล่าว สี จิ้นผิง ต้อนรับผู้บริหารระดับแนวหน้าซึ่งเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมต่างๆ นำโดย แจ็ค หม่า มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งอาณาจักร Alibaba Group ผู้ที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากการปราบปราม
หลังจากการแสดงความคิดเห็นต่อหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินและธนาคารของจีนที่สร้างความไม่พอใจให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในปักกิ่ง ทำให้ต้องยุติการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรกของ Ant Group ต่อเนื่องถึงการก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำและหายตัวไปจากสายตาของสาธารณชนในขณะนั้น
การวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงของเขาทำให้เกิดการปราบปรามองค์กรธุรกิจในจีนเป็นวงกว้าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อโชคชะตาของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่รายอื่นๆ เช่น Tencent, Didi บริการเรียกรถโดยสาร และ Meituan บริการส่งอาหาร อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงท่าทีที่อ่อนโยนของรัฐบาลจีนต่อบริษัทภาคเอกชนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะภาคเทคโนโลยี
CNN รายงานว่า การปราบปรามภาคเอกชนของจีนทำให้มูลค่าตลาดของบริษัทจีนที่มีอำนาจหลายแห่งสูญไปมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของนวัตกรรม โดยนักวิเคราะห์กล่าวว่า “รัฐบาลจีนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องสนับสนุนและผลักดันความได้เปรียบของจีนหากต้องการแข่งขันกับสหรัฐอเมริกา” การพบปะกองทัพผู้นำบิ๊กเทคในครั้งนี้ เน้นย้ำถึงความสำคัญของภาคเทคโนโลยี หนึ่งในสนามแข่งขันกับสหรัฐฯ ที่สำคัญ
งานนี้ยังมีผู้บริหารอีกหลายรายที่เข้าร่วม ตั้งแต่การผลิตชิปและรถยนต์ไฟฟ้าไปจนถึง AI ที่ช่วยให้จีนลดการพึ่งพาเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ได้มากขึ้น อาทิ เล่ย จวิน ประธานบริษัท Xiaomi, เรน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งบริษัท Huawei Technologies, หวัง ชวนฟู ผู้ก่อตั้ง BYD, โพนี่ หม่า ผู้ก่อตั้ง Tencent Holdings ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มแนวคิด "ซูเปอร์แอป" ของ WeChat, เจิ้ง ยูชุน
รวมถึง เหลียงเหวินเฟิง ผู้ก่อตั้ง DeepSeek โมเดล AI จีนน้องใหม่ที่ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะประสิทธิภาพที่เทียบเคียงได้กับยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมจากสหรัฐฯ ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าอย่างมาก ความสำเร็จดังกล่าวทำให้ภาคเทคโนโลยีของจีนมีความหวัง
งานประชุมดังกล่าวนับเป็นการส่งสัญญาณที่แข็งแกร่งให้กับภายนอกได้เห็นว่าจีนกำลังเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ ด้วยการกระตุ้นภาคเอกชนที่มีส่วนสนับสนุนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของจีนมากกว่า 60% และการจ้างงานมากกว่า 80%
รวมถึงการผลักดันด้านเทคโนโลยีที่ยืดอกน้อมรับความสำเร็จของผู้พัฒนา ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่กำลังเร่งดำเนินการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทิศทางการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลจีนต่อภาคเอกชนจะยังไม่มีความชัดเจนในตอนนี้ แต่เราอาจได้เห็นมาตรการกดดัน รวมถึงมาตรการเชิงรุกที่สนับสนุนภาคเอกชนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการเมืองที่อาจส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีนอย่างมีนัยสำคัญหลังจากนี้อย่างแน่นอน
อ้างอิงข้อมูล CNN , Bloomberg , Bloomberg 2
โฆษณา