18 ก.พ. เวลา 05:25 • การศึกษา

ข้อเสนอในการจัดการศึกษา

ได้อ่านหนังสือ political cartoonomics ของ ศ.ดร.สหรัฐ ผ่องศรี ที่เขียนร่วมกับ ดร.เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ ในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งมีความเห็นเหมือนกันในสองเรื่องคือ 1. การศึกษาต้องจัดโดยเอกชน เต็ม 100% และ 2.ควรแบ่งเด็กออกเป็น 4 กลุ่มคือ เด็กที่อยากเรียนและผู้ปกครองพร้อมและอยากให้เรียน เด็กที่อยากเรียนแต่ผู้ปกครองไม่พร้อมหรือไม่อยากให้เรียน เด็กที่ไม่อยากเรียนแต่ผู้ปกครองพร้อมและอยากให้เรียน เด็กไม่อยากเรียนและผู้ปกครองไม่พร้อมหรือไม่อยากให้เรียน
แต่ที่เห็นไม่เหมือนกันคือ ในกรณีแรก อาจารย์เห็นว่าปล่อยให้เอกชนจัดการเองไปเต็มที่เลยโดยรัฐไม่ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยว และกรณีที่สอง อาจารย์เห็นว่า สำหรับเด็กกลุ่มที่ 2-4 ควรปล่อยให้เด็กทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปก่อน เมื่อเด็กอยากเรียนหรือผู้ปกครองพร้อมก็ค่อยเข้ามาเรียน
ในกรณีที่สอง ผมไม่เห็นด้วยกับอาจารย์ทั้งสองเพราะผมเข้าใจว่า ความเห็นของอาจารย์น่าจะตั้งอยู่บนข้อสมมุติซึ่งเป็นพื้นฐานของแนวคิดตลาดเสรีที่การแข่งขันจะนำไปสู่ประสิทธิภาพที่ดีกว่า โดยข้อสมมุติดังกล่าวคือ การตัดสินใจของผู้ซื้อผู้ขายในตลาดเป็นการตัดสินใจที่เป็นเหตุเป็นผล (rational) ตามเหตุผลที่แตกต่างกันของแต่ละคน ดังนั้นจึงควรเคารพการตัดสินใจของแต่ละคน ดังนั้น เมื่อเด็กไม่อยากเรียน ก็ควรปล่อยให้เค้าตัดสินใจ หรือเมื่อผู้ปกครองไม่พร้อม ก็ควรปล่อยให้เป็นไปตามการตัดสินใจของผู้ปกครอง
ที่ผมไม่เห็นด้วย เพราะผมมองต่างจากอาจารย์ในข้อสมมุติ คือ ผมมองว่า เป็นข้อบกพร่องของสมมุติฐานของทฤษฎี เพราะเด็กยังคิดได้ไม่รอบคอบพอ ทำให้เค้ายังไม่รู้ว่า การไม่เรียนจะส่งผลไม่ดีต่ออนาคตเค้าอย่างไร ส่วนผู้ปกครองที่ไม่พร้อมหรือไม่อยากให้เรียนก็มีสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่อยากให้เรียนแต่ไม่พร้อมทางการเงิน ก็ควรหาทางแก้ไขให้เพื่อให้เค้าสามารถส่งเด็กในปกครองที่อยากเรียนให้ได้รับโอกาสในการเรียนได้
ในขณะที่ผู้ปกครองอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่อยากให้เด็กในปกครองเรียนแม้ว่าเด็กจะอยากเรียน ก็อาจจะมีบางส่วนที่ตัดสินใจภายใต้สภาวะที่ไม่พร้อมทางความรู้ การมองอย่างไม่รอบด้าน หรือทางอารมณ์ ดังนั้นหากปล่อยให้เป็นไปตามการตัดสินใจของผู้ปกครอง เด็กที่อยากเรียนก็จะไม่ได้เรียน
ผมมองว่า การไม่ได้เรียนของเด็กทุกกลุ่มทั้งที่ไม่อยากเรียนหรือผู้ปกครองไม่พร้อม ทำให้สังคมเสียโอกาสในการได้ทรัพยากรที่มีคุณภาพที่มากกว่ากรณีที่เค้าไม่ได้เรียน และอาจเกิดปัญหาทางสังคมมากกว่ากรณีได้เรียน ในทางเศรษฐศาสตร์คือ การที่เด็กไม่ได้เรียน อาจนำไปสู่การเกิด negative externality effect แก่สาธารณะ รวมไปถึงรัฐเองก็จะได้ภาษีน้อยลงจากความสามารถในการผลิตของเด็กที่ไม่ได้เรียนซึ่งมีโอกาสที่ความสามารถในการผลิตจะน้อยกว่าเด็กที่เรียน
ด้วยเหตุนี้ จึงนำมาสู่การไม่เห็นด้วยในข้อ 1 ที่อาจารย์เห็นว่ารัฐควรปล่อยให้เอกชนจัดการศึกษาเองและแข่งขันกันเองโดยรัฐไม่ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยว
จากเหตุผลที่ทั้งเห็นเหมือนกันและเห็นไม่เหมือนกันกับแนวคิดที่อาจารย์ทั้งสองนำเสนอ ผมจึงสกัดเป็นข้อเสนอสำหรับการจัดการศึกษาในแง่ของความอยากและความพร้อมเป็นดังนี้
ทั้งนี้ ยังอยู่ภายใต้แนวคิดว่าทุกโรงเรียนต้องเป็นโรงเรียนที่เอกชนเป็นผู้บริหารจัดการ จะไม่มีโรงเรียนที่รัฐเป็นผู้บริหารจัดการแม้แต่โรงเรียนเดียว เพราะพิสูจน์มาแล้วทั่วโลกว่าเอกชนบริหารจัดการได้ดีกว่ารัฐ ซึ่งกรณีนี้คนไทยจำนวนมากอาจจะค้าน เพราะในบ้านเรา ส่วนใหญ่จะรับรู้ตามความรู้สึก (perception) ว่าโรงเรียนรัฐมีผลงานที่ดีกว่าโรงเรียนเอกชน ซึ่งในกรณีนี้ อาจารย์ทั้งสองนำข้อมูลสถิติการสอบ ONET มาให้ดูว่า ในความเป็นจริงแล้ว คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนโรงเรียนเอกชนทำได้ดีกว่านักเรียนโรงเรียนรัฐ
นอกจากนี้ โรงเรียนเอกชนยังถูกรัฐเอาเปรียบจากการดึงทรัพยากรที่ดีจำนวนมากไปอยู่กับตัว ซึ่งหากทรัพยากรทั้งหมดถูกโอนให้กับเอกชน พิสูจน์แล้วจากทั่วโลกว่าเอกชนทำได้ดีกว่าแน่นอน และครูที่ดีก็จะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่ครูไม่ดี หรือเคยดีแต่เริ่มเบื่อหน่ายการสอนและไม่พร้อมรับการพัฒนาก็จะถูกออกจากระบบไป ซึ่งแม้ไม่ดีต่อครูแต่ก็ดีกับนักเรียนและสังคมโดยรวม ซึ่งรัฐไม่สามารถทำได้
อาจารย์ยังได้ยกตัวอย่างว่า ที่อินเดีย แม้รัฐจะยังมีโรงเรียนของรัฐราคาถูกหรือฟรี แต่ผู้ปกครองจำนวนมาก แม้จะรายได้น้อย ก็ยังพยายามหาเงินให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนที่จ่ายแพงกว่าหากเชื่อว่าเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพมากกว่า และหากให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเต็มที่ เราอาจจะได้เห็นโรงเรียน low cost คุณภาพดีเกิดขึ้นให้เป็นทางเลือกอยู่ทั่วไป เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับบริการสายการบิน ที่เมื่อเปิดให้มีการแข่งขัน เราก็ได้นั่งเครื่องบินราคาถูก การเข้าถึงบริการสายการบินคุณภาพก็ทำได้ง่ายขึ้น
กลับมาที่ข้อเสนอของผม ที่เสนอให้รัฐเข้ามายุ่งเกี่ยว
กรณีรัฐจ่ายรายหัวให้กับเด็กที่ผู้ปกครองไม่พร้อมจ่ายนั้น ที่จริง ผู้ปกครองทุกคน มีสิทธิ์ส่งลูกเข้าโรงเรียนนี้ ไม่มียกเว้น (แต่ผู้ปกครองที่พร้อมจ่ายเองจะไม่ส่งเข้ามา เพราะโรงเรียนที่รัฐไม่จ่ายให้ จะแย่งนักเรียนโดยเสนอคุณภาพการศึกษาที่ทำให้ผู้ปกครองเชื่อว่าดีกว่าโรงเรียนที่รัฐจ่าย เหมือน คนมีเงินไม่เข้า รพ.รัฐ)
ถ้ามีเด็กไม่อยากเรียน หลุดเข้าไปเรียนในโรงเรียนปกติ โดยธรรมชาติ เค้าจะมีผลการเรียนไม่ดี เพราะโดดเรียน จะต้องถูกรีไทร์ออกไป ซึ่งทำให้เสียเวลา พ่อแม่จะรู้เองว่า เด็กกลุ่มนี้ควรส่งไปอยู่โรงเรียนประจำ
ในทำนองกลับกัน หากเด็กที่อยู่ในโรงเรียนประจำและผู้ปกครองพร้อมจ่าย สามารถปรับเปลี่ยนนิสัยให้รับผิดชอบตัวเองได้ดีขึ้น ก็สามารถปรับไปอยู่ในโรงเรียนปกติได้ซึ่งถ้าไม่ได้จริง เค้าก็จะถูกรีไทร์และต้องกลับเข้าไปโรงเรียนประจำใหม่
ผมมองว่า รัฐจ่าย คือการลงทุนในทุนมนุษย์ เพราะรัฐจะมีรายได้จากความสามารถในการผลิตของเด็กทุกคนเมื่อเค้าโตขึ้น และสังคมทั้งสังคมจะได้ประโยชน์จากการให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสในการพัฒนาตนเอง เพราะรัฐจะเก็บภาษีได้มากขึ้น และนำภาษีที่มากขึ้นมาทำให้ทั้งสังคมดีขึ้น
ขอเพียงแต่ การศึกษาต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนาทั้งความรู้ ทักษะงาน ทักษะชีวิต ไม่ใช่เพียงเพื่อได้วุฒิการศึกษาเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งการปล่อยให้เอกชนจัดการศึกษาและแข่งกันอย่างเต็มที่ จะทำให้เกิดสิ่งนั้น แต่จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย หากยังให้รัฐผูกขาดการจัดการศึกษาเหมือนในปัจจุบัน
โฆษณา