18 ก.พ. เวลา 07:39 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

TSMC ตอนที่ 7: ชีวิตมอริสที่ Texas Instruments

หลังจากมอริสไปเริ่มงานที่ Texas Instruments เขาก็ถูกมอบหมายให้ทำงานร่วมกับ IBM ในการเปลี่ยนคอมพิวเตอร์จากเดิมที่ใช้หลอดสูญญากาศไปใช้ transistor แทน บนเครื่อง IBM 7090
โดยปกติแล้ว IBM ในตอนนั้นจะผลิตอุปกรณ์เองทั้งหมด แต่เนื่องจากทางทีมคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์นี้จะขายดีมาก จนผลิตเองไม่ทัน จึงได้เซ็นสัญญาให้ทาง Texas Instruments ช่วยเป็นผู้ผลิตสำรอง
ในตอนนั้น production yield ของ IBM อยู่ที่ประมาณ 10% แปลว่าทุกๆ transistor ที่ผลิตออกมา 100 ตัวจะใช้ได้ประมาณ 10 ตัว ส่วนของ Texas Instruments ตอนที่มอริสเข้าไป yield มันอยู่ที่แทบจะศูนย์ คือผลิตออกมาใช้ไม่ได้เลยเกือบทั้งหมด ซึ่งเรียกว่ากำลังหายนะมากๆ
หัวหน้าได้เห็นสิ่งที่เขาทำที่ Sylvania มาก่อน จึงได้ให้เขาลองแก้ปัญหาดังกล่าวดู ความไม่เหมือนชาวบ้านคือ เขาเป็นวิศวกรเครื่องกลแทบจะคนเดียวที่อยู่ในบริษัทที่มีแต่วิศวกรไฟฟ้า ความถนัดของเขาจึงอยู่ในการแก้ไขสายการผลิตนั่นเอง
เขาใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ก็ทำให้ yield เพิ่มจาก 0 มาเป็นประมาณ 20% ดีกว่าที่ IBM ทำได้เป็นเท่าตัว จนทำให้แม้กระทั่ง Pat Haggerty ท่านประธานบริษัทยังรู้จักว่ามอริสเป็นใคร โดยไม่ต้องปลอมตัวมา
IBM ตอนแรกก็นึกว่าเขาฟลุกที่แก้ปัญหาได้ และทำได้ดีกว่า IBM เสียอีก แต่พอทาง IBM ส่งวิศวกรมาคุย มอริสก็เล่ากระบวนคิด และแก้ไขปัญหาของเขาให้ฟัง ทาง IBM จึงรู้ว่าไม่ฟลุกแน่ๆ คนนี้ไม่ธรรมดา
ทาง Texas Instruments จึงเลื่อนตำแหน่งให้เขานำทีมผลิต transistor ที่ใช้สาร Germanium โดยมีลูกน้อง 20 กว่าคน ทั้งๆ ที่ทำงานมาได้ไม่นาน แถมยังส่งให้เขาเรียนต่อปริญญาเอกที่ Stanford โดยให้ทั้งเงินเดือน และทุนเรียน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้เลยทีเดียว
เขาจึงเลือกเรียนวิศวะไฟฟ้าในที่สุด และเรียนจบอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 2 ปีครึ่งเท่านั้น
หลังจากนั้น วงการเซมิคอนดักเตอร์เริ่มให้ความสนใจกับการใช้ Silicon มาแทน Germanium มากขึ้น เพราะ Silicon หาง่ายกว่ามาก และถูกกว่ามาก สามารถสกัดจากทรายได้ เพราะทรายก็คือ Silicon Dioxide นั่นเอง
หลังเรียนจบ เขาจึงได้กลับมาดูแลการผลิต ICs ที่ทำจาก Silicon ซึ่งถูกทาง Fairchild นำหน้าไป เพราะ Robert Noyce สามารถคิดค้นกระบวนการผลิตแบบ planar ได้ก่อน ซึ่งเหนือกว่า hybrid ICs ที่ Jack Kilby ค้นพบมาก ซึ่งมอริสก็ทำได้ดีจน Texas Instruments สามารถตีตื้นมาได้ และเคยมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 60% เลยทีเดียว จนเขาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้ากลุ่มงานเซมิคอนดักเตอร์เลยทีเดียว
ซึ่งเทคนิคหลักในการแย่งส่วนแบ่งการตลาดมาได้ คือ กลยุทธ์การตั้งราคาแบบ ahead of the cost curve ซึ่งเวลามีเทคโนโลยี/ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แทนที่จะตั้งราคาสูงๆ ในตอนแรก เพื่อเอาต้นทุนการวิจัยคืน เขาเลือกที่จะตั้งราคาให้ต่ำหน่อยในระยะแรก เพื่อดึงดูดลูกค้า และไว้กินยาวในตอนหลัง โดยการทยอยลดราคาให้กับลูกค้า ตอนแรกๆ คนอื่นหาว่าเขาบ้า แต่เขาก็พิสูจน์ให้เห็นว่ามันเป็นกลยุทธ์ที่ดี
แต่พอโลกเริ่มเปลี่ยนไปใช้ MOS (metal oxide) ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่า Texas Instruments กลับเริ่มแพ้ Intel และ Motorola อีกครั้ง โดยเฉพาะการพลาดในการผลิตชิปให้กับโครงการลับของ IBM เพราะสู้ชิปของ Intel ไม่ได้
ในปี 1977 เขาจึงถูกเด้งให้ไปดูกลุ่ม consumer product (เช่น เครื่องคิดเลข/ของเล่น) ที่กำลังมีปัญหาแทน ซึ่งเขาก็ไม่สามารถ turnaround กลุ่มงานนี้ได้ เขาจึงถูกลดตำแหน่งให้ไปดูแลงานด้านคุณภาพแทนในที่สุด
เขาอดทนจนในปี 1984 เขาก็ตัดสินใจลาออกไปทำงานที่ General Instruments แทน เป็นอันจบบทบาทของเขาที่ Texas Instruments อย่างน่าเสียดาย เพราะเขาเคยเป็นถึงเบอร์สองที่ใครๆ คิดว่าจะต้องได้เป็น CEO ของ Texas Instruments แน่ๆ
โฆษณา