18 ก.พ. เวลา 09:22 • บ้าน & สวน

Consumer unit แบบบัสบาร์แยก คืออะไร ?

ตัวอย่างการต่อสายใช้งาน Consumer unit แบบบัสบาร์แยก ตู้ไฟฟ้าภายในบ้าน ภายในอาคาร ระบบไฟฟ้าแรงต่ำ 1 เฟส 2 สาย
โดยโครงสร้างของตู้จะแยกออกเป็นสองกลุ่มวงจร กลุ่มฝั่งบัสบาร์ด้านซ้ายของตู้ จะเป็นกลุ่มสำหรับวงจรที่ไม่มีความเสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูด เช่น วงจรแสงสว่าง , วงจรเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น โดยจะมีเมนเบรกเกอร์ MCB เป็นเมนตู้ และ MCB ลูกย่อย 1 โพล
ส่วนกลุ่มฝั่งบัสบาร์ด้านขวาของตู้ จะเป็นกลุ่มวงจรที่มีความเสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูดได้ เช่น วงจรเต้ารับ , วงจรเครื่องทำน้ำอุ่น , วงจรไฟฟ้าภายนอกอาคาร เป็นต้น โดยจะมีเมนเบรกเกอร์ตัดไฟรั่ว ชนิด RCCB และ MCB ลูกย่อย 1 โพล
ตู้แบบบัสบาร์แยก เป็นตู้รุ่นที่พัฒนามาจากตู้แบบบัสบาร์เดี่ยว ซึ่งข้อดีหากวงจรย่อยฝั่งบัสบาร์ด้านขวา ( ฝั่ง RCCB ) วงจรใดวงจรหนึ่งเกิดกระแสไฟฟ้ารั่ว หรือ ถูกไฟฟ้าดูด เมน RCCB ก็จะตัดวงจร เพื่อตัดระบบไฟฟ้าออก แต่กลุ่มวงจรฝั่งบัสบาร์ซ้าย ( ฝั่ง MCB ) ยังใช้งานได้ปกติครับ เช่นกัน ถ้าหากถูกไฟฟ้าดูดจากกลุ่มวงจรย่อยฝั่งบัสบาร์ซ้าย ( ฝั่ง MCB ) ก็จะไม่มีเบรกเกอร์ตัดไฟรั่วตัดวงจร ซึ่งจุดนี้ยังเป็นข้อด้อยอยู่ครับ
ดังนั้นจึงอาจจะมีผู้ใช้งานบางท่านเปลี่ยนเมน MCB เป็น RCBO แทน ก็สามารถทำได้ ใช้งานได้ แต่เมื่อวงจรย่อยเกิดไฟดูด-ไฟรั่ว เมน RCBO ก็อาจจะตัดวงจร ไฟจึงดับทั้งตู้ได้ครับ
ในการติดตั้ง เน้นให้วงจรย่อยทุกวงจรที่มีความเสี่ยงทั้งหมดต่อสายจากฝั่ง RCCB ส่วนวงจรย่อยบางวงจรในฝั่ง MCB ที่คิดว่าอาจจะมีความเสี่ยงอยู่บ้าง อาจดูทางเลือกโดยใช้ RCBO 1P + N หางหนูติดตั้งแทน MCB ลูกย่อย 1 โพลก็ได้ครับ แต่ราคาตู้ก็จะเพิ่มขึ้น หรือหากมีการซ่อมบำรุงก็ให้ปิดเบรกเกอร์ทุกครั้ง หรือติดตั้ง safety breaker ตัดไฟรั่วเสริมก่อนเข้าอุปกรณ์ปลายทางก็ได้ เลือกใช้ให้เหมาะสมตามลักษณะการใช้งานครับ
ข้อควรระวัง หากสายวงจรย่อยดึงไฟมาจากบาร์ไหน ให้เดินสายนิวทรัลกลับไปที่บาร์ฝั่งนั้น ยกตัวอย่างเช่น วงจรสวิตช์บันได หากดึงไฟมาจากเบรกเกอร์ย่อยบาร์ซ้าย ( ฝั่ง MCB ) สายนิวทรัลต้องเดินกลับไปที่นิวทรัลบาร์ซ้าย ( ฝั่ง MCB ) หากเดินสายผิด ต่อสายนิวทรัลมาที่นิวทรัลบาร์ขวา ( ฝั่ง RCCB ) จะทำให้ RCCB ตัดเมื่อเปิดสวิตช์ครับ
โฆษณา