18 ก.พ. เวลา 10:49 • ความคิดเห็น

เรื่องลึกลับของท็อปเจริญ

ธุรกิจไทยในระดับหมื่นล้านนั้น ผมคิดว่าถ้าไม่เคยได้สัมภาษณ์เจ้าของหรือผู้บริหารก็จะต้องได้ยินได้ฟังเรื่องราวหรือเคล็ดลับจากปากของคนรู้จักกันอยู่บ้าง แต่มีธุรกิจหนึ่งที่ถามใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นนายธนาคาร สื่อมวลชน หรือเพื่อนฝูงในวงการ ไม่มีใครรู้จักหรือพอที่จะเล่าถึงเจ้าของและเส้นทางการเติบโตได้เลย ถึงแม้ว่าเราจะเห็นร้านอยู่แทบทุกหัวถนน
6
ความลึกลับของท็อปเจริญนั้นถึงขนาดทำให้คนไปลือกันว่าฟอกเงินรึเปล่า ทำไมไม่มีใครรู้จักเลยหรือ ร้านสองสามพันสาขาแต่เดินผ่านทีไรก็ไม่เคยเห็นมีลูกค้าแต่อยู่ทำเลดีๆแพงๆ ทั้งนั้น ผมเคยไปที่ UD Town อุดรเมื่อสิบกว่าปีก่อนตอนก่อนเปิด เจ้าของก็ยังบอกว่าคนที่มาจองพื้นที่คนแรก ให้ราคาสูงและขอทำเลยหัวมุมก็คือท็อปเจริญ ชื่อนี้จึงเป็นความลึกลับในวงการธุรกิจอยู่ไม่น้อย
6
จนผมได้มีโอกาสไปทำงานกับร้านแว่นในห้างร้านหนึ่ง แล้วเขาเล่าถึงอาเจ็กเขาว่าเป็นเจ้าของแว่นท็อปเจริญ ก็เลยไหว้วานให้ลองทาบทามชวนมาสัมภาษณ์ที่ HOW Club ที่ผมดูแลอยู่แล้วก็ได้รับการตอบรับอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะผมคิดว่าไม่น่าจะเชิญมาง่ายๆ แต่เหมือนใครเคยสอนว่าทางอยู่ที่ปาก ลองไปก็ไม่เสียหาย และก็ได้พบกับพี่เพ้ง คุณนพศักดิ์ ตรีพรชัยศักดิ์หรือพี่เพ้งในวัยประมาณหกสิบ บุคคลลึกลับในตำนาน ซึ่งผิดคาดมากๆเพราะคุณนพศักดิ์คุยสนุก เป็นกันเองและถ่อมเนื้อถ่อมตัวมาก
4
คำถามก่อนขึ้นเวทีของผมก็คือว่าทำไมพี่เพ้งถึงไม่ค่อยปรากฏกายในสื่อเลย คำตอบก็คือว่าการโฆษณาประชาสัมพันธ์แบรนด์ท็อปเจริญก็ทำหน้าที่ของมันอยู่แล้ว ก็เลยไม่ค่อยได้ไปคุยที่ไหน และบอกอย่างถ่อมตัวว่าใครจะอยากฟังคนการศึกษาน้อยอย่างผม…
1
เจริญการแว่นจากสระบุรี
เมื่อเจ็ดสิบกว่าปีก่อนคุณพ่อของพี่เพ้งเริ่มลองทำแว่นขึ้นมาด้วยตัวเองจากอาชีพหลักที่เป็นช่างซ่อมนาฬิกาที่ต้องเพ่งอยู่ตลอดเวลาจนสายตาเสีย สั้นถึงสองพัน ด้วยความเป็นนักประดิษฐ์ก็เลยทำเองได้โดยไม่มีใครสอน พอทำได้ดีก็เลยมีคนยุให้เปิดร้าน กิจการหนึ่งร้านคูหาก็ไปได้ดีขยายไปทำรถเร่บริการตัดแว่นทั่วประเทศ แต่คุณพ่อเสียกะทันหัน ทำให้หนุ่มน้อยนพศักดิ์ในวัย 16 ปีต้องออกจากโรงเรียนมารับช่วงต่ออย่างไม่มีทางเลือก
5
หนุ่มน้อยนพศักดิ์ที่หัวไวและกล้าบ้าบิ่นเอาลูกน้องพ่ออยู่ทั้งๆที่เป็นเด็กด้วยการไปขายรถเร่จนขายดีกว่าพนักงานที่มีอยู่ทั้งหมดจนพนักงานยอมรับในฝีมือ แล้วเริ่มสังเกตด้วยตัวเองว่า ร้านแว่นแต่ไหนแต่ไรมาเป็นธุรกิจครอบครัว ส่งต่อรุ่นต่อรุ่น การวัดสายตา ฝนเลนส์ก็เป็นเหมือนวิชาเฉพาะตระกูล อย่างมากก็มีสองสามร้านตามจำนวนลูกที่มี
2
ความน่าสนใจก็คือพี่เพ้งในวัยแค่ 16-17 มองเห็นสิ่งที่นักกลยุทธ์ระดับโลกเรียกว่า competitive advantage อย่างชัดเจนก็คือ “คน” การขยายร้านแว่นต้องอาศัยคนที่มีทักษะการแว่นสี่อย่าง (ผมจำได้คือวัดสายตา ฝนเลนส์)
3
ก็เลยมีความคิดอยากขยายร้าน เปิดสาขาซึ่งสมัยนี้เรียกว่าเชนสโตร์ แต่เมื่อสี่สิบกว่าปีก่อนไม่มีตัวอย่างแม้แต่แมคโดนัลค์หรือ 7-11 พี่เพ้งคิดขึ้นเอง สังเคราะห์เองจากความช่างสังเกตและช่างฝันล้วนๆ พี่เพ้งก็เลยเลือกลูกจ้างสี่คนที่เก่งคนละด้านมาเป็นครูสอน พี่เพ้งเรียกว่า ก ข ค ง แล้วเริ่มจับพนักงานมาฝึก พอฝึกได้ก็เปิดร้านใหม่
6
ในสมัยนั้นสี่สิบกว่าปีก่อนมีแต่คนในวงการด่าว่าลื้อเจ๊งแน่ เพราะมีอย่างที่ไหนเถ้าแก่ไม่คุมร้านเอง ให้ลูกจ้างคุม แต่พี่เพ้งก็กบฏอยากลอง คิดอะไรมาก่อนกาลมาก มองร้านแว่นที่มีแล้วทำอะไรที่ไม่เหมือนชาวบ้าน เปิดร้านที่ขอนแก่นก่อนเพราะเคยเอารถเร่ไปแล้วขายดี
4
ร้านแต่งสวยในสมัยที่ร้านแว่นตาทึมๆเก่าๆ ไม่ติดแอร์ จับพนักงานแต่งชุดยูนิฟอร์มในสมัยที่คนร้านแว่นใส่ขาสั้นเสื้อยืดซึ่งช่วงแรกพนักงานอายมากเพราะเป็นคนบ้านนอกต้องมาใส่สูทขี่จักรยาน แต่งตัวดูเหมือนหมอ แต่พี่เพ้งก็ขอให้ลองจนตอนหลังพนักงานชอบเพราะคนเรียกว่าคุณหมอ ทำการตลาดด้วยรถแห่ในสมัยที่ร้านแว่นไม่เคยมีใครโฆษณา
7
เด็กอายุ 16-17 เรียนไม่จบอะไร มีแต่ความช่างสังเกตและมองทะลุถึงงานบริการก็สร้างจากหนึ่งเป็นสิบ จากสิบเป็นร้อยสาขา ในวัยยี่สิบต้น พี่เพ้งก็มีสาขาในชื่อเจริญการแว่นทั่วประเทศยกเว้นกรุงเทพฯหลายร้อยสาขา
3
เจริญการแว่นเป็นท็อปเจริญ
พอช่วงขยายสาขาก็เจอว่าทุกจังหวัดร้านแว่นเปลี่ยนชื่อเป็นเจริญการแว่นหมด (ไม่น่าเชื่อว่าพอลองไป search ดูร้านที่มีคำว่าเจริญการแว่นในปัจจุบันก็ยังเยอะมาก อาจจะมีคำหน้าแต่ก็ต้องมีคำว่าเจริญการแว่น) ก็เลยคิดจะเปลี่ยนชื่อต้องใช้เงินมากเพราะต้องเปลี่ยนป้ายทั้งหมด ตกแต่งร้านใหม่ ลูกน้องทุกคนห้ามหมดแต่พี่เพ้งดื้อที่จะทำตามเคย ตั้งชื่อเจริญเพราะเป็นชื่อพ่อ แต่อยากเป็นลูกที่พัฒนาของพ่อให้ดีขึ้นก็เลยใช้คำว่าท็อปเจริญ เป็นที่มาของท็อปเจริญตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
3
พอถึงห้าร้อยสาขา ท็อปเจริญก็เริ่มทำโฆษณาทีวี ซึ่งทำให้คนรู้จักทั่วประเทศแล้วก็เลยมาบุกกรุงเทพฯได้ไม่ยากนักเพราะคนกรุงเทพฯก็รู้จักจากทีวี ในวัยยี่สิบกว่าก็ขยายสาขาเป็นพัน บางช่วงเปิดเดือนละ 50 สาขา ปัจจุบันมีสองพันกว่าสาขา มีพนักงานเกือบหมื่นคน มี flagshop store หลายชั้นอยู่ 60 สาขาที่มีแว่นเป็นหมื่นชิ้น มีครัว มีที่พัตต์กอล์ฟ ให้ลองใส่แว่นว่าพอทำกิจกรรมแล้วใช้ได้หรือไม่ มีเครื่องไม้เครื่องมือระดับโลกในทุกด้านที่เกี่ยวกับตา พี่เพ้งเล่าว่าเปิดสาขาแทบไม่เคยขาดทุนเลยด้วยซ้ำ
3
Business Model
ผมถามคำถามที่ผู้คนสงสัยว่าท็อปเจริญเอาทำเลดีสุด คนก็ไม่ค่อยเห็นมีแล้วกำไรได้อย่างไร พี่เพ้งเล่าถึง business model ของท็อปเจริญว่า ตัวแว่นนั้นมีมาร์จิ้นสูง โดยเฉพาะท็อปเจริญเพราะมีวอลุ่มมากจนสั่งตรงกับผู้ผลิตโดยตรงได้ แถมเป็นสินค้าที่ไม่มีวันหมดอายุ พี่เพ้งบอกว่าแว่นนั้นสิบปีก็กลับมาฮิตทรงเดิม บางร้านบางทำเลขายสองชิ้นต่อวันก็อยู่ได้แล้ว ท็อปเจริญเน้นขายแว่นมีแบรนด์ ต่างจากร้านแว่นไม่มีแบรนด์ราคาถูกที่ต้องอาศัยทราฟฟิกเยอะๆ
3
ประการต่อมาก็คือ คู่แข่งไม่มีเพราะร้านแว่นเริ่มต้นทำยากมาก ถ้าไม่ใช่ครอบครัวที่ส่งต่อกันมา คนนอกธุรกิจเริ่มได้ยากเพราะเป็นเรื่องของงานฝีมือ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การฝึกวัดสายตา ฝนเลนส์บางคนเรียนเป็นปีก็ยังทำไม่ได้ แล้วพอท็อปเจริญมี scale แล้วก็ยิ่งต้นทุนถูกกว่าคนอื่น
5
ตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศก็ใหญ่มาก การตัดแว่นเมืองไทยเป็นเรื่องที่อยู่ในลิสต์ของนักท่องเที่ยวพร้อมกับการทำฟันและตัดสูท เพราะตัดแว่นเมืองไทยที่มีแบรนด์ถูกกว่ายุโรประดับประหยัดจนค่าตั๋วเครื่องบินฟรี ที่ตลาดหัวหิน ท็อปเจริญมีอยู่แปดสาขา ภูเก็ตมีห้าสิบสาขา นักท่องเที่ยวคนนึงเดินเข้าร้านตัดแว่นสองอันก็คุ้มทั้งเขาทั้งร้านแล้ว พนักงานก็พูดภาษารัสเซีย จีน ได้ตามแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย
5
การขยายร้านอย่างรวดเร็วนั้นดูยากแต่พี่เพ้งบอกว่าไม่ได้ยากนักเพราะคนหาง่ายมาก ใครๆ ก็อยากมาทำร้านท็อปเจริญ เพราะได้แต่งยูนิฟอร์มสวย ได้นั่งอยู่ในห้องแอร์ไม่เหมือน PC ตามห้าง รายได้ดี งานเบาวันนึงขายได้ไม่กี่ชิ้นก็พอ ไม่เหมือนร้านสะดวกซื้อที่เหนื่อยมากๆ
5
ก็เลยมีคนสมัครงานเยอะท่วมท้นตลอดเวลาและก็มีแต้มต่อในการคัดคนดีๆ ตั้งใจทำงาน ทัศนคติที่ดีได้ พี่เพ้งให้ความสำคัญเรื่องคนมาก ผลตอบแทนของพนักงานแบ่งเป็นสองส่วนแต่จะเน้นส่วนที่ต้อง “ไขว่คว้า” มากกว่าส่วนเงินเดือนประจำ ซึ่งหมายถึงคอมมิสชั่น ต้องบริการดี ดูแลลูกค้าดีมากๆจนลูกค้าประทับใจซื้อแว่นถึงจะได้ค่าคอม
4
ผมถามว่าในห้าง MBK ทำไมต้องมีสามสาขา สุขุมวิทกลางๆ ในรัศมีหนึ่งกิโลมีตั้ง 15 สาขา บางที่เปิดเยื้องๆ กันด้วยซ้ำ พี่เพ้งบอกแบบหัวเราะๆ ว่าก็มันขายได้ ยิ่งเปิดติดกันมากคู่แข่งก็ไม่มา เหมือนกับ 711 ที่สำคัญคือกำไรดีด้วย
3
ตามต่างจังหวัด อำเภอรอง ร้านแว่นท็อปเจริญเป็นแหล่งบริการชุมชนไปในตัว ในอำเภอที่มีร้านแว่นแค่ร้านเดียว ใครก็ได้ซื้อแว่นจากที่ไหนก็ได้เดินเข้ามาทำความสะอาดแว่น ดัดแว่น ขันน็อตได้ฟรีเสมอ เป็นวิธีการที่ทำให้ท็อปเจริญเป็นที่รักของชุมชนและได้ความสัมพันธ์ที่นำมาสู่การขายในภายหลัง
3
เด็กมัธยมผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต
พี่เพ้งมีความคิดในหัวตลอดว่าตัวเองเรียนน้อย เลยต้องดิ้นรนขวนขวายหาความรู้ทั้งด้วยตัวเองและจากคนเก่งๆ ช่วงที่คิดว่าต้องมีระบบถึงกับไปจีบอาจารย์ด้านการเงินมาวางระบบบัญชีให้ ต้องไปรับที่สนามบินและส่งกลับทุกเสาร์อาทิตย์ ตัวเองก็พยายามเรียนศึกษาผู้ใหญ่ และที่น่าประทับใจที่สุดก็คือชวนพนักงานอีกสามร้อยคนผู้ที่ร่วมบุกเบิก การศึกษาไม่มากด้วยกันตอนที่ท็อปเจริญแข็งแรงแล้ว ไปเรียนกันจนพี่เพ้งและพนักงานจบปริญญาตรีตอนอายุสี่สิบ
5
พอไปเรียนด้านคุณภาพก็เกิดไอเดียเอามาทำจนท็อปเจริญได้ ISO ในระยะเวลาอันสั้นเป็นที่ภูมิใจของพี่เพ้งมากๆ เวลาเล่าถึงเรื่องนี้ พี่เพ้งทั้งฟังทั้งอ่าน ฟังจากคนคุยกันแล้วเอามาต่อยอดตลอด มีความคิดว่าต้องมีระบบมาตั้งแต่อายุยังไม่ถึงยี่สิบและก็เสาะหาคนเก่งมาช่วย ทำ SAP ตั้งแต่แรกๆในสมัยที่ไม่มีเถ้าแก่คนไหนกล้าลงทุน และแม้กระทั่งตอนสัมภาษณ์ ผมก็ยังรู้สึกได้ว่าพี่เพ้งยังคิดว่าตัวเองเรียนน้อย มีความเป็นน้ำไม่เต็มแก้วอยู่ตลอดเวลา
2
กลเม็ดเด็ดพรายของท็อปเจริญ
1
พี่เพ้งเล่าถึงนวัตกรรมครั้งสำคัญที่ทำให้ท็อปเจริญขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว (ซึ่งพี่เพ้งเล่าว่าเคยให้คำปรึกษาร้านสะดวกซื้อจนใครๆในตลาดก็ใช้โมเดลนี้หมด) ว่าในสมัยก่อนการที่จะได้ห้องแถวมาเปิดสาขานั้นมีแค่สองโมเดลคือซื้อหรือเซ้ง
1
ซื้อทีก็เป็นสิบล้าน เซ้งก็หลายล้าน พี่เพ้งผู้ที่ยังมีสตางค์ไม่มากแต่อยากขยายสาขาก็ใช้วิธีทางอยู่ที่ปากไปตื๊ออาแปะเจ้าของห้องแถวขอเช่า วางเงินประกันสามเดือนซึ่งใหม่มากในสมัยนั้น แต่พอเครดิตดีเช่าหลายห้องแล้ว ต่อไปก็ขอเช่าไม่ยาก ทำให้ไม่ต้องใช้เงินสดในการขยายและทำให้ขยายได้เร็วมาก
พี่เพ้งเคยสร้างแบรนด์ที่สองที่ชื่อ บิวตี้ฟูล เพื่อที่จะกันคู่แข่งเพราะพี่เพ้งสังเกตว่าไม่ว่าธุรกิจไหนๆ ก็จะต้องมีตลาดพอสำหรับสองเจ้า เช่น โค้ก เป๊บซี่ บิ๊กซี โลตัส ถ้าปล่อยไว้ซักวันอาจจะมีคู่แข่งได้ก็เลยเปิดอีกแบรนด์โดยที่พยายามไม่ให้ใครรู้ว่าเป็นเจ้าของเดียวกันชื่อ บิวตี้ฟูล เจาะตลาดเด็กหน่อย ทำโปรโมชั่นมากหน่อย ก็ขยายไปได้ดีมากจนส่วนแบ่งการตลาดรวมใหญ่กว่าที่สองสิบเท่าแล้ว ใหญ่จนไม่มีใครตามทันแล้ว พี่เพ้งจึงเปลี่ยนบิวตี้ฟูลเป็นท็อปเจริญจนหมดในปัจจุบัน
2
Competitive Advantage
1
เมื่อวานผมเพิ่งฟังโบ๊ต พชร CEO Bluebik ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์องค์กรเล่าถึงหลักการของการทำกลยุทธ์ที่ดีว่าต้องมี “Competitive advantage” ที่ชัดเจน ใครก็ทำตามไม่ได้ พอมาได้ยินเรื่องท็อปเจริญและถอดรหัสจากที่ฟังพี่เพ้งแล้วก็มั่นใจว่า competitive advantage ที่พี่เพ้งสร้างขึ้นมาจนใครทำตามไม่ได้ก็คือ “คน”
3
ไม่น่าเชื่อว่าเด็กอายุ 16-17 จบมัธยมจะเล็งเห็นตรงนี้จนสร้างและฝึกฝนบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะจนขยายสาขาได้มากมาย และแทบทุกเรื่องที่พี่เพ้งเล่าก็จะเป็นเรื่องการพัฒนาคน การส่งลูกน้องหลายร้อยไปเรียนจนจบตรี การดูแลพนักงาน ทำงานสบายและมี incentive ตัวไขว่คว้า พี่เพ้งเล่าว่าตื่นมาคิดตลอดคือจะเอาใจพนักงานอย่างไร ตั้งแต่ไปเยี่ยม จัดงานเลี้ยงบ่อยๆ เปิดศูนย์อบรมขนาดใหญ่มาก พี่เพ้งบอกชัดว่ากำไรดีต้องแบ่งลูกน้อง และบอกเคล็ดลับสำคัญที่สุดว่า เวลาลูกน้องรักเรา เขาทุ่มเทให้เรามากๆ เลยนะ
4
แม้แต่ช่วงโควิดที่ยอดขายทุกคนหายหมด ยอดท็อปเจริญก็ไม่ตก เพราะห้างปิดพี่เพ้งมีร้านห้องแถว ไม่มีการลดเงินเดือนหรือให้ออก แต่ย้ายพนักงานไปดูแลที่ร้านห้องแถว ให้หัดไลฟ์ขายของ พนักงานที่ทุ่มเทก็ช่วยกันจนบริษัทอยู่รอดปลอดภัยมาได้อย่างสบาย
3
พี่เพ้งในตอนนี้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสร้างหมอสายตาที่เมืองไทยขาดแคลนมากๆ พยายามสร้างทักษะให้กับคนไม่ต่างจากตอนที่อายุสิบหก ถึงแม้ตอนนี้จะหกสิบแล้วก็ตาม….
อีกเรื่องที่เป็น competitive advantage ที่ไม่น่าเชื่อว่าเด็กอายุ 16 ผู้จบมัธยมจะมองเห็นก่อนกาล มองในวันที่มีเชนสโตร์มาเยอะแยะอาจจะดูธรรมดา แต่ 45 ปีก่อนที่ไม่มีต้นแบบอะไรเลย พี่เพ้งพยายามทำทุกอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบการเงิน ระบบสร้างคน ระบบ SAP ระบบ ระบบ และระบบ ทำไม่เป็นก็ไปหาคนเก่งมาช่วย เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงคุณปลาและคุณทิมจาก iberry ที่เบื้องหลังความสำเร็จส่วนหลักๆของ iberry group ก็คือระบบงานเช่นกัน
3
ทำอาชีพที่ถนัดที่สุดแล้วทำให้สุดติ่ง
2
ผมขอคำแนะนำพี่เพ้งให้กับน้องๆรุ่นใหม่ พี่เพ้งออกตัวก่อนเช่นเคยว่าเรียนมาน้อยและไม่ใช่ยุคของเราแล้ว แต่ก็บอกว่าพี่เพ้งเชื่อเรื่องทำสิ่งที่ตัวเองถนัดที่สุด แล้วทำมันให้สุดติ่งไปเลย รู้ให้ลึกที่สุด เก่งที่สุด จนไม่มีใครทำตามได้ ถ้าฟังพี่เพ้งเล่ามาทั้งหมดก็จะเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะความฝันพี่เพ้งก็ยังเกี่ยวกับตาต่อไป อยากมี eye valley ที่เป็นเหมือนอาณาจักรตาที่มีทั้งโรงพยาบาล ร้านตา สปาตา โรงเรียนตา คลินิกตา และทุกอย่างที่เกี่ยวกับตา ไปให้สุดติ่งเหมือนที่พี่เพ้งบอกนั่นเอง
7
เรื่องราวของพี่เพ้ง นพศักดิ์แห่งท็อปเจริญ จึงเป็นเรื่องราวที่ผมอยากเผยแพร่ นอกจากจะทำให้คนเข้าใจมากขึ้นถึงความลึกลับที่ร่ำลือกันแล้ว ก็เป็นแรงบันดาลใจสุดอัศจรรย์ของเด็ก 16 ที่ไม่จบมัธยม อยู่ต่างจังหวัด สู้ชีวิต และมีวิธีคิดที่มาก่อนกาล เชื่อในเรื่องคนและระบบ พิสูจน์ให้เห็นถึงพลังอำนาจแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็น business wonder อีกเรื่องราวหนึ่งในวันที่หลายคนอาจจะท้อ ทำอะไรก็ดูยากไปหมด
2
เพื่อเป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ…..
โฆษณา