19 ก.พ. เวลา 03:52 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

The Last Dance

พันธนาการ
2
ชื่อเรื่องภาษาจีนของหนังเรื่องนี้คือ "破·地狱" ซึ่งหมายถึง “Breaking hell” หรือ "ทำลายนรก", "เปิดนรก", หรือ "ปลดปล่อยจากนรก" ขึ้นอยู่กับบริบทที่จะเอาไปใช้ ซึ่งความหมายในหนังไม่ได้เป็นการทำลายนรกแต่อย่างใด แต่มันคือการเปรียบเทียบเปรียบเปรยถึงธีมสำคัญของเรื่องคือ "การหลุดพ้นจากพันธนาการ" ไม่ว่าจะเป็นพันธนาการจากอดีต หรือจากความขัดแย้งในใจ ทั้งสำหรับคนที่จากไปและคนที่ยังมีชีวิตอยู่ หนังเรื่องนี้จึงไม่ได้เน้นแค่เรื่องพิธีกรรมทำศพเท่านั้น แต่ยังได้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวและการให้อภัยตนเอง
The Last Dance ผลงานลำดับที่สามของ Chan Hing-Ka ผู้กำกับและนักเขียนบทชาวฮ่องกง ได้สร้างปรากฏการณ์ในวงการภาพยนตร์ฮ่องกงทันทีที่ออกฉายเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน กวาดรายได้มหาศาลถึง 158 ล้านเหรียญฮ่องกงในเวลาเพียงสองเดือน กลายเป็นหนังที่ทำเงินสูงสุดตลอดกาลในฮ่องกง พร้อมกับจำนวนผู้ชมมากกว่า 2.1 ล้านคน
อย่างไม่ปิดบังว่า The Last Dance ได้รับแรงบันดาลใจจาก Departures (2008) หนังญี่ปุ่นที่คว้ารางวัลออสการ์หนังต่างประเทศยอดเยี่ยม แต่โดยเนื้อแท้และธีมสำคัญของเรื่องแล้ว ทั้งสองเรื่องต่างกันอย่างชัดเจน Departures (2008) เป็นเรื่องของนักเชลโล่ที่ตจ้องกลายมาเป็นคนแต่งศพ ถ่ายทอดแนวคิดของการดูแลผู้ล่วงลับด้วยความเคารพและอ่อนโยน ฉากอำลาครั้งสุดท้ายถูกจัดวางอย่างประณีต ดึงอารมณ์ผู้ชมออกมาได้อย่างลึกซึ้ง แม้ว่าบางช่วงอาจถูกสร้างขึ้นมาเพื่อบีบคั้นอารมณ์มากไปเล็กน้อย
ส่วน The Last Dance เป็นเรื่องของนักวางแผนจัดพิธีแต่งงานต้องมาจัดพิธีศพ เป็นหนังดราม่าคอเมดี้ที่น่าประทับใจ ที่ใช้ธุรกิจงานศพในจีนฮ่องกงเป็นฉากหลัง นำเสนอเรื่องราวที่เต็มไปด้วยอารมณ์และความเป็นสากล โดยเน้นความแตกต่างของแนวคิดแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ หรือช่องว่างระหว่างวัย
ว่าไปแล้วDepartures ของญี่ปุ่นมุ่งเน้นไปที่ความละเอียดอ่อนของพิธีกรรมการจัดศพ สะท้อนปรัชญาความงามและการให้เกียรติแก่ผู้ล่วงลับ มุ่งเน้นความละเมียดละไมของพิธีแต่งศพ และสำรวจผู้ที่ทำหน้าที่นี้ซึ่งคนญี่ปุ่นบางส่วนมองว่าเป็นอาชีพต่ำต้อย
ส่วน The Last Dance คือการสำรวจความคิดของคนต่างวัย วัฒนธรรมดั้งเดิม และยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง นำเสนอการปะทะกันระหว่างแนวคิดดั้งเดิมกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ในฮ่องกง ซึ่งหนังทั้งสองเรื่องมีจุดเชื่อมโยงในแง่ของการสำรวจความหมายของความตายและพิธีกรรมศพผ่านตัวละครที่ไม่ได้เริ่มต้นด้วยความเข้าใจในงานศพ แต่ค่อยๆ เรียนรู้คุณค่าของมัน
แม้จะแตกต่างในสไตล์การเล่าเรื่อง แต่ทั้งสองเรื่องสะท้อนให้เห็นว่าความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นกระบวนการที่มีความหมายต่อทั้งผู้จากไปและผู้ที่ยังอยู่
ในแง่มุมวัฒนธรรม The Last Dance สะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างความเชื่อดั้งเดิมและแนวคิดสมัยใหม่ โดยเฉพาะในพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย การปะทะกันระหว่างความคิดของคนรุ่นเก่าที่เคร่งครัดในพิธีกรรม กับคนรุ่นใหม่ที่มองหาวิธีการที่ทันสมัย สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในฮ่องกง นอกจากนี้ หนังยังนำเสนอประเด็นเรื่องบทบาทของเพศในสังคม โดยเฉพาะการที่ผู้หญิงต้องเผชิญกับข้อจำกัดจากความคิดแบบดั้งเดิม
The Last Dance ไม่เพียงแต่เป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้ แต่ยังเป็นผลงานที่สะท้อนวัฒนธรรมและสังคมจีน ผ่านเรื่องราวที่ลึกซึ้งและการแสดงที่ยอดเยี่ยมของนักแสดงนำ ตัวละครหลักของเรื่องคือ นักพรตลัทธิเต๋า(ไมเคิล ฮุย)ที่เชี่ยวชาญพิธีกรรมทำลายประตูนรกในงานศพที่ต้องใช้ทักษะสูงและสืบทอดกันมาแต่โบราณ เขาต้องเผชิญหน้ากับโดมินิก(หวงจื่อฮว่า) นักจัดงานศพหัวสมัยใหม่ที่เน้นการตอบสนองอารมณ์ลูกค้ามากกว่าการรักษาขนบธรรมเนียมเดิม ความขัดแย้งระหว่างสองคนนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมฮ่องกง
แม้ในตอนแรก โดมินิกดูเหมือนพ่อค้าหน้าเงินที่เข้ามาในธุรกิจนี้โดยบังเอิญ แต่เมื่อเรื่องดำเนินไป เราเห็นมุมที่อ่อนไหวและใส่ใจของเขา โดยเฉพาะฉากที่เขาพยายามช่วยให้แม่ที่สูญเสียลูกได้เห็นหน้าลูกเป็นครั้งสุดท้าย ความทุ่มเทของเขาต่อครอบครัวผู้สูญเสียทำให้ตัวละครมีมิติมากขึ้น ให้ความความสำคัญหรือรายละเอียดฉากงานศพและการเตรียมร่างผู้เสียชีวิตค่อนข้างมาก และมีความสมจริงจนน่าขนลุก
สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้เข้าถึงผู้คนในฮ่องกงก็คือ การสะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงของฮ่องกงผ่านตัวละครของโดมินิก คนรุ่นใหม่ที่ต้องหาจุดสมดุลระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมและโลกสมัยใหม่ อีกทั้งยังขุดลึกถึงปมความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างนักพรตชราและลูก ๆ ของเขา ทั้งลูกสาวที่ถูกพ่อกีดกันจากพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ และลูกชายที่ต้องแบกรับความคาดหวังในการสืบทอดเส้นทางของบรรพบุรุษ
เรื่องราวในหนังยังเล่าผ่านแต่ละ "ศพ" ที่เข้ามา เรื่องราวของลูกค้าหลายรายค่อยๆ ทำให้ตัวละครหลักเข้าใจและยอมรับกันมากขึ้น
ชายหนุ่มที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทำให้โดมินิกตระหนักว่าการทำงานนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่ยังต้องให้เกียรติผู้ล่วงลับ เด็กที่เสียชีวิตจากโรคร้ายและแม่ที่ดื้อรั้นเก็บศพลูกไว้ด้วยความหวังว่าวิทยาศาสตร์จะคืนชีวิต ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างโดมินิกที่รับงานนี้เพราะเงิน และทำให้ทุกคนเริ่มเข้าใจว่าความเจ็บปวดของคนเป็นนั้นสำคัญพอๆ กับการส่งวิญญาณของคนตาย หรือหญิงชราที่จากไปก็เป็นเครื่องเตือนใจถึงความไม่แน่นอนของชีวิต
และสุดท้ายหนังก็บอกกับเราว่านรกนั้นไม่ได้เพียงมีไว้สำหรับคนตายเท่านั้น แต่คนเป็นก็มีนรกในใจที่ต้องทำลายหรือเปิดประตูนรกด้วยเช่นกัน
ไมเคิล ฮุย ถ่ายทอดบทบาทได้อย่างทรงพลัง ขณะที่หวงจื่อฮว่าใช้สัญชาตญาณของนักแสดงตลกมาผสมผสานกับบทดราม่าได้อย่างแนบเนียน เขาเผยให้เห็นความซับซ้อนของตัวละครที่แม้จะดูเป็นนักธุรกิจ แต่แท้จริงแล้วเข้าใจถึงความไม่แน่นอนของชีวิต
The Last Dance อัดแน่นไปด้วยอารมณ์ ความหมาย และการสะท้อนคุณค่าของชีวิต และทำให้เราครุ่นคิดถึงการใช้ชีวิตและการจากลาไปอีกนาน
8/10
โฆษณา