19 ก.พ. เวลา 11:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

อัจฉริยะอายุ 17 ปี กับเบื้องหลังที่หลายคนไม่รู้ของ “Durex”

เปิดเบื้องลึกที่หลายคนไม่เคยรู้ ซึ่งซ่อนอยู่ภายใต้การกำเนิดของ “Durex” ไอเทมคุมกำเนิดในตำนานที่ไม่ได้สำคัญแค่ช่วงวาเลนไทน์หรือลอยกระทง
การป้องกันโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์ รวมถึงการคุมกำเนิด เป็นสิ่งที่มีมาแล้วหลายร้อยพันปีในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ โดยวิธีที่เบสิกพื้นฐานที่สุดในการป้องกันคือ “การสวมถุงยางอนามัย”
เมื่อพูดถึงไอเทมชนิดนี้ ชื่อที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือ “Durex” (ดูเร็กซ์) ซึ่งแม้จะไม่ใช่ผู้ผลิตถุงยางอนามัยเจ้าแรกของโลก แต่เป็นที่จดจำและนึกถึงของผู้ใช้หลายคน ด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้งในแง่ของความหนาบาง ผิวสัมผัส และ “รสชาติ” รวมถึงแคมเปญโฆษณาหลายชิ้นที่สร้างรอยยิ้มและอิมแพกต์
Durex แบรนด์ถุงยางอนามัยเบอร์ 1 ของโลก
จึงเหมือนจะไม่แปลกที่ Durex กลายเป็นแบรนด์ถุงยางอนามัยเบอร์ 1 ของโลก ด้วยยอดขายถึงเกือบ 3 พันล้านชิ้นต่อปี และครองส่วนแบ่งตลาดถุงยางอนามัยทั่วโลกถึง 40%
แต่ความสำเร็จของ Durex เกิดขึ้นง่าย ๆ อย่างนี้จริงหรือ หรือมีองค์ประกอบเบื้องหลังอื่นใดอีก วันนี้เราจะมาหาคำตอบกัน
จากเครื่องในสัตว์สู่ยาง
ก่อนจะไปดูเส้นทางของ Durex เรามาย้อนดูประวัติศาสตร์ของถุงยางกันก่อน ซึ่งต้องบอกว่า มีความลึกลับและน่าสนใจไม่น้อย โดยในส่วนนี้จะขอเล่าเรื่องโดยใช้คำว่า “คอนดอม” (Condom) เป็นหลัก เพราะในสมัยกอดีตหลายร้อยปีก่อนมันไม่ได้ทำมาจากยาง จะให้เรียกว่าถุงยางอาจเกิดความสับสนได้
ไม่มีใครรู้ชัดว่าคอนดอมเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคสมัยไหน แต่จากหลักฐานเท่าที่พบ การใช้คอนดอมอาจย้อนไปได้ถึงยุคอียิปต์โบราณ มาจนถึงชาวโรมันโบราณที่ใช้คอนดอมที่ทำจากผ้าลินิน รวมถึงลำไส้หรือกระเพาะปัสสาวะของแกะหรือแพะ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค เช่น โรคซิฟิลิส
นอกจากนี้ อารยธรรมจีนยุคแรก ๆ ได้พัฒนาคอนดอมที่ทำจากกระดาษและใช้ร่วมกับน้ำมันเพื่อหล่อลื่น รวมถึงคอนดอมที่ทำจากหนังบาง ๆ ยังมีญี่ปุ่นที่มีข้อมูลว่าใช้ “กระดองเต่า” เป็นคอนดอม
คอนดอมเป็นสิ่งที่ใช้กันอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งเกิดการระบาดของโรคซิฟิลลิส หนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
หลักฐานชัดเจนฉบับแรกที่พูดถึงคอนดอมคือเอกสารของนักายวิภาคศาสตร์ชาวอิตาเลียนชื่อ “กาบริเอลโล ฟอลโลปิโอ” เขาได้เขียนคำอธิบายเกี่ยวกับคอนดอมเอาไว้ว่าเป็น “ปลอกผ้าลินินที่รัดด้วยริบบิ้นเพื่อป้องกันโรคซิฟิลิส” แต่ในยุคนั้นยังไม่มีการใช้คำว่าคอนดอมเช่นกัน
คำว่า “คอนดอม” ปรากฏครั้งแรกในปี 1706 ในบทกวีของลอร์ดเบลฮาเวน และยังปรากฏในหนังสือ A Classical Dictionary of the Vulgar Tongue ของ ฟรานซิส โกรส ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1785 โดยให้คำจำกัดความของคำว่าคือ “ลำไส้แห้งของแกะ ซึ่งผู้ชายใช้สวมขณะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์”
ถึงอย่างนั้น ไม่มีคำอธิบายว่า ทำไมอุปกรณ์ป้องกันนี้จึงมีชื่อว่าคอนดอม นักวิชาการบางคนเชื่อว่า คอนดอมมีรากศัพท์มาจากชื่อของแพทย์คนแรกที่คิดค้น แต่ไม่มีหลักฐาน บ้างว่ามาจากภาษาละติน “condus” ซึ่งแปลว่าภาชนะหรือที่รองรับ บ้างว่ามาจากคำภาษาเปอร์เซีย “kemdu” ที่หมายถึงลำไส้ชิ้นยาวที่ใช้สำหรับเก็บของ
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ผู้คนมักเรียกคอนดอมโดยใช้ชื่อรหัส เช่น “เซฟ” “ชุดเกราะ” หรือ “เครื่องจักร” และสามารถซื้อได้ตามโรงเตี๊ยม ร้านตัดผม ซ่องโสเภณี และจากพ่อค้าเร่ อย่างไรก็ตาม ก่อนปี 1840 คอนดอมยังไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากมีราคาสูง เฉลี่ยประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่รายได้ต่อสัปดาห์ของผู้คนในยุคนั้นอยู่ที่ประมาณ 14 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
ช่วงเวลานั้น นักประดิษฐ์หลายคนพยายามผลิตคอนดอมจากผ้ากันน้ำโดยใช้ยางอินเดีย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ คอนดอมในยุคแรก ๆ เหล่านี้มักจะหนา และแตกหรือบี้แบนได้ง่าย
ทุกอย่างเปลี่ยนไปในปี 1844 เมื่อ ชาร์ลส์ กูดเยียร์ จดสิทธิบัตรยางวัลคาไนซ์ (Vulcanized Rubber) และนำไปสู่การผลิต “ถุงยางอนามัย” จากยางวัลคาไนซ์รุ่นแรกในปี 1855
Durex ครองส่วนแบ่งตลาดถุงยางอนามัยทั่วโลกถึง 40%
ผู้อยู่เบื้องหลัง Durex คือนักเรียนวัย 17 ปี!?
เทคโนโลยีการผลิตยางวัลคาไนซ์ได้พลิกโฉมอุตสาหกรรมยางของทั้งโลก และทำให้โรงงานยางผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด หนึ่งในนั้นคือ “London Rubber Company” ที่ก่อตั้งโดย ลิโอเนล แจ็กสัน ในอังกฤษเมื่อปี 1915
ช่วงแรก London Rubber Company ดำเนินธุรกิจซื้อขายผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ถุงมือ แผ่นกันน้ำ และถุงยางอนามัย แต่ทั้งหมดเป็นการนำเข้าจากประเทศเยอรมนี
จุดเปลี่ยนคือปี 1929 แจ็กสันได้พบกับ “ลูเชียน แลนเดา” ชาวโปแลนด์วัย 17 ปี นักเรียนสาขาเทคโนโลยียาง วิทยาลัยโปลีเทคนิคภาคเหนือ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยลอนดอนเมโทรโพลิแทน)
แลนเดาเพิ่งเรียนจบ แต่ไม่อยากกลับไปรับช่วงต่อกิจการยางของที่บ้านในโปแลนด์ จึงหาลู่ทางทำธุรกิจเพื่อให้ได้วีซ่านักธุรกิจ และเริ่มต้นด้วยการพัฒนาฟองน้ำขัดห้องน้ำรูปแบบใหม่
ต่อมาแลนเดาเกิดความคิดที่จะผลิตถุงยางอนามัยขึ้น เขาเขียนในหนังสืออัตชีวประวัติว่า “ผมรู้ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้นำเข้ามาจากเยอรมนีและอเมริกา และไม่มีผู้ผลิตในอังกฤษ โรงงานที่ต้องใช้ก็สร้างง่าย และผมน่าจะผลิตเองได้”
ทั้งนี้ แม้หลังจากมียางวัลคาไนซ์แล้ว แต่ถุงยางอนามัยในช่วงแรกยังห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์แบบ เนื่องจากมีตะเข็บที่เทอะทะและไม่สบายบริเวณขอบด้านล่าง
การพัฒนาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ทำให้มีการผลิตถุงยางอนามัยโดยจุ่มแม่พิมพ์ถุงยางอนามัยลงในกาวยางชนิดหนึ่ง วิธีนี้ทำให้ไม่มีตะเข็บ แต่กระบวนการนี้ใช้ตัวทำละลายที่ติดไฟได้ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้โรงงานเกิดไฟไหม้ได้
แต่ในช่วงทศวรรษที่ 1920 ถุงยางอนามัยถูกผลิตขึ้นโดยใช้กระบวนการจุ่มลาเท็กซ์ที่ปลอดภัยซึ่งพัฒนาขึ้นในเยอรมนีและอเมริกา ลาเท็กซ์ถือเป็นเรื่องใหม่ในอังกฤษ ทำให้แลนเดาได้เปรียบกว่าคู่แข่งหากเขานำเทคโนโลยีเข้ามา
แลนเดามองหานักลงทุนที่จะสนใจในผลิตภัณฑ์ใหม่ของเขาได้ และได้รับคำแนะนำจากร้านขายยาที่คุ้นเคยกันว่า ให้ไปหา ลิโอเนล แจ็กสัน
ข้อเสนอจากแลนเดาที่เชี่ยวชาญในการผลิตวัสดุจากยางทำให้แจ็กสันมีโอกาสอันน่าตื่นเต้น นั่นคือโอกาสที่จะแข่งขันกับผู้ผลิตโดยตรง ดังนั้น แจ็กสันจึงให้เงินกู้แก่แลนเดา 600 ปอนด์เพื่อจัดตั้ง British Latex Products จัดหาถุงยางอนามัยให้กับ London Rubber ภายใต้แบรนด์ “Durex”
โดยชื่อของ Durex นั้นมาจาก ความทนทาน (Durability) + ความน่าเชื่อถือ (Reliability) + ความยอดเยี่ยม (Excellence)
โรงงานผลิตถุงยางอนามัย Durex ในช่วงแรกใช้มือทำทั้งหมด
แจ็กสันและแลนเดาใช้เวลากว่า 3 ปีร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการจุ่มลาเท็กซ์ จนในปี 1932 การผลิตถุงยางอนามัย Durex รุ่นแรกได้เริ่มต้นขึ้น โดยเป็นการผลิตด้วยมือ
แต่ในปี 1934 ขณะอายุเพียง 40 ปี แจ็กสันเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกระดูกสันหลัง แม้แลนเดาจะไม่พอใจญาติของแจ็กสันที่เข้ามาบริหารบริษัทแทน แต่เขายังคงรับผิดชอบงานผลิตและการวิจัยและพัฒนา
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง แลนเดาออกแบบสายการผลิตถุงยางอนามัยอัตโนมัติขึ้นมาได้สำเร็จ และนำมาติดตั้งในปี 1950
เครื่องจักรแต่ละเครื่องมีความยาวประมาณ 180 เมตร และมีสายการผลิตแบบสองชั้นจำนวนสองสาย โดยที่แม่พิมพ์แก้วกลวงจะถูกจุ่มลงในอ่างลาเท็กซ์สองอ่างบนสายพานลำเลียงขนาดใหญ่ จากนั้นถุงยางอนามัยเหล่านี้จะได้รับการอบด้วยความร้อน ล้าง และม้วนด้วยแปรงหมุน ก่อนจะผ่านสารละลายชอล์กเพื่อป้องกันไม่ให้เหนียวติดกัน จากนั้นจึงรวบรวมไว้ในรางสำหรับการทดสอบอากาศ
ด้วยเครื่องจักรอันยอดเยี่ยมเหล่านี้ การผลิตถุงยางอนามัยของ London Rubber Company จึงเพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านชิ้นต่อปี เป็น 2 ล้านชิ้นต่อสัปดาห์! และในปี 1954 กำลังการผลิตต่อสัปดาห์เพิ่มไปอยู่ที่ 2.5 ล้านชิ้นเลยทีเดียว
นอกจากปริมาณ ในด้านคุณภาพเอง Durex ไม่ได้ละทิ้ง และสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้ด้วยการจุ่มในน้ำเพื่อทดสอบการแตก และในปี 1953 ได้ริเริ่มการทดสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ คือนำถุงยางอนามัยวางไว้ในสนามไฟฟ้า เพื่อทดสอบว่ามีการฉีกขาดหรือไม่
Durex มียอดขายถึงเกือบ 3 พันล้านชิ้นต่อปี
การเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้ทำให้คุณภาพเปลี่ยนไป
อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลานี้ ความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารคนใหม่กับแลนเดาได้มาถึงจุดแตกหัก ทำให้เขาลาออก
แต่นั่นไม่ใช่จุดจบกัลปวสานของ Durex เพราะด้วยรากฐานที่แจ็กสันและแลนเดาวางไว้ ทำให้บริษัทยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนาถุงยางอนามัยใหม่ ๆ ที่ได้มาตรฐานไม่แพ้กัน
Durex ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในแบรนด์ถุงยางอนามัยที่มีความหลากหลายมาก ช่วงทศวรรษ 1950 มีการเปิดตัวถุงยางอนามัยแบบหล่อลื่น (Lubricated Condom) หรือช่วงทศวรรษ 1960 ได้เปิดตัวถุงยางอนามัยที่ปรับรูปทรงตามหลักกายวิภาครุ่นแรกของโลก
ในปี 1995 Durex เริ่มออกผลิตภัณฑ์หลากสีหลากรสชาติ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับชีวิตบนเตียงของลูกค้ามากขึ้น รวมถึงยังเป็นเจ้าแรกที่พัฒนาถุงยางอนามัยที่มีเนื้อสัมผัสแบบปุ่มหรือมีจุด (ผิวขรุขระภายในและภายนอกถุงยาง) ในปี 2001 เพื่อมอบประสบการณ์สูงสุดสำหรับคู่รัก
Durex ภายใต้บริษัท London Rubber Company เติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จนในปี 1999 ตัดสินใจควบรวมกิจการกับ Seton Scholl Healthcare ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลเท้าชื่อดัง โดยใช้ชื่อบริษัทใหม่ว่า SSL International
ในปี 2007 บริษัทตัดสินใจย้ายฐานการผลิตทั้งหมดไปยังจีน อินเดีย และประเทศไทย และปิดโรงงานแห่งสุดท้ายในอังกฤษ
ไม่นานจากนั้น Reckitt Benckiser บริษัทยักษ์สัญชาติอังกฤษ-ดัตช์ เจ้าของแบรนด์ที่หลายคนคุ้นคนเคย ทั้ง Dettol, Strepsils, Gaviscon, Enfamil, Vanish ฯลฯ ได้เข้าซื้อกิจการของ SSL เมื่อปี 2010 ทำให้ Durex เข้ามาอยู่ใต้ร่มธงของ Reckitt Benckiser ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
ชื่อของ Durex มาจาก Durability + Reliability + Excellence
ความครีเอทีฟเพื่อทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมดา
อย่างที่เกริ่นไว้สั้น ๆ ในตอนต้นว่า อีกหนึ่งของดีของ Durex คือแคมเปญโฆษณาที่มักถูกพูดถึงในสังคมเสมอ โดยตลอดเวลาเกือบ 100 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ Durex ถือกำเนิด แบรนด์ได้พยายามสื่อสารโดยยึดแก่นแท้ของการพยายามเปลี่ยนค่านิยมในสังคมให้มองเรื่องเพศเป็นเรื่องปกติ พูดถึงได้ และต้องให้ความสำคัญ
แล้วถ้าหลายคนบอกว่าการพูดคุยเรื่องเพศในปัจจุบันเป็นเรื่องยากแล้วล่ะก็ ลองนึกถึงความท้าทายที่ทีมการตลาดต้องเผชิญในช่วงทศวรรษที่ 1930 ซึ่งบริษัทต้องใช้เทคนิคการโฆษณาที่ “สร้างสรรค์อย่างจริงจัง” เพื่อให้คนหยิบถุงยางอนามัยสินค้าออกจากชั้นวางและพกติดตัวหรือไว้ในห้องนอน
ในช่วงแรก ๆ ผลิตภัณฑ์ของ Durex มุ่งการโปรโมตไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็น “คู่แต่งงานยังอายุน้อย” เพื่อวัตถุประสงค์ด้าน “การวางแผนครอบครัว”
จนช่วงทศวรรษที่ 1970 Durex เป็นแบรนด์ถุงยางอนามัยเจ้าแรกที่ลงโฆษณาแบบเปิดเผยทั่วโลก ที่สร้างชื่อที่สุดคือการโฆษณาในการแข่งขันรถแข่งฟอร์มูลาวัน โดยเป็นสปอนเซอร์ให้ทีมแข่งขัน แปะชื่อและโลโก้แบรนด์ไว้บนรถแข่ง พร้อมออกสโลแกนว่า “A simple but safe formula” (สูตรที่เรียบง่ายแต่ปลอดภัย)
Durex เคยโฆษณาในการแข่งขัน Formula 1
โฆษณาของ Durex เริ่มเป็นที่ยอมรับอย่างสนิทใจมากขึ้น เมื่อการระบาดของ HIV และ AIDS พุ่งสูงในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 ทำให้แบรนด์เติบโตอย่างมาก และออกโฆษณาเตือนผู้บริโภคถึงความสำคัญของการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยซึ่งอาจช่วยชีวิตได้
แคมเปญโฆษณาที่โด่งดังมากตัวหนึ่งของ Durex คือโฆษณาความยาว 40 วินาที “For a hundred million reasons” ในปี 1996 ซึ่งเล่าเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งที่กำลังเดินทางไปหาหญิงสาวที่นัดไว้ โดยมีสเปิร์มนับล้านวิ่งตามหลัง แต่สุดท้ายถูกสกัดไว้ได้ด้วยถุงยางอนามัย
มีคำวิจารณ์ว่า โฆษณาดังกล่าวถือเป็น “การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากข้อความที่น่าหดหู่ใจที่เคยปรากฏในโฆษณาเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยในอดีต”
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา Durex ได้รับรางวัลมากมายจากแคมเปญโฆษณาที่ดัง โดดเด่น มีพลัง และสำคัญ ในช่วงแรก ๆ แคมเปญต่าง ๆ พูดถึงสุขภาพ การป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อม และความสงบในจิตใจ ปัจจุบัน แบรนด์นี้ท้าทายบรรทัดฐาน ยอมรับความจริงของการมีเพศสัมพันธ์ในโลกยุคใหม่ และต่อสู้กับการแพร่เชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ผ่านการส่งเสริมการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
โฆษณาหลายตัวของ Durex มีความคมคาย เช่น การเปรียบราคาถุงยางอนามัยกับของใช้เด็ก หรือการใช้ข้อความสั้น ๆ แต่ทรงพลังว่า “1 + 1 = 3 ถ้าไม่ใช้ Durex”
ผู้ที่ผลักดันการสื่อสารเรื่องเพศของ Durex อย่างกระตือรือร้นคือ “เบน วิลสัน” ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์สุขภาวะทางเพศของ Reckitt Benckiser หรือผู้ดูแลแบรนด์ Durex
วิลสันเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตการทำงานของเขาในการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ เขาเริ่มต้นที่ Johnson & Johnson ในช่วงทศวรรษ 1990 จากนั้นย้ายมาที่ Reckitt ในปี 2007 เป็นหัวหน้า Durex ในประเทศจีนเป็นเวลา 8 ปี กลายมาเป็นหัวหน้าฝ่ายนวัตกรรมของแบรนด์ จนมาเป็นหัวหน้าของ Durex
Durex ช่วยลดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และท้องไม่พร้อมมานานนับร้อยปี
ตลอดอาชีพการงานของเขา วิลสันสังเกตเห็นว่า การสนทนาเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ได้เปลี่ยนไป ที่ Johnson & Johnson เขาจำได้ว่าเคยยืนอยู่ต่อหน้าฝ่ายขายที่เป็นผู้ชายล้วนและได้ยินเสียงหัวเราะอย่างประหม่า แต่ตอนนี้การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์มีความเปิดกว้าง “ไปจนถึงระดับ CEO เลยทีเดียว”
ในช่วงต้นของการเยี่ยมชมโรงงาน Durex เขาเตือนฉันว่าเราจะพูดคุยเรื่องเพศสัมพันธ์กันบ่อยๆ และตรงไปตรงมา "ผมหวังว่าคุณคงไม่รังเกียจนะ"
วิลสันอธิบายโฆษณาฟอร์มูลาวันของ Durex เมื่อปี 1976 ว่า เพื่อลดความอับอายและทำให้ถุงยางอนามัยทันสมัยขึ้น “เราอยากให้คนเห็นเราในธุรกิจความสุขของมนุษย์” และเขาต้องการทำให้แบรนด์ถุงยางอนามัย “เป็นสิ่งปกติ” โดยทำให้การใช้ผลิตภัณฑ์ทางเพศเปิดกว้างและครอบคลุมทุกฝ่าย
วิลสันพูดว่า ถุงยางอนามัยเป็นวิธีเดียวในการป้องกันทั้งการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในสหรัฐฯ มีการติดเชื้อซิฟิลิสเพิ่มขึ้น 32% ตั้งแต่ปี 2020-2021 และในปี 2022 อังกฤษบันทึกระดับการติดเชื้อซิฟิลิสสูงสุดในรอบ 75 ปี
ความท้าทายหลักในชีวิตการทำงานของวิลสันคือ ถุงยางอนามัยยังคงขายยาก แม้แต่บทความใน Harvard Business Review ยังระบุว่า ถุงยางอนามัยเป็นสินค้าที่ “เหมือนกับระเบิดนาปาล์ม ยาสำหรับโรคร้ายแรง และการจัดงานศพ” คือผู้คนไม่ต้องการพูดถึงมัน
วิลสันกล่าวว่า ที่แย่กว่านั้นคือ “ไม่มีใครอยากใช้ถุงยางอนามัย” โดยบางคนมองว่า “ขัดจังหวะ” และบ้างบอกว่าการสวมใส่เป็นเรื่องยาก
ความท้าทายของเขาคือการโน้มน้าวผู้คนให้เชื่อว่าถุงยางอนามัยเป็นทั้งความสุขและการปกป้องชีวิต เขาต้องพยายามอีกมาก เป็นเรื่องยากที่จะหาอะไรที่น่าสนใจเกี่ยวกับถุงยางอนามัยได้นอกเหนือจากสิ่งที่ถุงยางอนามัยเป็นตัวแทน ซึ่งก็คือการทำหน้าที่เป็นกำแพงกั้นระหว่างคุณกับลูกที่คุณยังไม่พร้อมเลี้ยงหรือโรคภัยไข้เจ็บ
ประวัติธุรกิจ Durex
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/242853
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา