19 ก.พ. เวลา 06:54 • ข่าว

เผยอาการ "พยาบาลถูกตบ" แก้วหูอักเสบ ใบหน้าฟกช้ำ ยังปวดต้นคอ

สธ.ลั่นทำเป็นคดีตัวอย่าง
ความคืบหน้ากรณีญาติผู้ป่วยเพศชายตบหน้าพยาบาล 2 ครั้ง หลังได้รับการแจ้งเตือนไม่ให้นำเด็กเล็กเข้าไปเยี่ยมผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการเชื้อลงปอดใน ICU เนื่องจากมีภูมิต้านทานต่ำเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2568 นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ นพ.สุรวิทย์ ศักดานุภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ระยอง นพ.ภูษิต ทรัพย์สมพล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลระยอง พร้อมด้วยพยาบาลห้องผู้ป่วยไอซียู รพ.ระยอง มาให้ข้อมูลเกี่ยวญาติผู้ป่วยที่ตบทำร้ายพยาบาล มีรายละเอียดดังนี้
1.ประมวลเหตุการณ์อย่างละเอียด
นายกองตรี ดร.ธนกฤต ระบุว่า จากการรับฟังเหตุการณ์ประกอบกับภาพวิดีโอกล้องวงจรปิด พบว่า กลุ่มญาติมากัน 5 คน มีเด็กเล็กรวมอยู่ด้วย พยาบาลได้เข้าไปเตือนญาติผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ A อาการรุนแรง ด้วยความหวังดี ไม่อยากให้นำเด็กอายุน้อยๆ ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายเข้าไปในพื้นที่ห้องไอซียู ซึ่งถือเป็นพื้นที่ควบคุม ไม่ใช่ว่าใครจะเข้าไปก็ได้ ต้องได้รับการอนุญาตก่อน
มีการเตือนครั้งแรกถือว่าเข้าใจกันก็ออกไป จากนั้นถึงเวลาอนุญาตให้เยี่ยมอีกครั้ง ภรรยากลับเข้ามาพร้อมเด็กเล็ก พยาบาลจึงยืนยันอีกครั้งว่า ไม่อยากให้เด็กเข้ามา เพราะผู้ป่วยมีการติดเชื้อลงปอด เด็กเสี่ยงติดเชื้อเสี่ยงเกิดการสูญเสียอีกได้ ก่อนที่สามีจะเข้ามาสอบถามหาคนพูดกับภรรยาตัวเอง และตบเข้าที่กกหู 2 ครั้ง พยายามหลังมืออีก 1 ครั้ง
พยาบาลที่อยู่ในที่เกิดเหตุ เล่าว่า พยาบาล ได้แจ้งกับญาติว่าไม่ควรพาเด็กเข้ามาในห้อง เนื่องจากคนไข้ติดเชื้อ อาจจะทำให้เชื้อติดเด็กได้ ในตอนนั้นสามียังมีอาการปกติ พูดคุยหัวเราะและได้พาเด็กออกไปตามปกติ จนกระทั่งต่อมาพยาบาลที่โดนทำร้ายได้เข้ามาตักเตือนอีกที จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
2.อาการของพยาบาล
นายกองตรี ดร.ธนกฤต กล่าวว่า เรื่องนี้มีการไปลงบันทึกประจำวันเพื่อรับเป็นคดีไว้ก่อน แต่อยู่ระหว่างรอผลการตรวจร่างกาย เนื่องจากเมื่อวาน (18 ก.พ.) น้องพยาบาลมีความเครียดกับสิ่งที่เกิดขึ้น แก้วหูกระทบกระเทือน มีการอักเสบและมีเรื่องของการได้ยินมีความคลาดเคลื่อน ต้นคอยังปวดอยู่ เมื่อคืนก็นอนไม่กลับ เพราะมีอาการปวดหู เพราะถูกตบเข้ากกหูอย่างแรง
นพ.สุรวิทย์ กล่าวว่า น้องพยาบาลมีอาการฟกช้ำบริเวณใบหน้า จะใช้เวลารักษาประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ แต่ที่อาการรุนแรงคือ แก้วหูอักเสบ ต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก ประเมินและทำการรักษาว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน แต่จากเมื่อวานมีโอกาสพูดคุยกับน้องพยาบาล ได้รับการกระทบจิตใจพอสมควร จะต้องให้จิตแพทย์เข้าไปดูแลอีกครั้ง เบื้องต้นน้องพยาบาลกำลังใจยังดี แต่หลังๆ เริ่มมีภาวะเครียด หากผลประเมินอาการบาดเจ็บของผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านแล้ว จะนำมาสู่ผลในการดำเนินคดีต่อไปด้วย
3.ทำให้เป็นคดีตัวอย่าง ทำร้ายบุคลากร รพ.
นายกองตรี ดร.ธนกฤต กล่าวว่า เรื่องนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข บอกว่าเหตุการณ์นี้ต้องดำเนินคดี เพราะทำให้หน่วยงานเสียหาย เป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดี อาจจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบใครเข้ามาแล้วไม่พอใจก็จะตบหมอ ตบพยาบาลแบบนี้ไม่ได้ เรื่องนี้ต้องทำให้เป็นคดีตัวอย่าง
"บุคลากรการแพทย์ทำงานหนักอยู่แล้ว อยากให้ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน หากไม่พอใจก็มีช่องทางให้ร้องเรียนผ่านโรงพยาบาล หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือกระทรวงสาธารณสุข จะมีมาตรการลงโทษทั้งหลายอยู่แล้ว อยากให้ใช้ขั้นตอนที่ถูกต้อง ไม่ใช่ลงไม้ลงมือ
นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์
นอกจากนี้ รมว.สาธารณสุข มีมาตรการให้บุคลากรทางการแพทย์ ฝึกยุทธวิธีป้องกันตนเอง อาจจะเห็นพยาบาลลุกมาเตะก้านคอเพื่อป้องกันตัวเองก็ได้ ต้องให้เห็นว่าพวกเรามีความเข้มแข็ง ย้ำว่าสถานพยาบาลเป็นพื้นที่คุ้มครอง สงครามยังไม่สร้างความรุนแรงในโรงพยาบาล" นายกองตรี ดร.ธนกฤตกล่าว
4.ผู้ก่อเหตุยังไม่ติดต่อเข้ามา
นายกองตรี ดร.ธนกฤต เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ก่อเหตุยังไม่มีการติดต่อเข้ามา แต่ถ้าติดต่อเข้ามาเราก็ยินดี เรื่องนี้เป็นโทษที่มากกว่าการทำร้ายร่างกาย เพราะพยาบาลถือเป็นเจ้าพนักงาน ถ้ามาขอโทษก็จะแยกส่วนเป็นการบรรเทาโทษ แต่ความผิดอาญาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนของผู้ป่วยที่ยังอยู่ระหว่างการรักษานั้น ยืนยันว่าโรงพยาบาลให้การดูแลอย่างเต็มที่ตามมาตรฐาน ไม่ได้ไปคิดโกรธเคืองอะไรกัน เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร
5.การสื่อสารของพยาบาล
นายกองตรี ดร.ธนกฤตระบุว่า น้องพยาบาลพูดตามหลักวิชาการ พูดตรงไปตรงมา อาจจะสื่อสารคำพูดไม่เข้าใจกันได้ แต่สาระสำคัญของการสื่อสาร คือ อาการรุนแรง หากติดเด็กก็จะเสี่ยงติดได้ ซึ่งอาการไม่ต่างอะไรกับโควิด 19 และมีการเสียชีวิตจริง ห่วงว่าหากติดเด็กขึ้นมาจะสูญเสียอีก ดังนั้น ฟังแล้วพยาบาลหวังดี เป็นห่วงเด็ก ไม่ควรมีความรุนแรงด้วยซ้ำ ควรฟังสาระสำคัญมากกว่า เพราะหากสุดท้ายเกิดเด็กติดเชื้อ อาการรุนแรงขึ้นมาก็จะมาตำหนิทางโรงพยาบาลอีกว่า ไม่มีมาตรการดูแล
6.ข้อกำหนดการเข้าเยี่ยมผู้ป่วยไอซียู
นพ.ภูษิต กล่าวว่า ปกติห้องไอซียูจะให้เยี่ยม 2 ช่วง คือ ช่วงเที่ยงกับช่วงเย็น จะห้ามผู้มีภูมิต้านทานต่ำเข้าไป เช่น คนสูงอายุมาก หรือเด็กเล็ก ไม่ควรเข้าไป โดยเฉพาะกรณีโรคติดเชื้อ อย่างผู้ป่วยรายนี้บุคลากรการแพทย์ที่จะเข้าไปทำการรักษายังต้องใส่หน้ากาก N 95 สวมชุดป้องกันการติดเชื้อ ออกมาแล้วก็ถอด เพราะเป็นโรคที่ติดกันง่าย ดังนั้นจึงมีข้อกำหนดว่า โรคติดเชื้อไม่ควรจะคนมีภูมิต้านทานต่ำเข้าไป
โฆษณา