Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Health Story - เฮ้วนี้มีเรื่อง
•
ติดตาม
19 ก.พ. เวลา 07:26 • ข่าว
เปิด 7 แนวทางปั้น "ไทย" สู่ Medical&Wellness Hub สร้างมูลค่า 6.9 แสนล้านบาท
สธ.จ่อตั้งสำนักงานคุมเฉพาะ
เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2568 ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายขับเคลื่อนการเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจสุขภาพ สู่ Medical & Wellness Hub โดยระบุว่า
การเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจและสุขภาพ สู่ Medical & Wellness Hub เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของ สธ.ปี 2568 เพื่อยกระดับให้เป็นกระทรวงด้านสังคมควบคู่เศรษฐกิจ โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศ เพิ่มโอกาสสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและประเทศ
โดยจะดำเนินงานผ่านการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านการแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาไทย สมุนไพรไทย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ นวดสปา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไปจนถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมสุขภาพและชีวการแพทย์ ซึ่งทั้งหมดต้องมีมาตรฐานและความปลอดภัย เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และบริการสุขภาพระดับโลก
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน
"ถือเป็นความสามารถของ สธ.ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ในฐานะกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ประกอบด้วย 7 นโยบายหลักในสาขาเป้าหมายต่างๆ มีแนวโน้มช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในปี 2568 มูลค่ารวมราว 6.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.39 ของ GDP" นายสมศักดิ์กล่าว
สำหรับ 7 นโยบายสำคัญ คือ
1.จัดตั้ง "สำนักงานนโยบายและเศรษฐกิจสาธารณสุข (สนศส.)"
2.ยกระดับภูมิปัญญาไทย คือ นวดไทย
3.ยกระดับสมุนไพรไทย/ยาไทย อาหารไทย ภายใต้แนวคิด "เจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทย ก่อนไปหาหมอ"
1
1
4.ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
5.ส่งเสริมศูนย์กลางอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์
6.ขับเคลื่อนไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง (ATMPs)
7.ส่งเสริมธุรกิจดูแลสุขภาพบุคคลและความงาม (Personal Care and Beauty)
วันนี้หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ทั้ง 4 สถาบัน คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ)
ประกาศเจตนารมณ์เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (Advanced Therapy Medical Products, ATMPs) เพื่อร่วมมือกันทางวิชาการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ATMPs ซึ่งส่วนใหญ่เป็น "ยา" ที่ออกฤทธิ์เป็นยีน เซลล์ หรือเนื้อเยื่อ ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยพัฒนาจำนวนมาก เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงของผู้ป่วย
โดยปี 2568 มีเป้าหมายให้คนไทยและชาวต่างชาติสามารถเข้าถึงยา ATMPs ในไทยที่ได้มาตรฐานอย่างเหมาะสมผ่านกลไกการอนุญาตวิจัยในพื้นที่ทดลอง 5 แห่งในสังกัดกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ควบคู่ไปกับการจัดตั้งศูนย์บริการผลิตภัณฑ์ยา ATMPs แบบเบ็ดเสร็จ รวมถึงเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. ระบุว่า การจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจสุขภาพ จะเป็นระดับกรม ทำหน้าที่ วิเคราะห์ วิจัย กำหนดนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์สุขภาพและการคลังสุขภาพ นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายบนพื้นฐานของข้อมูลที่แม่นยำ เพื่อสร้างระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และยั่งยืน ที่สำคัญยังเป็นหน่วยงานหลักที่พร้อมจะส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยพัฒนา การบริการ และการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์
นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การยกระดับภูมิปัญญาไทย คือ นวดไทย โดยพัฒนาหมอนวดไทยสู่การนวดเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ ได้แก่ กลุ่มปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Office syndrome) , โรคหัวไหล่ติด , โรคนิ้วล็อก , ภาวะกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (ปวดสลักเพชร) , หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท , อัมพฤกษ์ อัมพาต และกลุ่มระบบสืบพันธุ์
ยกระดับสมุนไพรไทย จะผลักดันการใช้ยาสมุนไพรในระบบหลักประกันสุขภาพ เพิ่มรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติทุกรายการ รวม 106 รายการ เบิกจ่ายจาก สปสช. แบบ Fee Schedule พร้อมปรับระบบบริการผู้ป่วยนอกที่เอื้อต่อการสั่งจ่ายยาของแพทย์ เพื่อส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพร 32 รายการ ในผู้ป่วย 10 กลุ่มอาการของโรคที่พบบ่อย ให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10
นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน
นอกจากนี้ ยังผลักดันสมุนพรไทย ทั้งกระท่อม กัญชา กระชายดำ ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน และไพล เข้าสู่ตลาดสมุนไพรระดับโลก ส่วนอาหารไทยจะสนับสนุนกลุ่มโพรไบโอติกส์ – พรีไบโอติกส์จากอาหาร เช่น ปลาส้ม
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ตรวจราชการ สธ.เขตสุขภาพที่ 5 กล่าวว่า GWI ประมาณการมูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เมื่อปี 2566 อยู่ที่ 220.5 ล้านล้านบาท คาดการณ์ว่าจะเติบโตถึง 315 ล้านล้านบาท ในปี 2571 (เติบโตเฉลี่ย 7.3% ต่อปี) ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก มีมูลค่า 1.42 ล้านล้านบาท
แนวนโยบายขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ
- ประชาสัมพันธ์เส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เช่น สปา บ่อน้ำพุร้อน แหล่งน้ำแร่
- จับคู่โรงแรมกับโรงพยาบาล เพื่อให้บริการแพคเกจสุขภาพ
- เพิ่มคลินิก Wellness การแพทย์ การแพทย์แผนไทยในโรงแรม ส่งเสริมเวชศาสตร์วิถีชีวิต
โดยเรามีตัวอย่างโมเดลที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว คือ ภูเก็ต เวลเนส แซนบ็อกซ์ , โมเดล Wellcation ของเขตสุขภาพที่ 5 และหาดใหญ่ เมดิเคิลฮับ
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการ อย. กล่าวว่า มูลค่าตลาดโลกของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เมื่อปี 2564 ที่ 84,000 ล้านบาท มีแนวโน้มเติบขึ้นเป็น 178,500 ล้านบาท ในปี 2569 โดยประเทศไทยปี 2566 มีมูลค่าตลาดราว 200,000 ล้านบาท มูลค่านำเข้า 90,000 ล้านบาท มูลค่าการส่งออก 118,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ไม่ซับซ้อน เช่น กลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ เช่น ถุงมือยางทางการแพทย์ หลอดสวน หลอดฉีดยากลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ อาทิ เตียงผู้ป่วย เตียงตรวจ รถเข็นผู้ป่วย
แนวนโยบายสำคัญ คือ ส่งเสริมการผลิตสินค้านวัตกรรม มีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น และเร่งรัดกระบวนการอนุมัติ อนุญาต และทดสอบมาตรฐานเครื่องมือแพทย์เพื่อขึ้นทะเบียน อย. ส่งเสริมการผลิตเครื่องมือแพทย์ที่มีความซับซ้อน เช่น กระดูกเทียม รากฟันเทียม โดยใช้วิธีแมชชิง ระหว่างผู้วิจัยและผู้ที่จะผลิตต่อ ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ระยะที่1 (พ.ศ. 2566-2570) ที่จะผลักดันให้ไทย เป็นผู้นำด้านเครื่องมือแพทย์ในปี 2570
ส่วน สเต็มเซลล์ เป็นส่วนหนึ่งของ ATMPs เรื่องข้อบ่งใช้จะมีหลักการอยู่ ดังนั้น สเต็มเซลล์ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องก็จะถูกกฎหมาย แต่ที่ไม่ขึ้นทะเบียนก็จะถูกดำเนินคดี นโยบายนี้เพื่อจะทำให้สเต็มเซลล์ที่ถูกกฎหมายออกสู่ท้องตลาดได้ ปัจจุบันยังอยู่ในการศึกษาวิจัยและที่ใช้อยู่จะอนุญาตในสถานพยาบาลเฉพาะที่เท่านั้น เช่น โรงเรียนแพทย์ที่ใช้รักษาเฉพาะราย ยังไม่มีคลินิกใดที่ขึ้นทะเบียนได้
จากความร่วมมือนี้จะทำการศึกษาวิจัยและคาดว่าจะได้เป็นผลิตภัณฑ์ 2 ผลิตภัณฑ์ออกมาได้ ซึ่งช่วงแรกจะเป็นสถาบันของรัฐ แต่อาจมีเอกชนมาร่วม โดยต้องทำภายใต้กำกับของรัฐ ในเรื่องสเต็มเซลล์ปัจจุบันที่มีการศึกษาวิจัยในกลุ่มแซนด์บอกซ์จะเป็นกลุ่มโรคข้อเข่าเสื่อม แต่ก่อนหน้านี้จะมีโรงเรียนแพทย์ที่ทำการศึกษาแล้วคือ โรคเลือด และโรคทางกระจกตา
“สำหรับหน่วยบริการหรือคลินิกหรือผู้ประกอบการใดโฆษณาไม่ถูกต้อง ไม่ได้ขึ้นทะเบียน แต่อ้างผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ ATMPs ก็จะมีความผิด” นพ.สุรโชค กล่าว
นพ.มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า ATMPs มีการประเมินตัวเลข หากพัฒนาไปตามแผนที่วางไว้จะเกิดมูลค่าทางตรงต่อเศรษฐกิจราว 8.3 หมื่นล้านบาท แต่หากคำนึงถึงผลทางตรงและทางอ้อม จะมีมูลค่าถึง 266,000 ล้านบาท ส่วนแซนด์บอกซ์อยู่ระหว่างการกำหนดพื้นที่ หากชัดเจนจะมีการแจ้งให้ทราบต่อไป นอกจากศึกษาวิจัย ก็จะมีการประเมินผล และกำกับติดตามผลการรักษาจากเทคโนโลยีนี้ด้วย
นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การดูแลบุคคลและความงามแบ่งออกเป็น 4 หมวด คือ
หมวดที่ 1 เวชศาสตร์ความงาม มูลค่าตลาดเวชศาสตร์ความงามของโลก ในปี 2564 อยู่ที่ 1.86 ล้านล้านบาท มูลค่าตลาดเวชศาสตร์ความงามของไทย ในปี 2564 อยู่ที่ 50,000 ล้านบาท (คิดเป็น 2.69% ของมูลค่าตลาดโลก) อัตราเติบโตของตลาดเวชศาสตร์ความงามในช่วงปี 2564 – 2573 อยู่ที่ 10% ต่อปี โดยเวชศาสตร์ความงาม แบ่งเป็น
- หัตถการเสริมความงาม คือ การช่วยรักษา ฟื้นฟู และดูแลผิวในระยะยาวเช่น ฉีดโบทอกซ์ ฟิลเลอร์ เลเซอร์ผิว ร้อยไหมยกระชับ ลดไขมัน ปรับรูปร่าง รูปหน้า
- ศัลยกรรมเสริมความงาม เช่น ทำจมูก ทำตา ดูดไขมัน เสริมหน้าอก
หมวดที่ 2 จิตเวชและพฤติกรรมบำบัด (Rehab Centre) คือ การดูแลผู้ป่วยจิตเวชแบบพักค้างคืน การบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสารเสพติด และพฤติกรรมบำบัดชาวต่างชาติ ค่าบริการ 250,000 - 525,000 บาทต่อเดือน
หมวดที่ 3 การอุ้มบุญและเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว การทำ ICSI และตอนนี้เรามีการผลักดันการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่กำหนดให้สิทธิบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ สามารถจดทะเบียนสมรสได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และสามารถขออนุญาตดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนได้
หมวดที่ 4 การผ่าตัดยืนยันเพศสภาพ ส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ จากชายเป็นหญิง รพ.เอกชน อยู่ที่ราว 300,000 บาท จากหญิงเป็นชาย รพ.เอกชน อยู่ที่ราว เกือบ 1,000,000 บาท
ข่าว
สุขภาพ
เศรษฐกิจ
บันทึก
2
2
3
2
2
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย