20 ก.พ. เวลา 00:28 • ธุรกิจ

อ่อนแอ ล่าช้า ไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจัยฉุดดีลนิสสันฮอนด้าล่ม

เพราะอะไร การควบรวมกิจการระหว่าง บริษัทนิสสันมอเตอร์ จำกัด (Nissan Motor Co.Ltd) และบริษัทฮอนด้า มอเตอร์จำกัด (Honda Motor Co.Ltd) ซึ่งจะทำให้เกิดยักษ์ใหญ่ตัวใหม่แห่งวงการอุตสาหกรรมยานยนต์โลก กลายเป็นเพียง “ฝันสลาย” ภายในระยะเวลาการเจรจาเพียงประมาณ 1 เดือนครึ่งเท่านั้น
อะไรคือจุดเปลี่ยนในแต่ละขั้นตอนการจรจา ก่อนจะนำมาซึ่ง “การประกาศแยกทาง” จากมุมมองการวิเคราะห์ของสื่อในประเทศญี่ปุ่นกันบ้าง วันนี้ “เรา” ลองไปสำรวจข้อมูลที่น่าสนใจนี้ด้วยกัน
อะไรที่ทำให้ข้อเสนอบริษัทร่วมทุน แปรเปลี่ยนเป็นบริษัทในเครือ :
แรกเริ่มเดิมที จากข่าวในช่วงแรกของการเจรจาควบรวมกิจการระหว่างฮอนด้าและนิสสัน คือ จะมีการจัดตั้ง “บริษัทร่วมทุน” (Holding Company) โดยฮอนด้า จะเป็นฝ่ายที่เสนอชื่อประธานและกรรมการบริษัทส่วนใหญ่ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่า ทิศทางการเดินหน้าธุรกิจจะอยู่ในมือฮอนด้า
ขณะที่ในส่วนการตั้งบุคลากรฝ่ายบริหารของนิสสัน นั้น ฮอนด้าจะไม่เข้าไปก้าวก่ายเพียงแต่จะมีการใช้ดุลยพินิจพิจารณาในระดับหนึ่งเท่านั้น
อย่างไรก็ดีในช่วงก่อนที่จะมีการประกาศ “แยกทาง” อย่างเป็นทางการนั้น มีรายงานว่า ฮอนด้า ได้เสนอให้นิสสันเข้ามาเป็นบริษัทในเครือ แทนที่จะเป็นการรวมกิจการผ่าน “บริษัทร่วมทุน”  ซึ่งแน่นอนว่าข้อเสนอนี้ ฝ่ายนิสสันได้ “ปฏิเสธอย่างแข็งแรง” และนำไปสู่การประกาศยกเลิกการควบรวมกิจการในที่สุด
แล้วเพราะอะไรฮอนด้า จึงเปลี่ยนข้อเสนอจากบริษัทร่วมทุน จึงกลายเป็นเรียกร้องให้นิสสันเข้ามาเป็นบริษัทในเครือแทน?
1.  การปรับโครงสร้างองค์กรอันแสนล่าช้าของนิสสัน :
หนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญของฮอนด้า ก่อนการควบรวมกิจการ คือ นิสสันจะต้องดำเนินการปรับโครงสร้างบริษัท และสร้างธุรกิจใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาผลประกอบการที่ย่ำแย่ และมีการผลิตส่วนเกินจำนวนมาก เพราะฝ่ายฮอนด้าเชื่อว่า หากนิสสันยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าวได้ โอกาสที่นิสสันจะฟื้นตัวย่อมเป็นไปได้ยาก ซึ่งตรงกับความเห็นของบรรดานักลงทุนส่วนใหญ่
อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว นิสสัน ได้พยายามเร่ิมต้น “แผนพลิกฟื้นธุรกิจ” (Turnaround plan) ด้วยการพิจารณา ปรับลดพนักงาน 9,000 คน หรือคิดเป็น 7% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด รวมถึง ลดกำลังการผลิตลง 20% หากแต่ข้อเสนอดังกล่าว ในมุมมองของฮอนด้าแล้ว นอกจากไม่เพียงพอแล้ว ยังถือเป็นการดำเนินการที่ล่าช้ามากเกินไปด้วย
นั่นเป็นเพราะ จากกระแสข่าวที่หลุดรอดออกมานั้น แม้แต่คนในนิสสันเองส่วนใหญ่ ต่างมีความเห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่บริษัทจำเป็นต้องปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ในระดับเดียวกับแผนฟื้นฟูที่ “คาร์ลอส กอส์น” (Carlos Ghosn) อดีตประธานบริษัทผู้อื้อฉาว เคยคิดนำมาใช้ นั่นคือ อาจต้องปรับลดพนักงานมากถึง 40,000 คน!
** หมายเหตุ : อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแผนดังกล่าว ซึ่งมีการประกาศใช้ในปี 1999 นั้น นิสสันประกาศปลดพนักงานเพียง 21,000 คน หรือ คิดเป็น 14% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดในเวลานั้น **
และไม่เพียงเท่านั้น แผนการลดกำลังการผลิต ซึ่งถูกเสนอโดย “ฮิเดยูกิ ซากาโมโตะ” (Hideyuki Sakamoto) รองประธานบริหารฝ่ายการผลิตและการจัดการซัพพลายเชนของนิสสัน ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนักสำหรับฮอนด้าด้วย เนื่องจากเป็นลักษณะการปรับโครงสร้างแบบครึ่งเดียว นั่นคือ “การรวมสายการผลิต” (Line Integration) หรือ การรวมกระบวนการผลิตรถยนต์บางส่วนจากโรงงานที่ 1 ไปยังโรงงานที่ 2 ที่อยู่ในพื้นที่ติดกัน แทนที่จะเป็น “การปิดโรงงานที่ไม่มีความจำเป็น”
1
ทั้งนี้ในปี 2018 กำลังการผลิตรถยนต์ทั่วโลกของนิสสัน อยู่ที่ 7.2 ล้านคัน แต่หลังจากมีการปิดโรงงานในประเทศสเปน และ อินโดนีเซีย จึงลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านคัน อย่างไรก็ดี กำลังการผลิตในปีงบประมาณ ปี 2024 นั้นอยู่ที่ประมาณ 3.2 ล้านคัน และมี Operating rate อยู่ที่เพียงประมาณ 60% เท่านั้น ทั้งๆที่ในกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์โดยทั่วไปนั้น Operating rate ควรจะอยู่ที่ 80% เป็นอย่างน้อย จึงจะสามารถทำกำไรได้
แล้วการปิดโรงงานของนิสสัน มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน? :
แผนการปรับโครงสร้างนิสสันในปี 2020 - ปี 2023 ภายใต้ชื่อ Nissan NEXT ซึ่งมีอดีตผู้บริหาร “จุน เซกิ” (Jun Seki) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันแผนการปรับโครงสร้างดังกล่าวในเวลานั้น ได้ยืนกรานอย่างหนักแน่นว่า นิสสันจะต้องปิดโรงงานในอินโดนีเซียและสเปน เพื่อกำจัดต้นตอของปัญหาที่จะทำให้บริษัทผุพังลงไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญกับเสียงต่อต้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอย่างหนักหน่วงและรุนแรงก็ตาม
โดย  “จุน เซกิ” ให้เหตุผลถึงความจำเป็นในการปิดโรงงาน เพื่อเปิดทางให้นิสสันสามารถฟื้นตัวได้นั้น เป็นเพราะการปิดโรงงาน นอกจากจะเป็นการแสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความพยายามฟื้นฟูและเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆแล้ว ยังถือเป็นเทคนิคสำคัญที่จะทำให้การปรับโครงสร้างใหม่ประสบความสำเร็จด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ยังถือเป็นการแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนว่าบริษัทต้องการลดค่าใช้จ่ายลง ซึ่งจะมีผลทำให้พันธมิตรทางธุรกิจเกิดความเชื่อมั่น และยอมผ่อนปรนเรื่องการปรับลดต้นทุนต่างๆลงให้มากกว่าเดิม
** หมายเหตุ ปัจจุบัน “จุน เซกิ” ไปดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธธุรกิจ EV ให้กับบริษัทหองไห่ พรีซีซัน อินดัสทรี จำกัด (Hon Hai Precision Industry Co.Ltd. หรือ ที่เรารู้จักมักคุ้นในชื่อ Foxconn ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่จากไต้หวัน) **
2.  ความอ่อนแอของประธานนิสสัน :
** กดคลิ๊กด้านล่าง เพื่อติดตามอ่านความส่วนที่เหลือ จากบทความฉบับเต็ม **
#ฮอนด้า #นิสสัน #Honda #Nissan #ควบรวมกิจการ #HonHai #รถยนต์ไฟฟ้า #รถยนต์EV #ตลาดรถยนต์ #ธุรกิจ #japan #ญี่ปุ่น #OUTFIELDMAN #สำนักข่าวทรัสต์นิวส์ #Trustnews
โฆษณา