20 ก.พ. เวลา 03:57 • หุ้น & เศรษฐกิจ

พ่อค้าคนกลาง คือต้นเหตุทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จริงหรือ?

ตั้งแต่นานมาแล้วจนถึงปัจจุบัน ผมมักได้ยินคำบ่นเสมอว่า สินค้าเกษตรที่ขายจากชาวไร่ชาวนา ชาวสวน ที่ไทย เมื่อไปอยู่ต่างประเทศราคาต่างกันลิบลับ แล้วก็มีคำบ่นทั้งจากภาครัฐและเกษตรกรว่า ถูกพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ ผมจึงลองนั่งลงรายละเอียดดูว่า ความต่างระหว่างราคาหน้าสวนกับราคาที่ผู้บริโภคซื้อ มาจากอะไรบ้าง โดยยกตัวอย่างกรณีลำไย ซึ่งประสบปัญหาราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง
ราคาปลายทางลำไยอบแห้ง = (ราคาหน้าสวน x 3) + (ค่ารับจ้างเก็บ x 3) + ค่าทำลำไยอบแแห้ง + ค่าขนส่งและ logistic จากไทยไปจีน + ค่าธรรมเนียมศุลกากรจากของไทยและของจีน + ค่าขนส่งและ logistic จากด่านจีนไปยังผู้ค้าส่งในแต่ละเมือง + ค่าดำเนินการผู้ค้าส่ง + ค่าขนส่งและ logistic จากผู้ค้าส่งไปยังผู้ค้าปลีก + ค่าดำเนินการผู้ค้าปลีก
หมายเหตุ: x 3 เนื่องจาก ลำไยอบแห้ง 1 กก. ต้องใช้ลำไยสดประมาณ 3 กก.
ค่ารับจ้างเก็บ = ค่าจ้างแรงงานเก็บลำไย + ค่าเสื่อมอุปกรณ์และรถ + ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง + ค่าจ้างพนักงานสำนักงาน + ค่าน้ำ ค่าไฟ + ค่าวัสดุสิ้นเปลืองทั้งสำหรับการเก็บและสำนักงาน + ดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อหมุนเวียนประจำวัน + ดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อลงทุนทำโรงคัด ซื้อเครื่องจักรและยานพาหนะ + ชดเชยความเสี่ยงจากการขาดทุน (เช่น ไม่มีสัญญาล่วงหน้ากับโรงงาน และความเสี่ยงอื่นๆ) + ผลตอบแทนผู้ประกอบการ
ค่าทำลำไยอบแห้ง = ค่าจ้างแรงงานในโรงงาน + ค่าเสื่อมเครื่องจักร โรงงาน ยานพาหนะ + ค่าพลังงาน + ต้นทุนลำไยที่ต้องคัดออก + ค่าวัตถุดิบอื่นๆ เพื่อการทำลำไยแห้ง + ค่าจ้างพนักงานสำนักงาน + ค่าน้ำ ค่าไฟ สำนักงาน + ค่าวัสดุสิ้นเปลืองสำนักงาน + ดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อหมุนเวียนประจำวัน + ดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อลงทุนทำโรงงาน ซื้อเครื่องจักรและยานพาหนะ + ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อเก็บสต็อกสินค้า + ชดเชยความเสี่ยงจากการขาดทุน + ค่าประกันความเสียหายจากการขนส่งสินค้า + ผลตอบแทนผู้ประกอบการ
ค่าขนส่งและโลจิสติกส์ = ค่าจ้างแรงงาน + ค่าเสื่อมยานพาหนะและคลังสินค้า + ค่าพลังงาน + ค่าจ้างพนักงานสำนักงาน + ค่าน้ำ ค่าไฟ สำนักงาน + ค่าวัสดุสิ้นเปลืองสำนักงาน + ดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อหมุนเวียนประจำวัน + ดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อลงทุนทำคลังสินค้า ซื้อเครื่องจักรและยานพาหนะ + ผลตอบแทนผู้ประกอบการ
ค่าดำเนินการผู้ค้าส่ง = ค่าจ้างแรงงาน + ค่าเสื่อมยานพาหนะและคลังสินค้า + ค่าพลังงาน + ค่าจ้างพนักงานสำนักงาน + ค่าน้ำ ค่าไฟ สำนักงาน + ค่าวัสดุสิ้นเปลืองสำนักงาน + ดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อหมุนเวียนประจำวัน + ดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อลงทุนทำคลังสินค้า ซื้อเครื่องจักรสำหรับคัดแยก packaging และยานพาหนะ + ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อเก็บสต็อกสินค้า + ค่าประกันความเสียหายจากการเก็บและขนส่งสินค้า + ผลตอบแทนผู้ประกอบการ
ค่าดำเนินการผู้ค้าปลีก = ค่าจ้างแรงงาน + ค่าเสื่อมร้าน/ห้าง + ค่าพลังงาน + ค่าจ้างพนักงานสำนักงาน + ค่าน้ำ ค่าไฟ สำนักงาน + ค่าวัสดุสิ้นเปลืองสำนักงาน + ดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อหมุนเวียนประจำวัน + ดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อลงทุนทำคลังสินค้าและสต็อกสินค้า + ค่าประกันความเสียหายจากการเก็บและขนส่งสินค้า + ผลตอบแทนผู้ประกอบการ
สุดท้าย
ราคาหน้าสวน = ต้นทุนวัตถุดิบ เช่น ปุ๋ย สารเคมี + ค่าพลังงาน + ค่าจ้างแรงงานดูแล (ถ้าไม่จ้างก็เป็นค่าแรงตัวเอง) + ค่าวัสดุสิ้นเปลืองอื่นๆ + ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการผลิต + ผลตอบแทนชาวสวน
และ ผลจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทต่อเงินหยวน
ถ้าพ่อค้าคนกลาง หรือ ผู้ประกอบการเอาเปรียบชาวสวน ผลตอบแทนของผู้ประกอบการจะสูงมาก ซึ่งถ้าให้ผมกะตัวเลขที่เป็น rule of thumb คือค่าเฉลี่ย 5 ปีต้องเกิน 20% ถ้าต่ำกว่านี้ ผมถือว่าไม่มาก
และถ้าต้องการให้น้อยลงอีกจนรับประกันได้ว่าพ่อค้าคนกลางจะเอาเปรียบไม่ได้แน่นอน ก็คือ ต้องสร้างพ่อค้าคนกลางให้มีจำนวนมากๆ มาแข่งกันซื้อพืชผลจากเกษตรกร ซึ่งผมเคยขอให้หน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งมีหน้าที่พัฒนาผู้ประกอบการเอกชนทำ แต่คำตอบที่ได้รับคือ ยิ่งพัฒนาพ่อค้าคนกลาง ก็ยิ่งมีคนมาเอาเปรียบเกษตรกรมากขึ้น
ถ้ากระทรวงพาณิชย์ไม่ใช่กระทรวงเศรษฐกิจ ผมจะไม่แปลกใจเลยที่พูดแบบคนไม่รู้เศรษฐกิจ แต่ขนาดคนของกระทรวงพาณิชย์ยังพูดแบบนี้ ทำให้ฟังแล้วหมดแรงไปมากเหมือนกัน แต่ก็อาจเป็นเพราะคนของภาครัฐส่วนใหญ่ถูกปลูกฝังมาว่า คนทำธุรกิจคือคนที่เอาเปรียบ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยคนทำธุรกิจ และคนทำธุรกิจส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่ได้ต้องการเอาเปรียบใคร แต่แน่นอนว่า การทำธุรกิจต้องมีกำไร เพราะถ้าไม่มีกำไร ก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะทำ
ข้าราชการเองเสียอีกที่เอาเปรียบประชาชนโดยไม่รู้ตัว เพราะเป็นผู้ใช้ภาษีของประชาชน และข้าราชการจำนวนมากก็ทำงานเพื่อหวังเลื่อนตำแหน่งเพื่อให้ได้เงินเดือนสูงขึ้นมากกว่าประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ หลายคนเข้าร่วมในกระบวนการทุจริต ซึ่งสมควรถูกตำหนิมากกว่าคนทำธุรกิจซึ่งเค้าต้องแข่งขันกัน เว้นแต่ภาครัฐเอื้อให้เค้าไม่ต้องแข่งกับคนอื่น ซึ่งก็ต้องโทษคนของภาครัฐมากกว่า
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเฉพาะทางอีกเช่น
ที่จันทบุรี เริ่มมีปัญหาเรื่องแรงงานกัมพูชาหาได้ยากขึ้น เพราะเศรษฐกิจเค้าโตเร็ว ทำให้บางปี แรงงานเก็บไม่มี ชาวสวนต้องยอมขายราคาต่ำ เพื่อเอาลำไยลงจากต้น อันนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการที่ราคาลำไยของทั้งประเทศถูกกดลงมา
ในบางปี มีปัญหา logistic เช่น เรือเกยตื้นในคลองซูเอด ทำให้ logistic ทั้งโลกมีปัญหา อันนี้ก็กระทบราคาสินค้าเกษตร
หรือแม้แต่อาจเจอปัญหาทางบัญชีในอนาคต เช่น เทคโนโลยีเปลี่ยนจากน้ำมันเชื้อเพลิงเป็น EV ทำให้ต้องหักค่าเสื่อมยานพาหนะลงมากกว่าเดิม ผู้ประกอบการก็อาจมีปัญหาทางบัญชี แม้จะไม่มีปัญหาเรื่องเงินสด
ปัจจัยที่หลากหลายนำมาซึ่งความเสี่ยง ซึ่งโดยปกติผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ทุกรายจะหาทางป้องกันความเสี่ยงไว้ทางใดทางหนึ่ง
ยกเว้นรายเดียว ที่แม้จะผ่านมาไม่รู้กี่ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ป้องกันความเสี่ยง และผู้ประกอบการรายนั้นคือ เกษตรกร
แต่โทษเกษตรกรอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะผู้ที่ทำให้เกษตรกรไม่ค่อยคำนึงถืงความเสี่ยง คือ รัฐบาล ที่คอยแต่จะเลี้ยงลูกไม่ให้โต ไม่ว่าจะรัฐบาลไหน จากพรรคใด
1
สุดท้าย ที่สำคัญมากคือ การมีผลผลิตมากกว่าความต้องการ (over supply) ซึ่งเป็นพฤติกรรมโดยทั่วไปของผลผลิตเกษตร เพราะเป็นผลผลิตที่ทำตามกันได้ไม่ยาก ทำให้เมื่อราคาสินค้าเกษตรตัวใดดี ก็จะปลูกตามกันมากขึ้น ซึ่งหากผลผลิตเป็นพืชที่อายุสั้น การปรับตัวจะทำได้เร็ว เมื่อราคาตกปีนี้ ปีถัดไปเกษตรกรจะลดการปลูกเอง แต่ถ้าผลผลิตเป็นพืชยืนต้น การปรับตัวทำได้ยากมาก และจะทำให้เกษตรกรบาดเจ็บในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากรัฐบาลเข้ามาอุ้มไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ก็จะยิ่งทำให้ปัญหาถูกหมักหมมนานยิ่งขึ้น
จนในที่สุด เมื่อรัฐไม่สามารถเข้ามาอุ้มได้ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ ปัญหาก็จะแตกออกมาและการบาดเจ็บจะมากกว่าการปล่อยให้เกษตรกรปรับตัวเองแต่เนิ่นๆ แล้วรัฐหาทางช่วยเกษตรกรให้มีรายได้จากทางอื่นแทน
โฆษณา