20 ก.พ. เวลา 04:08 • ความคิดเห็น

Competitive Advantage

โบ๊ท พชร อารยะการกุล ซีอีโอของบริษัทบูลบิคที่ผมเป็นประธานอยู่ (และเป็นผู้ถูกสัมภาษณ์ในคลิปข้างล่างนี้) มาสอนที่ HOW Club เรื่องการคิดเชิงกลยุทธ์สำหรับธุรกิจ หัวใจหลักที่ผมจับใจความได้มีอยู่สองประการ ประการแรกและน่าจะเป็นประการสำคัญที่สุดคือต้องหา “competitive advantage” ให้เจอ
โบ๊ทผู้ซึ่งเป็น CEO of the year ของตลาดหลักทรัพย์ในวัย 38 ปีก็สร้างบลูบิคมาจากแนวคิดนี้ ตัวโบ๊ทเองโตเมืองไทยแต่มีโอกาสได้ทำงานบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกและออกมาสร้างบริษัทบูลบิคในวัยยังไม่ถึงสามสิบจนกลายเป็นบริษัทหมื่นล้าน มีพนักงานเป็นพันคนในเวลาแค่สิบปี ที่น่าทึ่งคือธุรกิจที่บูลบิคทำนั้นต้องแข่งกับที่ปรึกษาฝรั่งระดับโลกที่มีแบรนด์มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานในขณะที่จุดเริ่มต้นของบูลบิคมีพนักงานแค่สองคน ออฟฟิศเท่ารูหนู
เรื่องราวของเด็กหนุ่มในวัยไม่ถึงสามสิบในวันเริ่มต้นจึงน่าฟังตามในคลิปเป็นอย่างยิ่ง
แต่สิ่งที่ทำให้โบ๊ตเจริญก้าวหน้าตอนทำงานและตอนก่อตั้งบริษัทก็คือการรู้ถึง competitive advantage ของตัวเองและเอามาใช้ได้ชัดเจน ซึ่งก็คือเป็นคนที่เข้าใจด้านเทค ด้านโปรแกรมมิ่งอย่างลึกซึ้งเพราะโบ๊ตบ้าเขียนโปรแกรมมาตั้งแต่เด็ก
1
จนช่วงนึงเคยมีอาชีพไปรับจ้างแฮคทดสอบระบบด้วยซ้ำ และเป็นคนที่ผ่านระบบการเทรนและเข้าใจการวิเคราะห์ธุรกิจจากโรงเรียนและบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก โบ๊ตอาจจะไม่ได้เก่งที่สุดในด้านใดด้านหนึ่ง แต่เป็นคนเดียวที่รู้ลึกทั้งสองด้าน จึงสามารถมองปัญหาและแก้ปัญหาได้ไม่เหมือนคนที่รู้เพียงด้านใดด้านหนึ่ง
โบ๊ตจึงอาศัยจุดนี้ทำให้กลายเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรระดับโลกและตอนออกมาตั้งบลูบิคก็ใช้จุดแข็งนี้ในการให้บริการที่ปรึกษาที่สามารถทำได้ครบวงจร เป็นบริษัทน้อยรายที่ทำได้แบบนั้น…
เมื่อวันก่อนผมได้สัมภาษณ์คุณนพศักดิ์ แห่งแว่นท็อปเจริญแล้วมาเขียนบทความที่ได้รับความนิยมในวงกว้าง ก็มีข้อถกเถียงที่หลากหลาย มีความเห็นในแนวว่าคุณนพศักดิ์เป็น old school เจอแว่นตาไฮเทคใหม่ๆในอนาคต หรือเจอแว่นจีนราคาถูกเดี๋ยวก็ไม่รอด
แต่ถ้าเข้าใจถึงประเด็นของบทความในเรื่อง competitive advantage แล้วจะเห็นภาพชัดว่า จุดแข็งไร้เทียมทานของคุณนพศักดิ์ก็คือผู้คน ทีมงานที่คุณนพศักดิ์เล็งเห็นว่าถ้ามีแล้วคนอื่นไม่ว่ามาจากไหนก็ไม่สามารถตามทันได้ คุณนพศักดิ์เลยฝึกคนที่มีทักษะด้านการแว่นที่ฝึกไม่ง่ายอยู่อย่างเป็นระบบ มีโรงเรียน มีมหาวิทยาลัย และมีผลตอบแทนที่ดี รวมถึงกลยุทธ์ที่ยึดทำเลดีๆทั้งหมดไว้ในมือ ต่อไปแว่นจะไฮเทคแค่ไหน ถ้าต้องมาขายในเมืองไทย คนที่มีวอลุ่มสูงสุดในการต่อรองก็น่าจะหนีไม่พ้นคนที่มีส่วนแบ่งการตลาด 40% แน่ๆ
Competitive advantage จึงเสมือนเป็นท่าไม้ตายของธุรกิจที่ต้องหาให้เจอ และในยุคสมัยนี้ ท่าไม้ตายท่าเดียวก็ดูจะไม่พอ นักกลยุทธ์อย่างคุณครรชิต บุนะจินดาก็ยังเคยบอกว่าต้องมีเข็มพันเล่ม ท่าไม้ตายที่ดีที่สุดก็คือความสามารถในการคิดท่าไม้ตายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ท็อปเจริญก็มีตั้งแต่พัฒนาคน ตั้งโรงเรียน ตั้ง fighting brand เจรจาตรงกับผู้ขาย สร้างแบรนด์ ฯลฯ CPN ก็อาจจะมีท่าไม้ตายในยุคแรกคือกองทุน reit ที่ทำให้ขยายได้รวดเร็ว แต่หลังจากนั้นท่าไม้ตายของ CPN ก็มีอีกจำนวนมาก 711 ก็เช่นกัน
มีข้อหนึ่งที่โบ๊ต พชร สอนให้คิดเชิงกลยุทธ์ไว้นอกจาก competitive advantage แล้วก็คือ anticipation of responses เพราะเราไม่ได้ฉลาดคนเดียว หรือเก่งที่สุดในโลก เวลาเราทำอะไร คู่แข่งเราก็จะขยับตอบโต้เสมอ ไม่ได้อยู่เฉยๆเป็นไดโนเสาร์ อาจจะมีบ้างที่ปรับตัวไม่ทัน แต่ก็มีหลายแห่งที่ปรับตัวทัน old school หลายคนก็ไม่ได้เชย ไม่ได้อยู่นิ่งอย่างที่เราจินตนาการ
ผมนึกถึงเมื่อแปดปีก่อน ทุกคนรุมด่าธนาคารว่าอีกหน่อยไม่เกินสามปีห้าปีไม่รอดแน่เพราะกระแส fintech กำลังมาแรง มีเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก มี start up เจ๋งๆเกิดขึ้นมาเต็มไปหมด ธนาคารคือ งก ช้า ห่วย ยังไงก็เจ๊ง ไม่เจ๊งก็กำไรตกหมด
แปดปีผ่านไป ธนาคารก็ยังกำไรเหมือนเดิม ที่หายไปหมดคือ fintech startup ถ้าไม่ถูกธนาคารซื้อ (พูดถึงทั้งโลก ไม่ใช่แค่ไทยนะครับ) ก็แทบไม่เกิด เจ๊งไปเกือบหมด มีเกิดอยู่บ้างคือที่จีน ก็เพราะธนาคารมี competitive advantage ทั้งเรื่องกฎ ระเบียบ ทุน และเครือข่าย รวมถึง last mile ถึงฐานลูกค้า ไม่พูดถึงการปรับตัวไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอน การพัฒนา mobile banking จน start up เข้ามาไม่ได้ เป็นต้น เป็นสิ่งที่โบ๊ตเตือนไว้ถึง anticipation of reponse ในการคิดกลยุทธ์ทางธุรกิจไว้ด้วย
1
เขียนโปรยไว้เพื่อนำไปสู่การเชิญชวนรับชมบทสัมภาษณ์ของ CEO Bluebik พชร อริยะการกุล ครับ…
โฆษณา