20 ก.พ. เวลา 05:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ส่งออกเกษตร-อาหารไทยปี 67 แตะนิวไฮ! จับตาศึกภาษีรอบใหม่ เม.ย. นี้

ส่งออกเกษตรและอาหารไทยปี 67 แตะนิวไฮ! 1.63 ล้านล้านบาท ลุ้นปี 68 โตเพิ่ม 6.8% จับตาศึกภาษีสหรัฐรอบใหม่ อาจบังคับใช้เดือน เม.ย. นี้!
วันนี้ (19 ก.พ. 68) นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนางศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ตลอดจนหน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกันแถลงข่าว สถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารในปี 2567 และแนวโน้มในปี 2568
ส่งออกเกษตร-อาหารไทยปี 67 แตะนิวไฮ! จับตาศึกภาษีรอบใหม่ เม.ย. นี้
โดยนางศุภวรรณ กล่าวว่า การส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2567 มีมูลค่า 1,638,445 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 ถือเป็นสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ของสินค้าอาหาร โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากความต้องการสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร
หลังจากหลายประเทศเผชิญสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่คลายตัวลงส่งผลทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ฟื้นตัว รวมทั้งค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวเฉลี่ยที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้การส่งออกสินค้าอาหารของไทยในปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้น
กลุ่มสินค้าที่การส่งออกเพิ่มขึ้นและมีอัตราขยายตัวสูง
ข้าวไทย
เพิ่มขึ้น 25.9% เนื่องจากความต้องการนำเข้าข้าวของประเทศคู่ค้าในหลายภูมิภาคเพิ่มขึ้น หลังผลผลิตลดลงจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ขณะที่ราคาข้าวในประเทศ แนวโน้มลดลง จากประเทศอินเดียกลับมาส่งออกข้าว ในรอบ 2 ปี
อาหารสัตว์เลี้ยง
เพิ่มขึ้น 30.5% ตามแนวโน้มการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก
สินค้าพร้อมรับประทาน รวมทั้งปลาทูน่ากระป๋อง
ขยายตัวเพิ่ม 15.5% ซอสและเครื่องปรุงรส ขยายตัวสูง 10.5% โดยเฉพาะตลาดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจผันผวนและค่าครองชีพสูง ส่งผลทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจกับสินค้าที่สร้างความสะดวกรวดเร็วในการบริโภคมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีธุรกิจผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 29.0% อีกด้วย
ตลาดส่งออกอาหารไทยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น
  • ตลาดแอฟริกา เพิ่มขึ้น 36%
  • ตลาดตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้น 31.9
  • สหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้น 19%
  • สหภาพยุโรป เพิ่มขึ้น 16%
  • สหราชอาณาจักร เพิ่มขึ้น 16%
ตลาดส่งออกอาหารไทยที่หดตัวลดลง
  • ตลาดอาเซียน ลดลง 4.1%
  • ตลาดจีน ลดลง -6.1%
การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนหดตัวลงตามสินค้าน้ำตาลทรายเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดจีนหดตัวลงตามสินค้าผลไม้สด แป้งมันสำปะหลังดัดแปร (Modified starch) กุ้งสดแช่แข็ง ไก่สดแช่แข็ง และน้ำตาลทราย
ประเทศไทยครองอันดับที่ 12 ในการส่งออกอาหารไปยังตลาดโลก อันดับโลกดีขึ้น 2 อันดับจากประเทศผู้ส่งออกอันดับที่ 14 ของโลกในปีก่อน ส่วนแบ่งตลาดอาหารโลกของไทยอยู่ที่ร้อยละ 2.53 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.40 ในปีก่อนหน้า
แนวโน้มปี 2568
คาดว่าการส่งออกสินค้าอาหารไทยจะมีมูลค่าที่ 1,750,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์วัตถุดิบปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน ทั้งผลผลิตมันสำปะหลัง อ้อย สับปะรด และมะพร้าว ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น
ค่าเงินบาทปี 2568
นางศุภวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ค่าเงินบาทปี 2568 อาจผันผวน แต่ยังอยู่ในกรอบที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมอาหาร โดยแนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2568 จะอยู่ในช่วง 33-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ แข็งค่าในครึ่งปีแรกและคาดว่าจะอ่อนค่าในครึ่งปีหลัง ตามทิศทางดอกเบี้ยขาลงของสหรัฐฯ ประกอบกับผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการพัฒนาสินค้าที่มีความหลากหลาย ราคาเหมาะสม มีคุณภาพและความปลอดภัย ตอบสนองคความต้องการของประเทศคู่ค้าทั่วโลก เป็นปัจจัยหลักที่จะผลักดันการส่งออกอาหารไทยในปี 2568 ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นทำนิวไฮต่อเนื่อง
กลุ่มสินค้าที่คาดว่าส่งออกโดดเด่น
อาหารสัตว์เลี้ยง
มีแรงขับเคลื่อนจากแนวโน้มการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทั้งในตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ต้องการผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ สินค้าพรีเมียมและฟังก์ชันนัลเพิ่มมากขึ้น ตลาดที่มีแนวโน้มดี เช่น จีน อินเดีย ที่จะเติบโตได้ในระยะยาว
ซอสและเครื่องปรุงรส
มีแรงขับเคลื่อนจากความนิยมในอาหารและเครื่องปรุงรสไทยที่เพิ่มขึ้นในต่างประเทศ การขยายตลาดในสหรัฐฯ และการพัฒนาซอสรสชาติที่ตอบสนองต่อพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ เช่น ซอสเผ็ด
อาหารพร้อมรับประทาน
มีแรงขับเคลื่อนจากผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจกับความสะดวกรวดเร็วในการบริโภคอาหารในยุคที่เศรษฐกิจผันผวน รวมทั้งมีเทคโนโลยีนวัตกรรมช่วยให้คงรสชาติและยืดอายุอาหารได้ดียิ่งขึ้น
ผลิตภัณฑ์มะพร้าว
มีแรงขับเคลื่อนจากเทรนด์สุขภาพ และการขยายตัวของตลาดนมจากพืช
อย่างไรก็ตามสถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารไทยยังมีความเสี่ยงสูงจากปัจจัยแวดล้อมภายนอก โดยเฉพาะนโยบายจัดเก็บภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะดำเนินการกับทุกประเทศ ที่เห็นว่าได้เปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯ คาดว่ามาตรการที่เป็นรูปธรรมจะทราบผลและเริ่มบังคับใช้ในช่วงเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป โดยอุตสาหกรรมอาหารไทยมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบดังกล่าว เนื่องจากอาหารเป็นหนึ่งในสาขาการผลิตที่ทำให้ประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในระดับสูง
ล่าสุดในปี 2567 ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปสหรัฐฯ มูลค่า 172,380 ล้านบาท แต่นำเข้ามูลค่า 44,150 ล้านบาท ไทยเกินดุลการค้าอาหารกับสหรัฐฯ มูลค่า 128,230 ล้านบาท สัดส่วนราวร้อยละ 10 ของยอดเกินดุลการค้ารวมของไทย รองจากอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์
นอกจากนี้นโยบายจัดเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ยังเสี่ยงต่อการเปิดศึกภาษีรอบใหม่ระหว่างชาติมหาอำนาจ ที่จะส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกมีแนวโน้มชะลอตัวจากสงครามการค้าดังกล่าว โดยเฉพาะมาตรการทางภาษีที่ ทรัมป์ จะเริ่มนำมาใช้กับประเทศคู่ค้าในหลาย ๆ ประเทศ
เชื่อว่าจะมีการตอบโต้กันไปมา ท้ายที่สุดจะส่งผลต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ต้องรับกับภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและลดทอนอำนาจซื้อของผู้บริโภค รวมถึงกระทบต่อเศรษฐกิจจีนและหลายประเทศในเอเชียให้ซบเซาต่อไป ส่งผลให้จีนและประเทศที่ถูกผลกระทบ อาจต้องหาตลาดใหม่ ทำให้ทั่วโลกตกอยู่ในภาวะการแข่งขันรุนแรง เศรษฐกิจและการค้าโลกจึงเสี่ยงต่อการชะลอตัว และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตและการค้าอาหารของไทยได้ในที่สุด.....นางศุภวรรณ กล่าว
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/economic/243176
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา