20 ก.พ. เวลา 08:48 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

TSMC ตอนที่ 8: กำเนิด TSMC

ในหนังสือประวัติของเขา มอริสได้พูดถึงไต้หวันไว้ว่า
"We had no strength in research and development, or very little anyway. We had no strength in circuit design, IC product design. We had little strength in sales and marketing, and we had almost no strength in intellectual property.
The only possible strength in Taiwan that we had, and even that was just a potential one, not an obvious one, was semiconductor manufacturing, wafer manufacturing. And so what kind of company would you create to fit that strength and avoid all the other weaknesses? The answer was a pure-play foundry."
นั่นเป็นเพราะอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในไต้หวันเป็นเพียงอุตสาหกรรมจ้างผลิตที่มีอัตรากำไรขั้นต้นเพียง 4-5% เท่านั้น แต่ในตอนนั้น เขาได้เข้าพบกับ K.T. Li รัฐมนตรีที่เป็นผู้เปลี่ยนแปลงไต้หวันให้เป็นประเทศผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และได้ถามเขาว่า ควรจะทำอะไร และให้เวลากับมอริส 1 อาทิตย์ในการตอบคำถามเขา
แต่ในวันรุ่งขึ้น K.T. Li กลับบอกว่าให้มานำเสนอเขาภายในวันศุกร์ ซึ่งแปลว่าเขามีเวลาแค่สามวันในการคิดแผนให้กับบริษัทใหม่นี้ เพื่อที่จะตัดสินทิศทางของบริษัทนี้ แต่อย่างที่รู้ๆ กันว่าแผนที่เขาคิดขึ้นมานั้นถูก เพราะมันทำให้ TSMC กลายเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลก
แผนที่ว่าคือ การเป็นผู้รับจ้างผลิตชิป (Foundry) ซึ่งในสมัยนั้นเป็นอะไรที่แปลกมากๆ เพราะบริษัทเทคส่วนใหญ่ในเวลานั้นเกือบทั้งหมดมีโรงงานผลิตชิปเป็นของตัวเอง อย่าง Jerry Sanders ผู้ก่อตั้ง AMD ยังเคยพูดไว้ว่า "real men have fabs." เพราะคิดกันว่านั่นคือ competitive advantage ที่ต้องมีไว้ ซึ่งฟังดูเหมือนไม่ได้ผิดอะไร เพราะการผลิตชิปไม่ใช่โรงงานผลิตตุ๊กตาที่จ้างใครผลิตก็ได้ แถมยังต้องสามารถควบคุมการผลิตให้ได้ โดยเฉพาะเวลาที่ขายดีๆ
ฟังดูมันเป็นเหมือนแผนที่ไม่ง่ายเลย เพราะบริษัทใหญ่ๆ ก็คงไม่จ้าง TSMC ผลิต แต่ในตอนนั้น มอริสที่ทำงานในสหรัฐอเมริกามาก่อน รู้ดีว่า จริงๆ แล้วมีคนอยากทำชิปมากมาย แต่ด้วยความที่ไม่มี foundry มารับผลิต จะลงทุนสร้าง foundry เองก็แพงเกิน เลยไม่มีโอกาส ซึ่งเขาคิดว่า เขาน่าจะหาบริษัทแบบนี้มาเป็นลูกค้าได้ และน่าจะช่วยทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ขึ้น
พอฟังแผนแบบนี้ ทางการก็ไฟเขียวให้เขาทำโครงการนี้ได้ แต่ยอมออกเงินให้เพียงครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง เขาต้องไประดมทุนเอง ในตอนแรกเขาก็พยายามคุยกับบริษัทอย่าง Intel และ Texas Instruments แต่ทั้งสองปฏิเสธ แต่ในที่สุดเขาก็ได้เจอบริษัท Philips ที่ยอมมาเป็นพาร์ทเนอร์ด้วย แต่ยอมลงเงินแค่ 28% ทำให้เขาต้องไประดมทุนเพิ่มจากนักลงทุนคนอื่นๆ ในไต้หวันอีก 22% จนได้เงินรวมทั้งหมด 220 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นเงินตั้งต้น
ถ้าเป็นเมืองไทย เราคงจะได้บริษัทรัฐวิสาหกิจที่ไม่ไปไหน แต่นี่เป็นไต้หวัน และเป็นไต้หวันในยุคเผด็จการที่มีกฎอัยการศึกระหว่างปี 1949 ถึง 1987 ซึ่งนานที่สุดในโลก แต่กลับให้อิสระกับมอริสในการบริหารงาน
โฆษณา