20 ก.พ. เวลา 11:12 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ไทยเสี่ยง ล้าหลังอาเซียน SMEs ขาดนวัตกรรม ธุรกิจใหม่เกิดยาก World Bank เผยทางรอด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอยู่ในยุคที่เศรษฐกิจไทยขาลง ค่าครองชีพสูงนำรายได้ คนไทยกำลังซื้อแผ่ว พร้อมภาระหนี้สินล้นพ้นตัว พาลทำให้ธุรกิจรัดเข็มขัด ชะลอการลงทุนไปด้วย เพราะกลัวทุนจม ข้อมูลล่าสุดจากสภาพัฒน์ฯ พบว่า GDP ปี 2567 ขยายตัวต่ำกว่าคาดที่ 2.5% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในอาเซียน สะท้อนปัญหาโครงสร้างที่ฉุดรั้งศักยภาพการแข่งขันของประเทศ เมื่อ “บุญเก่าเริ่มหมด บุญใหม่ยังไม่มา” เห็นได้ชัดจากภาคการส่งออกที่สินค้าไทยเป็นที่ต้องการในตลาดโลกน้อยลง ส่งผลต่อเนื่องไปถึงภาคการผลิต
ดังนั้นการกระตุ้นกำลังซื้ออย่างเดียวไม่เพียงพอ เพื่อสนับสนุนการเติบโตในระยะยาว เศรษฐกิจไทยจึงต้องการการปฏิรูปโครงสร้างด้านความสามารถในการแข่งขันอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการเสริมแกร่งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพิ่มผลิตภาพการผลิตด้วยนวัตกรรมให้ตอบสนองความต้องการตลาดโลก ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ทั้งนี้แม้ในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะการเพิ่มผลิตภาพภาคเอกชน สะท้อนจาก SMEs ที่กลายมามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ โดยเป็นแหล่งจ้างงานที่ใหญ่ที่สุด คิดเป็น 69.5% ของการจ้างงานทั้งหมด และสร้างมูลค่าเศรษฐกิจสัดส่วนมากถึง 35.5% ของ GDP อย่างไรก็ตาม
ผู้ประกอบการ SMEs ของไทยยังขาดการปรับใช้นวัตกรรม ซึ่งทำให้มีส่วนร่วมจำกัดในห่วงโซ่อุปทานโลก ธนาคารโลก (World Bank) ประเมินว่า หากรัฐไม่มีการปฏิรูปนโยบายอย่างเร่งด่วน ประเทศไทยก็อาจต้องเผชิญกับต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูง ท่ามกลางประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่พยายามเร่งพัฒนาตนเองเพื่อก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรม โดยคาดว่าอัตราการเติบโตตามศักยภาพจะลดลงประมาณเหลือ 2.7% ในช่วงปี 2565-2573 จากค่าเฉลี่ย 3.2% ในช่วงปี 2554-2564
  • SMEs ไทย นวัตกรรมล้าหลังอาเซียน
ปัจจุบันจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ของไทยที่ลงทุนในนวัตกรรมและการยกระดับเทคโนโลยียังมีไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันจำนวนผู้ประกอบการที่พยายามบุกเบิกตลาดยังคงมีน้อยโดยเฉพาะในภาคดิจิทัล
ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเพิ่มผลิตภาพและขับเคลื่อนนวัตกรรม โดยในปี 2567 ไทยได้คะแนนดัชนีนวัตกรรมโลก (The Global Innovation Index) ที่ 30.71 คะแนน ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศภูมิภาคอาเซียนและโอเชียเนีย ซึ่งอยู่ที่ 39.09 คะแนน เนื่องจากมีจุดอ่อนด้านการพัฒนาทุนมนุษย์และการวิจัย
แม้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาโดยรวมของประเทศจะเพิ่มขึ้น แต่การลงทุนด้าน R&D ของภาคเอกชนยังคงกระจุกตัวอยู่ในบริษัทเพียงไม่กี่แห่ง แม้ในปี 2564 สัดส่วนการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนต่อค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสูงถึง 74% แต่การลงทุนเหล่านี้ยังคงกระจุก
โดยจำนวนธุรกิจเอกชนที่ลงทุนในกิจกรรมด้านการวิจัยและพัฒนายังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 2.9% ในปี 2559 ซึ่งต่ำกว่าประเทศรายได้ปานกลางและประเทศคู่เทียบอื่นๆ นอกจากนี้งานวิจัยที่ดำเนินการในมหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัยยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน
  • 4 อุปสรรคใหญ่ ฉุดรั้ง SMEs
ทั้งนี้ SMEs และผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับความท้าทายหลัก 4 เรื่อง ได้แก่
1. การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จำกัด
ผู้ประกอบการ MSME ไทยยังเผชิญข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคาร มีแนวโน้มถูกปฏิเสธสินเชื่อบ่อยกว่า และจำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรของตนเองในการลงทุนมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค นอกจากนี้ ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ในประเทศไทยยังมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ (เพียง 0.14% ของ GDP) และยังคงมีช่องว่างด้านการสนับสนุนเงินทุนสำหรับธุรกิจในระยะเริ่มต้นที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข
2. การขาดการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในระยะเริ่มต้น เช่น โครงการบ่มเพาะธุรกิจ (Incubator) และโครงการเร่งการเติบโตของธุรกิจ (Accelerator)
3. ทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตที่ไม่เพียงพอ
การประยุกต์ใช้กระบวนการใหม่ๆ และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีทักษะ ผลสำรวจจากธนาคารโลกพบว่า แรงงานส่วนใหญ่ของไทยมีทักษะระดับกลางค่อนไปทางล่าง โดยมีสัดส่วนแรงงานทักษะสูงเพียง 14% ต่ำกว่ามาเลเซีย และใกล้เคียงกับเวียดนาม สะท้อนว่าระบบการศึกษาของประเทศไทยไม่ได้ผลิตแรงงานที่มีทักษะที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง
4. อุปสรรคด้านกฎระเบียบ โดยเฉพาะในเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรม การค้า และการลงทุน
  • 7 ทางรอด SMEs ในตลาดโลก
ธนาคารโลกเสนอแนะ 7 แนวทางสำหรับรัฐบาลในการส่งเสริมความสามารถ SMEs ไทย โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. สนับสนุนการพัฒนาและยกระดับ SME ให้ทันสมัย
ทบทวนโครงการต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างแท้จริง พร้อมขยายช่องทางการเข้าถึงมาตรการ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME ทุกรายรับรู้ถึงการมีอยู่ของโครงการต่างๆ รวมถึงรายละเอียด รูปแบบการสนับสนุน และวิธีการเข้าร่วมโครงการ
2. ใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่มูลค่าโลก เพื่อเพิ่มนวัตกรรมและผลิตภาพ
ประเทศไทยต้องผ่อนปรนข้อจำกัดด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคการค้าบริการ รวมถึงลดข้อจำกัดบริการทางการเงิน ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจในประเทศกับห่วงโซ่มูลค่าโลกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศให้มากขึ้น
3. ผลักดันให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่
ภาครัฐต้องสนับสนุนให้เกิดโครงการบ่มเพาะธุรกิจ (Incubation) และโครงการเร่งการเติบโตของธุรกิจ (Acceleration) ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นที่ต้องการมากกว่าเดิม ควบคู่กับการสนับสนุนด้านการเงิน โดยต้องลดช่องว่างที่เป็นอุปสรรค
เพื่อให้มั่นใจว่ามีแหล่งเงินทุนเพียงพอสำหรับส่งเสริมสตาร์ทอัพในทุกระยะของการพัฒนา (ตั้งแต่การคิดค้นไอเดีย การสร้างต้นแบบ การเข้าสู่ตลาด จนถึงการขยายกิจการ) นอกจากนี้ ควรมีการประเมินกฎระเบียบปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาเงินทุนที่มีความเสี่ยง เช่น ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital)
4. เปลี่ยนรูปแบบการวิจัยและพัฒนาให้ตอบสนองตลาด
โดยขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาด้วยอุปสงค์หรือความต้องการของตลาด ทำให้งานวิจัยมีความเชื่อมโยงกับความต้องการภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ส่งเสริมโครงการวิจัยร่วมระหว่างภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาที่ขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนเป็นหลัก แทนที่จะนำโดยสถาบันการศึกษาเพียงฝ่ายเดียว
5. ปรับปรุงเครื่องมือสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา
โครงการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐจำเป็นต้องได้รับการประเมินใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ประกอบการ SMEs ที่จะได้รับการสนับสนุนในการสร้างนวัตกรรมทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการมากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องปรับปรุงมาตรการจูงใจทางภาษีสำหรับการวิจัยและพัฒนาให้เรียบง่าย เพื่อเพิ่มความชัดเจนและความสามารถในการคาดการณ์ของภาคธุรกิจ
6. พัฒนาแรงงานให้มีทักษะเทคโนโลยีขั้นสูง
ครอบคลุมถึงทักษะด้านดิจิทัลและความคิดสร้างสรรค์ ร่วมมือกับภาคเอกชนปรับปรุงและพัฒนากิจกรรมให้เท่าทันเทคโนโลยี นอกจากนี้ควรเสริมด้วยการดึงดูดแรงงานที่มีทักษะเป้าหมาย เพื่อเติมเต็มช่องว่างทางด้านทักษะที่มีอยู่ในปัจจุบันและในอนาคตระยะสั้นถึงระยะกลาง
7. สร้างการแข่งขันที่เท่าเทียม
ยกเลิกข้อจำกัดในการนำเข้าสินค้าทุนหรือบริการ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาคธุรกิจ สำหรับเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วตลาดสากล ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องพัฒนาขึ้นมาใหม่ แต่ควรส่งเสริมการเข้าซื้อและการนำมาปรับใช้ เพื่อผลักดันให้บริษัทต่างๆ แข่งขันพัฒนานวัตกรรม
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 👇🏻
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney
โฆษณา