20 ก.พ. เวลา 12:36 • ปรัชญา

[ ถ้าไม่นับถือศาสนาแล้วเอาอะไรยึดเหนี่ยวจิตใจ? ]

คำถามที่ว่า “ถ้าไม่นับถือศาสนาแล้วจะเอาอะไรยึดเหนี่ยวจิตใจ” ถือเป็นหนึ่งในคำถามที่พวกศาสนิกมักตั้งคำถามต่อผู้ที่ไม่นับถือศาสนา
ซึ่งถือเป็นการตั้งคำถามและความเข้าใจเรื่องชีวิตที่อาจจะบ้องตื้นไปหน่อย ที่มองว่าชีวิตของมนุษย์ไม่ว่าจะหันซ้ายหรือหันขวาจำเป็นต้องมีศาสนาคอยยึดอยู่ตลอด
อย่างแรกเลยก็อยากจะตั้งคำถามกลับว่า คุณคิดว่าศาสนาที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อราว ๆ 2,000 – 5,000 ปีมาแล้ว มันยังตอบโจทย์กับคุณค่าและค่านิยมของสังคมในยุคปัจจุบันได้จริง ๆ หรือ?
และถ้ามันตอบโจทย์จริง ๆ ทำไมมนุษย์ถึงต้องพัฒนาแนวคิดต่าง ๆ ขึ้นมาภายหลังอย่างไม่หยุดหย่อน ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องของ “จริยธรรม” ที่เป็นสากลต่าง ๆ อย่างการเคารพในสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น
.
ในปัจจุบันจำนวนคนที่ไม่นับถือหรือไม่เชื่อในศาสนาได้เติบโตขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งเรื่องที่ศาสนิกควรต้องคิดคือ โดยส่วนใหญ่แล้วคนเหล่านี้ล้วนเคยนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาแล้วทั้งสิ้น
ดั้งนั้นคำถามที่สำคัญก็คือ ที่เขาออกจากการเป็นศาสนิกก็เพราะอะไร? ก็ไม่ใช่ว่าศาสนาที่เขาเคยใช้ยึดเหนี่ยวเมื่อถึงจุดหนึ่งมัน “ใช้ไม่ได้” หรอกหรือ?
ในโลกยุคปัจจุบันที่มนุษย์มีพัฒนาการทางด้านความคิด ความรู้ และวิทยาศาสตร์ไปไกลในระดับหนึ่ง ยิ่งทำให้เขาตั้งคำถามกับศาสนาที่พวกเขาเคยนับถือมา
และเมื่อเขาไม่มีศาสนายังมีเรื่องอื่น ๆ อีกมากมายครับที่ยังสามารถมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจให้แก่พวกเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ ดนตรี ปรัชญา หลักการทางด้านวิทยาศาสตร์ หรืออะไรก็ตามที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตเขาได้โดยตรง ที่ไม่ต้องอาศัยความเชื่อหรือคำสอนใด ๆ ของศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง
เราคือมนุษย์ที่อ้างกันว่า “เรามีความสามารถในการคิด” ครับ ซึ่งนั่นทำให้เราต่างจากสัตว์อื่น ๆ เราคือ “โฮโมเซเปียนส์” ก็คือเป็นสายพันธุ์ที่สามารถใช้ความคิดได้ อันเป็นความสามารถหนึ่งของมนุษย์ในการใช้เหตุผลต่อเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งที่เป็น “ความเชื่อ” ทางศาสนา
.
[ ศีลธรรมที่เกิดจากเหตุผลและมนุษยธรรม ]
อีกคำถามที่ชาวศาสนาโดยเฉพาะในสังคมไทยชอบถามกันคือ เมื่อไม่มีศาสนาแล้วจะใช้อะไรยึดในการทำความดี? ซึ่งคำถามนี้เกิดจากการที่ศาสนิกหลายคนเชื่อว่า ศาสนาเป็นแหล่งกำเนิดของศีลธรรมแต่เพียงเท่านั้น ซึ่งนี่ถือเป็นความเข้าใจที่ผิดครับ เพราะเรื่องของศีลธรรมและความดีแท้จริงแล้วไม่ได้ขึ้นอยู่กับศาสนาเลยแม้แต่น้อย มนุษย์สามารถเป็นคนที่มีศีลธรรมและจริยธรรมได้โดยที่ไม่ต้องอาศัยหลักการหรือคำสอนทางศาสนา ด้วยหลักการที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของมนุษยธรรม ความมีเหตุผล และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
ในขณะที่ศาสนิกจำนวนหนึ่งเชื่อว่า ศาสนาเป็นกลไกเดียวในการกำหนดศีลธรรมและจริยธรรม ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าแนวคิดนี้อาจเป็นการ “ลดทอนศักยภาพของมนุษย์” ในการใช้เหตุผล ความคิด และความเห็นอกเห็นใจที่เป็นรากฐานทางศีลธรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับหลักคำสอนทางศาสนา
เพราะในแง่หนึ่ง การมีศีลธรรมสามารถเกิดจากกระบวนการคิดเชิงเหตุผล (Rational Morality) เพราะมนุษย์มีความสามารถในการไตร่ตรองว่าอะไรคือสิ่งที่ดีและไม่ดีได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะผ่านตรรกะเหตุผล การพิจารณาผลกระทบของการกระทำต่อสังคม และการคิดถึงหลักความเป็นธรรมทางสังคม
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นเลยที่ต้องอิงกับหลักคำสอนทางศาสนา และหลายครั้งหลักคำสอนทางศาสนานั้นไม่ตอบโจทย์หรือไปกันไม่ได้กับหลักการสมัยใหม่
ทั้งนี้ยังมี “จริยศาสตร์แบบมนุษยนิยม” (Humanistic Ethics) ปรัชญามนุษยนิยมแบบคร่าว ๆ ก็คือ เน้นว่ามนุษย์ควรปฏิบัติต่อกันด้วยความเมตตาและความเข้าใจโดยไม่ต้องมีอำนาจเหนือธรรมชาติมาเป็นตัวกำหนด จริยศาสตร์นี้ตั้งอยู่บนแนวคิดว่าเราควรเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น เพราะเราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าและศักดิ์ศรีในตัวเอง
.
อย่างที่ผู้เขียนได้เขียนไปในหลายบทความว่า “ความดี” หรือ “ศีลธรรม” นั้นไม่จำเป็นเลยที่ต้องขึ้นกับศาสนาแต่เพียงเท่านั้น เขายังสามารถมีศีลธรรมแบบโลกวิสัยที่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ๆ หรือหลักการจริยธรรมที่เป็นสากล เช่นการเคารพสิทธิเสรีภาพ หลักการเรื่องความเสมอภาค และหลักการสิทธิมนุษยชน ซึ่งหลักการต่าง ๆ เหล่านี้เป็น “สากล” มากกว่าศาสนาทั้งสิ้น
และที่สำคัญคือศีลธรรมในศาสนานั้น “ไม่เป็นสากล” เอาเสียเลย เพราะทุกศาสนาล้วนเกิดภายใต้วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และเป็นวัฒนธรรมของผู้คนเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ซึ่งคำถามก็คือการเอาหลักเกณฑ์ทางศีลธรรมของผู้คนเมื่อหลายพันปีมาใช้กับสังคม ณ ปัจจุบัน มันยังใช้ได้จริงหรือตอบโจทคุณค่าทางสังคมได้หรือไม่?
.
ผู้ที่สนับสนุนแนวคิดที่ว่า “ศีลธรรมต้องอิงกับศาสนาเท่านั้น” มักให้เหตุผลว่า หากปราศจากศาสนาแล้วมนุษย์จะไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องศีลธรรม แต่เท่าที่ทราบมีงานวิจัยทางมานุษยวิทยาและจิตวิทยาหลายชิ้นที่พบว่า มาตรฐานทางศีลธรรมมีอยู่ในทุกสังคมและวัฒนธรรมโดยที่ไม่เกี่ยวหรือไม่ต้องพึ่งพาถึงอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ เข้ามาเป็นมาตรฐาน
ทั้งนี้ยังพบว่าหลักศีลธรรมหลายประการ เช่น การเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น การไม่เบียดเบียดผู้อื่น และความซื่อสัตย์นั้นสามารถพบได้มากในสังคมที่ไม่ได้นับถือศาสนาเป็นหลัก
ทั้งนี้ การเชื่อว่าศาสนาเป็นแหล่งกำเนิดของศีลธรรมแต่เพียงอย่างเดียว อาจนำไปสู่แนวคิดแบบสุดโต่งที่ว่า “ผู้ไม่มีศาสนาจะไม่สามารถเป็นคนดีได้” ซึ่งถือเป็นมุมมองที่ขัดแย้งกับหลักฐานทางสังคมที่แสดงให้เห็นว่ามีบุคคลจำนวนมากที่ไม่มีศาสนาแต่ยังคงปฏิบัติตามจริยธรรมและมีคุณธรรมได้อย่างเคร่งครัด
สรุปก็คือ การที่ใครสักคนประกาศตัวว่าเขาปฏิเสธศาสนา ไม่ได้หมายความว่าเขาปฏิเสธคุณธรรมหรือไม่มีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เพราะว่าศีลธรรมและความดีงามไม่จำเป็นต้องขึ้นกับศาสนา มนุษย์สามารถพัฒนาจริยธรรมตนเองผ่านกระบวนการคิดเชิงเหตุผล ความเห็นอกเห็นใจ และความรับผิดชอบต่อสังคมได้เฉกเช่นเดียวกัน
โฆษณา