เมื่อวาน เวลา 06:49 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทรัมป์กับ Fear Trade Agreement - Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร

ตอนนี้ต้องเริ่มบัญญัติศัพท์เศรษฐศาสตร์กันใหม่ จาก FTA หรือ Free Trade Agreement มาในยุคของทรัมป์สิ่งที่เราเห็นกลายเป็น Fear Trade Agreement
จาก RTA หรือ Regional Trade Agreement ตอนนี้กลายมาเป็น Reciprocal Trade Agreement คือทรัมป์บอกต้องตาต่อตา ฟันต่อฟัน ประเทศคุณเก็บกำแพงภาษีสินค้าสหรัฐฯ เท่าไหร่ ผมก็จะเก็บภาษีสินค้าประเทศคุณให้เท่าเทียมกัน
2
ก่อนหน้านี้ บางคนมองว่าทรัมป์อาจเก่งแต่ขู่ แต่ไม่ทำจริงหรอก ทรัมป์ขู่เพื่อให้แต่ละประเทศรีบไปเจรจาประเคนผลประโยชน์ให้ แต่สุดท้ายทรัมป์คงไม่ขึ้นกำแพงภาษีจริงๆ หรอก ไม่อย่างนั้นผู้บริโภคสหรัฐฯ จะแย่เอาเพราะเงินเฟ้อ และตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจปั่นป่วนได้ ไม่ได้พุ่งแรงแบบที่ทรัมป์ชอบคุยโม้
ส่วนบางคนก็มองว่าทรัมป์ถนัดใช้กลยุทธ์ Escalate to Deescalate คือทรัมป์จะขึ้นกำแพงภาษีแรงๆ ให้โลกตกใจก่อน เพื่อบีบให้ประเทศต่างๆ มาเจรจา แล้วจึงค่อยๆ ลดกำแพงภาษีลง ภาษีที่ดูแรงๆ คงไม่ได้ค้างอยู่นาน
ขณะที่บางคนมองว่าทรัมป์อาจจะค่อยๆ ปรับขึ้นกำแพงภาษีทีละนิด เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคสหรัฐฯ ค่อยๆ ปรับตัวและเพื่อไม่ให้ช็อคตลาดมากไป แต่สุดท้ายทิศทางคือจะค่อยๆ ขึ้นกำแพงภาษีสินค้าต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ
1
ผ่านมาหนึ่งเดือน ข้อสรุปก็คือทรัมป์เป็นจอมยุทธไร้กระบวนท่า เพราะทรัมป์ใช้ทั้งสามวิธีผสมผสานกันไป พลิกกลับไปมาหลายตลบ
เปิดมาวันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์เซอร์ไพรส์ทุกคนด้วยการยังไม่ขึ้นกำแพงภาษีชาติใดๆ เลย แน่นอนทรัมป์รอดูว่าประเทศต่างๆ จะเอาอะไรมาเป็นรายการของบรรณาการ เพื่อเจรจากับสหรัฐฯ บ้าง
พอดูท่าบางชาติอาจไม่เชื่อว่าทรัมป์จะทำจริง ทรัมป์เริ่มขู่เตรียมเซ็นจะขึ้นแพงภาษีสินค้าแคนาดาและเม็กซิโกทันทีร้อยละ 25 ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนมองว่าถ้าขึ้นจริงตลาดปั่นป่วนแน่ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจเม็กซิโกและแคนาดาอย่างลึกซึ้ง และการขึ้นพรวดเดียวสูงขนาดนี้จะปรับตัวกันไม่ทัน
ผลสุดท้ายผู้นำทั้งสองชาติต่อสายเอาผลประโยชน์ไปแลกกับทรัมป์ ทรัมป์เลยบอกว่าจะหยุดไว้ก่อน 30 วัน และจะเจรจาเพิ่ม แต่สำหรับจีนนั้น ทรัมป์ซัดเรียบร้อยขึ้นกำแพงภาษีสินค้าจีนร้อยละ 10
สังเกตไหมครับว่าของจีนนั้นเป็นแนวค่อยๆ ขึ้น เพราะแต่เดิมโฆษณาหาเสียงไว้ว่าจะขึ้นร้อยละ 60 แต่ก็นั่นแหละ ถ้าขึ้นพรวดเดียวร้อยละ 60 ตลาดคงช็อคกันหมด แต่ปรากฎว่าพอขึ้นร้อยละ 10 ตลาดรับข่าวได้ดีมาก เพราะดีกว่าความคาดหวังไปมาก
ต่อมาทรัมป์ก็ประกาศเก็บภาษีสินค้าเหล็กทั่วโลกร้อยละ 25 อันนี้ถือว่าขึ้นในอัตราที่สูง ตามแนวทาง Escalate to deescalate ให้ทุกคนไปเจรจาเพื่อหวังจะปรับลดลง
ถัดไปทรัมป์ตั้งโต๊ะแถลงข่าวต่อบอกนัดหน้าจะขึ้นกำแพงภาษีกับทุกประเทศ แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน หรือที่ทรัมป์เรียกว่า Reciprocal Tariffs โดยสั่งกระทรวงพาณิชย์ว่าให้ไปทำแผนให้เสร็จในเดือนเมษายนว่าแต่ละประเทศทั่วโลก (ทุกประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐฯ) เอาเปรียบสหรัฐฯ อย่างไรบ้าง และสหรัฐฯ ต้องตั้งกำแพงภาษีตอบโต้กลับรายประเทศอย่างไร
เราต้องเข้าใจให้ชัดว่าทิศทางของทรัมป์คือขึ้นกำแพงภาษี ไม่ใช่แค่คำขู่เพื่อเอาผลประโยชน์หรือเพื่อบีบให้มาเจรจา แต่ในช่วงแรกทรัมป์จะเว้นระยะไว้ก่อน เพื่อให้คู่ค้ามาเจรจาและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ แต่ผมมองว่าสุดท้ายก็ไม่รอด โดนซัดอยู่ดี
เพราะเป้าหมายของทรัมป์คือ ต้องการกระตุ้นให้โรงงานย้ายกลับมาสหรัฐฯ แต่ต้องค่อยๆ ทำไม่ใช่ขึ้นกำแพงภาษีกระชากในทันที เพราะไม่เช่นนั้นตลาดก็จะช็อคได้ แต่ในระยะยาวทรัมป์จะค่อยๆ ขึ้นกำแพงภาษี เพื่อกดดันบีบโรงงานให้ย้ายฐานการผลิตกลับมาสหรัฐฯ และให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคค่อยๆ ปรับตัว
มีคนถามว่า แล้วจะไม่กระทบเงินเฟ้อหรือผู้บริโภคสหรัฐฯ หรือ คำตอบแรกคือ เงินเฟ้อขาขึ้นแน่นอน แต่ผลกระทบไม่ได้ถึงขั้นหายนะ เราจะไม่ได้เห็นปรากฎการณ์เงินเฟ้อร้อยละ 8-10 ค้างเติ่งหลายเดือนเหมือนสมัยไบเดน
เงินเฟ้อจากกำแพงภาษีของทรัมป์นั้น สุดท้ายอาจน้อยกว่าที่หลายคนคิด เพราะการปรับตัวของซัพพลายเชน การแบกรับภาษีโดยผู้นำเข้าโดยไม่ได้ถ่ายโอนไปยังผู้บริโภค การลดค่าเงินของประเทศคู่ค้า การที่ราคาของขึ้นแบบครั้งเดียวจบ (one-off inflation) ไม่ได้ขึ้นต่อเนื่องแบบเงินเฟ้อที่ค้างเติ่งหลายเดือนจากเศรษฐกิจที่ร้อนแรงเกินไปแบบในยุคไบเดน
แถมยังมีสองจังหวะที่จะเป็นตัวหนุนให้ทรัมป์ขึ้นกำแพงภาษีสินค้าต่างชาติได้มากขึ้น จังหวะแรกคือ หากทรัมป์ลดภาษีในประเทศลงได้สำเร็จ จะทำให้คนสหรัฐฯ มีเงินเก็บในกระเป๋าและทนได้สูงขึ้นต่อราคาข้าวของที่จะแพงขึ้น ทรัมป์หาเสียงไว้ว่าจะลดภาษีในประเทศอย่างมโหฬารที่สุดในประวัติศาสตร์ และจะเอารายได้จากภาษีนำเข้ามาทดแทน ทรัมป์จะตั้ง External Revenue Service ขึ้นมาเป็นหลักเพิ่มเติมจาก Internal Revenue Service
อีกจังหวะคือ หากทรัมป์สามารถกดราคาพลังงานลง ด้วยนโยบายการขุดน้ำมันและเพิ่มซัพพลายน้ำมันในตลาดโลก ก็จะช่วยกดเงินเฟ้อ และพร้อมที่จะขึ้นกำแพงภาษีสินค้าต่างชาติได้มากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะกระทบเงินเฟ้อมากนัก
ไทยต้องเริ่มเปลี่ยนจากโจทย์ตั้งรับที่ว่าจะไปเจรจากับทรัมป์อย่างไรให้เขาไม่ขึ้นแพงภาษีเรา ส่วนที่เจรจาก็ต้องเจรจาไป เพื่อชะลอเวลาให้มากที่สุด แต่แค่นั้นไม่พอ ต้องเตรียมใจไว้ด้วยว่าช้าเร็วทิศทางคือเขาจะขึ้นเราและทั่วโลกอยู่ดี และต้องวางยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อปรับตัวภายใต้ยุคการกีดกันทางการค้าและการถอยหลังกลับของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ
โฆษณา