เมื่อวาน เวลา 04:30 • ไลฟ์สไตล์

ทำความรู้จัก “สุกี้ยากี้” ก่อนเกิดดรามาเมนู “สุกี้แห้ง”

ทำความรู้จัก ที่มา “สุกี้ยากี้” เมนูอาหารจานร้อนยอดฮิต ก่อนเกิดดรามา “สุกี้แห้ง” แบบไทย
ท่ามกลางดรามา “สุกี้แห้ง” ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงว่าจะต้องผัดหรือต้ม ซึ่งวันนี้ทีมข่าว PPTVHD36 จะพาไปทำความรู้จักที่มาของเมนู “สุกี้” หรือ “สุกี้ยากี้”
โดย “สุกี้ยากี้” หรือ “สุกี้” เป็นอาหารจานร้อนที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น นิยมรับประทานในช่วงฤดูหนาวและในโอกาสสังสรรค์ต่างๆ มีลักษณะเป็นซุป มักมีส่วนผสมเป็นเนื้อสัตว์ เต้าหู้ ผัก วุ้นเส้น ไข่ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจนแพร่หลายในหลายประเทศ
สุกี้ยากี้ เมนูอาหารจานร้อนยอดฮิต
“สุกี้ยากี้” กำเนิดครั้งแรกในยุคโบราณของญี่ปุ่น โดยสมัยนั้นชาวญี่ปุ่นจะย่างเนื้อสัตว์บนพลั่ว ซึ่งพลั่วในภาษาญี่ปุ่นคือ
Suki ส่วนเนื้อสัตว์ในภาษาญี่ปุ่น คือ Yaki จึงเรียกกันว่า Sukiyaki ต่อมาในยุคเอโดะ ( ค.ศ. 1603 - 1868 ) ชาวญี่ปุ่นเริ่มนิยมรับประทานอาหารชนิดหนึ่ง ชื่อว่า นามะโมะ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับสุกี้ยากี้ เพราะใช้หม้อเหล็กหล่อต้มน้ำซุปและเนื้อสัตว์ และจิ้มน้ำจิ้มสุกี้เพื่อเพิ่มรสชาติให้แก่อาหาร
เมื่อเข้าสู่ยุคเมจิ ( 1868 – 1912 ) เป็นช่วงที่วัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลภายในญี่ปุ่น โดยมีวัตถุดิบใหม่ๆ เช่น เนื้อวัว เนย ซึ่งถูกนำมาใช้ทำสุกี้ยากี้ จึงมีรสชาติและรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น จนปัจจุบัน สุกี้ยากี้ กลายเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมมากจากทั่วโลก และพบเจอได้ทั่วไป
สุกี้แบบญี่ปุ่น
รูปแบบสุกี้ของญี่ปุ่นนั้น มีส่วนประกอบเป็น ผัก เห็ด ไข่ เต้าหู้ น้ำซุป และเนื้อสัตว์ซึ่งอาจเป็นเนื้อวัว เนื้อหมู หรืออาหารทะเลก็ได้ ซึ่งนำวัตถุดิบทั้งหมดใส่ลงไปในหม้อเหล็กแบบแบน ต้มด้วยเหล้าหวานกับซอสรวมกันแล้วปิดฝาแล้วรอจนกว่าจะสุก เมื่อพร้อมรับประทาน ก็นำไปเนื้อไปจิ้มกับไข่ดิบก่อนรับประทาน สามารถกินร่วมกันได้หลายคน ซึ่งสุกี้ยากี้นั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
สุกี้ยากี้แบบคันไซ ( โอซาก้า )
รูปแบบของคันไซ จะนิยมใช้เนื้อวัวส่วนที่มีไขมันแทรก ต้มลงในน้ำซุปที่ทำจากโชยุ น้ำตาล มิริน และสาหร่ายคอมบุ ซึ่งจะปรุงไปพร้อมๆ กับการต้มสุกี้ยากี้
สุกี้ยากี้แบบคันโต ( โตเกียว )
รูปแบบของคันโต จะนิยมใช้เนื้อวัวส่วนสันใน ต้มลงในน้ำซุปที่ทำจากโชยุ น้ำตาล มิริน และน้ำซุปดาชิ ซึ่งจะปรุงซอสให้เสร็จเรียบร้อยก่อนแล้วค่อยเริ่มทำสุกี้ยากี้
ทำความรู้จักเมนู สุกี้ยากี้
สุกี้แบบจีน
รูปแบบสุกี้ของจีนนั้น มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของชื่อ โดยประเทศจีนนั้นเรียกสุกี้ว่า หม้อไฟ ( หั่วกัว ) ทั้งยังแบ่งออกไปตามภูมิภาค ดังนี้
สุกี้ไหหลำ
มีส่วนประกอบเป็นเนื้อวัว ที่หมักกับเต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ ผงพะโล้ ส่วนน้ำจิ้มนั้นใช้เต้าหู้ยี้ผสมกับน้ำมันงา ส่วนผักนั้นมักใช้เป็นผักกาดขาวและผักบุ้ง และสิ่งที่จำเป็นต้องมี ห้ามขาดเด็ดขาด คือ หมึกแช่
สุกี้กวางตุ้ง
มีส่วนประกอบเป็นเนื้อสัตว์ที่หลากหลายรูปแบบ โดยมีเครื่องปรุงหลายแบบ ส่วนน้ำจิ้ม ซอสพริกถือเป็นเครื่องปรุงหลัก และนิยมการรับประทานแบบหม้อไฟ ( ภัตตาคารไทยส่วนใหญ่ทานแบบนี้ )
สุกี้เสฉวน
มีส่วนประกอบที่โดดเด่นเป็นเครื่องเทศเฉพาะของเสฉวน คือ หมาล่า สามารถทำให้เกิดอาการชาได้ด้วยความเผ็ดจากเครื่องปรุง
สุกี้กุ้ยหลิน
มีส่วนประกอบเป็นเห็ดและเครื่องยาจีน ซึ่งใช้ในการปรุงเป็นหลัก
สุกี้แต้จิ๋ว
มีส่วนประกอบเป็นเนื้อไก่และหมู ลูกชิ้นปลาต่างๆ ผัก วุ้นเส้นส่วนน้ำจิ้มใช้เต้าหู้ยี้เป็นหลัก ซึ่งมีลักษณะซึ่งคล้ายกับสุกี้กวางตุ้ง
สุกี้ยากี้แบบไทย กับจุดเด่นที่น้ำจิ้ม
สุกี้แบบไทย
รูปแบบสุกี้ของไทยนั้น มีการแพร่หลายในประเทศไทยมานานหลายทศวรรษ โดยจุดกำเนิดนั้น มาจากร้านอาหารในกรุงเทพมหานคร ที่เริ่มให้บริการหม้อไฟแบบจีนภายใต้ชื่อ "สุกียากี้" ใน ปี พ.ศ. 2498 แต่คนไทยเรียกย่อว่า “สุกี้“ ต่อมาร้านอาหารกวางตุ้ง ชื่อ สุกี้โคคา ที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2500 ที่ซอยทานตะวัน สีลม นำเสนอสุกี้ในรูปแบบไทยและได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง จึงมีร้านอาหารมากมายที่เกิดขึ้นมาในรูปแบบคล้ายๆกัน ซึ่งเป็นการดัดแปลงหม้อไฟแบบจีนให้เข้ากับไทย มีลักษณะคล้ายกับ ชาบูชาบู และ โยเซนาเบะ
สุกี้ไทยนั้นมีส่วนประกอบที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ น้ำจิ้ม ที่มีส่วนประกอบเป็น กระเทียมสับ น้ำ มะนาว และ พริก ส่วนวัตถุดิบประกอบด้วย เนื้อสัตว์ ผัก อาหารทะเล และลูกชิ้น มักรับประทานกับข้าวต้มหรือบะหมี่ ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล
นอกจากนั้นแล้ว ไทยยังมีเมนู “สุกี้แห้ง” ที่เชื่อว่าเป็นเมนูโปรดของหลายๆคน ซึ่งเมนูนี้ร้านอาหารส่วนใหญ่มักจะปรุงด้วยการผัดส่วนผสมในกระทะ แต่ก็มีร้านอาหารบางแห่งปรุงด้วยการต้มแบบน้ำขลุกขลิก ซึ่งเมนูดังกล่าวก็คงขึ้นอยู่กับสูตรของแต่ละร้าน และขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของผู้บริโภคแต่ละคน
ขอบคุณข้อมูล : www.น้ําจิ้มสุกี้.com
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : http://pptv36.news/1oQU
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา