เมื่อวาน เวลา 07:08 • ปรัชญา

watthakhanun

ส่วนทางด้านคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ท่านเจ้าคุณพระอุดมสิทธินายก (กำพล คุณงฺกโร ป.ธ. ๙), รศ., ดร. คณบดีคณะสังคมศาสตร์
ท่านพระครูสังฆวิริยกิจ, รศ., ดร. รองคณบดีคณะสังคมศาสตร์ฝ่ายวิชาการ
รศ.ดร. ภัทรพล ใจเย็น รองคณบดีคณะสังคมศาสตร์ฝ่ายบริหาร
ท่านพระครูโอภาสนนทกิตติ์, รศ., ดร. เจ้าคณะอำเภอบางกรวย ที่ปรึกษาคณะสังคมศาสตร์
ท่านพระครูวิมลสุวรรณกร, ผศ., ดร. รองเจ้าคณะอำเภอปากเกร็ด ที่ปรึกษาคณะสังคมศาสตร์
ยกทีมมาถวายมุทิตาสักการะ กลายเป็นว่าคณะสังคมศาสตร์แทบจะยึดไปทั้งงาน ท่านเจ้าคุณพระอุดมสิทธินายกยังบอกว่า "ถ้าไม่รีบมา เดี๋ยวคณะอื่นจะยึดตัวที่ปรึกษาของผมไป" ก็คือกระผม/อาตมภาพเองเป็นที่ปรึกษาของคณะสังคมศาสตร์ มจร.นี้เช่นกัน
อีกท่านหนึ่งที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ก็คือ รศ.,ดร. สมศักดิ์ บุญปู่ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ด้านกิจการและทรัพย์สิน ผู้อำนวยการหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาพุทธบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ท่านอาจารย์สมศักดิ์สอนพวกกระผม/อาตมภาพมาตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรบริหารกิจการคณะสงฆ์เช่นกัน
ต้องบอกว่าเป็นอาจารย์ที่รักลูกศิษย์มาก ถึงเวลาใกล้สอบก็จะแอบเอากระดาษช็อตโน้ตมาให้ บอกว่าให้อ่านบทนั้นบทนี้มา แล้วถึงเวลาสรุปมาให้ได้ว่าใจความสำคัญเป็นอย่างไร ครั้นถึงเวลาสอบ ปรากฏว่าข้อสอบมาตามแนวนั้นจริง ๆ พวกกระผม/อาตมภาพแทบจะอุ้มท่านอาจารย์โยนขึ้นฟ้าไปเลย เพราะถ้าหากท่านไม่บอกว่าบริเวณไหน พวกเราก็ต้องอ่านกันทั้งเล่ม แต่ถ้าบอกว่าบทไหนนี่กลายเป็นเรื่องเล็ก เพราะว่าเราทำสรุปกันทุกบทอยู่แล้ว
ส่วนท่านอื่นที่นึกไม่ถึงอย่างเช่นว่าคุณนวลจันทร์ เพียรธรรม ประธานกรรมการบริหารบริษัทเอ็นซีทัวร์นั้น พาน้องหนึ่ง (นางสาวณิชารีย์ จั่นแก้ว) และน้องการ์ตูน (นางสาวศรัณย์พร บุรินทรโกษฐ์) สองผู้ช่วยคู่บารมีของตัวเองมา พร้อมกับโปรแกรมนิมนต์กระผม/อาตมภาพไปกราบองค์ดาไลลามะที่ประเทศอินเดีย
แม้ว่าโปรแกรมจะแพงอยู่ในระดับหกหมื่นกว่าบาท แต่ดูสถานที่พัก ตลอดจนกระทั่งการเดินทางภายในด้วยเครื่องบินแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างจะเป็นมิตรทีเดียว กระผม/อาตมภาพคงต้องหาเวลาในช่วงหลังสงกรานต์แล้ว ถึงจะเดินทางไป เพราะว่าองค์ดาไลลามะอยู่ที่รัฐหิมาจัลประเทศ ซึ่งเป็นรัฐอยู่ตีนเขาหิมาลัย อากาศค่อนข้างหนาวเย็น ถ้าไปช่วงเวลาอื่น เกิดญาติโยมร่วมคณะเดินทางทนหนาวไม่ไหวก็จะยุ่งยากอีก
ในส่วนอื่น ๆ นั้น ทั้งพระภิกษุสามเณรและญาติโยมที่แห่แหนกันมา ส่วนมากก็มาร่วมแสดงความยินดีที่กระผม/อาตมภาพรับภาระมากขึ้น สิ่งต่าง ๆ ที่นำมาถวาย แทบต้องเอารถสิบล้อมาขน ถึงจะกลับวัดท่าขนุนได้..! ต้องบอกว่านาน ๆ เปิดโอกาสให้สักทีก็กลายเป็นอย่างที่เห็นนี้
เมื่อถึงเวลากระผม/อาตมภาพขอตัวไปฉันเพล แล้วก็มาตรวจการณ์ในเว็บไซต์วัดท่าขนุน มี "นักเลงดี ตาถึง" ถามว่า เขี้ยวเสือสาลิกา หลวงปู่ปาน วัดบางเหี้ย ที่กระผม/อาตมภาพให้ไอ้ตัวเล็กนำไปลงเพื่อร่วมสร้างพิพิธภัณฑ์วัดท่าขนุนนั้น บางตัวดำปี๋เงาวับมาเลย ลักษณะโดนทอดน้ำมันมาหรือไม่ ?
กระผม/อาตมภาพก็ต้องบอกไปอย่างชนิดที่เรียกว่าให้ความรู้กันอย่างไม่ต้อง "กั๊ก" ก็คือถ้าเป็นเขี้ยวเสือทอดน้ำมันมาจะมีการแตกราน ซึ่งลักษณะเป็นเสี้ยน ๆ เหมือนกับเสี้ยนไม้ ท่านที่ไม่มีประสบการณ์จะไม่รู้ว่าแล้วทำไมเขี้ยวเสือที่กระผม/อาตมภาพนำมาให้ จากญาติโยมผู้มีจิตศรัทธานั้น บางตัวถึงได้ชุ่มโชก ฉ่ำแฉะ และค่อนข้างดำเหมือนกับทอดน้ำมันมาเลย ?
พวกนั้นส่วนใหญ่จะโดนยัดอยู่ในตลับสีผึ้งมาเป็นระยะเวลายาวนาน บางทีก็ ๕๐ ปี ๖๐ ปี บางตัวอาจจะถึง ๑๐๐ ปี เนื่องเพราะว่าตั้งแต่สมัยต้นรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา ดังนั้น..ถ้าเจอลักษณะอย่างนั้นอย่าไปฟันธงว่าเป็นของทอดน้ำมันแกล้งเก่า เนื่องเพราะว่าท่านจะพลาดของดีไปอย่างน่าเสียดาย เพราะไม่รู้ว่าในสมัยก่อน คนเรานิยมใช้สีผึ้งกัน เมื่อถึงเวลามีของขลังก็มักจะยัดเอาไว้ในตลับสีผึ้ง
กระผม/อาตมภาพเจอญาติโยมท่านหนึ่ง ที่ได้สมบัติจากบรรพบุรุษมา ต้องค่อย ๆ ควักเสือขึ้นมาแล้วก็ทำความสะอาด ไม่ว่าจะเช็ด จะล้าง จะลงแปรงอย่างไร สีผึ้งก็ไม่ค่อยจะยอมหลุดจากตัวเสือ เมื่อมาถามกระผม/อาตมภาพ จึงบอกไปว่า "คุณฉลาดน้อยไปหน่อย ถึงเวลาตอนเที่ยงเอาไปตากแดด พอสีผึ้งละลาย ก็ใช้ไม้จิ้มฟัน
เขี่ยเสือออกมา เอาผ้าสะอาดเช็ดสองทีก็จบแล้ว" ทำเอาอีกฝ่ายหนึ่งแทบจะตบกบาลตัวเอง เพราะว่าขาดประสบการณ์เหล่านี้เป็นต้น เพียงแต่ว่าไอ้ตัวเล็กแจ้งมาว่า ญาติโยมทั้งหลายจองหมดเกลี้ยงไปแล้ว ท่านที่มาช้าก็โปรดรอของแพงในโอกาสหน้าไปก็แล้วกัน..!
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘
โฆษณา