วันนี้ เวลา 03:00 • ข่าวรอบโลก

ศึกสองมหาอำนาจเอเชีย!!

‘Sino-Indian War’ สงครามระหว่างจีนและอินเดีย ปัญหาข้อพิพาทพรมแดนที่ยืดเยื้อนานกว่า 6 ทศวรรษ
ปี 1962 เกิดความขัดแย้งด้วยอาวุธระหว่างจีนและอินเดียขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน เป็นการยกระดับข้อพิพาทกรณีพรมแดนระหว่างจีน-อินเดีย การสู้รบเกิดขึ้นตามแนวชายแดนของอินเดียกับจีนบริเวณชายแดนตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ทางตะวันออกของภูฏาน และในอักไซชินทางตะวันตกของเนปาล
การแบ่งแยกอินเดีย-ปากีสถาน (1947) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่สงครามเย็นได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั่วโลก ทำให้เกิดข้อพิพาทเรื่องพรมแดนในอนุทวีปอินเดีย เป็นจุดที่พรมแดนของ 3 ประเทศคือ อินเดีย ปากีสถาน และจีน มาบรรจบกัน
หลังจากปราบปรามทิเบตในปี 1950 อินเดียได้ให้การสนับสนุนและที่พักพิงแก่ ‘ดาไลลามะ’ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต ซึ่งเป็นผู้นำการต่อต้านการยึดครองทิเบตของจีน จีนก็เริ่มมีข้อพิพาทเรื่องพรมแดนกับอินเดียในหลายจุด และกับอีกหลาย ๆ ประเทศในเทือกเขาหิมาลัยได้แก่ เนปาล ภูฏาน และรัฐสิกขิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘อักไซชิน’
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคแคชเมียร์ บริเวณเหนือสุดของอนุทวีปอินเดียในเอเชียกลางใต้ ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดของแคชเมียร์-อินเดีย เป็นพื้นที่ที่ถูกละเลยมานานของอนุทวีปอินเดียเนื่องจากความห่างไกลและโดดเดี่ยว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปเมื่อจีนพยายามเชื่อมต่อทิเบตกับซินเจียงด้วยสร้างเส้นทางลาดตระเวนทางหารผ่านภูมิภาคนี้ อินเดียคัดค้านการเข้ามาของจีนในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเขตการปกครองของจีนในแคชเมียร์ถูกอ้างสิทธิ์โดยอินเดียว่าเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ภูมิภาคลาดักห์’ ที่อยู่ภายใต้การบริหารของอินเดีย
หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ และเกิดการแบ่งแยกประเทศ ปากีสถานกลายเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับแรกของอินเดีย เนื่องจากกองทัพอินเดียมีการแบ่งแยกตามเชื้อชาติ และมีนโยบายไม่รับนายทหารที่มีเชื้อชาติเดียวกันในหน่วยทหารเดียวกัน ทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างนายทหารและทหารชั้นผู้น้อยขึ้นไปทั่ว โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างนายทหารกับทหารชั้นผู้น้อยนั้นต้องพัฒนาขึ้นด้วยเวลาเพื่อให้การเรียนรู้เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย การร่วมสู้รบด้วยกันโดยไม่มีสายสัมพันธ์จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
สงครามเย็นที่เริ่มต้นด้วยการปิดล้อมเบอร์ลินทำให้พันธมิตรอังกฤษ-อเมริกันต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งน้ำมัน พันธมิตรหลายฝ่ายตั้งแต่ตุรกีไปจนถึงปากีสถานต่างก็พยายามปกป้องตนเองจากลัทธิคอมมิวนิสต์ และรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจของประเทศเหล่านั้นพยายามรักษาความเป็นเจ้าของแหล่งน้ำมันโดยตรง อินเดียตระหนักดีถึงธรรมชาติของการแสวงหาอาณานิคมยุคใหม่ของชาติตะวันตกเหล่านี้ และไม่ต้องการเสียอำนาจอธิปไตย
จึงได้กำหนดนโยบายต่างประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ปากีสถานได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์รุ่นใหม่จากสหรัฐอเมริกา ในขณะที่อินเดียต้องทนใช้อาวุธยุทโธปกรณ์รุ่นเก่าตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ของชาติตะวันตก นั่นหมายความว่า อินเดียต้องลงทุนกำลังคนมากขึ้นเพื่อปกป้องแคชเมียร์และปัญจาบจากปากีสถาน
อินเดียต้องทำสงครามกับปากีสถานกรณีแคชเมียร์ในปี 1948 จึงไม่มีกำลังรบเหลือมากพอที่จะสู้รบกับจีน ซึ่งจนถึงปี 1950 อินเดียเองยังไม่มีแม้แต่การคาดคะเนภัยคุกคามจากจีน กองทัพอังกฤษเดิมประจำการบริเวนชายแดนจีน-ทิเบต แต่หลังจากอินเดียได้รับเอกราชภารกิจดังกล่าวก็ตกเป็นหน้าที่ของกองทัพอินเดีย อินเดียรู้ดีว่า ชายแดนอินเดีย-จีนนั้นยากที่จะป้องกันได้
เพราะการสร้างระบบส่งกำลังบำรุงและป้อมค่ายเป็นไปได้ยาก ‘เส้นแม็กมาฮอน’ เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างทิเบตและอัสสัมของอินเดีย (ในขณะที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ) ซึ่งการเจรจาระหว่างทิเบตและสหราชอาณาจักรเมื่อสิ้นสุดการประชุมชิมลา (ตุลาคม 1913–กรกฎาคม 1914) และตั้งชื่อตามเซอร์เฮนรี แม็กมาฮอน ผู้เจรจาคนสำคัญของอังกฤษ
เส้นเขตแดนนี้ทอดยาวจากชายแดนด้านตะวันออกของภูฏานไปตามสันเขาหิมาลัยจนถึงโค้งแม่น้ำพรหมบุตร ซึ่งแม่น้ำสายนี้ไหลออกจากเส้นทางทิเบตสู่หุบเขาอัสสัม ผู้แทนของรัฐบาลสาธารณรัฐจีนได้เข้าร่วมการประชุมที่เมืองชิมลาด้วย แต่ปฏิเสธที่จะลงนามในข้อตกลงหลักเกี่ยวกับสถานะและเขตแดนของทิเบต ด้วยเหตุผลว่า ทิเบตอยู่ภายใต้การปกครองของจีนและไม่มีอำนาจที่จะทำสนธิสัญญา จีนยังคงยืนหยัดในจุดยืนนี้มาจนถึงปัจจุบัน และยังอ้างว่าดินแดนของจีนขยายลงไปทางใต้จนถึงเชิงเขาหิมาลัย
หลังจากการปะทะระหว่างจีน-อินเดียบริเวณชายแดนหลายครั้งในช่วงปี 1959 ถึง 1962 ที่สุดกองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้ข้าม ‘เส้นแม็กมาฮอน’ เข้าโจมตีอินเดียในปี 1962 กองทัพอินเดียต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการเตรียมกำลังทหารให้พร้อมรบในสภาพออกซิเจนไม่เพียงพอ ในขณะนั้นกองทัพอินเดียเองก็ไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์เพียงพอที่จะต้านทานกองทัพจีน
หลังจากจีนได้ทำการปราบปรามการลุกฮือของชาวทิเบตในเขตปกครองตนเองทิเบต กองทัพจีนได้ข้ามพรมแดนโจมตีอินเดียจนกลายเป็นกรณีพิพาทที่รุนแรง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 1962 ทำให้กองกำลังอินเดียพ่ายแพ้อย่างราบคาบ โดยมีทหารเสียชีวิตหรือถูกจับกุมกว่า 7,000 นาย และพื้นที่ลุ่มในรัฐอัสสัมก็เปิดโล่งให้ผู้รุกรานเข้ายึดครอง กองกำลังของจีนสามารถยึดครองดินแดนอินเดียทางใต้ของ ‘เส้นแม็กมาฮอน’
ปัจจัยสำคัญสองประการที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างจีนกับกองทหารอินเดียในที่สุด ได้แก่ ท่าทีของอินเดียเกี่ยวกับพรมแดนที่เป็นข้อพิพาทและความพยายามของอินเดียในการบ่อนทำลายการยึดครองทิเบตของจีน ซึ่งจีนมองว่า "มีความจำเป็นต้องลงโทษและยุติความพยายามของอินเดียที่จะบ่อนทำลายการควบคุมทิเบตของจีน ซึ่งเป็นความพยายามของอินเดียที่จีนมองว่ามี วัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูสถานะเดิมก่อนปี 1949 ของทิเบต" อีกประการหนึ่งคือ "มีความจำเป็นต้องลงโทษและยุติการรุกรานของอินเดียต่อดินแดนของจีนตามแนวชายแดน"
ผู้นำจีนเลือกช่วงที่ ‘วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา’ กำลังลุกลามในการโจมตีอินเดีย โดยคาดว่า วิกฤตการณ์ในคิวบาจะยืดเยื้อต่อไปอีก ซึ่งจะทำให้มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ หันเหความสนใจจากการแทรกแซงในอินเดียได้ แต่สหรัฐฯ สามารถแก้ปัญหาคิวบาได้อย่างรวดเร็ว ทำให้วอชิงตันสามารถตอบสนองต่อคำร้องขอความช่วยเหลือจาก ‘ชวาหระลาล เนห์รู’ นายกรัฐมนตรีอินเดียได้
ขณะที่เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ กำลังเดินทาง จีนได้ประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน และหลังจากนั้นไม่นานจีนก็ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ยึดครองจากอินเดียได้ ปัจจุบัน จีนยังคงควบคุมพื้นที่ประมาณ 14,700 ตารางไมล์ (38,000 ตารางกิโลเมตร) ใน ‘อักไซชิน’ และพื้นที่ดังกล่าวยังคงเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างสองประเทศอยู่จนทุกวันนี้
ภายหลังจาก ‘สงครามระหว่างจีนและอินเดีย’ ในปี 1962 แล้วมีกรณีพิพาทและการปะทะระหว่างกำลังทหารจีนและอินเดียต่อเนื่องเรื่อยมาอีกหลายครั้ง อาทิ
- ปี 1967 การรบที่ Nathu La และ Cho La เป็นการปะทะกันหลายครั้งระหว่างจีนและอินเดียบนพรมแดนของอาณาจักรสิกขิมในเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งในขณะนั้นเป็นรัฐในอารักขาของอินเดีย การปะทะ เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 11 กันยายน เมื่อกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเปิดฉากโจมตีฐานที่มั่นของอินเดียที่ Nathu La และกินเวลานานจนถึงวันที่ 15 กันยายน ต่อมาในเดือนตุลาคมมีการปะทะกันอีกครั้งเกิดขึ้นที่ Cho La และสิ้นสุดลงในวันเดียวกัน
- ปี 1975 วันที่ 20 ตุลาคม ทหารอินเดีย 4 นายถูกสังหารที่ตูลุงลาในรัฐอรุณาจัลประเทศ ตามแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของรัฐบาลอินเดีย กองลาดตระเวนของ Assam Rifles ซึ่งประกอบด้วยนายทหารชั้นประทวน (NCO) 1 นาย และพลทหารอีก 4 นาย ถูกซุ่มโจมตีโดยทหารจีนประมาณ 40 นาย ในพื้นที่ซึ่งอยู่ในอาณาเขตของอินเดีย และมีการลาดตระเวนเป็นประจำมาหลายปีโดยไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ
เกิดขึ้น สมาชิกหน่วยลาดตระเวน 4 นายได้รับการระบุในตอนแรกว่าสูญหาย ก่อนที่จะได้รับการยืนยันผ่านช่องทางการทูตว่า พวกเขาถูกทหารจีนสังหาร ศพของพวกเขาถูกส่งคืนในภายหลัง รัฐบาลอินเดียได้ประท้วงรัฐบาลจีนอย่างรุนแรง
- ปี 1987 การปะทะกันระหว่างจีนและอินเดียที่หุบเขา Sumdorong Chu ซึ่งอยู่ติดกับเขต Tawang รัฐอรุณาจัลประเทศ และเขต Cona ทิเบต การเผชิญหน้าทางทหารเริ่มต้นขึ้นเมื่อจีนเคลื่อนกำลังทหารจำนวนหนึ่งไปยัง Wangdung ซึ่งเป็นทุ่งหญ้าทางตอนใต้ของ Sumdorong Chu ซึ่งอินเดียอ้างว่าเป็นดินแดนของตน กำลังทหารอินเดียยืนหยัดต้านทานอยู่บนสันเขา Longro La ที่อยู่ใกล้เคียง
และทั้งสองฝ่ายได้เคลื่อนกำลังทหารจำนวนมากไปยังชายแดน วิกฤตการณ์คลี่คลายลงหลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินเดียเยือนปักกิ่งในเดือนพฤษภาคม 1987 การเผชิญหน้าดังกล่าวก่อให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดความตึงเครียดมากขึ้น ในเวลาต่อมาอินเดียและจีนได้จัดทำข้อตกลงเพื่อจัดการกับความตึงเครียดที่ชายแดนในอนาคต
- ปี 2017 ความขัดแย้งทางทหารที่ Doklam ในเดือนมิถุนายนเกิดการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างอินเดียและจีนในดินแดนพิพาท Doklamใกล้กับช่องเขา Doka La วันที่ 16 มิถุนายน จีนได้นำอุปกรณ์สร้างถนนขนาดใหญ่มาที่ Doklam และเริ่มสร้างถนนในพื้นที่พิพาท โดยก่อนหน้านี้ จีนได้สร้างถนนลูกรังที่สิ้นสุดที่ Doka La ซึ่งเป็นที่ที่กองทหารอินเดียประจำการอยู่
- ปี 2020 เดือนมิถุนายน กำลังทหารอินเดียและจีนปะทะกันในหุบเขา Galwan ซึ่งรายงานว่าส่งผลให้ทหารทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บและเสียชีวิตฝ่ายละหลายสิบนาย (โดยตัวเลขจากข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ไม่ได้ใกล้เคียงและตรงกันเลย)
- ปี 2022 เดือนธันวาคม กองทัพอินเดียกล่าวว่าเกิดการปะทะกันระหว่างกำลังทหารอินเดียและจีนในเขตทาวังของรัฐอรุณาจัลประเทศ แต่การปะทะครั้งนี้ ทหารของทั้งสองฝ่ายเพียงแต่ได้รับบาดเจ็บ (อินเดีย 34 นาย และจีน 40 นาย) ไม่ปรากฏว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีผู้เสียชีวิต และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ยังไม่มีรายงานการปะทะกันระหว่างทหารจีนและทหารอินเดียอีก
ความขัดแย้งระหว่างจีนและอินเดียยังคงยืดเยื้อและสงบจบลงไม่ได้โดยง่าย หากทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันในเรื่องความชัดเจนของเส้นเขตแดน อันเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งอินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ อันที่จริงแล้วหากสามารถเจรจาตกลงทำสนธิสัญญาเห็นชอบรับรองเส้นเขตแดนร่วมกันได้แล้ว
ประเทศทั้งสองในปัจจุบันต่างก็มีศักยภาพในการจัดทำแนวรั้วกั้น และพัฒนาเส้นทางคมนาคมระหว่างกันได้ทั้งทางรถยนต์และรถไฟได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองทั้งหางการเมืองระหว่างประเทศและเศรษฐกิจ และนำความสงบสุขกลับคืนสู่อนุภูมิภาคนี้ต่อไป
เรื่อง: ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล
โฆษณา