วันนี้ เวลา 03:00 • การตลาด

อธิบายความต่าง Marketing VS PR ศัพท์การตลาดที่หลายคน คิดว่าเหมือนกัน

Marketing หรือ “การตลาด” กับ Public Relations หรือ PR ซึ่งในภาษาไทยแปลว่า “การประชาสัมพันธ์” มีความคล้ายคลึงและทับซ้อนกันในบางแง่มุม
อีกทั้งในการทำงานจริงก็มีบ่อยครั้งที่นักการตลาดต้องสวมหมวกสองใบในการทำงาน ทั้งในส่วนของการตลาดและการประชาสัมพันธ์
จนบางคนก็แยกไม่ออกว่างานที่ตัวเองทำอยู่นั้น แท้จริงแล้วเป็นเนื้องานของการทำการตลาดหรือการประชาสัมพันธ์ให้กับแบรนด์กันแน่
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ทั้งสองกิจกรรมนี้ มีความแตกต่างกันในหลาย ๆ แง่มุม
แล้ว Marketing กับ PR ต่างกันอย่างไรบ้าง ? MarketThink สรุปมาให้แล้วเป็นข้อ ๆ
1. นิยาม
- เริ่มกันที่คำว่า “การตลาด”
คุณ Philip Kotler บิดาแห่งการตลาดสมัยใหม่ ได้ให้คำนิยามเอาไว้ว่า
“การตลาด คือ กระบวนการทางสังคมและการจัดการ ที่ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ได้รับสิ่งที่ตอบสนองความจำเป็น (Needs) และความต้องการ (Wants) โดยอาศัยการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า และนำไปแลกเปลี่ยนกับบุคคลอื่น”
หรือถ้าอธิบายง่าย ๆ การตลาด ก็คือ กระบวนการทั้งหมดของการทำความเข้าใจในความต้องการของลูกค้า แล้วตอบสนองความต้องการนั้น ๆ ของลูกค้าให้ได้ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจและมีความสุข
- ส่วน “การประชาสัมพันธ์” เป็นกิจกรรมทางการตลาดอย่างหนึ่งที่เน้นไปในด้านการสื่อสารเป็นหลัก
เพื่อสร้าง ส่งเสริม และรักษาภาพลักษณ์อันดีของแบรนด์หรือองค์กรออกสู่สายตาของสาธารณชน ได้แก่ ลูกค้า, ผู้ถือหุ้น, ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ, สื่อและสำนักข่าว และประชาชนทั่วไป
หรือสรุปได้ว่า การประชาสัมพันธ์ คือ การสร้างการรับรู้เชิงบวกให้ปรากฏกับสายตาสาธารณชนนั่นเอง
นอกจากนี้ ตามหลักแล้ว การประชาสัมพันธ์ ก็ถือเป็น “Subset” ของการตลาดด้วย เพราะการประชาสัมพันธ์ก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของการตลาดเช่นกัน
2. วัตถุประสงค์และเนื้อหาที่สื่อสารออกไป
- การตลาด มีวัตถุประสงค์ในการสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ ทำให้แบรนด์อยู่ในใจลูกค้า สนับสนุนและช่วยเพิ่มยอดขาย และสร้างความต้องการในตลาด
เนื้อหาที่สื่อสารจึงมักเกี่ยวข้องกับการโปรโมตสินค้าหรือบริการโดยตรง
- การประชาสัมพันธ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และรักษาภาพลักษณ์อันดีของแบรนด์ออกสู่สายตาสาธารณชน
เนื้อหาที่สื่อสารจึงมักเกี่ยวข้องกับข่าวของแบรนด์หรือองค์กร รวมไปถึงเรื่องราวดี ๆ ที่ช่วยสร้างและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี
จากข้อนี้ สามารถสรุปความแตกต่างสั้น ๆ ได้ว่า
การตลาด “ทำให้คนอยากซื้อ”
ส่วนการประชาสัมพันธ์ “ทำให้คนเชื่อมั่นในแบรนด์”
3. กลุ่มคนที่สื่อสาร
- การตลาดจะโฟกัสไปที่ “ลูกค้า” ของตัวเองเป็นหลัก และ “กลุ่มเป้าหมาย” ที่ต้องการทำการตลาดด้วย
- แต่การประชาสัมพันธ์จะโฟกัสไปที่ “สาธารณชน” ซึ่งครอบคลุมทั้ง ลูกค้า นักลงทุน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สื่อ และบุคคลทั่วไป
4. เครื่องมือและกลยุทธ์ที่ใช้
การตลาด มีเครื่องมือและกลยุทธ์หลายอย่างให้เลือกใช้ เช่น
- การโฆษณาในช่องทางต่าง ๆ
- การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เช่น การลด แลก แจก แถม
- Content Marketing หรือใช้คอนเทนต์ในการดึงดูดให้คนสนใจและตัดสินใจซื้อสินค้า
- Influencer Marketing หรือใช้บุคคลที่มีอิทธิพลในการโน้มน้าวและโปรโมตสินค้าให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ
- Digital Marketing หรือการทำการตลาดบนโลกออนไลน์
ส่วนการประชาสัมพันธ์ ก็อาศัยหลาย ๆ กลยุทธ์เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น
- การให้ข่าวประชาสัมพันธ์ (Press Release)
- การให้สัมภาษณ์กับสื่อ
- การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสื่อ
- การทำ CSR (Corporate Social Responsibility) เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์
5. การควบคุมเนื้อหา
- ในส่วนของการตลาด แบรนด์หรือองค์กรมักจะสามารถควบคุมเนื้อหาของการทำแคมเปญ หรือการโฆษณาได้ทั้งหมดว่า แบรนด์ต้องการโฆษณาอย่างไร บอกเล่าเรื่องราวอะไร รวมถึงโปรโมตสินค้าอะไร
- แต่การประชาสัมพันธ์ แบรนด์หรือองค์กรสามารถควบคุมเนื้อหาได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
เพราะหลังการให้ข่าวประชาสัมพันธ์ หรือสัมภาษณ์ สื่ออาจจะนำข่าวนั้น ๆ ไปนำเสนอในมุมมองของตัวเอง ทำให้สิ่งที่ถูกนำเสนอออกมา อาจไม่ตรงตามที่แบรนด์หรือองค์กรต้องการ หรือบางครั้งก็อาจจะไม่ได้มีแต่ด้านดี ๆ เสมอไป
ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ แบรนด์หรือองค์กรมักจะต้องรักษาความสัมพันธ์อันดีกับสื่อ เพื่อให้สื่อช่วยนำเสนอเรื่องราวและภาพลักษณ์อันดีให้กับตัวเอง
6. วิธีการวัดผล
การตลาด มีวิธีการวัดผลหลายอย่าง โดยตัวอย่างตัวชี้วัดผลลัพธ์สำคัญ ๆ ของการตลาด เช่น
- การวัดความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ (Net Promoter Score)
- อัตราการกลับมาซื้อสินค้าของแบรนด์ซ้ำ (Customer Retention Rate)
- อัตราการสูญเสียลูกค้าเก่าของแบรนด์ (Customer Churn Rate)
- รายได้เฉลี่ยที่คาดว่าจะได้รับ ตลอดช่วงเวลาการเป็นลูกค้า (Customer Lifetime Value)
- รายได้จากการขายรายไตรมาสและรายปี (Quarterly and Annual Sales Revenue)
- ส่วนแบ่งตลาด (Market Share)
ส่วนการประชาสัมพันธ์ ก็มีตัวชี้วัดให้เลือกหลายอย่างเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น
- การรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness)
- มูลค่าการประชาสัมพันธ์ (PR Value)
- การตอบรับจากสื่อ และการปรากฏตัวในสื่อ
- ความรู้สึกและการตอบรับจากสาธารณชน (Sentiment)
ทั้งหมดนี้ก็คือ ความแตกต่างส่วนหนึ่งระหว่าง “การตลาด” และ “การประชาสัมพันธ์”
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง นิยาม, วัตถุประสงค์, เนื้อหาที่สื่อสารออกไป, การควบคุมเนื้อหา, กลุ่มคนที่สื่อสาร, เครื่องมือและกลยุทธ์ที่ใช้ รวมถึงวิธีการวัดผล
แล้วถ้าถามว่า ระหว่าง การตลาดกับการประชาสัมพันธ์ อะไรสำคัญกว่ากัน ?
ต้องบอกว่า การตลาดและการประชาสัมพันธ์ต่างก็เป็นกิจกรรมที่ธุรกิจขาดไปไม่ได้ จำเป็นต้องเกื้อหนุนกันอยู่ตลอดเวลา
เพื่อเป้าหมายสำคัญ นั่นก็คือ ส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตนั่นเอง..
โฆษณา