วันนี้ เวลา 03:00 • การตลาด

รวม 5 เฟรมเวิร์ก Storytelling เล่าสตอรีสินค้า ให้ลูกค้ารู้สึกอิน จนขายดีแบบแบรนด์ดัง

1. The Hero’s Journey หรือการเดินทางของฮีโร
เป็นเฟรมเวิร์กที่เหมาะกับการเล่าเรื่องราวของแบรนด์ ผ่านการสร้างแรงบันดาลใจและการก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีการใช้เฟรมเวิร์กนี้ก็เช่น Nike ที่เล่าเรื่องราวของนักกีฬาที่พยายามก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง จนประสบความสำเร็จในสายอาชีพ
โดย The Hero’s Journey จะประกอบไปด้วย 4 โครงสร้าง ได้แก่
- The Call to Adventure คือ จุดเริ่มต้นของเรื่องราว เป็นช่วงที่มีการแนะนำตัวเอกของเรื่อง
- The Journey เริ่มต้นการเดินทาง ตัวเอกพบเจอปัญหา อุปสรรค และความท้าทาย
- The Transformation เกิดการเปลี่ยนแปลงกับตัวเอก ผ่านการแก้ไขปัญหาและการเติบโตของคาแรกเตอร์
- The Return ตัวเอกกลับมาพร้อมกับความสำเร็จและรางวัลในท้ายที่สุด
ตัวอย่างการเล่าเรื่องราวของ Nike
“Michelle Wie-West คือหนึ่งในนักกีฬากอล์ฟหญิงที่ได้รับรางวัลมากมาย เธอเปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์ตั้งแต่อายุยังน้อย และเริ่มจับไม้กอล์ฟตั้งแต่อายุ 4 ขวบเท่านั้น (เปิดด้วย The Call to Adventure)
เธอมีลูกสาว 1 คน ชื่อว่า Makenna แต่เมื่อเธอต้องการมีลูกคนที่ 2 เธอก็ต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย ทั้งปัญหาการแท้งลูกและการทำเด็กหลอดแก้วที่ยากลำบาก (The Journey)
เพื่อให้ผ่านความยากลำบาก เธอได้นำประสบการณ์ในฐานะนักกีฬามืออาชีพมาใช้ โดยเฉพาะในเรื่องการเตรียมพร้อมร่างกายและการฝึกฝนพลังใจ (The Transformation)
ทำให้เธออดทนกับเข็มฉีดยาและรอยช้ำมาได้ (The Return) และบรรลุผลลัพธ์อย่างที่เธอต้องการ”
2. The Problem-Solution Story
เป็นเฟรมเวิร์กที่เหมาะกับการเล่าว่า ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ช่วยแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง
ตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้เฟรมเวิร์กนี้ เช่น Dyson ที่นำเสนอปัญหาของลูกค้าและมอบวิธีการแก้ไขปัญหา ผ่านผลิตภัณฑ์
โดย The Problem-Solution Story จะประกอบด้วย 3 โครงสร้าง ได้แก่
- The Problem ปัญหาที่ลูกค้าพบเจอได้
- The Solution แบรนด์เสนอสินค้าของตัวเองที่ช่วยแก้ไขปัญหานั้นได้
- The Proof ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังจากได้ใช้สินค้า
ตัวอย่างการเล่าเรื่องราวของ Dyson
“ในวันที่อากาศหนาวเย็นเข้าไปถึงกระดูก (The Problem) การมีเครื่องทำความร้อนที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งทางเลือกหนึ่งที่เราภูมิใจเสนอก็คือ เครื่องทำความร้อนแบบพัดลม (The Solution)
เครื่องทำความร้อนนี้จะทำให้ห้องอบอุ่นขึ้นอย่างรวดเร็ว และให้ความสบายทันทีในฤดูหนาว (The Proof)”
3. The Before-After-Bridge
เป็นเฟรมเวิร์กที่เหมาะกับการเล่า ก่อนและหลังใช้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น
ตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้เฟรมเวิร์กนี้ เช่น ChatGPT ที่เล่าเรื่องราวของคุณพ่อชื่อ ฟิล เบิร์ชแนล ได้ใช้ ChatGPT เป็นติวเตอร์ส่วนตัวให้กับลูกสาววัย 12 ปีชื่อ เดซี่
โดย The Before-After-Bridge จะประกอบด้วย 3 โครงสร้าง ได้แก่
- Before (ก่อนใช้) แสดงปัญหา หรือสถานการณ์เดิม ๆ ที่เป็นอยู่ในทุก ๆ วัน
- After (หลังใช้) แสดงให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตของลูกค้าที่ดีขึ้น ถ้าได้ลองใช้ผลิตภัณฑ์
- Bridge (สะพานเชื่อม) เล่าถึงผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ที่เปรียบเสมือนตัวกลางที่เชื่อมการเปลี่ยนแปลง
ตัวอย่างการเล่าเรื่องราวของ ChatGPT
“เดซี่ ลูกสาวของฟิล เบิร์ชแนล ไม่เก่งคณิตศาสตร์ จึงขอให้เขาช่วยสอนการบ้านเรื่องการคูณเศษส่วนและการหารยาว แต่เขาก็พบว่า ตัวเองก็ไม่สามารถสอนลูกสาวได้เช่นกัน (Before)
ลูกสาวของเขาต้องการติวเตอร์ส่วนตัว ที่ทั้งสอนสนุก เข้าใจง่าย
รวมถึงเธอยังต้องการสอบผ่าน SATs ด้วยคะแนนสูง ๆ เพื่อเข้าเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาในที่ที่เธอต้องการ (After)
ฟิลเข้าใจลูกสาว ซึ่งเขาเป็นคนสันทัดเรื่องเทคโนโลยี และเคยใช้ ChatGPT มาก่อน จึงลองปรับแต่ง ChatGPT ให้กลายเป็นติวเตอร์สอนคณิตศาสตร์ ด้วยบุคลิกของอิซซี่ สุนัขที่ลูกสาวของเขารักมาก
และนั่นก็ทำให้เดซี่ชื่นชอบคณิตศาสตร์และทำข้อสอบได้คะแนนสูงจนสอบผ่านในที่สุด (Bridge)”
4. The Why Story
เป็นเฟรมเวิร์กที่เหมาะกับการเล่า “จุดกำเนิด” และ “คุณค่าที่แท้จริง” ของแบรนด์
ตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้เฟรมเวิร์กนี้ เช่น แบรนด์รองเท้า TOMS ขายรองเท้า เพื่อนำกำไรส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือเด็กยากไร้ ขาดแคลน และสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับชุมชน
โดย The Why Story จะประกอบด้วย 3 โครงสร้าง ได้แก่
- The Mission หรือภารกิจของแบรนด์ คือการบอกว่า แบรนด์เชื่ออะไร และมีพันธกิจอะไร ?
- The Journey หรือจุดเริ่มต้นและการเดินทางของแบรนด์ คือการบอกว่า แบรนด์กำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร ?
- The Impact หรือผลกระทบที่แบรนด์ต้องการสร้าง หรือเปลี่ยนแปลงสังคม
ตัวอย่างการเล่าเรื่องราวของ TOMS
“เราเชื่อว่า ธุรกิจของเราคือการสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีกว่าเดิม (The Mission)
โดยจุดเริ่มต้นมาจาก เบลค มายคอสกี้ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ TOMS ได้คิดค้นโครงการ One for One ซึ่งมีหลักการคือ รองเท้าทุก ๆ คู่ที่ขายออกไป อีกหนึ่งคู่จะถูกส่งไปให้กับผู้ด้อยโอกาสทุกครั้ง (The Journey)
นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้ เราได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับผู้คนกว่า 105,000,000 ชีวิต และภารกิจของเราก็ยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ (The Impact)”
5. The Customer Story
เป็นเฟรมเวิร์กที่เล่ามาจาก “ตัวลูกค้า” เอง ผ่านการรีวิวและประสบการณ์การใช้งานจริง จึงเหมาะกับการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์
ตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้เฟรมเวิร์กนี้ เช่น Airbnb เสนอที่พักชั่วคราวให้กับผู้ประสบภัยจากพายุเฮอริเคนมาเรีย
โดย The Customer Story จะประกอบด้วย 4 โครงสร้าง ได้แก่
- Meet the Customer หรือรู้จักกับลูกค้า เป็นช่วงที่ลูกค้าแนะนำตัวเองให้คนดูรู้จัก
- The Challenge หรือปัญหาของลูกค้า เป็นช่วงที่ก่อนลูกค้าใช้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งมี Pain Point อยู่
- The Solutions หรือการแก้ไขปัญหา เป็นช่วงที่ลูกค้าลองใช้ผลิตภัณฑ์แล้ว มีการเปลี่ยนแปลง
- The Success หรือผลลัพธ์สุดท้าย เป็นช่วงที่ลูกค้าบอกเล่าความรู้สึกหลังได้ลองใช้ผลิตภัณฑ์
ตัวอย่างการเล่าเรื่องราวของ Airbnb
“ฉันชื่อ คาร์เมน เป็นผู้ประสบภัยจากพายุเฮอริเคนมาเรียถล่มเมืองแซนฮวน ประเทศเปอร์โตรีโก ในปี 2017 (Meet the Customer)
บ้านของฉันได้รับผลกระทบจากพายุเฮอริเคน และทำให้กลายเป็นคนไร้บ้านไปในทันที (The Challenge)
อย่างไรก็ตาม ฉันและผู้ประสบภัยคนอื่น ๆ ก็ได้รับข้อเสนอที่พักพิงชั่วคราวจาก Airbnb จนกว่าบ้านและชุมชนจะได้รับการฟื้นฟูจนเสร็จสิ้น ผ่านเครือข่ายและความร่วมมือจากโฮสต์ของ Airbnb ที่เปิดให้เข้าพักฟรี หรือลดราคาลงจำนวนมาก (The Solutions)
ฉันดีใจและรู้สึกขอบคุณ Airbnb ที่ช่วยให้มีที่พักที่ปลอดภัยได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอรับความช่วยเหลือจากทางการ (The Success)”
ทั้งหมดนี้คือ Storytelling Framework
หรือเฟรมเวิร์กที่แบรนด์สามารถนำไปใช้ในการเล่าเรื่องราวของแบรนด์ หรือเล่าเรื่องราวของสินค้าให้ลูกค้าฟัง จนเกิดอารมณ์ร่วม เกิดความรู้สึกว่าสินค้าสามารถตอบโจทย์หรือแก้ Pain Point ในชีวิตได้
ท้ายที่สุด ก็จะนำไปสู่การตัดสินใจซื้อสินค้านั้น ๆ นั่นเอง
โฆษณา