เมื่อวาน เวลา 15:00 • ไลฟ์สไตล์

ออมเงินเยอะ แต่ไม่ใช้ชีวิต กับออมเงินน้อย แต่ได้ใช้ชีวิต แบบไหนดีกว่ากันคะ?

📝 ไปเจอคำถามนี้มาในกระทู้หนึ่ง ถามว่า
❓ “ระหว่างออมเงิน 15% ของรายได้ แต่ไม่ได้กิน ไม่ได้เที่ยว เต็มที่ ในวัยที่สามารถเที่ยวได้สนุก
กับออมเงิน 3% ของรายได้ แต่ได้กิน ได้เที่ยว เต็มที่ ในวัยที่สามารถเที่ยวได้สนุก แต่ไปหนาวๆร้อนๆตอนแก่แทน
แบบไหนดีกว่ากันคะ?”
โอ้วโหว....เชื่อว่าในหัวของหลายๆ คนคงมีคำตอบที่อยากจะแชร์ประเด็นนี้กันอยู่พอสมควร (สามารถแชร์กันได้ในคอมเมนต์นะครับ)
คำแนะนำที่เคยได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่ก็จะแบ่งเป็นสองทางคือหนึ่งฝั่งเก็บเงินให้มากที่สุด แบบใช้ชีวิตสุดประหยัด เพื่อจะไปให้ถึงอิสรภาพทางการเงินให้เร็วที่สุด แล้วหลังจากนั้นค่อยใช้ชีวิตตามแบบที่เราต้องการ (หรือที่เรียกสั้นๆว่า FIRE : Financial Independence, Retire Early ที่เป็นกระแสแรงๆ ช่วงก่อน) หรืออีกฝั่งเลยคือใช้ชีวิตให้เหมือนว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต (YOLO : You Only Live Once) ไปเลย
ประเด็นของ FIRE คือระยะเวลาที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นใช้เวลาไม่น้อย สิบ ยี่สิบปี (แล้วแต่ว่ารายได้ของเรามากแค่ไหน เงินทำงานให้ผลตอบแทนเยอะแค่ไหน ฯลฯ) บางทีช่วงที่จะได้เริ่มใช้ชีวิตอาจจะปาเข้าไป 45-50 ปีแล้ว
ถามว่าแก่ไหม...คนสมัยนี้ก็ยังสุขภาพดีอยู่ เพียงแต่วัยนี้ก็คงไม่ได้มีโอกาสที่จะมีประสบการณ์เหมือนวัย 20 กลางๆ เหมือนเพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยอีกแล้ว บางคนมีครอบครัว มีภาระ ความรับผิดชอบต้องดูแล
⏳ ประสบการณ์บางอย่างก็เหมาะสมแค่สำหรับบางช่วงของชีวิตเท่านั้น
ยกตัวอย่างง่ายๆ วัย 20 กลางๆ แบกเป้ เที่ยวต่างประเทศ นอนโฮสเทลราคาคืนไม่กี่ร้อย กินมาม่าประทังชีวิตเป็นเดือน ทำงานหามรุ่งหามค่ำไม่นอนสองคืนติด...ร่างกายมันก็ยังไม่ประท้วงร้องขอชีวิต
หากมาทำอย่างนั้นตอนวัยกลางคน อย่าว่าแต่แบกเป้เลย แค่นอนเลยเที่ยงคืนแล้วอีกวันต้องตื่นตีห้า หน้าตาก็แทบไม่ต่างจากซอมบี้แล้ว แม้จะสุขภาพดีสำหรับวัยกลางคน ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเหมือนวัยหนุ่มอีกแล้ว นี่คือความจริงที่ต้องยอมรับ
ส่วนประเด็นของ YOLO อันนี้ก็สุดไปอีกแบบ คือใช้ชีวิตประหนึ่งว่าพรุ่งนี้โลกจะแตกหรือจะจากโลกนี้ไป แน่นอนสำหรับคนที่ไม่สบายและหมอบอกว่ามีชีวิตเหลือไม่มาก การใช้ชีวิตแบบให้มีความสุขที่สุดกับสิ่งที่ตัวเองรัก กับคนที่รัก มันก็พอจะเข้าใจได้
แต่ถ้าแค่คิดว่าต้องใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงเพียงเพื่อจะต้องมีชีวิตที่สุดเหวี่ยง ใช้เงินทุกบาทที่หามาได้เพื่อเติมเต็มความสุขและเต้นรำไปกับช่วงเวลานี้โดยไม่คิดถึงอนาคตเลย มันก็ดูจะสายตาสั้นเกินไปหน่อย
💰 มีคนเคยบอกว่า ‘ตายแล้วยังใช้เงินไม่หมด ดีกว่าเงินหมดแล้วยังไม่ตาย’
นี่ก็เรื่องจริงอีกเช่นกัน
📅 ย้อนกลับมาที่คำถามในกระทู้ผมมีเทคนิคหนึ่งชื่อ ‘Time Buckets’ จากหนังสือ ‘Die With Zero’ มาแชร์เผื่อเอาไปใช้กันครับ
โดยเทคนิคนี้บอกว่า ให้ลองแบ่งช่วงเวลาของชีวิตออกมาเป็นก้อนๆ เช่น 20-25, 30-35, 35-40 ฯลฯ แล้วแต่ละก้อนก็ลิสต์ไปในนั้นว่าเราอยากจะทำอะไรในช่วงเวลานั้น (แต่ละคนก็ต่างกันไป ต้องเอาสิ่งที่ตัวเองอยากทำในช่วงชีวิตเวลานั้นมานะครับ)
1
สมมุติตัวอย่าง
[ 20-25 ]
- หาทุนไปเรียนภาษาที่ต่างประเทศ
- ขับรถ Road Trip แบกเป้ตั้งแคมป์ในญี่ปุ่น
- เรียนภาษาจีน
- ลองทำธุรกิจออนไลน์แบบเริ่มจากเงิน 0 บาท
- อาสาสมัครไปช่วยเด็กในพื้นที่ชนบท
[ 25-30 ]
- เรียนต่อปริญญาโท
- เขียนหนังสือหนึ่งเล่ม
- มีสินทรัพย์ในพอร์ต 100,000 บาท
[ 30-35 ]
- แต่งงาน ไป ฮันนีมูนที่อังกฤษ ดูบอลที่สนามแอนฟิลด์
- เรียนคอร์สทำอาหารและเบเกอรี่
- ซื้อบ้านในเมืองที่อยากลงหลักปักฐาน
- วางแผนมีลูก
- ว่ายน้ำกับปลาฉลาม
ฯลฯ (พอเห็นภาพนะครับ)
🎯 แล้วทีนี้เราจะเริ่มเห็นครับว่าบางประสบการณ์มันสามารถรอได้ (เช่นว่ายน้ำกับปลาฉลาม) แต่บางประสบการณ์ก็ทำได้เลยตั้งแต่อายุยังไม่มากและอาจจะไม่ต้องใช้เงินมากก็ได้ (เช่นอาสาสมัครช่วยเหลือเด็กในชนบท)
เพราะฉะนั้น บิล เพอร์กินส์ (Bill Perkins) ผู้เขียน ‘Die With Zero’ เลยแนะนำว่าให้เราลงทุนกับประสบการณ์ที่ใช้เงินไม่ต้องเยอะเหล่านี้ในช่วงที่ยังหนุ่มๆ (หรือถ้าใช้เงินช่วงนี้ก็ถือว่ายังมีภาระน้อย จะลองเสี่ยงทำธุรกิจก็ไม่เสียหายมาก) เงินมันจะเหลือไม่มากหรอก ซึ่งไม่เป็นไร ออมเล็กๆ น้อยๆ ไปก่อน ฝึกวินัย เพราะเมื่อประสบการณ์เยอะขึ้นและหน้าที่การงานดีขึ้น โอกาสที่รายได้จะสูงขึ้นก็มากตามไปด้วย (แต่ก็อย่าลืมเรื่อง Lifestyle Inflation ด้วยนะ) ทีนี้อัตราส่วนของการออมเงินและเอาเงินไปลงทุนก็ควรเพิ่มตามไปด้วย
อยากจบด้วยข้อคิดจากนิทานเรื่องมดกับตั๊กแตนที่เราคุ้นเคยกันดี
เรารู้ว่ามดก้มหน้าก้มตาทำงานหนักในช่วงฤดูร้อนแล้วพอฤดูหนาวก็มีอาหารกิน ส่วนตั๊กแตนก็เต้นรำอย่างมีความสุขในฤดูร้อนแต่พอฤดูหนาวก็อดตาย
🤔 เพอร์กินส์ชวนตั้งคำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ‘แล้วเมื่อไหร่มดจะได้เต้นรำอย่างมีความสุขบ้าง?’
เพราะถ้าเปรียบฤดูหนาวเหมือนช่วงวัยเกษียณ มดก็อยู่ในช่วงวัย 65-70 แล้ว...คงไม่สามารถมีประสบการณ์เต้นรำเหมือนช่วงฤดูร้อนวัยหนุ่มๆ ได้อีกต่อไป (แม้ใจจะได้ แต่ร่างกายมันก็จะไม่ให้ความร่วมมือด้วยสักเท่าไหร่) มีอาหารกินก็จริงแต่ช่วงเวลาวัยหนุ่มสาวที่ควรมีประสบการณ์ที่ดี มีความสุขก็จะหายไป
แต่แน่นอนจะเป็นตั๊กแตนเต้นรำอย่างเดียว แล้วอดตายช่วงเกษียณก็คงไม่ใช่ทางเลือกที่ดี
“สิ่งที่ผมต้องการจะบอกคือสังคมมักให้คุณค่ากับพฤติกรรมของเจ้ามดมากเกินไป โดยมองว่าการอดเปรี้ยวไว้กินหวานเป็นเรื่องดี แต่ลืมไปว่าสิ่งที่เจ้าตั๊กแตนทำก็สำคัญไม่แพ้กัน
อันที่จริงเจ้าตั๊กแตนน่าจะเจียดเวลาไปหาอาหารมาเก็บตุนไว้สักนิด ส่วนเจ้ามดก็ควรหาเวลาไปใช้ชีวิตสักหน่อย!”
💫 สุดท้ายแล้วเขาบอกว่าชีวิตคือผลรวมของประสบการณ์ ความทรงจำต่างๆ ที่เราได้ทำ มันคือสิ่งที่จะมอบความสุข (เป็นเหมือนปันผล) ให้เราเมื่อยามแก่เฒ่า
หาทางสายกลางให้เจอ เลือกซื้อประสบการณ์ที่เหมาะสมกับช่วงเวลาชีวิตและรายได้ของตัวเอง
🌟 อย่าออมจนลืมใช้ชีวิต แต่อย่าใช้ชีวิตจนลืมเก็บออม
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
อ้างอิง : https://pantip.com/topic/40993692
#การเงินส่วนบุคคล #ออมเงินเยอะ #ออมเงินน้อย #YOLO #FIRE #การใช้ชีวิต
โฆษณา