เมื่อวาน เวลา 15:30 • ไลฟ์สไตล์

'เป็นหนี้' แต่มีประกันชีวิตเจ้าหนี้ยึดกรมธรรม์ได้หรือไม่?

เปิด 3 กรณีไขคำตอบเมื่อ ’มีหนี้‘ เจ้าหนี้มีสิทธิ์อะไรในประกันชีวิตบ้าง
เป้าหมายทางการเงินที่สำคัญสำหรับชีวิตเรา ก็คงหนีไม่พ้น เป้าหมายเพื่อความแก่ ความเจ็บ และความตาย ผลิตภัณฑ์การเงินที่ตอบโจทย์เหล่านี้จึงเป็นผลิตภัณฑ์การเงินที่ภาครัฐให้การสนับสนุน อย่างเช่น สามารถนำเงินที่ออมไปลดหย่อนภาษีได้ หรือ ผลประโยชน์ที่ได้รับยกเว้นภาษี ผลิตภัณฑ์การเงินที่สำคัญมากๆ ตัวหนึ่งที่ภาครัฐให้การสนับสนุน ก็คือ ประกันชีวิต แต่อย่างไรก็ตามเป้าหมายทางการเงินอาจไม่บรรลุ หากเราเป็นหนี้ คำถามก็คือ เจ้าหนี้ยึดประกันชีวิตได้หรือไม่
➡ #สัญญาประกันชีวิตตามกฎหมาย คืออะไร?
สัญญาที่ระบุถึงความคุ้มครองอันเกิดขึ้นจากภัยที่ผู้เอาประกันตกลงไว้กับผู้รับประกัน โดยผู้เอาประกันมีหน้าที่ต้องชำระเบี้ยประกันในจำนวนที่ตกลงกันไว้ให้แก่ผู้รับประกัน และผู้รับประกันภัยตกลงจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้รับผลประโยชน์เมื่อผู้ถูกเอาประกันถึงแก่ความตายในเวลาที่กำหนด หรือผู้เอาประกันอาจเป็นผู้รับผลประโยชน์เองกรณีมีชีวิตอยู่จนถึงเวลาที่ได้ตกลงกัน
กล่าวคือ มีเงื่อนไขการใช้เงินโดยอาศัย “ความมีชีวิต” หรือ “ความตาย” ของผู้เอาประกันภายใต้เวลาหรือเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาประกันชีวิต
➡ #ผู้เกี่ยวข้องสัญญาประกันชีวิต ได้แก่
✅ผู้เอาประกัน
คือ บุคคลที่ซื้อประกันกับบริษัทประกัน และจ่ายเบี้ยประกันให้กับบริษัทประกัน เพื่อแลกกับการที่เมื่อเกิดภัยตามที่ระบุไว้ในประกัน ผู้เอาประกันหรือผู้รับผลประโยชน์ก็จะได้เงินชดเชยตามสัญญา (เรียกว่า ค่าสินไหม ทดแทน)
✅ผู้รับประกัน
คือ บริษัทประกันที่รับความเสี่ยง เป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขที่ระบุในกรมธรรม์
✅ผู้รับผลประโยชน์
คือ บุคคลที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิตให้เป็นผู้ได้รับเงินสินไหมประกันชีวิตเมื่อเกิดเหตุตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ผู้รับผลประโยชน์อาจเป็นบุคคลเดียวกับผู้เอาประกันภัยก็ได้ อย่างเช่น ผลประโยชน์จากการทรงชีพกรณีผู้เอาประกันภัยอยู่ครบตามสัญญา ผู้เอาประกันภัยจะได้รับผลประโยชน์นั้น
เมื่อเราเข้าใจสัญญาประกันชีวิตแล้ว เราก็มาพิจารณากันต่อว่า เจ้าหนี้ยึดเงินประกันชีวิตได้หรือไม่ โดยแบ่งเป็น 3 กรณี คือ
⭕[ 1 ] ผู้เอาประกันเป็นลูกหนี้ และยังมีชีวิตอยู่
กรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าทางการเงินจึงถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าของผู้เอาประกัน ดังนั้นเมื่อผู้เอาประกันตกอยู่ภายใต้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ #สามารถดำเนินการเวนคืนหรือไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือโดยวิธีการอื่นใดเพื่อนำเงินที่ได้รวบรวมเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อการชำระหนี้ในคดีล้มละลายต่อไป
⭕[ 2 ] ผู้เอาประกันเป็นลูกหนี้ และเสียชีวิต
เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต ทรัพย์สินและหนี้สินของผู้เอาประกันจะตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาท เมื่อเป็นมรดก เจ้าหนี้สามารถยึดมรดกได้ แต่ทายาทไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตนเองได้รับ
ตัวอย่างเช่น หากเจ้ามรดกทิ้งทรัพย์มรดกให้ทายาท 100 ล้านบาท พร้อมหนี้มรดก 300 ล้านบาท กรณีนี้เจ้าหนี้สามารถทรัพย์มรดกทั้งหมด 100 ล้านบาทได้ หนี้มรดกที่เหลืออีก 200 ล้านบาท ทายาทไม่ต้องรับผิดชอบ
แต่ทรัพย์สินที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ต้องเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนหรือขณะผู้ตายถึงแก่ความตาย ดังนั้น #ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังเจ้ามรดกตายจึงไม่ใช่มรดก เจ้าหนี้ไม่สามารถยึดได้ #สิทธิในการได้รับเงินประกันชีวิต เกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม #จึงไม่ใช่มรดกของผู้ตาย เมื่อสินไหมกรณีมรณกรรมของกรมธรรม์ประกันชีวิตไม่ใช่มรดก เจ้าหนี้ก็ยึดไม่ได้
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เอาประกันสามารถระบุผู้รับประโยชน์ในสัญญาประกันชีวิตได้ 2 แบบ คือ
📝1. ระบุผู้รับผลประโยชน์โดยเฉพาะเจาะจง
📝2. ไม่ระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ หรือ ระบุว่าตกแก่ทายาท
[สรุปคือ]
⏺ ในกรณีที่ผู้เอาประกันระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์โดยเฉพาะเจาะจง เจ้าหนี้ยึดสินไหมกรณีมรณกรรมไม่ได้ เจ้าหนี้ยึดได้เฉพาะเบี้ยประกันที่ผู้เอาประกันได้ส่งไปแล้วเท่านั้น
⏺ในกรณีที่ผู้เอาประกันไม่ได้ระบุชื่อบุคคลใดโดยเฉพาะให้เป็นผู้รับประโยชน์ในสัญญาประกันชีวิต หรือ ระบุว่าตกแก่ทายาท สินไหมกรณีมรณกรรมจากสัญญาประกันชีวิตจะถูกนำไปสมทบเป็นส่วนหนึ่งของกองมรดก เจ้าหนี้สามารถยึดเพื่อนำมาชำระหนี้ได้
ตัวอย่าง ผู้ตายทำประกันชีวิตตนเองวงเงิน 1 ล้านบาท ระบุว่า “ทายาทเป็นผู้รับประโยชน์” เมื่อถึงแก่ความตาย เงินที่ได้รับจากสัญญาประกันชีวิตจำนวน 1 ล้านบาท จะถูกนำเข้ากองมรดกของผู้ตาย แต่ถ้าผู้เอาประกันได้ระบุชื่อบุคคลไว้โดยเฉพาะเจาะจงแล้ว เงินที่ได้รับจะไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้เอาประกัน ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกจะเป็นเฉพาะเงินเบี้ยประกันภัยที่ได้ส่งไปแล้วเท่านั้น
หรืออีกตัวอย่าง คือ ผู้ตายทำประกันชีวิตตนเองวงเงิน 1 ล้านบาท ระบุว่า “นาย ก. เป็นผู้รับประโยชน์” เมื่อจ่ายเบี้ยประกันไปได้ 5 ปี รวมเป็นเงิน 50,000 บาท ก็ถึงแก่ความตาย ผู้รับประกันจะต้องจ่ายเงินจำนวน 1 ล้านบาทแก่ นาย ก. แต่นาย ก. จะต้องส่งเงินจำนวน 50,000 บาทที่เท่ากับเบี้ยประกันที่ผู้ตายได้จ่ายไปเข้าสู่กองมรดกของผู้ตาย ซึ่งเจ้าหนี้ของผู้ตายจะเรียกเอาชำระได้จากจำนวน 50,000 บาทนี้ ไม่ใช่จำนวน 1 ล้านบาทตามสัญญาประกันชีวิต
⭕[ 3 ] ผู้รับผลประโยชน์เป็นลูกหนี้ ผู้เอาประกันเสียชีวิต บริษัทประกันจ่ายสินไหมให้ผู้รับผลประโยชน์
ตัวอย่าง ภรรยาทำประกันชีวิตไว้โดยมีผู้รับผลประโยชน์คือสามี ต่อมาภรรยาเสียชีวิต สามีจึงได้รับเงินสินไหมจากกรมธรรม์ประกันชีวิต และสามีเป็นลูกหนี้โดยคำพิพากษาของศาล กรณีนี้สินไหมกรณีมรณกรรมที่ผู้รับผลประโยชน์ได้รับ #ถือเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าของผู้รับผลประโยชน์เจ้าหนี้สามารถยึดได้
เขียนโดย: สาธิต บวรสันติสุทธิ์, นักวางแผนการเงิน CFP
#aomMONEY #ประกันชีวิต #หนี้สิน #กรมธรรม์ #ยึดประกัน #ทรัพย์สิน
โฆษณา