21 ก.พ. เวลา 13:36 • ไลฟ์สไตล์

เริ่มเก็บเงิน นิสัยการเงิน แย่ๆ อะไรบ้าง? ที่ทำให้เราไม่มี "เงินเก็บ" สักที

เป็นไหม? รู้สึกว่าทำงานมาเท่าไหร่ เงินก็หายไปหมด ไม่เคยมีเงินเก็บเป็นชิ้นเป็นอันสักที หากคำตอบคือคำว่า ใช่! ก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะไม่ใช่เป็นแค่เราคนเดียว
ข้อมูลบ่งชี้หลายแหล่ง ระบุว่า พฤติกรรมการออมของคนไทยอยู่ในภาวะ “น่ากังวล” โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยเมื่อปี 2567 ว่ามีเพียง 22% ของคนไทยที่มีเงินออมในระดับที่เพียงพอ และเพียง 16% ที่มีการออมเพื่อการเกษียณอายุ
ขณะสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) ชี้ว่าผู้ฝากเงินธนาคารครึ่งหนึ่งมีเงินฝากติดบัญชีไม่ถึง 3,142 บาท สะท้อนภาพคนไทยจำนวนมากมีอัตราการออมต่ำ
ซึ่งนอกจากเราเผชิญกับกับดักรายได้ต่อหัวต่ำ การเงินที่ไม่มั่นคง ค่าครองชีพสูงเกินรายได้จะรับไว้ ยังมีสาเหตุหลักๆ ที่มาจาก "นิสัยทางการเงิน" บางอย่างที่ทำให้เราเก็บเงินไม่สำเร็จสักทีด้วย
แล้วนิสัยอะไรบ้าง? ที่ทำให้เงินเก็บเป็นศูนย์ ข้อมูลจาก makebykbank แอปออมเงินของธนาคารกสิกรไทย ระบุไว้ 4 เรื่องใหญ่ๆ
✹ ค่าใช้จ่ายเกินกว่ารายได้: ถ้าเรามีรายจ่ายมากกว่ารายได้ หรือมีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เราอาจกลายเป็นคนที่เก็บเงินไม่อยู่ หรือไม่เหลือเงินเพื่อการออม
✹ การไม่วางแผนการเงิน: เรื่องนี้อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราเก็บเงินไม่อยู่ ถ้าเราไม่รู้ว่าจะใช้เงินอย่างไร และใช้เงินตามใจโดยไม่นึกถึงค่าใช้จ่ายที่จำเป็น แน่นอนว่าการจะเหลือเงินเพียงพอสำหรับการออม ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก
✹ การไม่กำหนดเป้าหมาย: การไม่มีเป้าหมายชัดเจน เป็นเหตุผลที่ทำให้คุณอาจจะละเลยการออม ดังนั้นการกำหนดเป้าหมายที่เหมาะสม จะช่วยเพิ่มแรงบันดาลใจในการเก็บเงินได้
✹ การขาดความรู้และทักษะการเงิน: ความไม่รู้อาจทำให้เราไม่สามารถเก็บเงินได้ ซึ่งการพัฒนาความรู้และทักษะเหล่านี้ จะช่วยให้เข้าใจและใช้เงินได้แบบมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังมีนิสัยแย่ๆ อีกหลายข้อที่ทำให้เราเก็บเงินไม่อยู่ แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางแก้ซะทีเดียว
▶ ใช้ก่อน คิดทีหลัง
✧ เจอของลดราคาไม่ได้ ช้อปก่อน คิดว่าเดี๋ยวค่อยหาเงินมาจ่ายทีหลัง
✧ กดเงินสดจากบัตรเครดิต บอกตัวเองว่า "เดือนหน้าค่อยเคลียร์" แต่ดอกเบี้ยมาเต็ม
✧ไม่วางแผนการใช้จ่าย เงินเดือนออกปุ๊บ จ่ายทุกอย่างแบบไม่มีระบบ แล้วสุดท้ายก็หมดเร็วเกินไป
✔ ทางแก้: ลองเปลี่ยนเป็น "คิดก่อนใช้" ตั้งงบประมาณรายเดือน และกันเงินสำหรับเงินเก็บก่อนใช้จ่าย
▶ บอกตัวเองว่า "เดี๋ยวค่อยเริ่มเก็บ"
"ยังเด็กอยู่ ไว้เก็บตอนเงินเดือนเยอะกว่านี้"
"รอมีรายได้เพิ่มก่อน แล้วค่อยออม"
"ยังมีหนี้อยู่ เก็บเงินไปก็ไม่มีประโยชน์"
✔ ทางแก้: เริ่มจากน้อยก็ยังดีกว่าไม่เริ่มเลย เช่น ออมวันละ 20 บาท เดือนละ 600 บาท 1 ปี ก็ได้ 7,200 บาท
▶ นิสัย "ต้องให้รางวัลตัวเอง" ตลอดเวลา
✧ ทำงานเหนื่อย ต้องกินอาหารหรูๆ ทุกอาทิตย์
✧เที่ยวยับ ใช้ชีวิตแบบ YOLO (You Only Live Once)
✧ ซื้อของแบรนด์เนม เพื่อให้รางวัลตัวเอง แม้เงินเดือนจะยังไม่ถึงระดับนั้น
✔ ทางแก้: ตั้งงบสำหรับ "รางวัลตัวเอง" ไม่ให้เกิน 10-15% ของรายได้ และลองหาความสุขจากสิ่งที่ไม่ต้องใช้เงินมาก เช่น ไปเดินเล่น ออกกำลังกาย ดูหนังที่บ้าน
▶. ใช้ชีวิตแบบ "เงินหมดก่อนสิ้นเดือนเป็นเรื่องปกติ"
✧ เงินเดือนออกวันที่ 1 แต่วันที่ 15 เงินแทบหมด
✧ พึ่งบัตรเครดิต/เงินกู้รายวัน เพื่อใช้ชีวิตต่อ
✧ คิดว่า "ยังไงเดี๋ยวก็มีเงินใหม่เข้ามา" ไม่เคยวางแผนให้เหลือเงินเก็บ
✔ ทางแก้: ใช้กฎ 50-30-20 (50% ค่าใช้จ่ายจำเป็น, 30% ไลฟ์สไตล์, 20% ออมเงิน) หรือถ้าเริ่มต้นยาก ลองกันเงิน 5-10% ก่อน แล้วค่อยเพิ่มขึ้น
▶ เปลี่ยนจาก “เก็บเงินไม่ได้" เป็น "มีเงินเก็บ"
ทั้งนี้ ถ้าคนรุ่นใหม่อยากเริ่มเก็บเงิน ต้องนับ 1 ต้องทำอย่างไร?
1. ตั้งเป้าหมายให้ชัด
✦ อยากเก็บเงินเพื่ออะไร? (ฉุกเฉิน ลงทุน ซื้อบ้าน เที่ยวต่างประเทศ)
✦ กำหนดตัวเลขให้ชัด เช่น "อยากมีเงินสำรอง 50,000 บาท ใน 1 ปี"
2.แบ่งเงินก่อนใช้
✦ เมื่อเงินเดือนออก ให้กันเงินเก็บทันที 10-20% ก่อนใช้จ่าย
✦ ใช้บัญชีแยกสำหรับเงินเก็บ เช่น ฝากประจำ หรือเปิดบัญชีที่ไม่มีบัตร ATM
3. ใช้แอปพลิเคชันช่วยจัดการเงิน
✦ ใช้แอปบันทึกรายรับ-รายจ่าย
✦ ตั้งระบบออมเงินอัตโนมัติ เช่น หักเงินเข้ากองทุน หรือบัญชีออมเงินอัตโนมัติ
4. ลดหนี้ และใช้เงินแบบคนฉลาด
✦ ถ้ามีหนี้ ควรทยอยจ่ายหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงก่อน (เช่น บัตรเครดิต)
✦ เรียนรู้เรื่องการลงทุน และให้เงินทำงาน
✪ ตัวอย่างการปรับพฤติกรรมทางการเงิน
ก่อน: ได้เงินเดือน 25,000 บาท ใช้หมดตั้งแต่กลางเดือน ไม่มีเงินเก็บ
หลังปรับนิสัย: หักเงินออม 3,000 บาททันทีที่เงินเดือนออก ใช้เงินสดแทนบัตรเครดิต ลดค่ากาแฟจากวันละ 100 บาท เหลือ 50 บาท ต่อเดือนเก็บเงินได้ 4,000+ บาท
สรุปแล้ว ถ้าไม่อยากเป็นคนที่เก็บเงินไม่อยู่ คงต้องเริ่มจากเปลี่ยนนิสัยทางการเงิน ฝึกวินัย และให้ความสำคัญกับการออมมากกว่าการใช้จ่ายเพื่อความพึงพอใจชั่วคราว เริ่มต้นจากเล็กๆ ก่อน และพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วในอนาคตเราจะขอบคุณตัวเองที่เริ่มตั้งแต่วันนี้
ที่มา : ธปท., สถาบันคุ้มครองเงินฝาก, สมาคมนักวางแผนทางการเงินไทย, makebykbank และ thairath money
โฆษณา