21 ก.พ. เวลา 15:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

"เศรษฐกิจไทยปี 2025: ทิศทางฟื้นตัวและความท้าทายสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน?”

รายงาน Thailand Economic Monitor กุมภาพันธ์ 2025 โดยธนาคารโลก ชี้ให้เห็นว่า “เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้างเพื่อก้าวสู่การเติบโตระยะยาว”
ภาพรวมเศรษฐกิจไทย = “ฟื้นตัวแต่ยังเปราะบางมาก”
เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัว 2.9% ในปี 2025 เพิ่มขึ้นจาก 2.6% จากปี 2024 โดยมีแรงหนุนหลักจาก “การบริโภคภายในประเทศ” และ “มาตรการกระตุ้นการคลัง” เช่น
* โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ช่วยเพิ่ม GDP 0.3% ในปี 2024 แม้ใช้งบสูงถึง 145,000 ล้านบาท (0.8% ของ GDP)
* ด้านการท่องเที่ยวคาดว่าจะฟื้นถึงระดับก่อนโควิด-19 ภายในกลางปี 2025 โดยมีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน เพิ่มจาก 35.3 ล้านคนในปี 2024
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงยังคงอยู่จาก “การส่งออกสินค้า” ที่ชะลอตัวเนื่องจากเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ และจีนเติบโตน้อยลง แม้จะได้ประโยชน์จากกระแสอุปสงค์สินค้าเทคโนโลยีระดับโลก ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังต่ำอยู่ที่ 0.8% ในปี 2025 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของแบงค์ชาติ
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ Worldbank แนะนำเราเพื่อเสริมความแข็งแกร่งและปฏิรูปเศรษฐกิจ
มี 3 แนวทางหลักเพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทย
1. ปฏิรูประบบภาษีและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายรัฐ – เน้นสวัสดิการสังคมแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย และเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและทุนมนุษย์
2. ระวังเรื่องการผ่อนของนโยบายการเงิน – สนับสนุนการฟื้นตัวโดยไม่กระทบเสถียรภาพการเงิน พร้อมแก้หนี้ครัวเรือนแบบเจาะจง
3. ปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน – หากไม่เร่งปฏิรูป ศักยภาพของประเทศไทยในการเติบโตระยะยาวอาจลดเหลือ 2.7% ภายในปี 2030
“SMEs และสตาร์ทอัพ” จะเป็นหัวใจฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยังถูกกดทับ
 
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นกระดูกสันหลังเศรษฐกิจไทย คิดเป็น 99.5% ของธุรกิจทั้งหมด จ้างงาน 69.5% ของแรงงานประเทศ และสร้างมูลค่า 35.3% ของ GDP แต่ยังมีข้อจำกัดสำคัญ 4 ประการ
1. การเข้าถึงเงินทุน – โดยเฉพาะสตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้น
2. ขาดโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุน – เช่น Incubator และ Accelerator
3. ทักษะไม่ตรงกับความต้องการอนาคต – ทั้งด้านดิจิทัลและนวัตกรรม
4. กฎระเบียบขัดขวางการแข่งขัน – ทั้งการค้าและการลงทุน
Worldbank เตือนว่า “หากไทยไม่เร่งส่งเสริมนวัตกรรมใน SMEs และสตาร์ทอัพ” อาจ “ตามหลังประเทศอื่นในภูมิภาค” และถูกตัดออกจากห่วงโซ่มูลค่าทั่วโลก ขณะเดียวกัน ต้องแก้ปัญหาสังคมสูงวัยและระบบโลจิสติกส์ผ่านแนวคิดสร้างสรรค์
ทางออกที่จะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส?
เพื่อปลดล็อกศักยภาพ SMEs ไทย จำเป็นต้องดำเนินการ 4 ด้าน
* เพิ่มเงินสนับสนุน R&D – โดยเฉพาะในภาคเอกชน
* พัฒนาระบบฝึกทักษะแรงงาน – เน้นดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่
* ลดขั้นตอนกฎหมาย – สร้างสภาพแวดล้อมแข่งขันอย่างเป็นธรรม
* ส่งเสริมการรวมกลุ่มห่วงโซ่อุปทานโลก – เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ เป็นต้น
บทสรุป คือ “โอกาสอยู่ตรงหน้า หากกล้าเปลี่ยนแปลง”
 
เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ที่ทางแพร่ง แม้ตัวเลขการเติบโตในปี 2025 แต่ความยั่งยืนขึ้นอยู่กับการปฏิรูปโครงสร้างและส่งเสริมนวัตกรรมอย่างจริงจัง ตามรายงาน Worldbank ชี้ว่า
"การเติบโตระยะยาวต้องเริ่มจากการลงทุนในวันนี้... ทั้งในคน เทคโนโลยี และระบบที่เปิดกว้าง"
คำถามสำคัญคือ “ไทยจะใช้โอกาสจากแรงหนุนท่องเที่ยวและการบริโภคในปัจจุบัน เป็นบันไดสู่การยกระดับขีดความสามารถแข่งขัน” หรือ “จะติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปอีกทศวรรษ?”
#วันละเรื่องสองเรื่อง
โฆษณา