เมื่อวาน เวลา 15:49 • สุขภาพ

เทียบ 14 สิทธิการรักษาพยาบาล "บัตรทอง" เข้าถึงแต่ "ประกันสังคม" ต้องรอ

เทียบ 14 สิทธิรักษาพยาบาล "บัตรทอง" เข้าถึงมากกว่า "ประกันสังคม" ทั้งที่แรงงานจ่ายเงินทุกเดือน "กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ" ชี้บัตรทองใช้งบประมาณเฉลี่ยต่อคน 4,000 บาท/ปี ทางแก้ควรนำระบบดูแลสุขภาพทั้งสองส่วนมารวมกัน แต่กองทุนหลังเกษียณของประกันสังคมยังเก็บไว้เหมือนเดิม
นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ วิเคราะห์เปรียบเทียบการเข้าถึงการดูแลสุขภาพระหว่างผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมกับผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ที่เห็นถึงความแตกต่างในสิทธิการใช้บริการดังนี้
- ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมต้องจ่ายภาษีและเงินสมทบเพื่ออุดหนุนการดูแลสุขภาพ
- ประกันสังคมเมื่อแรกเข้าต้องส่งมาแล้ว 3 เดือนถึงมีสิทธิในการรักษา บางรายมีปัญหาในการที่ระบบเตือนว่ายังส่งไม่ครบ 3 เดือน ทั้งที่จ่ายครบแล้ว
- คนใช้ประกันสังคมถ้าต้องการเปลี่ยนโรงพยาบาลที่ใช้สิทธิต้องรอเปลี่ยนในช่วงเวลากำหนด ต่างจากบัตรทองที่ไปโรงพยาบาลไหนก็ได้
- ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมต้องใช้สิทธิในสถานพยาบาลที่เลือกไว้เท่านั้น เช่น ถ้าไปเที่ยวแล้วเกิดป่วยกะทันหัน ต้องกลับมาใช้สิทธิในโรงพยาบาลที่เลือกไว้ ถ้าใช้ในกรณีฉุกเฉิน ต้องไปตีความกันหน้างานว่าเป็นเคสฉุกเฉินจริงหรือไม่ บางรายฉุกเฉินแบบไม่ถึงแก่ชีวิต ต้องไปถกเถียงกันหน้างาน
- บางกรณีที่ประกันสังคมให้จ่ายเงินสำรองไปก่อน ก็ไม่แน่ว่าจะได้รับเงินคืนเต็มจำนวนหรือไม่
- ผู้ป่วย HIV ในระบบประกันสังคมต้องไปรักษากับโรงพยาบาลที่มีสิทธิเท่านั้น ต่างจากคนถือบัตรทอง สามารถไปหาหมอหรือรับยาต้านไวรัสที่ไหนก็ได้ เช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อ HIV ที่อยู่ต่างจังหวัด ถ้าโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ไม่ได้ทำคอนแทคกับโรงพยาบาลในชุมชนชัดเจน ผู้ป่วยต้องเดินทางไปรับยาที่จังหวัดทุกครั้ง ทำให้สูญเสียค่าเดินทางจำนวนมาก
- การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ C และผู้ใช้ประกันสังคมต้องไปรักษากับโรงพยาบาลที่ตนเองมีสิทธิเท่านั้น ต่างจากบัตรทองที่สามารถไปโรงพยาบาลไหนก็ได้
- การส่งเสริมป้องกันโรคมีความยุ่งยาก เข้าถึงลำบากในกลุ่มประกันสังคม ต่างจากบัตรทอง เรื่องการส่งเสริมป้องกันโรคมีความครอบคลุม
- ประกาศของประกันสังคมมักมีเพดานข้อจำกัดเรื่องวงเงิน เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ถ้ารักษาที่โรงพยาบาลต้องใช้เคมีบำบัด ต่อคน 50,000 บาท/ปี ถ้ามีค่ารักษาเกินวงเงิน ต้องไปขอยกเว้นที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่เขต จึงเป็นความยุ่งยาก และผู้ประกันตนเสี่ยงต้องจ่ายเงินเพิ่มเอง
- ฟอกไต ถ้าผลตรวจออกมาว่ามีค่าสูงเกินระดับ 8 ต้องไปขออนุญาตใช้สิทธิกับประกันสังคมก่อน โรงพยาบาลถึงฟอกไตให้ได้ ต่างจากคนถือบัตรทอง ถ้าตรวจเจอหมอก็ทำการรักษาไป แล้วทำเรื่องส่งเบิกไปตามปกติ
- การบำบัดฟื้นฟูในผู้ใช้ประกันสังคม ถ้าป่วยติดเตียงอยู่บ้านเป็นเวลานาน ต้องไปใช้สิทธิบัตรทองในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งการเบิกจ่ายของประกันสังคมมีปัญหาในเรื่องนี้
- ทันตกรรมของสิทธิประกันสังคมถูกตีความให้ใช้ได้ปีละไม่เกิน 900 บาท ถ้าเกินต้องจ่ายเอง ต่างจากสิทธิบัตรทองที่ไม่มีการจำกัดวงเงิน แต่อาจมีปัญหาเรื่องการรอคิวรักษา เนื่องจากการดูแลด้านทันตกรรมของโรงพยาบาลรัฐมีข้อจำกัดเรื่องความแออัดของคนไข้
- ไม่ครอบคลุมการยุติการตั้งครรภ์ มีการร้องเรียนว่าผู้ใช้สิทธิประกันสังคมมีปัญหาจนต้องยุติการตั้งครรภ์ บางรายถูกปฏิเสธการรักษา ต่างจากบัตรทองที่สามารถทำได้
- การรักษาในโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง จนโรงพยาบาลที่ผู้ใช้ประกันสังคมไม่สามารถรักษาได้ ต้องมีกระบวนการส่งต่อ ซึ่งอาจล่าช้าจนกระทบกับผู้ป่วย เพราะโรงพยาบาลที่ส่งต่อ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย บางรายต้องรอให้ผู้ป่วยมีอาการหนักแล้วถึงส่งต่อ
  • ทางออกรวมการดูแลสุขภาพ ประกันสังคม+บัตรทอง
1
"นิมิตร์" วิเคราะห์ว่า สำหรับ 14 ข้อตัวอย่างที่ยกมา ถือเป็นช่องว่างของระบบประกันสังคม ที่ไม่รองรับกับความต้องการของผู้ป่วย เพราะเมื่อเทียบกับสิทธิของบัตรทอง มีมาตรการรองรับในทุกข้อ ถือเป็นปัญหาที่คนจ่ายประกันสังคมพูดถึงเป็นวงกว้าง จึงมีข้อเสนอให้ระบบประกันสุขภาพของประกันสังคมไปอยู่ในระบบจัดการที่เดียวกับบัตรทอง แต่แยกระบบการออมและการดูแลหลักเกษียณ ที่ประกันสังคมควรใช้ระบบเดิมในการดูแล ซึ่งถ้าแยกเฉพาะระบบการดูแลสุขภาพมารวมกัน จะเป็นระบบใหญ่ที่ดูแลคนไทยทั้งประเทศ 66 ล้านคนอย่างเท่าเทียม
การแก้กฎหมายประกันสังคม มาตรา 54 ที่บอกไว้ว่า ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 มีสิทธิประโยชน์ 7 อย่าง แต่ในการเจ็บป่วยนอกงาน ถ้าเอาข้อนี้ออกให้มีสิทธิประโยชน์แค่ 6 อย่าง ครอบคลุมกับการออม กองทุนชราภาพ และเมื่อตัดเรื่องสุขภาพออก จะไปเข้ากับมาตรา 5 ใน พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพ ที่ระบุว่าคนทุกคนต้องได้รับการดูแลในระบบสุขภาพ เงินสมทบที่ผู้ประกันตนต้องจ่าย ให้เข้าในระบบการออมหลังเกษียณ จึงอยากให้ผู้ประกันตนส่งเสียงให้เกิดการแก้ไข และได้สิทธิในการรักษาอย่างเท่าเทียม
เรื่องความกังวลว่า ถ้าระบบสุขภาพของประกันสังคมกับบัตรทองมารวมกัน โรงพยาบาลมีคนไข้ล้น ไม่น่าเป็นห่วง เพราะโรงพยาบาลเอกชนที่รับผู้ใช้สิทธิประกันสังคม สุดท้ายก็เข้ามารับดูแลคนไข้ในระบบเดียวกัน ซึ่งมีตัวเลขการดูแลผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทอง เฉลี่ยมีค่าใช้จ่ายคนละ 4,000 บาท/ปี ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมก็ไม่น่าจะขาดทุน.
โฆษณา