วันนี้ เวลา 03:41 • ประวัติศาสตร์

โรงเรียนในอดีต

คุณสุนีย์ สุวรรณตระกูล เพื่อนผมตอนเรียนมัธยม เธอเป็นลูกคนจีนแต้จิ๋วจากโพ้นทะเล เธอเกิดที่ อ.แก่งคอย สระบุรี เธอรักแก่งคอย เคยเขียนบทความเรื่อง "คนแต้จิ๋ว คนจีนโพ้นทะเล" ส่งมาให้อ่านหลายตอน ตอนนี้เธอสนใจสืบค้นประวัติศาสตร์ของแก่งคอยจากคนรุ่นเก่าและหลักฐานปฐมภูมิที่ยังมีอยู่มาเขียนเป็นตอนๆ ใกล้ตีพิมพ์เป็นเล่มแล้ว
เรื่อง"โรงเรียนในอดีต"เป็นเรื่องหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ ที่เธอเขียนและส่งมาให้ผมอ่าน ซึ่งมีตอนหนึ่งเกี่ยวข้องกับครอบครัวผมด้วย ผมได้ขออนุญาตจากเธอมาแบ่งปันกันอ่านแล้ว ใครสนใจฉบับสมบูรณ์ก็คงต้องรอสักพักนะครับ
#โรงเรียนในอดีต
 
ในปี​ ค.ศ​. 1876 ( พ.ศ.2419) ก่อนที่รถไฟสายอีสานสายแรกของประเทศจะมีขึ้น คณะมิชชันนารีคริสเตียน​ได้เดินทางมาแก่งคอยเพื่อเผยแพร่ธรรม และต้องการเดินทางต่อไปยังหัวเมืองต่างๆในภาคอีสาน​ จะต้องเริ่มต้นที่นี่ก่อน
แก่งคอยประตูสู่ดงพญาไฟเพื่อเดินทางต่อไปอีสาน
ฝรั่งเรียกแก่งคอยในเวลานั้นว่า หมู่บ้านลาว
ก่อนเดินทาง การมีที่พักพิงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งในการเดินทางในครั้งนั้น
วัดแม่พระเมืองลูร์ด แก่งคอย​ จึงเกิดขึ้น ณ.ที่นี่ นอกจากใช้เป็นที่แพร่ธรรมแล้วยังเป็นสถานที่สำหรับนักบุญที่ผ่านเข้าและออก​มา จากป่าดงพญาไฟได้พักและแลกเปลี่ยนประสบการณ์​ที่ผ่านมา
ในปี ค.ศ.1880 ( พ.ศ​.2423) วัดเรือนไม้หลังนี้ถูกไฟเผาทำลายจนหมดสิ้น ต่อมาในปี​ ค.ศ​. 1924 (พ.ศ​. 2467 สมัย​รัชกาลที่ 6) มีการสร้างโรงเรียนคริสต์ขึ้นทางทิศเหนือของสถานีรถไฟแก่งคอย​ ริมทางเกวียนโบราณ(ถนนสุดบรรทัด) ตรงข้ามถังน้ำปะปาของรถไฟ ในปัจจุบัน คือโรงเรียนแม่พระ
#โรงเรียนแม่พระ
โรงเรียนแม่พระ เป็นโรงเรียนคริสต์​ ดำเนินการสอนในช่วงปี​ ค..ศ. 1924 -​1945 (พ.ศ..2ื467-2488) สร้างขึ้นหลังจากรถไฟสายอีสานเริ่มวิ่งแลัว ความจำเป็นในการเดินผ่านดงพญาเย็นก็น้อยลง
ครูสนอง​ สุริยฉาย​ (ภรรยาปลัดปัจจะ​ ชำนาญคดี) อดีตศิษย์เก่าโรงเรียนนี้ เล่าให้ฟังว่านักเรียนส่วนใหญ่เป็นลูกหลานพนักงานรถไฟ​ ครูที่สอนเป็นครูไทย​ มีบาทหลวงมาเยี่ยมทุกปี​ ปีละครั้ง​ มีของเล่นมาฝากให้นักเรียนทุกครั้งที่มา มีการสอนตั้งแต่​ชั้น ป1 ถึง​ ป4 สอนภาษาอังกฤษ​และชวเลขด้วย​
หลังจากเรียนจบที่นี่แล้ว​ ครูสนองได้ไปเรียนต่อที่ โรงเรียนสหายหญิง​ สระบุรี โดยพักอยู่ที่บ้านครูทรัพย์​ ยศสุนทร​ ​มีครูสมบูรณ์​ น้องสาวครูทรัพย์​ ซึ่งเป็นข้าพระบาทในหม่อนเจ้าสุขุมาลย์มารศรี​ เป็นผู้อบรมเรื่องมารยาทและการเข้าพบผู้ใหญ่
โรงเรียนแม่พระถูกเผาและทำลาย​จากระเบิดลงในสงครามโลกครั้งที่​ 2 ในปี ค.ศ​. 1945 (พ.ศ.​2488) จึงเลิกกิจการไป
หลังจากนั้น​ นายทวี​ อิ่มเรืองศรี​ ได้สิทธิ์​ในการดำเนินกิจการต่อในนามของโรงเรียน​ ทวีวิทยา​ โดยมีนายทวี​ อิ่มเรืองศรีเป็นเจ้าของโรงเรียน
นายทวี​ อิ่มเรืองศรี​ เป็นบุตรเขยของลุงเฮง​ โภคสุพัฒน์​ ลุงเฮงเป็นน้องชายคุณล้อม​ เศรษฐบุตร​ เจ้าของที่ดินแปลงใหญ่ของตลาดแก่งคอย
 
#โรงเรียนทวีวิทยา
โรงเรียนทวีวิทยาเป็นโรงเรียนเอกชน​ สอนตั้งแต่ชั้น​ ป1 ถึง​ ม​ 3 มี​ครูเลื่อน​ ชาวเฟื่องยนตร์ เป็นครูใหญ่​ ครูสนองได้กลับมาเป็นครูสอนที่โรงเรียนทวีวิทยา​หลังจากจบกาศีกษา รับเงินเดือนละ​ 14​ บาท ก่อนย้ายไปเป็นครูที่โรงเรียนวัดแก่งคอย
#โรงเรียนวัดแก่งคอย​
โรงเรียนวัดแก่งคอยเป็นโรงเรียนรัฐบาล ตั้งอยู่ในบริเวณวัด ด้านหลังวัดมีแม่น้ำป่าสัก​ไหลผ่าน​ อาคารเรียนเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว​ ยกพื้นสูง 2 หรือ3 ขั้น​บันได​ อยู่ริมกำแพงวัดติดถนนสุดบันทัด​(ด้านที่เป็นเมรุเผาในปัจจุบัน​) สอนระดับชั้น​ป1 ถึง​ ป4 มีครูบัว​ สุวรรณสินเป็นครูใหญ่​
ทั้งครูบัวและครูสนองต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น​ ครูบรรพรตและครูเปรมสุข​ ตามประกาศของจอมพล.ป​ ที่ต้องการให้แยกชื่อตามเพศที่เป็นอยู่
นักเรียนส่วนใหญ่เป็นลูกชาวบ้านและชาวตลาด
คุณฉลอง​ กัลยาณมิตร​ อดีตอธิบดี​กรม​การปกครอง​ กระทรวงมหาดไทยเรียนจบจากที่นี่
ชุดแต่งกายนักเรียนโรงเรียนวัดจะเป็นเสื้อขาว​ เด็กหญิงนุ่งผ้าถุงสีน้ำเงิน​ เด็กชายใส่กางเกงขาสั้นสีน้ำตาล​ การแต่งตัวของนักเรียนไม่เคร่งครัดนัก​ โรงเรียนจะหยุดสอนในวันโกนและวันพระ
เจ้เซี่ยมฮวย(ร้านทองแม่ฮวย)​ เจ้ฮั่วคิ้ม(ร้านคูฮั่วเฮง)​ เล่าให้ฟังว่า​ เป็นนักเรียนที่นี่ มาเรียนสายประจำ ต้องช่วยงานที่บ้านเสร็จก่อนจึงคอยมาเรียน​ ครูสอนไม่ได้เข้มงวดเรื่องเวลาเข้าเรียนนัก ​
พื้นห้องเรียนเป็นแผ่นไม้ ช่องว่างระหว่างไม้แต่ละแผ่นเป็นช่องกว้าง​ ทำให้ดินสอและยางลบ​ หล่น​ผ่านช่องว่างลงสู่พื้นล่างได้ ต้องมุดลงใต้อาคารเพื่อเก็บของที่ตกหล่นเสมอ
ป้าเจิม​ที่ขายเมี่ยงคำ ส้มตำ และหอยโขมน้ำจิ้ม​ มีพี่จาดลูกสาวขายกล้วยปิ้งอยู่คู่กัน​ ขายอยูบริเวณ​หน้าบ้านหม่องในปัจจุบัน​ สามีป้าเจิมทำงานด้านการศึกษาอยู่ที่อำเภอ​ จะคอยมาเกณฑ์​เด็กตลาดให้ไปเรียนหนังสือ​ คนในตลาดที่ต้องอาศัยแรงงานลูกช่วยทำงานจะต้องคอยหลบหน้าตลอด
#โรงเรียนวรวิทย์​
เป็นโรงเรียนเอกชน ที่มีมานานก่อนสงครามโลกครั้งที่​​ 2 ตั้งอยู่ตรงข้ามบ้านป้าระเบียบ(ในป้จจุบัน)​ ลักษณะโรงเรียนสร้างเป็นศาลามุงหลังคา​ ไม่มีฝาผนังห้อง ​ มีเพียงระเบียงเตี้ยๆกั้นแบ่งเขตห้องเรียน​ โต๊ะเรียนและม้านั่งเป็นแถวยาว​ นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กตลาด​ ม​ี เฮียน้อย​ เฮียบุ​ เฮียเข่ง​ เฮียใหญ่​ เจ้หม่วยลัดดา​ เจ้เมา​ (ร้านซุ่นแถ่น) เจ้ลั้ง(ร้านกึงฮะ) ฯลฯ
เจ้เมา​(ลูกสาวร้านซุ่นแถ่น)​ เล่าให้ฟังว่าสมัยเรียนอยู่มีลูกนายอำเภอมาเรียนด้วยสองคน​นั่งเรียนด้วยกัน เป็นชายและหญิง แต่งตัวสะอาดมาก
หลังจากถูกทำลายด้วยระเบิดในสงครามโลกครั้งที่​ 2 โรงเรียนวรวิทย์ได้ย้ายมาตั้งอยู่แถวบ้านครูบุรี​ เยื้องกับโรงเรียนจีนในปัจจุบัน​ ต่อมาได้ย้ายอีกครั้งมาอยู่แถวตลาดใหม่ใก้ลโรงเรียน​ สบ​๘​
ขณะที่เรียนอยู่โรงเรียนจีนยังมองเห็นโรงเรียนวรวิทย์​อยู่​ เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว มีครูเนียม​ ปิณฑ​แพทย์​ เป็นครูใหญ่​ หลังจากนั้นก็เลิกกิจการไป
#โรงเรียนจิ่นเต๊อะแก่งคอย​#หรือโรงเรียนจีน
เดิมตั้งอยู่ใก้ลริมน้ำป่าสัก​ น่าจะตรงข้ามกับร้านสามเหลี่ยมทองคำในปัจจุบัน​ โดยเช่าที่ดินของยายเที่ยง​ ยายของครูมะลิ​ ชูชื่นกลิ่น​ ก่อตั้งขึ้นเพื่อสอนภาษาจีนให้กับลูกคนจีนในตลาด​ โดยมึพ่อค้าคนจีนในตลาดเป็นผู้อุปถัมภ์​ ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเรียน​ มีครูสนิท ธรรมนิยมเป็นครูใหญ่ ต่อมาได้ย้ายไปเป็นศีกษาธิการจังหวัดสระบุรี(เป็นพี่เขยครูสนอง)
คุณจำลอง​ พิศนาคะ​ ผู้แปลหนังสือกำลังภายในของจีน​ เป็นนักเรียนที่นี่​ บ้านพักคุณจำลอง​ อยู่ติดวัดแก่งคอย​ พ่อเป็นคนจีนกวางตุ้ง อาชีพช่างไม้
โรงเรียนถูกทำลายไปหลังระเบิดจากการโจมตีทางอากาศของฝ่ายพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่​ 2 ต่อมากลุ่มพ่อค้าในตลาดได้รวมตัวกันอีกครั้ง​ ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งบนถนนสุดบรรทัด​ สร้างโรงเรียนจิ่นเต๊อะแก่งคอยขึ้น​​ใหม่ เป็นเรือนไม้​ 2 ชั้น​รูปทรงปั้นหยา​ หันหน้าไปทางสถานีรถไฟหรือตามแนวเส้นทางรถไฟ​
ทางเข้าโรงเรียนอยู่บนถนนสุดบรรทัด มีบ่อน้ำ​อยู่ทางซ้ายมือของประตูเมื่อเดินเข้า​ ซ้ายมือเป็นโรงอาหาร ขวามือเป็นสนามบาส มุมสนามใก้ลตัวอาคาร มีต้นมะเกลืออยู่ต้นหนึ่ง เด็กๆชอบมาเล่นกันที่ใต้ต้นมะเกลือนี้ ตอนนั้นยังใช้ส้วมหลุมมีไม้พาดให้นั่งยอง​แยกกันระหว่างชายหญิง
มีครูมณฑล ผลวานิช เป็นครูใหญ่ของโรงเรียน
มีนักเรียนจากมวกเหล็ก​ กลางดง สูงเนินมาเรียนเป็นนักเรียนกินนอนประจำอยู่หลายคน​ มีครูจีนเป็นผู้ดูแล​นักเรียนเหล่านี้
ครูจีนเป็นครูที่มีระเบียบวินัย​มาก มีการจัดนักเรียนชายมาเป็นสารวัตร​นักเรียน​(กิ่วฉัก) ดูแลความเป็นระเบียบและความปลอดภัยของนักเรียนขณะเดินทางมาเรียนและเดินทางกลับ
ทั้งครูจีนและสารวัตรนักเรียนยังทำหน้าที่ออกมาสอดส่องดูแลและจดชื่อนักเรียนที่ออกมาเที่ยวเตร่ในยามค่ำคืนด้วย
ครูโค้วครูสอนภาษาจีน​ บ่อยครั้งจะขี่จักยาน​ออกมาตรวจตลาดพร้อมพบปะผู้ปกครองเพื่อตรวจสอบและไถ่ถามถึงความตั้งใจในการเรียนของเด็กนักเรียน ตอนเด็กๆพอเจอครูโค้วขี่จักรยานผ่านมา ทุกคนจะต้องวิ่งเข้าบ้านทันที
#โรงเรียนจิ่นเต๊อะแก่งคอย​ ดูแลโดยพ่อค้าในตลาด​ มีการเลือกตั้งพ่อค้าในตลาดเข้าเป็นกรรมการบริหารโรงเรียน (เห่าตั้ง)
นอกจากสอนหนังสือตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาแล้วยังช่วยชาวตลาด​ในงานพิธีสำคัญต่างตามประเพณีจีน การเขียนอักษรจีนที่ใช้ประกอบในงานพิธี เช่น​ คำอวยพรในวันตรุษจีน​ (ตุ้ยเลี้ยง)​ งานมงคลสมรส แผ่นผ้าอักษรจีนติดตั้งหน้าศพ​ พิธีเคารพศพ​ตามธรรมเนียมจีน ฯลฯ
โรงเรียนจิ่นเต๊อะแก่งคอยยังคงดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน​ภายใต้การดูแลของมูลนิธิแก่งคอยเมตตาธรรมและชาวตลาดเป็นกรรมการ
สำหรับผู้บันทีก จำได้ว่าขณะที่เรียนอยู่ชั้นประถม1 ที่โรงเรียนนี้ มีครูขนิษฐามาสอนที่ห้องเรียน แทนครูประจำชั้นที่ไม่มาสอนในวันนั้น ท่านมีครรภ์แก่ในขณะนั้น หลังจากนั้นก็ไม่พบท่านอีกเลย ความเป็นเด็กเล็กมองดูท่านต่างจากครูสอนคนอื่นๆ ทั้งยังตื่นเต้นกับครูใหม่ที่มาสอน ทำให้จำชื่อและภาพท่านได้ เป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในความทรงจำในวัยเด็ก
จากนั้นอีก 60 กว่าปีให้หลัง คุณธเนศ ขำเกืดหนึ่งในกลุ่มไลน์เพื่อนสระบุรี 09 บอกผู้บันทึกว่า ภรรยาเขาเกิดที่แก่งคอย พ่อเป็นนายสถานีรถไฟแก่งคอย แม่เคยเป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนจิ่นเต๊อะแก่งคอย ตอนนั้นภรรยาเขาอยู่ในครรภ์แม่ ฟังแล้วตื่นเต้น ดีใจ สิ่งที่ฝังใจในอดีตถูกขยายให้แจ่มชัดขึ้น เป็นความบังเอิญอย่างแปลกประหลาด และทราบว่าชื่อจริงของท่านคือ กนิษฐา จิระเสวี
น่าเสียดายที่ท่านได้จากไปแล้วเมื่อกลางปี 2564 โดยไม่มีโอกาสได้กราบท่าน เพราะปัญหาการระบาดของโรคโควิค ปิดโอกาสการพบกัน
โลกกลมดั่งกาลิเลโอยืนยัน แม้จะต้องติดคุกเพื่อยืนยันความคิดนี้ ก็ยอม
สุนีย์​ สุวรรณตระกูล เขียนบันทึก​
ขัอมูล Admin Website สังฆมณฑล นครสวรรค์ บทความ"มหากางเขนลงที่แก่งคอย"
ครูสนอง เจ้เมา เจ้ฮวย เจ้คิ้ม เฮียเถ้า เจ็กหมานและธเนศ ผู้ให้ข้อมูล
โฆษณา