วันนี้ เวลา 09:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

แสงเอกซ์เรย์จากดาวแคระขาวโคจรด้วยความเร่งจากหลุมดำ

ทีมนักดาราศาสตร์ ดร.วิลเลียม อัลสตัน อาจารย์อาวุโสด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลจากศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์ตฟอร์ดเชียร์ ได้ตรวจจับพัลส์รังสีเอกซ์ (periodic X-ray pulses) เป็นระยะ ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจากหลุมดำมวลมหาศาล (supermassive black hole) 1ES 1927+654 ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 270 ล้านปีแสง
พัลส์ของแสงเอกซ์เรย์ซึ่งในตอนแรกสังเกตได้ทุกๆ 18 นาที ได้เพิ่มความเร็วอย่างน่าประหลาดใจเป็นทุกๆ 7 นาทีตลอดระยะเวลา 2 ปี ปรากฏการณ์นี้ซึ่งไม่เคยมีการบันทึกมาก่อน ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักวิจัยทั่วโลก
ทีมวิจัยซึ่งนำโดย เมแกน มาสเตอร์สัน นักดาราศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เสนอว่า พัลส์เหล่านี้อาจมาจากดาวแคระขาว (white dwarf) ซึ่งเป็นเศษซากหนาแน่นของดาวฤกษ์ที่ตายแล้ว และโคจรรอบขอบฟ้าเหตุการณ์ (event horizon) ของหลุมดำอย่างอันตราย ดาวแคระขาวนี้ดูเหมือนจะกำลังลอกเปลือกชั้นนอกออก ซึ่งกระบวนการดังกล่าวอาจป้องกันไม่ให้ดาวแคระขาวถูกแรงดึงดูดอันมหาศาลของหลุมดำกลืนกินจนหมด
ดร.วิลเลียม อัลสตัน กล่าวว่า "การแกว่งแบบคาบซ้ำ (Quasi-periodic oscillations: QPOs) คือ การเปลี่ยนแปลงความสว่างของรังสีเอกซ์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ใกล้กับหลุมดำ การแกว่งแบบนี้ทำหน้าที่เหมือนนาฬิกาธรรมชาติ ช่วยให้เราเข้าใจว่า สสารเคลื่อนที่อย่างไร เมื่อตกลงไป ทำให้เราสามารถทดสอบฟิสิกส์ขั้นสูงได้ ซึ่งรวมถึงทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ด้วย"
การค้นพบนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เข้าใจพลวัตของหลุมดำอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสอันน่าตื่นเต้นสำหรับภารกิจอวกาศในอนาคตอีกด้วย หากดาวแคระขาวเป็นสาเหตุของพัลส์รังสีเอกซ์จริง ดาวแคระขาวก็น่าจะผลิตคลื่นความโน้มถ่วงซึ่งเป็นคลื่นระลอกในกาลอวกาศตามที่ทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ทำนายไว้ด้วย
แปลและเรียบเรียงโดย
One To Many - A Brief Science
.
แหล่งอ้างอิง
[1] Rapidly accelerating X-ray flashes from a black hole 270 million light-years away
[2] 245th meeting of the American Astronomical Society National Harbor, MD 12 – 16 January 2025
โฆษณา