เมื่อวาน เวลา 05:11 • การศึกษา

แบบไหนเรียกว่าเหตุสุดวิสัย ?

คำว่า "เหตุสุดวิสัย" เป็นศัพท์ทางกฎหมาย ถูกบัญญัติให้คำนิยามไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 8
ป.พ.พ. มาตรา 8 บัญญัติว่า คำว่า "เหตุสุดวิสัย" หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น
กล่าวสั้นๆเลย คือ เหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้ แม้จะระมัดระวังตามสมควรแล้วก็ตาม
ข้อควรรู้ :
-เมื่อเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้น ในทางกฎหมายไม่อาจเรียกร้องให้บุคคลใดรับผิดทางกฎหมายได้
-เหตุสุดวิสัยมีทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น อุทกภัย ฟ้าผ่า เป็นต้น ในกรณีนี้อยู่เหนือการควบคุมและป้องกันของมนุษย์ อีกกรณีเป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ กรณีนี้ต้องดูว่าเป็นการกระทำของบุคคลผู้ประสบเหตุนั้นเองหรือไม่ หากเกิดจากบุคคลนั้นเองก็ไม่เป็นเหตุสุดวิสัย เพราะบุคคลย่อมสามารถควบคุมการกระทำของตนได้ หากเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่น และเราไม่ได้มีส่วนร่วมกระทำ เช่น สงคราม การก่อการร้าย เป็นต้น ย่อมเป็นเหตุสิดวิสัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2564
โจทก์สมองพิการเพราะท่อช่วยหายใจหลุดภายหลังการผ่าตัด ทำให้สมองขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน ข้อเท็จจริงปรากฎว่า จำเลย แพทย์ของโจทก์ ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบและเหมาะสมแก่สภาวการณ์ที่จำเป็นในการรักษาโจทก์ ทุกขั้นตอนโดยถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพอันเหมาะสมแก่สภาวการณ์แล้ว แม้ท่อช่วยหายใจจะหลุด การกระทำของโจทก์ ย่อมไม่เป็นการละเมิด แต่เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจคาดหมายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2998/2554
โจทก์ยื่นคำร้องว่าโจทก์เจ็บป่วยจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยทนายโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าโจทก์ป่วยด้วยโรคไต ต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเป็นประจำเหตุดังกล่าวจึงไม่ใช่เหตุที่ทำให้ทนายโจทก์ไม่อาจมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ จึงไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาลจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 23 ดังกล่าวได้
ส่วนที่ทนายโจทก์อ้างอีกว่า หากโจทก์ต้องการจะยื่นอุทธรณ์อย่างคนอนาถา โจทก์จะต้องกระทำด้วยตนเอง จึงมีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาดำเนินการดังกล่าว ก็เป็นการคาดคะเนของทนายโจทก์ทั้งสิ้น จึงไม่อาจอ้างได้ว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัยเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16467/2555
ตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยรถราชการ พ.ศ.2544 ข้อ 12 กำหนดขอบเขตไว้ชัดเจนว่า การใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งในการปฏิบัติหน้าที่ราชการให้รวมถึงการใช้รถยนต์เพื่อเดินทางไป - กลับระหว่างที่พักและสถานที่ปฏิบัติราชการด้วย ดังนั้น การที่จำเลยขับรถยนต์ประจำตำแหน่งออกจากบ้านพักที่จังหวัดนนทบุรีเพื่อไปปฏิบัติราชการที่ศาลจังหวัดพัทยา จึงเป็นการปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่ตามระเบียบดังกล่าวแล้ว
จำเลยดูแลรักษารถยนต์และนำเข้าตรวจสภาพเมื่อรถเกิดอาการผิดปกติ อันเป็นการใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งด้วยความระมัดระวังเช่นวิญญูชนพึงกระทำ และก่อนเกิดเหตุจำเลยให้พนักงานขับรถนำรถยนต์ไปตรวจสอบที่ศูนย์บริการแล้ว แต่ไม่พบความบกพร่อง รถยนต์สามารถใช้งานได้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทราบอยู่แล้วว่ารถยนต์มีสภาพไม่สมบูรณ์ และจำเลยขับรถโดยใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กม. ต่อ ชม. ซึ่งไม่เกินอัตราความเร็วที่กฎหมายกำหนดให้ใช้บนเส้นทางดังกล่าวไม่เกิน 120 กม. ต่อ ชม.
การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่เหตุเกิดจากความชำรุดบกพร่องของตัวรถอันเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
อ้างอิง
หนังสือความรู้กฎหมายทั่วไป Introduction to Law รองศาสตราจารย์สมยศ เชื้อไทย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2564
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2998/2554
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16467/2555
โฆษณา