Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
aomMONEY
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
9 ชั่วโมงที่แล้ว • ธุรกิจ
Netflix พร้อมสู้เวที ‘Podcast’
ศึกมีเดีย ‘ยักษ์ปะทะยักษ์’ แห่งศตวรรษ เมื่อ YouTube กับ Netflix เริ่มแย่งเค้กก้อนเดียวกัน
📺 หากใครเป็นผู้ใช้งาน Netflix (หรือตามข่าว) จะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมากในช่วงสองปีที่ผ่านมา
จากที่เคยบอกว่าจะไม่มีโฆษณา ก็เริ่มทยอยปล่อยแพลนที่มีโฆษณาในหลายประเทศ
จากที่เคยให้แชร์พาสเวิร์ดกันได้ ก็บีบให้คนที่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกันสมัครแยกกัน
จากที่ไม่เคยมีเกม ก็ปล่อยสมาชิกโหลดเกมไปเล่น
จากที่ไม่เคยมีการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาหรือรายการเรียลลิตี้ทีวีตอนนี้ก็มีให้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผู้ถือหุ้นและผู้ใช้งานถือเป็นข่าวดี สิ่งเหล่านี้เป็นการทดลองที่กำลังออกดอกผล
📈 ไม่ใช่แค่ทำให้หุ้นของบริษัทที่บวกเพิ่มไป 200% แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ Netflix แตกต่างไปจาก Netflix เวอร์ชันก่อนอย่างเห็นได้ชัด สมาชิกทั่วโลกแตะ 300 ล้านบัญชีไปแล้ว
🎙️ และล่าสุดจากรายงานของ Business Insider บอกว่า ‘Video Podcast’ คือเป้าหมายต่อไปของ Netflix ซึ่งจะทำให้พวกเขาเริ่มขยับเข้าไปกินเค้กก้อนเดียวกันของมีเดียเจ้าใหญ่อีกเจ้าอย่าง YouTube ทันที
แล้วทำไม Netflix ถึงสนใจ ‘Video Podcast’ กันละ?
🤑 [ เปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้าให้กลายเป็นเงิน ]
จากก่อนหน้านี้มี Spotify ต่อมาก็มี Amazon และแน่นอนว่าเจ้าแห่งแพลตฟอร์มวิดีโออย่าง YouTube ก็ถือว่าเป็นพื้นที่ใหญ่สำหรับวิดีโอพอดแคสต์อยู่แล้ว
พอเริ่มสังเกตเห็นเทรนด์ของวิดีโอพอดแคสต์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มีข่าวว่าช่วงปีที่ผ่านมา Netflix ได้ไปทาบทามเหล่า ‘พอดแคสต์เตอร์’ (Podcasters) ที่มีชื่อเสียงทั้งแบบเป็นดีลเซ็นสัญญาทำรายการร่วมกัน หรือมาทำรายการลงบนแพลตฟอร์มเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ซึ่งแตกต่างไปจากรูปของคอนเทนต์เดิมที่มีอยู่แล้วอย่างมาก
(Alex Cooper พอดแคสต์เตอร์ชื่อดังก็เป็นหนึ่งในนั้น แม้ว่าภายหลังเธอจะไปเซ็นสัญญากับ SiriusXM ก็ตาม)
แต่ทำไม Netflix แพลตฟอร์มคอนเทนต์แบบยาวที่มีชื่อเสียงเรื่องการทุ่มทุนสร้างซีรี่ส์และภาพยนตร์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อยากเข้ามาร่วมเวที ‘Podcast’ กับเขาด้วย?
แน่นอนว่าอย่างแรกคือมันเป็นวิดีโอพอดแคสต์ ซึ่งเป็นรายการนั่งคุยกันแบบทอล์คโชว์ มีทั้งภาพและเสียง (ไม่ใช่แค่พอดแคสต์ที่มีแค่เสียงอย่างเดียว)
💰 แต่เหตุผลที่สำคัญกว่ามากคือเรื่องของ ‘อัตราส่วนของกำไรต่อต้นทุนการผลิต’ หรือ ROI (Return on Investment) นั่นเอง
วิดีโอพอดแคสต์เป็นคอนเทนต์ที่มีผลตอบแทนสูงกว่าคอนเทนต์ทั่วไป (High Yield Media) ใช้ต้นทุนต่ำกว่าคอนเทนต์แบบอื่นๆ (ซีรี่ส์/ภาพยนตร์) อย่างมากเป็น ตอนหนึ่งไม่กี่พันเหรียญ น้อยมากเมื่อเทียบกับซีรี่ส์อย่าง Squid Game ที่ตอนละ 2.5 ล้านเหรียญ
เพราะฉะนั้นในปริมาณเงินที่เท่ากัน Netflix สามารถปล่อยคอนเทนต์แบบยาวเป็นวิดีโอพอดแคสต์ของคนที่มีผู้ติดตามเยอะๆ อยู่แล้วออกมาได้เป็นจำนวนมาก
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเมื่อ 20-30 ปีก่อนที่ MTV สร้างรายได้มหาศาลกับเรียลริตี้ทีวี เพราะมันใช้เงินน้อย ไม่ต้องมีนักเขียนสคริปต์ ถ่ายโลเคชันเดียว นักแสดงค่าตัวไม่แรงมาก
หรืออย่าง Netflix เองก็ลงทุนกับเดี่ยวไมโครโฟน (Comedy Stand Up) กว่า 350 รายการ เพราะต้นทุนไม่เยอะ แต่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า
แต่ยังไม่หมดแค่นั้น!
🔄 พอดแคสต์หรือวิดีโอพอดแคสต์เป็นชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ที่เติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปของ Netflix มาโดยตลอด นั่นก็คือการสร้างนิสัยให้ผู้ชมกลับเข้ามาดูคอนเทนต์เป็นประจำ ทุกวันๆ
จากที่เมื่อก่อนคนอาจจะแค่เข้า Netflix เมื่อมีเวลาว่างอยากเสพคอนเทนต์แบบยาว แต่ถ้ามีวิดีโอพอดแคสต์ แฟนคลับของพอดแคสต์นั้นจะเข้ามาเป็นประจำ (ถ้ามีตอนใหม่ทุกวันก็ฟังทุกวัน) เหมือนรายการวิทยุสมัยก่อน
เป็นการเดินหมากทางธุรกิจที่น่าสนใจมากของ Netflix
และมันก็กำลังขยับเข้าไปกินเค้กก้อนเดียวกับแพลตฟอร์มคู่แข่งอย่าง YouTube เข้าไปทุกที จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่านี่อาจจะเป็นศึกมีเดีย ‘ยักษ์ปะทะยักษ์’ แห่งศตวรรษได้เลย
หากย้อนไปหลายสิบปีก่อนบนทีวีเราจะเห็นช่องใหญ่ๆ สร้างรายการมาแข่งกันเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ชม แต่ในศตวรรษใหม่สงครามความสนใจ (Attention Wars) น่าจะหนีไม่พ้นการปะทะกันระหว่างสองเจ้าใหญ่นี้
📺 ล่าสุดตามรายงานของ YouTube บอกว่าตอนนี้ผู้ใช้งานรับชมคอนเทนต์ของ YouTube บนทีวีแซงหน้าสมาร์ตโฟนหรือแล็ปท็อปไปเรียบร้อยแล้ว
นั่นหมายความว่า YouTube กลายเป็นทางเลือกเสพคอนเทนต์บนทีวีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็น ‘ทีวีสำหรับยุคสมัยใหม่’ และกินส่วนแบ่งตลาดของผู้ชม Netflix บนทีวีไปด้วย
แต่ตอนนี้ Netflix ด้วยวิดีโอพอดแคสต์ พวกเขาก็ขยับเข้าไปกินพื้นที่ของ YouTube ด้วยเช่นเดียวกัน
⚔️ แล้วใครจะชนะในศึกนี้?
รายได้ของ Netflix ปีล่าสุดรายได้อยู่ที่ 39,000 ล้านเหรียญ ส่วน YouTube อยู่ที่ 36,000 ล้านเหรียญ
มูลค่าบริษัทของ Netflix เพียงบริษัทเดียวสูงว่าสื่อเก่าของอเมริกา (legacy media) ทุกสื่อรวมกัน ส่วน YouTube ก็เป็นส่วนที่เติบโตเร็วที่สุดของบริษัท Alphabet เพราะฉะนั้นตอนนี้สูสีคู่คี่กันอยู่พอสมควร
ต่อจากนี้ต้องรอดูว่า Netflix จะเอาจริงเอาจังกับแนวทางนี้แค่ไหน และ YouTube จะงัดอะไรออกมาสู้บ้าง (ที่จริงตอนนี้ YouTube ก็มีบริการ YouTube TV แบบสมาชิกรายเดือน เดือนละ 2,900 บาท คล้ายกับเคเบิลทีวีสมัยก่อนอยู่ และมีสมาชิกกว่า 8 ล้านคนแล้ว)
⚠️ [ปล. บทความนี้ไม่ใช่คำแนะนำการซื้อหุ้น แต่ถ้าสนใจซื้อหุ้น Netflix สามารถดู DRx รหัส NFLX80X ได้ครับ หรือ ถ้าสนใจหุ้น Alphabet ก็เป็น GOOG80X ครับ]
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
อ้างอิง :
https://www.businessinsider.com/netflix-eyeing-video
...
https://www.thekeyword.co/.../business-insider-netflix
...
https://www.adexchanger.com/.../reed-hastings-explains.../
https://www.forbes.com/.../netflix-considers-a-bold-new.../
https://variety.com/.../netflix-subscribers-300-million.../
https://www.edisonresearch.com/youtube-is-the-preferred.../
https://www.businessinsider.com/what-youtube-content
...
https://www.macrotrends.net/.../NFLX/netflix/revenue
...
https://indianexpress.com/.../heres-how-much-youtube.../
#MakeRichGeneration #การเงิน #การลงทุน #Netflix #Amazon #YouTube #Spotify #Podcast #พอดแคสต์วิดีโอ
บันทึก
4
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย